ย้อนตำนาน 'Royal Enfield' บุกไทย 'บิ๊กไบค์' แบรนด์อังกฤษใต้ปีกทุนอินเดีย - Forbes Thailand

ย้อนตำนาน 'Royal Enfield' บุกไทย 'บิ๊กไบค์' แบรนด์อังกฤษใต้ปีกทุนอินเดีย

ไทยเป็นอันดับ 1 ในการรุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “Royal Enfield” มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์แบรนด์อังกฤษของมหาเศรษฐีชาวอินเดีย หลังเข้ามาทำตลาดเพียง 3 ปี มั่นใจถึงขั้นมาร่วมลงทุนตั้งโรงงานในไทยเป็นแห่งแรกนอกประเทศอินเดีย

Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Siddhartha Lal ประธานบริหาร มอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ Royal Enfield ทายาทมหาเศรษฐีอินเดียอันดับ 20 ตระกูล Lal (Vikram Lal) เจ้าของบริษัท ไอเคอร์ กรุ๊ป (Eicher Group) ที่มีความมั่งคั่งกว่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามการจัดอันดับมหาเศรษฐี Forbes India ในปี 2561 ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Royal Enfield ในปัจจุบัน

การพูดคุยครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบแนวคิดและมุมมองของซีอีโอ Royal Enfield ที่มีต่อประเทศไทย หลังจากเข้ามาทำาตลาด ได้เพียง 3 ปี แต่มีความเชื่อมั่นถึงขั้นเข้ามาร่วมทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย และเป็นโรงงานแรกที่เปิดในต่างประเทศ โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท ยูไนเต็ด ออโต้ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนยานยนต์อยู่แล้ว พร้อมเปิดไลน์ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2562

ตลาดรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิกขนาดกลางในไทยแทบไม่มีคู่แข่ง ทำให้เรามีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก ประกอบกับฐานการเก็บภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ที่มาประกอบในไทยก็ถูกกว่าอินโดนีเซีย ซึ่งที่นั่นความต้องการตลาดอาจมีมากกว่าไทย แต่ฐานภาษี 125% สูงเกินไปซีอีโอ Royal Enfield เผยเหตุที่ตัดสินใจเลือกไทยเป็นโรงงานประกอบแห่งแรกนอกประเทศอินเดีย

นอกจากเรื่องของภาษีและการแข่งขันในตลาดที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างให้เจาะได้มากกว่าแล้ว เขายังมองว่าไทยเป็นประเทศที่ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ และตอบรับการใช้รถ มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ขนาดกลางได้ค่อนข้างดี

 

เป้า 10 ปีเพิ่มยอดขาย 10 เท่า

ตลาดรวมรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ขนาดกลางสไตล์คลาสสิกในไทยมียอดรวมราว 15,000 คันต่อปี แต่ Siddhartha Lal กล่าวว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์การใช้รถมอเตอร์ไซค์ของคนไทย เชื่อว่าจะขยายตลาดเป็น 1.5-2 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัวได้ภายในเวลา 8-10 ปี

นอกจากนี้ Royal Enfield ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นเบอร์ 1 ในตลาดมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์คลาสสิกขนาดกลาง เครื่องยนต์ 350-750 ซีซี ในตลาดเมืองไทย เนื่องจากมองว่าในไทยยังมีคู่แข่งไม่มาก ตลาดบิ๊กไบค์ในไทยที่มีการแข่งขันกันหลายแบรนด์ก็จริง แต่จะเป็นรถรุ่นใหญ่ที่เป็นลักชัวรีแบรนด์ ราคา 7 หลักขึ้นไป แต่ตลาดบิ๊กไบค์ขนาดกลางสไตล์คลาสสิกราคา 1.5-2.30 แสนบาท ในไทยมีให้เลือกน้อย

ด้วยเหตุนี้เขาจึงมองโอกาสขยายตลาดในไทย ด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ภายใน 12 เดือนนับจากนี้ไป (มิถุนายน 2563) โชว์รูมของ Royal Enfield ในประเทศไทยจะต้องมีไม่น้อยกว่า 15 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 แห่ง จากการบริหารโดยดีลเลอร์รายเดียว

การขยายโชว์รูมใหม่อีก 12 แห่ง ภายใน 1 ปี จะให้น้ำหนักที่กรุงเทพฯ เป็นหลักซีอีโอ Royal Enfield ย้ำ และว่า โชว์รูมในกรุงเทพฯ อาจมีถึง 6 แห่ง ที่เหลือจะขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา

Royal Enfield รุ่น "Interceptor 650" สูบคู่ Twin
 

เจาะตำนาน 118 ปี จากอังกฤษสู่อินเดีย

Royal Enfield เป็นมอเตอร์ไซค์ บิ๊กไบค์ สไตล์คลาสสิกแบรนด์อังกฤษที่มีอายุเก่าแก่กว่า 118 ปี ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2444 เป็นที่รู้จักแพร่หลายในยุโรป โดยรถมอเตอร์ไซค์ของ Royal Enfield รุ่นแรกได้รับการออกแบบโดย R.W. Smith และวิศวกรชาวฝรั่งเศส Jules Gotiet

ต่อมาในปี 2498 บริษัท Redditch ได้ร่วมหุ้นกับบริษัท Madras Motors ในอินเดีย ก่อตั้งบริษัท Enfield India ขึ้น โดยเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างโรงงานที่เมือง Tiruvottiyur ในช่วงปี 2503 เกิดรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นเข้าตีตลาดยุโรป แต่ด้วยความที่ Royal Enfield มีฐานผลิตและตลาดในอินเดีย จึงยังอยู่รอดได้โดยพึ่งพาฐานการผลิตและตลาดในอินเดีย

จากนั้นในช่วงปี 2523 ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ที่อินเดียก็ถูกรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นตีตลาดเช่นเดียวกับยุโรป คราวนี้ถึงขั้นล้มละลาย กิจการร่วมทุนอังกฤษ-อินเดียต้องขายให้มหาเศรษฐีอินเดียไปในปี 2537 โดยทุนอินเดียกลุ่มใหม่ คือ ไอเคอร์ กรุ๊ป (Eicher Group) ได้เข้าซื้อกิจการ Enfield India และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Royal Enfield Motors Limited

หลังจากนั้น Royal Enfield ภายใต้การบริหารของไอเคอร์ กรุ๊ป ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทางธุรกิจและตลาดที่เปลี่ยนไป โดยใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการพลิกฟื้นกิจการจนฟื้นตัว สร้างยอดขายและพัฒนารถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด โดยยังคงเอกลักษณ์ความเป็นรถจักรยานยนต์สไตล์คลาสสิกดั้งเดิม สร้างการยอมรับด้วยกิจกรรมการขับขี่ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า เช่น กิจกรรมไรเดอร์ มาเนียการรวมตัวของผู้ขับขี่ Royal Enfield จากทั่วโลก และกิจกรรมหิมาลายัน โอดิสซีย์ทริปการขับขี่บน เส้นทางที่หฤโหดและสูงที่สุดบนเทือกเขาหิมาลัย ตอกย้ำสมรรถนะของมอเตอร์ไซค์ Royal Enfield

Siddhartha Lal ประธานบริหาร Royal Enfield Motors Limited เข้ามารับช่วงบริหารต่อจากบิดาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งในปีนั้น Royal Enfield ขายได้ราว 15,000 คัน จากนั้นก็พยายามต่อสู้พัฒนาและทำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำยอดขายได้ 8 แสนคันในปี 2561

ยอดขายปี 2561 ที่ผ่านมานอกจากอินเดียแล้ว ที่ฝรั่งเศสและอังกฤษมียอดขายประเทศละ 2,000 คัน และบราซิลก็เป็นอีกตลาดที่กำลังมา เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจาก Royal Enfield ได้เปิดตัว Twin มอเตอร์ไซค์สูบคู่เป็นสินค้าสำหรับตลาดทั่วโลก ก็พบว่ามียอดจองเข้ามาจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์สูบคู่ Twin มียอดจอง 700 คันจากดีลเลอร์เพียงเจ้าเดียว หากตามแผนบริษัทสามารถขยายโชว์รูปได้เป็น 15 แห่งภายใน 1 ปี และเพิ่มดีลเลอร์มากขึ้น คาดว่าจะทำให้มียอดจองเพิ่มขึ้น และเป้าหมายที่จะทำยอดขายในไทย 2 แสนคันภายใน 10 ปี คงไม่ไกลเกินฝัน เช่นเดียวกับเป้าหมายขึ้นอันดับ 1 ตลาดมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์คลาสสิกขนาดกลางในไทย     เรื่อง : อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ : กิตตินันท์ สังขนิยม
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine