ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ทายาทรุ่น 4 ของกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) หรือ KTIS ไม่เลือกที่จะทำงานแบบเต็มตัวกับกลุ่มบริษัท KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลหมื่นล้านระดับโลกที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่ แต่เลือกที่จะทุ่มเทให้กับธุรกิจสลัดเล็กๆ ด้วยยอดขายแค่ “เจ็ดหลัก” ต่อเดือนเพราะรู้สึกท้าทายมากกว่าที่ได้เห็นธุรกิจน้อยๆ จากไม่มีอะไรเลยเติบใหญ่ผลิใบด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง
ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล วัย 33 ปี เป็นหนึ่งในทายาทรุ่นที่ 4 ของกลุ่ม KTIS ที่ได้รับการวางตัวให้ช่วยสานต่องานในกลุ่มบริษัท เพื่อเติมเต็มแนวทางของกลุ่มที่ว่า “KTIS More Than Sugar” ด้วยการต่อยอดจากธุรกิจน้ำตาลที่มี อย่างไรก็ตาม ศิรพัทธ์ก็ยังไม่เข้าสวมบทบาทอย่างเต็มที่เพราะยังสนุกกับธุรกิจที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เขารู้สึกอยากลองอะไรใหม่ๆที่หาไม่ได้ในองค์กรที่อยู่ตัวแล้ว ชอบแนวคิดแบบ “serial entrepreneur” คือ สนุกที่จะได้ “คิด” และ “ลงมือทำ” พออยู่ตัวแล้ว ก็ทำอย่างอื่นต่อไปเรื่อยๆ “อยากทำอะไรใหม่ๆ เริ่มนับจากศูนย์ มันต้องเรียนรู้อีกเยอะ ต้องดูเรื่องคน เรื่องลงทุน เรื่องการตลาด เยอะมากๆ ผมว่ามันเป็นจุดสำคัญของเรียนรู้ เราค่อยๆเติบโตกับมันไปเรื่อยๆ มันก็สนุกดี” เขากล่าว ด้วยเหตุผลนี้ Glean Salad ของศิรพัทธ์จึงถือกำเนิดขึ้น แต่กระนั้นครอบครัวของเขาก็ร่วมลงทุนด้วยเพื่อสร้างความรู้สึกที่ว่าเขา “ยังทำงานกับที่บ้านอยู่” และศิรพัทธ์ก็ไม่ปฏิเสธความหวังดีนั้นเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเพราะสามารถขอคำปรึกษาในเรื่องการทำธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน หากมิเช่นนั้นแล้ว เขาจะรู้สึกเกรงใจ ในการนี้ ศิรพัทธ์ได้ร่วมก่อตั้ง Glean Salad กับเพื่อนๆ และลูกพี่ลูกน้องที่ชื่อ ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ KTIS ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่ New York ประเทศสหรัฐฯ ปัจจุบัน Glean Salad ได้เสริฟเมนูสลัดเด็ดๆ ที่ไม่เหมือนใครมากว่า 2 ปีที่แล้ว บริษัทจานอร่อยนี้เกิดขึ้นมาจากเหตุผลส่วนหนึ่งว่า ศิรพัทธ์เป็นคนชอบรับประทานอาหารอร่อยๆ ทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่าหรือสเต็ก แต่มาวันหนึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นก็พบว่า ร่างกายไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหลังรับประทานอาหารมากๆ เพราะรู้สึกอึดอัดและน้ำหนักก็ขึ้นง่าย ดังนั้น เขาจึงหันมาทบทวนการใช้ชีวิต เน้นดูแลสุขภาพที่มีทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารดีๆ โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ เขาเลือกที่จะเพิ่มปริมาณ “ผัก” เข้าไปในมื้ออาหาร จากจุดนี้เขาได้พบว่า หาสลัดอร่อยๆ ไม่ค่อยมีในท้องตลาด หากมีก็ราคาค่อนข้างแพงเข้าถึงยาก ดังนั้น จึงได้มองถึงความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจสลัด โดยตั้งโจทย์ไว้คือ สลัดต้องมีรสชาติอร่อย วัตถุดิบที่ใช้ต้องดีมีคุณภาพ และขายในราคาที่เหมาะสม และอีกที่สิ่งสำคัญก็คือ กินแล้วอิ่มในตัว ไม่ต้องหาอย่างอื่นกินเพิ่ม และเขาก็เชื่อว่า “ของอร่อยและสุขภาพดี” สามารถเดินไปด้วยกันได้


ชีวิตติดดิน
ศิรพัทธ์ เป็นบุตรชายคนเล็กของประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS และศิริวรรณ ศิริวิริยะกุล เขาเรียนจบระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Babson College สหรัฐฯ สถาบันที่มีชื่อเสียงสร้างผู้ประกอบการ ปัจจุบันเขายังช่วยงานในกลุ่ม KTIS และยังรับรู้การความเคลื่อนไหวธุรกิจของ KTIS อยู่ตลอดจากการรวมตัวของสมาชิกของครอบครัวในทุกๆ เดือน สำหรับเขาแล้ว เขามองว่า ปัจจุบันบรรดาสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะรุ่น 4 ก็ได้ช่วยสร้างและต่อยอด KTIS ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าครอบครัวจะเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีในไทยติดทำเนียบ Forbes แต่ศิรพัทธ์ก็ใช้ชีวิตแบบไม่ฟุ้งเฟ้อ เขาบอกว่า ก่อนหน้าที่ทางบ้านจะมีฐานะ ก็เคยลำบากมาก่อนและเขาก็ได้สัมผัสถึงประสบการณ์นั้น โดยประพันธ์ผู้เป็นบิดาก็เลี้ยงเขาแบบธรรมดา ไม่ได้ให้เขาใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย สมัยเด็กเขาเคยขอพ่อทำงานพิเศษ แต่ประพันธ์ก็ให้มาช่วยงานโรงงานบริษัทของครอบครัว จากตรงนี้ ไม่เพียงได้เรียนรู้งานของกลุ่มบริษัท แต่ยังได้เห็นบิดาทุ่มเทกับงานด้วยความอดทน อย่างเช่นครั้งหนึ่งเมื่อเครื่องจักรโรงงานเสีย ประพันธ์ต้องอยู่กับช่างซ่อมจนแล้วเสร็จ กินเวลาไปสองวัน เป็นการทำงานที่เรียกว่า “ไม่นอนคือไม่นอนจริงๆ” ศิรพัทธ์บอกว่า สิ่งที่บิดาย้ำกับเขาเสมอคือ เรื่อง “การเผื่อแผ่” อย่างเช่นเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงการระบาดใหม่ๆ สถานการณ์แอลกอฮอล์ขาดแคลนวิกฤตมาก สินค้าขาดตลาด ราคาขายก็สูง แต่บิดาของเขาก็ไม่เคยคิดที่จะตั้งราคาสินค้าจากโรงงานของบริษัทสูงเพื่อหากำไร โดยให้เหตุผลว่า บริษัท “ไม่ได้” อยู่ในจุดที่ต้องทำแบบนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ ศิรพันธ์มองว่า ในแง่ดีคือช่วยปรับกลไกราคาในตลาดไม่ให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งเขาเองก็ได้บทเรียนจากความคิดของบิดา เมื่อมาถึงธุรกิจตัวเอง เขาก็ได้บทเรียนจากการลงมือปฏิบัติเช่นกัน เขาพบว่า “คนที่จะประสบความสำเร็จ มันต้องมีอะไรมากกว่าเรื่องของความฉลาด” มันเป็นเรื่องของความไม่ย่อท้อ พอเจออุปสรรคอะไรต้องผ่านมันมาให้ได้ หลายคนเก่งแต่พอเจอปัญหามาก ก็ไม่สามารถผ่านมันไปได้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับคนที่สู้กับมันได้ เมื่อถามถึงความสำเร็จ ศิรพัทธ์ก็รีบออกตัวว่ายัง “ไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ” คิดว่าธุรกิจพอไปได้เท่านั้น แต่เมื่อเปิดมองมุมอื่นวัดถึงความสำเร็จ นิยามความสำเร็จในแบบฉบับของเขาคือ “มันไม่ใช่แค่เรื่องของคุณทำอะไรได้มากเท่าไร แต่มันเป็นเรื่องของคุณทำให้คนในครอบครัวคุณ คนที่คุณรักมีความสุขได้มากแค่ไหน เราไม่เบียดเบียนใคร เราได้ทำในสิ่งเราชอบก็ถือว่าเป็นความสำเร็จได้อย่างหนึ่ง” ดังนั้น ความสุขและความสำเร็จของเขาในตอนนี้คือ ได้เห็นคนไม่กินผักหันมากินผัก อร่อยกับเมนูสลัดของเขา แล้วติดใจจนเป็นลูกค้าประจำ แต่กระนั้น คนเดียวกินก็คงไม่มีผลกระทบอะไร เขาอยากเห็นคนมากินผักมากๆกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ เมื่อถึงเวลานนั้นจะเป็นความภาคภูมิใจของเขาเพราะเขามองว่า “การกินผักเยอะๆ สังคมก็จะดีขึ้น มีคนเจ็บป่วยน้อยลง มีเวลาทำโน่นทำนี่ได้มากขึ้น แล้วจะมีค่าใช้จ่ายลดลง ดีกับ budget โดยรวม” อ่านเพิ่มเติม: พงษ์พันธุ์ ไชยนิล นำ “เกาะเกร็ด” ปรุงรสละมุนลิ้น เสพศิลป์ ตระการตาไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine