ประสบการณ์กว่า 35 ปีของ ทองอุไร ลิ้มปิติ ในฐานะผู้คุมกฎแบงก์ ได้รับการแปรเปลี่ยนเป็นอาวุธนำทัพ บริษัท บริหารสินทรัพย์ฯ ด้วยการนำองค์กรอายุ 2 ทศวรรษ เข้าสู่ตลาดหุ้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
จากอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการทำงานสู่ผู้คุมกฎ ด้วยการสอบเข้าทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 พร้อมสร้างผลงานพิสูจน์ฝีมืออย่างต่อเนื่องจนถึงเกษียณอายุการทำงาน ก่อนจะเริ่มต้นรับภารกิจท้าทายใหม่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ “เข้าแบงก์ชาติตั้งแต่ปี 2524 ทั้งราชาเงินทุนตึกดำ เป็นมือออกไปแก้ปัญหาสถาบันการเงินสมัยนั้น ทำงานด้านพัฒนาระบบสถาบันการเงินถึงระดับหนึ่งก็เป็นทีมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู และช่วงปัญหาต้มยำกุ้งก็ทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 1 และเราก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนฟื้นฟู” ทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวถึงการทำงานบนเส้นทางการเงินและเสริมว่า “เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ IMF เข้ามาก็พบว่าไม่มีตัวออกมารับหนี้เสียทำให้สินทรัพย์ของประเทศราคาตก 40-50% ใช้เวลามากกว่า 10 ปี กว่าราคาอสังหาริมทรัพย์จะปรับขึ้น จึงคิดว่าน่าจะต้องตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อดูดซับหนี้เสียของระบบ หรือยางอะไหล่ ทำให้ BAM ตั้งขึ้นในปี 2542” สำหรับผลงานพิสูจน์ฝีมือของเธอคือการทำงานในช่วงวิกฤตบริษัทเงินทุนโดยสามารถแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินและงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้สำเร็จจนได้รับมอบหมายหลายตำแหน่งสำคัญในแบงก์ชาติ ทันทีที่เกษียณอายุการทำงานในปี 2559 ทองอุไรเริ่มต้นเส้นทางความท้าทายใหม่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และขยับเป็นประธานกรรมการในปี 2560 โดยได้รับมอบภารกิจสำคัญในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับธุรกิจที่มีอายุยาวนานมากกว่า 20 ปี “Mission คือทำอย่างไรก็ได้ให้ BAM เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ ถ้าถามว่าชีวิตเปลี่ยนผันเยอะหรือไม่ เราคิดแบบนักธุรกิจมากขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นคนกำกับ ตอนนี้คิดกลับทาง เป็นการทำธุรกิจให้มีกำไร ซึ่งเราต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อนำสินทรัพย์ไม่ดีของระบบสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการ ทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถนำกลับไปคืนระบบเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดดีที่สุด” ธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) โดยในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จะเป็นการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินอื่นในประเทศไทย และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้า ซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทซื้อหรือรับโอนส่วนใหญ่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองกับบริษัทผสานศาสตร์แต่งตัวยักษ์มหาชน
โจทย์ใหญ่ที่ได้รับในการขยับปรับเปลี่ยนองค์กรยักษ์ใหญ่ที่มีอายุยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ เป็นความท้าทายสำคัญที่ทองอุไรต้องข้ามผ่านให้สำเร็จด้วยการนำประสบการณ์ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน รวมถึงเรียนรู้ทำความเข้าใจบทบาทการทำงานใหม่ที่แตกต่าง จนกระทั่งสามารถผลักดันบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมในงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 จำนวน 9.21 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและกำไรสุทธิ 4.89 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 47.5% จากงวดเดียวกันของปี 256 “ช่วงที่มาใหม่เราเดินสายคุยต่างจังหวัดเพื่อนำกลับมาช่วยแก้ไข เพราะบทบาทของกรรมการคือการตอบสนองความต้องการของน้องๆ ที่อยู่หน้างาน เช่น ปัญหาคนไม่พอ เพราะต้องรอคนเก่าเกษียณก่อนกว่าจะรับคนใหม่เข้ามาและเรียนรู้เข้าใจงาน เราจึงคุยกับกรรมการว่าในเมื่อเรารู้ข้อมูลจำนวนพนักงานที่จะเกษียณในแต่ละปีแล้ว เราควรรับล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้น้ำใหม่เข้ามาโดยมีพี่เก่าเทรนให้ นอกจากนั้นพี่เก่าที่เกษียณแล้วก็ยังมีค่า ถ้าไม่อึดอัดขัดข้องให้ช่วยเป็นพี่เลี้ยง 1-2 ปี ส่งผลให้ 2-3 ปีนี้สาขาต่างจังหวัดสามารถทำได้ตามเป้าหมาย หรือบางเคสที่ราคาสินทรัพย์อาจจะสูงเกินไป ขายยาก เราก็ช่วยดู” ทองอุไร ลิ้มปิติ กล่าวถึงหัวใจหลักของการทำงานที่ยึดมั่นใน “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่รับฟังปัญหาหน้างาน โดยเฉพาะสาขาต่างจังหวัด ทั้ง แก้ปัญหาเรื่องเพิ่มจำนวนพนักงานให้เพียงพอ การปรับราคาให้เหมาะสม และการสนับสนุนอุปกรณ์การทำงานให้เกิดความสะดวก คล่องตัว พร้อมติดตามรับฟังความคิดเห็นอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสามารถช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้างได้กว่า 8,000 ราย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเพิ่มรายได้ในสาขาต่างจังหวัดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ “คำถามที่เข้ามาเสมอคือ ลูกหนี้ไม่ดีจากแบงก์ทำไมจึงจ่ายหนี้เรา ทำอย่างไรจึงได้ใจ อย่างแรกเราดูความสามารถในการชำระหนี้สองคือรู้ว่าบ้านเป็นที่สุดของหัวใจ ทำอย่างไรให้เขาเก็บบ้านนั้นไว้ได้และสามคือเราผ่อนสั้นผ่อนยาว เราได้รับการสอนมาตั้งแต่อยู่แบงก์ชาติว่าสินทรัพย์ทุกชิ้นมีราคา ถ้าสามารถทำให้เจอกันได้ระหว่างผู้ขายไม่ขาดทุนและผู้ซื้อก็ไม่ได้ราคาสูงเกินไปจนไม่สามารถนำไปพัฒนาได้ ตรงกลางจะเป็น perfect market หรือตลาดสมบูรณ์” ดังนั้น กุญแจสำคัญของความสำเร็จยังอยู่ที่ทีมงานทุกคน เช่น ทีมงานด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในทรัพย์สินแต่ละประเภท ได้แก่ ทีมงานด้านที่อยู่อาศัยแนวราบ อาคารชุด ที่ดิน และทรัพย์ลงทุนการทำการตลาดตามประเภททรัพย์ยังช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนากลยุทธ์ต่างๆ ในการทำการตลาดและขายทรัพย์สินรอการขายแต่ละประเภท และพัฒนากระบวนการขายให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัททำกำไรได้สูงขึ้นหรือจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้น แม้ในวันนี้ BAM จะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป้าหมายสูงสุดที่สะท้อนถึงความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขรายได้หรือผลกำไรเท่านั้น โดยผู้นำทัพวัย 63 ปี ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการก้าวต่อไปยังจุดหมายการเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มหุ้นยั่งยืนที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG รวมถึงติดอันดับ SETHD (SET High Dividend 30 Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้สะท้อนความเคลื่อนไหวราคาของกลุ่ม หลักทรัพย์ 30 ตัว ที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงและมีสภาพคล่อง โดยต้องอยู่ใน SET 100 พร้อมมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และอัตราส่วนการจ่ายปันผลต่อกำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังไม่เกิน 100% ทองอุไรปิดท้ายถึงอนาคตของบริษัท “เราต้องการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในประเทศ และยังคงรักษาบทบาทในการดูแลเศรษฐกิจด้วยการรับหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาปรับปรุงเป็นหนี้ที่ดีพร้อมดูแลผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งความท้าทายของเราคือ จะทำอย่างไรให้ BAM ยังคงรักษาบทบาทการดูแลหนี้และผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด ภายใต้การบริหารสินทรัพย์ที่มุ่งเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ตามบทบาทการ sustain ราคาของประเทศและสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ” คลิกอ่าน: บสย.ปรับองค์กรรับ New Normal วาง 6 ขุนพลเสริมแกร่งค้ำประกันสินเชื่อ FORBES FACTS- พนักงานส่วนใหญ่ของ BAM ทำงานจนเกษียณอายุ โดยบริษัทมีอัตราการออกจากงาน (turnover rate) ประมาณ 3%
- ทองอุไรมีส่วนสำคัญในการผลักดันแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 1 ในช่วงวิกฤตสถาบันการเงิน ซึ่งมีหนี้เสียในระบบ 48% โดยเธอเป็นผู้นำเสนอต่อผู้ว่าการแบงก์ชาติถึงความจำเป็นในการวางรากฐานระบบสถาบันการเงินเช่นเดียวกับแคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฮ่องกง
- ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ทองอุไรได้เข้าซื้อหุ้น BAM จำนวน 100,000 หุ้น ในราคา 18 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562
คลิกอ่านฉบับเต็ม ทองอุไร ลิ้มปิติ ปลดล็อก BAM ผงาดตลาดทุน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine