ขยะชุมชนจำนวน 6,000 ตันยังคงถูกส่งเข้าสู่โรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทุกวัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะในการนำขยะผ่านกระบวนการคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (refuse derived fuel) เพื่อผลิตไอน้ำขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
เมื่อวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งทะยานในช่วงปลายปี 2550 กลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญของกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ขนาดใหญ่ของไทยให้มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานทดแทนที่สามารถลดต้นทุนราคาน้ำมันและพลังงานถ่านหิน บริษัทที่ใช้น้ำมันเป็นพลังงานขับเคลื่อนหลักต้องมองหาทางเลือกและทางรอด
ภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการ และ ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP สองพี่น้องพร้อมรับภารกิจ เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจพลังงานด้วยการร่วมบุกเบิกโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งกำลังติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ความร้อนทิ้งที่ถูกปล่อยจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มทีพีไอ โพลีน เป็นการลดค่าใช้จ่ายถ่านหินกับน้ำมันในการผลิตซีเมนต์
และแม้ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มลดลง แต่ TPIPP ก็ยังมองหาทางเลือกอื่นที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้นั่นคือพลังงานจากขยะ
แม้การนำขยะเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่การเริ่มต้นเส้นทางพลังงานสีเขียวกลับไม่ง่ายเมื่อค่าพลังงานความร้อนของขยะชุมชนไทยแทบไม่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้า จากผลงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างขยะของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถให้ความร้อนก่อนผ่านการคัดแยกถึง 4,000 kcal/kg ส่วนประเทศไทยให้ค่าความร้อนเพียง 900 kcal/kg เนื่องจากลักษณะอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นขยะเปียก ทำให้ TPIPP ต้องพัฒนาแก้ไขเครื่องจักร 1-2 ปีจึงจะใช้กับขยะของเมืองไทยได้ โดยได้เริ่มดำเนินงานผลิตเชื้อเพลิง RDF ในช่วงต้นปี 2554
“จุดแข็งของเราอยู่ที่ประสบการณ์ฟัดเหวี่ยงในธุรกิจ 9 ปีและเงินลงทุน 4 พันล้านบาท รวมถึงขนาดธุรกิจของเรา 80 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังจะเพิ่มเป็น 180 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับอันดับสองที่มี 14 เมกะวัตต์ เราสามารถดูแลคุมต้นทุนให้คุ้มค่าได้มากกว่า” ภัคพลย้ำในความแข็งแกร่งของอาณาจักร
“ขยะ” กระสุนเสริมธุรกิจแกร่ง
ข้อมูลของ AWR Lloyd (บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านพลังงาน) ได้ยกให้ TPIPP เป็นผู้นำโรงไฟฟ้าพลังงานขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ตามหลักการ Zero Waste ของเรา หลังจากขยะเข้ามา 100% เราต้องทำให้เหลือศูนย์ โดยแบ่งเป็น RDF 30% ส่วนที่เหลือ 10% ได้แก่ หิน ดิน ทราย ก้อนกรวดและเศษเหล็ก เรานำเศษเหล็กขายโรงงานรีไซเคิล ส่วนหิน ดิน ทราย เรานำส่งเป็นวัตถุดิบในโรงปูน ส่วนที่เหลือ 55-60% เป็น Organic Waste หรือเศษอาหาร ที่เรานำเข้ากระบวนการ MBT”
ภัคพลอธิบายเพิ่มเติมถึงเทคโนโลยีเหนือชั้นของบริษัท ด้วยเทคโนโลยี Mechanical and Biological Treatment หรือ MBT ซึ่งลดน้ำหนักขยะลงครึ่งหนึ่งและนำไปผสมผสานกับ RDF ผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ
ด้านแหล่งที่มาของขยะ บริษัทได้เข้าทำสัญญากับบริษัทจัดการขยะจำนวน 60 ราย เพื่อรับขยะจากหลุมฝังกลบจำนวน 887,720 ตันต่อปี และได้ทำสัญญารับขยะชุมชนกับเทศบาลจำนวน 89 แห่งและกับบริษัทจัดการขยะจำนวน 13 รายทั่วประเทศในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สระบุรี ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา
“เราเป็นบริษัทเดียวในประเทศที่สามารถรับขยะชุมชนและทำให้สำเร็จได้ แม้จะเคยคิดเปลี่ยนจากขยะชุมชนเป็นขยะอุตสาหกรรม ซึ่งให้ค่าพลังงานความร้อนมากกว่า แต่คนทำกันเยอะและไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศ เราจึงเน้นที่ขยะชุมชน” ภากรกล่าวถึงวิสัยทัศน์ที่ยึดมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) ของบริษัทมีทั้งหมด 3 โรง กำลังการผลิตรวม 180 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ในปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อตามสัญญารวม 163 เมกะวัตต์ และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐโดยได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) ในอัตรา 3.50 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 ปีนับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า
“เราผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงปูนประมาณ 50% และขายให้ กฟผ. 50% แต่รายได้ที่ได้รับจาก กฟผ.มากกว่า 6 เท่าในจำนวนเมกะวัตต์ที่เท่ากัน เพราะเราได้ adder อย่างไรก็ตาม การขายให้ กฟผ.ต้องได้รับ ใบอนุญาต PPA (สัญญาซื้อขายไฟฟ้า) ซึ่งตอนนี้รัฐยังไม่เปิดเพิ่ม”
สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 4.43 พันล้านบาทและกำไรสุทธิ 1.83 พันล้านบาท ภายใต้สินทรัพย์ 1.82 หมื่นล้านบาท โดยมีการกระจายแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง RDF จากหลุมฝังกลบที่ผ่านการคัดแยก ขยะที่ยังไม่ผ่านการคัดแยก และขยะชุมชน
“ผมคำนวณตั้งแต่แรกว่า หากเรารับซื้อขยะจากเทศบาลทั้งหมดอาจจะเกิดปัญหา ในกรณีที่ต้องการซ่อมบำรุงหรือปิดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เพราะเราไม่สามารถหยุดเทศบาลได้ เราจึงแบ่งการรับซื้อขยะจากเทศบาล และบ่อขยะเก่า เพื่อให้สามารถงดรับซื้อขยะจากบ่อขยะเก่าได้”
วางหมากกลยุทธ์สีเขียว
แม้โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะของ TPIPP จะสามารถยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศทิ้งห่างคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง แต่ภากรและภัคพลไม่อาจจะประมาทผู้ท้าชิงหน้าใหม่ สองผู้นำทัพจึงวางกลยุทธ์หลักที่บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาต่างๆ เช่น การปรับปรุงและพัฒนาเครื่องคัดแยกขยะ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์โดยใช้ทรายหินปูนในหม้อผลิตไอน้ำ การใช้เตาเผาที่มีไนโตรเจนออกไซด์ต่ำ
นอกจากนั้น บริษัทยังควบคุมกระบวนการต่างๆ เพื่อให้อัตราการปล่อยของเสียจากการประกอบกิจการอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับสูงสุดในการปล่อยของเสียที่กำหนด และติดตามคุณภาพอากาศโดยรอบของพื้นที่
“การทำเพื่อสังคมและการทำให้บริษัทกำไรไม่จำเป็นต้องสวนทางกัน ดังเช่นที่เราทำทุกวันนี้ ทุกเมกะวัตต์ที่เราผลิตสามารถกำจัดขยะให้ประเทศชาติและผลิตไฟฟ้า ซึ่งสร้างผลกำไรสะท้อนกลับมาให้บริษัท เราเป็น CSR in Process เราช่วยโลกขณะที่ทำกำไรในเวลาเดียวกัน” ภัคพลกล่าว
ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.5 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 7 ปีนับแต่วันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า ภายใต้เป้าหมายของกระทรวงพลังงานในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2579
“ช่วง 2-3 เดือนที่แล้วรัฐบาลประกาศเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนจาก 10% เป็น 25% ซึ่งครอบคลุมถึงเชื้อเพลิงขยะ ถ้าหากรัฐบาลประกาศเปิดประมูลใบอนุญาต เราพร้อมประมูลและสร้างการเติบโตเพิ่ม รวมถึงพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น สายลม แสงแดด เรามีสิทธิเข้าไป อย่างไรก็ตาม เราเริ่มจากการโฟกัสที่ขยะก่อน”
ขณะที่ข้อมูลของ AWR Lloyd คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศระหว่างปี 2557-2579 เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 2.7% ต่อปี ซึ่งน่าจะส่งผลให้บริษัทได้รับประโยชน์และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยบริษัทพร้อมเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็น 440 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
ภัคพลปิดท้ายด้วยประโยคที่สะท้อนชัดถึงพันธกิจและความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัท “‘We want to leave the world better than we found it’ เราพยายามทิ้งโลกนี้ไว้ในที่ที่ดีกว่าตอนที่เราเจอมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้และเป็นคติประจำใจของเรา โดยกำจัดขยะพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานให้ประเทศ”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ TPIPP