สิทธิชัย - พิษณุ แดงประเสริฐ "สุภาพโอสถ" ปักธงเบอร์ 1 ธุรกิจยาและอาหารเสริม - Forbes Thailand

สิทธิชัย - พิษณุ แดงประเสริฐ "สุภาพโอสถ" ปักธงเบอร์ 1 ธุรกิจยาและอาหารเสริม

ว่ากันว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งของธุรกิจเอสเอ็มอีคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ทายาทรุ่นต่อไป ทว่าผลิตภัณฑ์ยาแบรนด์ สุภาพโอสถ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการบริหารงานของทายาทรุ่น 3 กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทุกคนต่างมีบทบาทรับผิดชอบในด้านที่ตนเองเชี่ยวชาญ

การเดินทางของร้านขายยา “อั้งง่วนเฮง สุภาพโอสถ” เริ่มต้นขึ้นจากร้านเล็กๆ ย่านหัวลำโพงในปี 2497 เมื่อกิจการเจริญเติบโตปี 2518 จึงตั้ง หจก. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม ค็อกซ์ (COX) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ต่อมาตั้ง บจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) ในปี 2548 และแปรสภาพเป็น บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP ในปี 2561 JP ประกอบธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาพัฒนาสินค้า คิดค้นและพัฒนาสูตร การขอทะเบียนตำรับยาหรือการจดแจ้งเลขสารบบอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผลิตใน 2 รูปแบบคือ รับจ้างผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า (OEM) ผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (own brand) 
สิทธิชัย แดงประเสริฐ
บมจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี ปัจจุบันบริหารงานด้วยทายาทธุรกิจที่นำโดย พี่น้องฝาแฝด สิทธิชัย แดงประเสริฐ หรือ ปุ๊ย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แฝดผู้พี่ดูแลด้านนวัตกรรม ส่วนแฝดคนน้อง พิษณุ แดงประเสริฐ หรือ ป๋อ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานวิจัยและพัฒนารับผิดชอบด้านวิจัยและการตลาด ทั้งคู่เติบโตมากับโรงงานผลิตยา ช่วงปิดเทอมก็มาช่วยงานทางบ้าน ทำให้เกิดความซึมซับและผูกพันกับธุรกิจของครอบครัว เมื่อถึงวัยที่ต้องเลือกทางเดินของชีวิต “ประสิทธิ์ชัย” ผู้เป็นบิดาก็วางแนวทางให้ลูกๆ แต่ละคนว่าควรศึกษาด้านใดเพื่อมาสานต่อกิจการ พิษณุเล่าถึงความเป็นมาของของธุรกิจว่า “เราเป็นรุ่น 3 ต้นตระกูลเป็นคนจีน อากงและพี่น้องเป็นคนจีนเกิดในไทย ตั้งร้านขายยาชื่อสุภาพโอสถ ปีนี้อายุครบ 70 ปี เป็นร้านขายปลีกและขายส่งยารายใหญ่ของยุคนั้น import ยาจากอังกฤษ ญี่ปุ่น กิจการเติบโตมาด้วยดี พี่น้องโตขึ้นก็แยกย้ายกันตั้งโรงงานยา เราตั้งโรงงานชื่อ COX ต่อมาทำยาแผนโบราณเพิ่มขึ้นด้วย เราเติบโตในโรงงานก็ซึมซับการทำงาน ปิดเทอมก็มาช่วยงานอากง เรียนรู้ตลอดเวลา เรื่องการทำธุรกิจเวชภัณฑ์ยาอยู่ในสายเลือด เป็น passion ผมและพี่ชายจบปริญญาตรีไบโอเทค หลังจากนั้นเขาเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเรียนต่อที่บางมด”
พิษณุ แดงประเสริฐ
โตจาก OEM จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดจากการรับจ้างผลิตและจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า (OEM) ให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลก บริษัทยาอันดับต้นๆ ของไทยก็เป็นลูกค้าของ JP “ตอนแรกไม่รู้จักว่า OEM คืออะไร มีลูกค้าเป็น chain ยาเบอร์ 1 approach มา เราก็เรียนรู้ไป พอเริ่มทำเจ้าหนึ่ง เจ้าที่ 2-3 ก็ตามมา เราทำ corporate branding โดยเอา logo ไว้หลังกล่องก็ทำให้เป็นที่รู้จัก พอกลุ่มโมเดิร์นเทรดและเจ้าของยาให้การยอมรับ แบรนด์อื่นก็เริ่มมาจ้างผลิต บริษัทมหาชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและไม่มีโรงงานเองส่วนใหญ่จ้างเราเกือบทั้งหมด งาน OEM โตมาเรื่อยๆ ตั้งแต่พนักงาน 30-40 คน เพิ่มเป็น 400 คน ยอดขายก็โตเป็น 10 เท่า จากที่ทำงานวันแรกยอดขาย 30-40 ล้านบาทต่อปี เป็น 400 กว่าล้านในปัจจุบัน เราโตเร็วเพราะทำ OEM อาหารเสริมส่วนยากำไรไม่มาก เป็นธุรกิจน้ำซึมบ่อทราย มั่นคง แข็งแรง” การขออนุญาตลูกค้าใส่โลโก้ของบริษัทหลังกล่องถือเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ทำให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์ ภายหลังคู่ค้ารายอื่นๆ ที่มาจ้างผลิตก็ขอให้ JP ใส่โลโก้ไว้บนกล่องด้วย นวัตกรรมคือจุดแข็ง สิทธิชัย และ พิษณุ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยคำแนะนำของบิดา “ประสิทธิ์ชัย” ที่มีความเห็นว่า ยาแผนปัจจุบันยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ประเทศไทยเป็นครัวโลก ควรเรียน Food Science หรือ Biotech ซึ่งสองพี่น้องเลือกช้อยส์หลัง ทำให้รู้จักสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แต่ในโลกธุรกิจความรู้เหล่านี้ยังไม่เพียงพอจึงเรียนปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ หลังจากนั้น ดร.สิทธิชัยได้ศึกษาต่อสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรมในระดับปริญญาเอก ทั้งยังรับเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ “สมมติว่าได้สารสกัดตัวหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถามทีมขายว่า ลุยไหม ถ้าอยากทำตลาดให้สำเร็จปีหนึ่งไม่สามารถออกสินค้า 100 ตัว งานวิจัยบางงานไม่อยู่ในช่องทางออนไลน์หรือร้านที่เราทำ ดูว่าโปรดักต์อาจเหมาะกับเมืองนอกหรือทัวร์จีน งานวิจัยพัฒนาของเรามีช่องทาง launch ถึงลูกค้าครบทุก channel เรามีแหล่งที่มาของนวัตกรรม แหล่งที่ไปของนวัตกรรมก็มี ทำให้เราออกสินค้าใหม่ได้เยอะ นี่คือจุดแข็ง” ถามว่า การเป็นอาจารย์พิเศษเป็นความชอบส่วนตัวหรือกลยุทธ์ คำตอบคือ “ถ้าเรามุ่งมั่นจะโฟกัสงานวิจัยต้องเข้าไปอยู่ในแหล่งวิจัย คือไม่เรียนก็สอน เป็นกลยุทธ์ที่เราจะสร้าง ส่วนการขายก็เป็นจุดแข็ง เรามีทั้ง OEM และ own brand” สิทธิชัย กล่าว กรณีที่ว่ามีเกณฑ์อย่างไรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พิษณุอธิบายว่า ดูจากงานวิจัยจากเทรนด์ของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ว่ามีอะไรใหม่บ้างและกำลังนิยมอะไร ตัวอย่างเช่น กลุ่มวิตามิน สารสกัดจากพืช หากเห็นว่ามีประโยชน์บริษัทก็วิจัยและพัฒนาและทำเรื่องขอจดทะเบียนกับ อย. รอไว้ แม้จะยังไม่มีแผนการผลิตหรือออร์เดอร์จากลูกค้า “ฝ่ายการตลาดจะรู้ trend ศึกษาตลาดต่างประเทศ ผมดู trend งานวิจัย นักศึกษาอาจารย์มีผลงานวิจัยอะไรน่าสนใจบ้าง ตอนนี้ที่ top hit คือ กัญชา กัญชง กระท่อม plant based protein เพราะงานวิจัยมาแล้ว มีคนสนใจ มีความเป็นไปได้ขึ้นทะเบียน อย. นี่คือ timing ที่ใช่...เรามีกระชายขาว มีฟ้าทะลายโจร 10 ทะเบียนอยู่ระหว่าง process และได้รับอนุมัติ เรามีฟ้าทะลายโจรเพราะวิจัยพัฒนาก่อน และเตรียมเอกสารขึ้นทะเบียน อย. อาหารเสริมอีกตัวที่บริษัทมองว่าจะเป็น New S-curve คือแพลนต์เบสโปรตีน ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และเขาพบว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกอยู่ที่อเมริกา แคนาดา และอิสราเอล ซึ่งใช้ไข่น้ำสายพันธุ์ไทยและทีมนักวิจัยไทย “พอเราวิจัยพบว่าผู้ผลิตเบอร์ 1-3 ใช้ไข่น้ำสายพันธุ์ไทย แล้วเมืองไทยมีโอกาสตรงไหนก็กลับมามองและร่วมกับมหาวิทยาลัยในการเพาะปลูก แปรรูป และขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร...เมืองนอกอากาศหนาวเขาปลูกพืชแบบนี้ต้องทำ green- house แต่พืชไข่น้ำโตในหนองคลองบึง แค่ทำให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด คุณภาพดีมีแร่ธาตุสารอาหารสูง และแปรรูปด้วยโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP แบบนี้บอกทั่วโลกได้ว่าเรามีผลิตภัณฑ์ original ของประเทศไทย “พืชไข่น้ำเป็นพืชน้ำที่มีดอกเล็กที่สุดในโลก มีโปรตีนสูงประมาณ 30% โปรตีนไม่น้อยกว่าถั่วเหลืองและนมวัว ข้อดีคือ ไม่มี GMO ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและใส่ปุ๋ย แค่อยู่ในน้ำดีและแสงแดดส่องถึง เราขึ้นทะเบียน อย. ได้แล้ว เตรียมขาย...ตัวนี้มี potential ในตลาดระดับโลก” ก้าวต่อไป ข้อจำกัดหนึ่งของธุรกิจเอสเอ็มอีคือ “เงินทุน” ซึ่งครอบครัวแดงประเสริฐก็เช่นกัน แม้จะมียอดขายดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตรองรับได้ ภายหลังการนำหุ้นบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ปลายปี 2564 เป้าหมายระยะสั้นที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวางไว้คือ ขยายโรงงานที่กรุงเทพฯ และลำพูน เพื่อรองรับออร์เดอร์ที่เข้ามาจำนวนมาก เพิ่มทุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ยาแผนปัจจุบัน New S-curve รวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์สู่ตลาดทั่วไปเนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยทำโฆษณาเลย เป้าหมายระยะกลางคือ ทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีหน่วยการผลิตและงานวิจัยพัฒนาที่เข้มแข็ง สามารถสร้างผลิตภัณฑ์สุขภาพใหม่ๆ จากพืชเกษตรของไทยให้ทั่วโลกรู้จัก “เรามีผลงานวิจัยเยอะ เรามุ่งมั่นจะพัฒนาสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีมูลค่าสูง กระเทียมไทยแพ้ใครในโลกไหม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว เราก็เป็นเบอร์ 1 ในโลก ไม่แพ้ใคร...แหล่งวัตถุดิบมาจากเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และแปรรูปส่งเรา ส่วนงานวิจัย นักศึกษา อาจารย์ก็มาร่วม collaboration” ดร.สิทธิชัยกล่าวพร้อมปิดท้ายว่า “ประเทศไทยถ้าถามถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุด โรงพยาบาลใหญ่สุดคือใคร เรานึกออก แต่ธุรกิจยาและอาหารเสริมยังไม่มีและเราอยากจะเป็น ถ้าผมเป็นโรงพยาบาล ขนาด 400-500 ล้าน แล้วอยากเป็นเบอร์ 1 คงเกินเอื้อมไปหน่อย ถ้าเป็นเบอร์ 1 โรงงานยา อาหารเสริมในประเทศไทย ผมว่าไม่เกินเอื้อม” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร