ยนตรกิจ-ไทยยานยนตร์ คือธุรกิจหลักของครอบครัว “ลีนุตพงษ์” ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถหรูหลายแบรนด์ดังจากยุโรป แต่หลังจากแม่ทัพใหญ่ “อรรถพร ลีนุตพงษ์” เสียชีวิตลงในปี 2544 ต้องใช้เวลาถึง 15 ปีในการจัดการมรดก ทำให้ยนตรกิจกรุ๊ปเปลี่ยนสถานะไป ส่วน “ไทยยานยนตร์” ได้ตกทอดมาสู่ “วิทิต ลีนุตพงษ์” ลูกชายคนกลาง
กลางสัปดาห์ช่วงบ่ายวันทำงาน ณ อาคารไทยยานยนตร์ ถนนพระราม 9 เป็นสถานที่นัดหมาย
วิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร
ไทยยานยนตร์ กรุ๊ป วัย 64 ปี ซึ่ง
Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากที่เขาห่างหายการออกสื่อไปนานตั้งแต่สูญเสียคุณพ่อ
“อรรถพร ลีนุตพงษ์” เมื่อปี 2544 จากนั้นความรุ่งเรืองของยนตรกิจเริ่มถดถอย ยอดขายที่เคยทำได้ 1 หมื่นคันทำเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย 7 ปีหลังสูญเสียผู้นำยอดขายลดเหลือ 2 พันล้านบาท
การจัดการมรดก “ลีนุตพงษ์” ค่อนข้างล่าช้า ซึ่งวิทิตเปรียบเปรยตามสำนวนจีนว่า “เศรษฐีแบ่งไก่แบ่งไม่สำเร็จเพราะทุกคนมีกินมีใช้ ไก่ตัวนี้ถ้าแบ่งมาใครได้เปรียบเสียเปรียบก็ไม่ยอม จึงแบ่งได้ยาก แต่ถ้าไม่มีกินจะแบ่งได้ง่ายกว่า"
แบรนด์รถหรูที่ยนตรกิจเคยเป็นตัวแทนจำหน่าย
มาวันนี้ธุรกิจของยนตรกิจกรุ๊ปถูกแบ่งให้กับทายาท ซึ่งอรรถพรมีบุตร 23 คนจาก 4 แม่ เป็นผู้ชาย 18 คน และผู้หญิง 5 คน โดยวิทิตบอกว่า “ครอบครัวคนจีน ‘girls don’t count’ การจัดการมรดกจึงเน้นที่ลูกชาย ผมเป็นลูกคนที่ 5 ของคุณแม่โสภา สิ่งที่ได้มาคือไทยยานยนตร์ซึ่งเป็นกระดูกไม่ใช่เนื้อ”
69 ปีในธุรกิจนำเข้ารถยนต์
ย้อนตำนานธุรกิจรถยนต์ของ “ลีนุตพงษ์” จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันดำเนินงานมากว่า 69 ปี บุกเบิกโดยสองพี่น้อง คือ
อรรถพร และ อรรถพงษ์ ลีนุตพงษ์ ผู้สร้างตำนานด้วยการเริ่มธุรกิจเมื่อปี 2493 จากกิจการค้าเศษเหล็กและอะไหล่รถยนต์ในย่านเซียงกงภายใต้ชื่อ
“ลีเล้ง” นำไปสู่ธุรกิจซื้อขายยานพาหนะที่เหลือจากการใช้ของทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากประเทศเพื่อนบ้านและยุโรป ภายใต้
บริษัท เล้งไทย จำกัด
แต่ด้วยความชื่นชอบรถมอเตอร์ไซค์ BMW ของอรรถพงษ์ผู้น้อง ได้จุดประกายให้อรรถพรขยายธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ กระทั่งเรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อนำเข้ารถยนต์ยุโรปในช่วงปี ’80 (2523-2533) ในนามยนตรกิจกรุ๊ป มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์และนำเข้ารถหรูเกือบ 10 แบรนด์ ยอดขายเฟื่องฟูถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ก่อนที่จะสะดุดครั้งแรกเมื่อปี 2540
วิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร ไทยยานยนตร์ กรุ๊ป วัย 64 ปี
“สถานการณ์ตอนนั้นไม่ค่อยดี ยอดขายรถ BMW ที่เคยทำได้ 500 คันต่อเดือนลดเหลือเพียง 100 คันรถค้างสต๊อกเยอะมาก” วิทิตย้อนภาพปัญหา
“วิกฤตต้มยำกุ้งเราผ่านมาได้โดยเจ็บตัวไม่มาก” วิทิตย้ำก่อนจะเผยว่าวิกฤตใหญ่ที่สุดของ “ลีนุตพงษ์” คือการสูญเสียคุณพ่อ (อรรถพร) ซึ่งตอนนั้นธุรกิจยังไปได้ดีการจัดการมรดกจึงล่าช้ามาถึง 15 ปี โดยไทยยานยนตร์ที่วิทิตได้มานั้น ปัจจุบันเหลือการนำเข้ารถเพียงแบรนด์เดียวคือ Volkswagen
นำเกมการตลาดรถหรู
แม้จะไม่ได้แบรนด์ดังอย่าง BMW มาบริหาร แต่วิทิตก็ภูมิใจที่ไทยยานยนตร์ยังมีสถานะเป็นผู้นำเข้าไม่ได้ถูกลดเกรดเป็นดีลเลอร์ และถึงแม้จะทำตลาดรถตู้ Volkswagen รุ่น Caravelle เพียงแบรนด์เดียว แต่ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม
Volkswagen Caravelle ที่วิทิตทำตลาดในปัจจุบันเป็นการนำเข้ารถทั้งคันแบบ CBU (Completely Built-up Unit) แต่เป็นรถที่เปลือยภายใน (naked interior) ไม่มีการติดตั้งเบาะหรือส่วนประกอบอื่นมาด้วย โดยไทยยานยนตร์จะเป็นผู้ออกแบบและประกอบฟังก์ชั่นภายในรถตู้ให้เป็น luxury van รุ่นพิเศษ รถโฟล์คตู้ luxury van ของเขาเน้นขายให้กับเศรษฐี (elite) ที่ต้องการซื้อรถเพื่อใช้งานเป็นคันที่ 6 หรือคันที่ 7 ของบ้าน
Volkswagen Caravelle คันพิเศษที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลวดลายภายนอก
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือต้องเข้าใจลูกค้า ซึ่งก็คือ “customer oriented” และเป็นที่มาของการทำสำรวจผู้บริโภคก่อนนำมาเป็นคู่มือในการออกแบบฟังก์ชั่นภายในรถตู้โฟล์ค ซึ่งวิทิตได้ทำคู่มืออะไหล่เป็น manual สำหรับการซ่อมบำรุง โดยเทียบรหัสเข้ากับอะไหล่ของโฟล์คให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย
“จุดนี้ทำให้บริษัทแม่ของโฟล์คที่เยอรมนี ติดต่อมาเพื่อขอให้เราเข้าไปเซอร์วิสการติดตั้งภายในรถตู้โฟล์คที่ไต้หวันซึ่งบริษัทแม่เข้าไปทำตลาดเอง โดยขายรถแบบมาตรฐานทั่วไปทำให้สู้คู่แข่งไม่ได้ จึงอยากได้การตกแต่งภายในแบบลักชัวรีของไทยยานยนตร์เข้าไปเสริม”
กลยุทธ์การขายของวิทิตในการทำตลาดรถหรูก็ไม่ธรรมดา เขาเล่าว่างานเปิดตัวรถรุ่นใหม่แทนที่จะจัดงานใหญ่ทุ่มงบ 5-10 ล้านบาทด้วยแสงสีเสียงอลังการในวันเดียว ในงบประมาณเท่ากัน วิทิตเลือกจัดงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ด้วยการจองห้องจัดเลี้ยงในโรงแรมโอเรียนเต็ล จัดงานเลี้ยงเปิดตัวรถตู้โฟล์ควันละ 2 รอบเป็น lunch และ dinner ยาวต่อเนื่อง 21 วัน โดยเชิญแขกกลุ่ม elite แบบเฉพาะเจาะจงรอบละ 35-40 คน
“เรามีให้เลือกถึง 21 วันรวม 42 รอบแถมเปิดกว้างพาผู้ติดตามมาได้ 5-10 คนทำให้ลูกค้าปฏิเสธยาก” วิทิตกล่าว
เมื่อลูกค้ามาร่วมงานจะได้สัมผัสความหรูหราทั้งจากบริการอาหาร และยังได้สัมผัสกับฟังก์ชั่นภายในรถตู้ อีกทั้งราคาขาย 3-4 ล้านบาท สำหรับเศรษฐีแล้วตัดสินใจง่ายเพราะไม่แพงเกินไป
แบบจำลองห้องโดยสารของ luxury van รุ่นพิเศษ
ควบคู่กับการขายอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์สำคัญ คือการดูแลลูกค้าหลังการขายซึ่งเขาบอกว่า
ขายรถ 1 คันต้องดูแลลูกค้าถึง 3 คน คือเจ้าของที่เป็นผู้ซื้อ เลขาฯ หรือผู้จัดการของลูกค้า ที่จะเป็นคนประสานงานต่างๆ และคนที่ 3 คือคนขับรถที่ให้บริการกับลูกค้าตัวจริง
“เราทำ selected CRM คือทำ CRM กับลูกค้าทั้ง 3 คนต่างกัน สำหรับเจ้าของหรือผู้ซื้อรถจะดูว่าชอบกิจกรรมแบบไหน เล่นกอล์ฟหรือกีฬาอะไรพยายามหากิจกรรมมาสนับสนุน สำหรับเลขาฯ ก็คอยดูแลซื้อขนมของฝากไปให้ ส่วนคนขับรถใช้วิธีจัดอบรมเพิ่มทักษะการขับขี่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่นสอนใช้กูเกิลแมปทำให้เขาบริการนายได้ดีขึ้น” วิทิตแจกแจงรายละเอียดการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ซึ่งทุกวันนี้ไทยยานยนตร์ขายรถตู้ไปแล้วกว่า 5,000 คัน
ถึงเวลาโตโกอินเตอร์
แม้จะทำตลาดได้ประสบความสำเร็จแต่ขนาดตลาดรถตู้ลักชัวรีในไทยก็มีไม่มาก ยอดขายต่อปีอยู่ที่ 500 คัน ต่อให้พยายามส่งเสริมการตลาด รวมแล้วคงไม่เกิน 700 คันต่อปี วิทิตจึงมองโอกาสการเติบโตไปยังประเทศเพื่อนบ้านและตลาดใหญ่ที่จีน
เหตุที่เลือกตลาดเอเชียเพราะมองว่าวัฒนธรรมการใช้ชีวิตและรสนิยมคล้ายกับไทย กลุ่มเศรษฐีชาวเอเชียจะมีคนขับรถต่างกับยุโรปที่ส่วนใหญ่ขับรถเอง

วิทิตมองว่าการขยายตลาดสู่ไต้หวันเป็นเพียงด่านแรก เขายังมองโอกาสในตลาดอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา โดยตั้งใจให้ผู้บริหารโฟล์คที่ดูแลภาคพื้นนี้เป็นผู้นำร่องเข้าไป และคงทำเช่นเดียวกับไต้หวันคือส่งชุดตกแต่งภายในเบาะเก้าอี้และอุปกรณ์ต่างๆ ไปให้โรงงานที่ประเทศนั้นๆ ติดตั้งโดยใช้แบรนด์ “ไทยยานยนตร์”
“ถึงเวลาที่ไทยยานยนตร์ต้องเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวเป็นมืออาชีพ และบริหารจัดการแบบสากล” วิทิตเผยเป้าหมายสำหรับไทยยานยนตร์ว่า
ต้องการจะเป็น “luxury automobile manufacturer for interior” คือเป็นโรงงานที่สามารถประกอบภายในแบบลักชัวรีให้รถยี่ห้อไหนก็ได้ และหวังว่านี่จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การเติบโตของไทยยานยนตร์ในทศวรรษใหม่

ภาพ
: กิตตินันท์ สังขนิยม
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “วิทิต ลีนุตพงษ์ จากยนตรกิจสู่ไทยยานยนตร์” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine
