พลังแห่งมิตรภาพในวัยเรียนของ 3 หนุ่มเมืองเหนือร่วมผนึกกำลังเดินตามฝันปั้นธุรกิจเกษตรอินทรีย์ จากปลูกผักเพราะรักแม่สู่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเปิดทางมหาชนต่อยอด OKJ ขยายสาขาต่อเนื่องควบคู่การสร้างแบรนด์ Ohkajhu Wrap & Roll และ Oh! Juice เสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน
การจับมือกันของเพื่อนร่วมชั้นมัธยมศึกษาที่มีความตั้งใจสานต่อมิตรภาพในรั้วโรงเรียนให้ยาวนานถึงการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นในวิถีเกษตรอินทรีย์ ด้วยการออกแบบและจัดการฟาร์มโดยไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง พร้อมคำนึงถึงผลิตผล ผืนดิน ระบบนิเวศ ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นที่มาของสโลแกน “ปลูกผักเพราะรักแม่” และร้านสลัดผักออร์แกนิกชื่อดังในเชียงใหม่ที่สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้คอนเซ็ปต์ Be Organic from Farm to Table
“ตั้งแต่ ม.3 ผมกับโจ้เรียนโรงเรียนเดียวกัน โดยสมัยนั้นโรงเรียนดาราวิทยาลัยเพิ่งเปลี่ยนจากโรงเรียนหญิงล้วนมาไม่นาน ทำให้ผู้ชายทั้งชั้นมีจำนวนเพียง 20 กว่าคนและสนิทกันหมด ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังเรียนจบมัธยมโจ้ชวนทำธุรกิจปลูกผักขาย เพราะช่วง ม.5 โรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจึงเห็นโอกาสการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการเกษตรที่ต่อยอดได้และสามารถยึดโยงพวกเราให้เติบโตไปด้วยกัน
“โดยครอบครัวของโจ้ปลูกหอม กระเทียม ที่บ้านห้วย ลำพูนอยู่แล้ว ขณะที่อาม่าผมก็ดองผักขายที่ตลาดวโรรส ซึ่งเดิมโจ้เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นอันดับ 1 ตอนหลังเปลี่ยนเป็นคณะเกษตรศาสตร์ ผมเรียนการตลาด ส่วนต้องเรียนวิศวกรรมศาสตร์” ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ วัย 35 ปี เล่าถึงแรงบันดาลใจเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรด้วยการศึกษาสาขาการตลาด มหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อปรับใช้ความรู้ในด้านการตลาดและการบริหารกับเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ได้แก่ จิรายุทธ ภูวพูนผล (โจ้) ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเกษตรและกระบวนการเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ รวมถึง วรเดช สุชัยบุญศิริ (ต้อง) ประธานเจ้าหน้าที่ซัพพลายเชน ดูแลด้านเครื่องจักรทางการเกษตร การสร้างโรงเรือน วิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ
“ผมเป็นลูกคนจีนถูกสอนให้ทำงานตั้งแต่เด็ก อย่างช่วงปิดเทอมผมจะถูกส่งให้มาช่วยงานร้านอะไหล่ของญาติที่วรจักร กรุงเทพฯ และครอบครัวของผมทำธุรกิจของฝากวนัสนันท์ที่เชียงใหม่ ในสมัยพืชสวนโลกปี 2549 นักท่องเที่ยวไปเชียงใหม่ซื้อของฝากที่ร้านจำนวนมาก ผมต้องตื่นเช้าช่วยเข็นรถ แพ็กของ เรียนรู้วิธีการทำงานเรื่อยๆ
“รวมถึงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสทำบริษัทจำลอง และสมัยปี 4 ยังได้เข้าร่วมเป็น Marketing Trainee ในโครงการของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย” ชลากรกล่าวถึงการผสมผสานความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเริ่มลงทุนลงแรงปลูกผักสวนครัวและผักสลัดออร์แกนิกรูปแบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนขนาด 6 x 30 เมตร ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบริโภคภายในครอบครัวเมื่อปี 2553 ก่อนจะจำหน่ายผลผลิตให้ลูกค้าและร้านอาหารต่างๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ในปีต่อมา พร้อมต่อยอดผลผลิตสวนเกษตรอินทรีย์เป็นวัตถุดิบเปิดร้านอาหารโอ้กะจู๋ ซึ่งก่อตั้งสาขาแรกในพื้นที่ติดกับสวนสันทรายสาขาแรกในปี 2556 และจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ขึ้นในปี 2557
“การปลูกผักมีหลายรูปแบบ สุดท้ายเราเลือกออร์แกนิก เพราะถ้าเราปลูกผักให้คนในครอบครัวรับประทานเราคงไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี และชื่อบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ เนื่องจากแม่เหมือนเป็นศูนย์กลางของครอบครัว เราต้องการให้มีสุขภาพดีไปนานๆ ซึ่งหลังจากเรียนจบเราปรึกษาไอเดียนี้กับคุณพ่อ ท่านมีที่ดิน 1 แปลงให้เราได้ลองผิดลองถูกปลูกผักหลายอย่างและนำไปแจกจ่าย
“จนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เราต้องรอน้ำแห้งและปลูกใหม่ เมื่อผลผลิตมากขึ้นก็สามารถส่งตามร้านอาหารได้ แต่สมัยนั้นผักออร์แกนิกยังไม่ได้รับความนิยม เราจึงหาทางออกด้วยการเปิดร้านคาเฟ่ ตั้งชื่อจากชื่อเล่นของผมคือ อู๋รวมกับโจ้ เป็น โอ้กะจู๋ ซึ่งเปิดสาขาแรกวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2556 และได้รับความนิยมบอกต่อผ่านโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งสามารถขยายสาขาเพิ่มและทำสาขาแรกเป็นครัวกลาง โดยเราได้เรียนรู้ระบบโลจิสติกส์และชวนต้องเข้ามาช่วยเรื่องซัพพลายเชน รวมถึงการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น”
รุกเสิร์ฟเมนูโอ้กะจู๋ล้อมเมือง
ผลตอบรับความสำเร็จร้านอาหารและกาแฟสำหรับคนรักสุขภาพที่ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นร้านโอ้กะจู๋สาขาแรกได้สร้างความมั่นใจในการขยายธุรกิจ ทั้งพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์และเปิดร้านอาหารสาขา 2 ในโครงการนิ่มซิตี้ เดลี่ จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงเล็งเห็นโอกาสและความพร้อมเสิร์ฟอาหารสุขภาพจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ให้คนในเมืองด้วยการเปิดสาขากลางสยามสแควร์ จังหวัดกรุงเทพฯ ในปี 2560 และขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรูปแบบร้านเดลิเวอรี่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับการเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจหลังจาก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ร่วมเป็นพันธมิตรและถือหุ้นผ่าน บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ในปี 2564 โดยสามารถเพิ่มช่องทางการเปิดร้านอาหารในสถานบริการน้ำมัน PTT Station และผลิตสินค้าจำหน่ายในร้าน Café Amazon เช่น แซนด์วิชแร็พ เป็นต้น รวมถึงการขยายสาขาไปยังภาคตะวันออก ได้แก่ พัทยา ชลบุรี ระยอง และบริการไดร์ฟทรูในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station
สำหรับปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหารแบรนด์ “โอ้กะจู๋” จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น สลัด สเต็ก สปาเกตตี อาหารจานเดียว ขนมหวาน น้ำผักผลไม้ โดยมีร้านอาหารรูปแบบ full-service restaurant จำนวน 33 สาขา รูปแบบ delivery and kiosk จำนวน 4 สาขา และผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในร้าน Café Amazon กว่า 450 สาขา พร้อมทั้งนำผลผลิตจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 12 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน ปี 2567)
นอกจากนั้นบริษัทยังเล็งเห็นโอกาสขยายธุรกิจร้านอาหารประเภทจานด่วน (QSR) แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” จำหน่ายสลัด แร๊พสลัดแซนวิช และเมนูสุขภาพพร้อมหยิบ (Grab & Go) เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบจำนวน 1 สาขา และธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “Oh! Juice” โดยเริ่มเปิดดำเนินการแล้วในปีนี้จำนวน 6 สาขา
“เรา brainstorm กับทีม keyman และทีม manager โดยให้โจทย์ 4 ข้อ ได้แก่ ธุรกิจที่สร้างความแข็งแกร่งให้โอ้กะจู๋ และตลาดต้องใหญ่พอหรือดึงดูดให้เราลงไปเล่น ถัดมาเราต้องสามารถสร้างความแตกต่างจากเดิมที่มีอยู่แล้วได้ สุดท้าย resource ที่มีอยู่ต้องสามารถใช้ด้วยกันได้ ซึ่งจาก framework นี้เราคิดค้นธุรกิจใหม่ได้จำนวนมาก แต่เราเลือก Wrap & Roll เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่าโอ้กะจู๋ 1 ใน 10 แต่สามารถ deliver ความเป็นโอ้กะจู๋ได้ โดยที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ต้องรอนานเหมือนร้านอาหาร healthy and convenience
“ส่วน Oh! Juice เกิดจากลูกค้าส่วนใหญ่มักจะสั่งเครื่องดื่มสมูทตี้ที่ร้านโอ้กะจู๋ ซึ่งสะท้อนว่าลูกค้าชอบ ทำให้เรามองการเพิ่ม accessibility ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มที่ Oh! Juice ใช้เวลาไม่กี่นาที โดยยังคงคอนเซ็ปต์ Healthy & Nutrient เราเน้นคุณภาพ no hack, no sugar added และใช้ผลไม้จริงเท่านั้น ซึ่งเราไม่ได้มองธุรกิจนี้เป็นแฟชั่น แต่เป็นเมกะเทรนด์ที่คนสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พัชรพล เตชะหรูวิจิตร ปรับโฉม ASIA