โจทย์ที่ พงษ์พันธุ์ ไชยนิล ได้รับเมื่อคราวที่รับเลือกเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สาขาเครื่องปั้นดินมอญ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ปัจจุบันคือสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย) ในปี 2560 ทำให้เขาคิดถึงการจัด Exclusive Dining ดินเนอร์มื้อค่ำสุดพิเศษด้วยบริการระดับมาตรฐานสากล อุปกรณ์ทุกชิ้นบนโต๊ะอาหารเป็นผลงานของศิลปินซึ่งรังสรรค์ขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ
จากแนวคิดที่ว่าผลงานทั้งหมดนั้นจะถูกนำไปอวดโฉมในต่างแดน โดยศิลปินไม่ต้องเดินทางไปด้วย พงษ์พันธุ์ ไชยนิล ตั้งชื่องานนี้ว่า “AZAMON” Exclusive at Khokred จัดขึ้น 12 ครั้งๆ ละ 1 โต๊ะ จำนวน 12 ที่นั่ง ราคาที่นั่งละ 150,000 บาท หรือโต๊ะละ 1.5 ล้านบาท พร้อมรับประทานอาหารเลิศรสจากชุมชนชาวมอญที่บ้านดินมอญ สตูดิโอ เกาะเกร็ด โดยการให้บริการจากบริกรมืออาชีพระดับเดียวกับโรงแรม 5 ดาว
งานครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2565 ในธีม “ธารา” ซึ่งศิลปินจะออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากสายน้ำ ชื่อธีมครั้งต่อๆ ไป อาทิ สายลม พงไพร พสุธา นภาลัย อรุณรุ่ง ฯลฯ
“พงษ์พันธุ์” เป็นทายาทรุ่น 5 ของครอบครัวที่ทำเครื่องปั้นดินเผามอญมากว่า 200 ปี เป็นครูสอน pottery ในโรงเรียนนานาชาติมากว่า 20 ปี เป็นศิลปินช่างปั้นที่ผลงานติดอันดับ bestseller คราวที่ฝากขายผลงานในช็อปของโรงแรมโอเรียนเต็ล (ปัจจุบันคือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล) ล่าสุดได้รวบรวมครูช่างและทายาทที่ได้รับรางวัลจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยมาร่วมสร้างสรรค์งานหัตถกรรมบนโต๊ะอาหาร
ศิลปินอีก 9 คนประกอบด้วย หัสยา ปรีชารัตน์, พนิดา แต้มจันทร์, จิตนภา โพนะทา, ณัฐวุฒิ พลเหิม, นริสา เชยวัดเกาะ, บุญชัย แก่บ้าน, สรัญญา สายศิริ, สรภัทร สาราพฤษ และ ภารดี วงศ์ศรีจันทร์
ทายาทศิลปะมอญ
บ่ายวันหนึ่งของสัปดาห์เรามีนัดพบกับ พงษ์พันธุ์ ไชยนิล หรือ “ครูจ๊อด” ที่บ้านดินมอญ เกาะเกร็ด ซึ่งภายในบริเวณรั้วบ้านยังมีบ้านไม้โบราณอายุ 200 ปี ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตในวัยเยาว์ และปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้
จากท่าน้ำวัดสนามเหนือ เราลงเรือข้ามฟากไปเกาะเกร็ดที่ท่าเรือวัดปรมัยยิกาวาส แม้จะเป็นวันธรรมดาและแดดร้อนเปรี้ยง ทว่าระหว่างนั่งพักในบริเวณวัดยังเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติทยอยเดินขึ้นมาจากท่าเรือ ใกล้ๆ กันนั้นมีจักรยานสำหรับให้เช่าด้วย แต่เราเลือกที่จะเดินเท้า
เมื่อเดินขึ้นจากท่าน้ำมีทางแยกไปสองฝั่ง คือซ้ายและขวา ฝั่งขวาคือตลาด แต่เป้าหมายของเราคือ บ้านมอญ คนแถวนั้นบอกว่า ต้องไปฝั่งซ้าย ตอนแรกตั้งใจว่าหลังสัมภาษณ์เสร็จจะเดินทัวร์เกาะเกร็ดสักรอบ ทว่าบทสนทนาที่ออกรสทำให้เวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว
“ครูจ๊อด” รับรองเราที่โต๊ะกลางบ้าน ซึ่งมีจานใส่ขนมหน้าตาเหมือนเม็ดขนุน ด้านบนตบแต่งด้วยไข่ขาววางอยู่ ทราบภายหลังว่าชื่อ “หันตรา” ครูจ๊อดเป็นทายาทรุ่นที่ 5 เมื่อนับจากฝั่งย่าซึ่งเป็นชาวมอญ เป็นรุ่น 6 หากนับจากฝั่งปู่ซึ่งเป็นคนจีน และมาสร้างโรงงานเครื่องปั้นดินเผาที่นี่
“ผมนับฝั่งย่าเพราะเป็นศิลปะมอญ ได้ความรู้ทางศิลปะจากย่า แต่มา adapt ทำให้ไม่มีใครทำได้เหมือน ผมเป็นคนกำหนดราคา งานแต่ละชิ้นคิดจากความยากง่ายและเวลา แต่ละใบใช้เวลาเกิน 1 เดือน...วันหนึ่งย่าไม่ทำ เราทำแทน ขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าจะได้ตังค์ ทำเยอะถึงจะได้กำไรบางครั้งก็แตกหักเสียหาย เราไม่ทำแบบเอาปริมาณ ก็ทำแบบละชิ้นเดียว จากที่ย่าขายใบละร้อยก็ขายใบละพันบาท”
พงษ์พันธุ์นำความรู้ดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการศึกษาด้านศิลปะ ทำให้งานแตกต่างจากของเดิม เพิ่มลูกเล่นให้กับชิ้นงาน เช่น ปั้นผอบเป็นชิ้นเดียวกันแต่มีเทคนิคการเจาะให้เปิดฝาได้
สร้างชื่อจากโอเรียนเต็ล
ก่อนจะมาส่งผลงานให้กับร้านบูทีคที่โอเรียนเต็ล เขาเคยเป็นผู้ช่วยครูศิลปะที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา ครั้งหนึ่งมีคนติดต่อขอให้ส่งของและออกแบบร้านที่ตลาดน้ำ 4 ภาคพัทยา ทว่าหลังส่งงานเสร็จไม่ได้รับค่าจ้าง เจ้าของร้านยกร้านให้แทน
“ตอนนั้นทำงานบางกอกพัฒนาแล้วเป็นผู้ช่วยในห้องอาร์ต ตั้งแต่ปี 1997 เงินไม่เยอะเพราะไม่จบปริญญาตรี...ต่อมาก็ลาออกและโรงเรียนจ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งได้เงินมากกว่าเงินเดือนประจำ ทำๆ ไปก็มีชื่อเสียงในโรงเรียนนานาชาติ ให้ไปดูเตาเผา จัดหาดินสำหรับใช้ปั้น ทำอย่างไรไม่ให้ชิ้นงานแตกไปตามโรงเรียนนานาชาติ คือดีไซน์เตาเผาหาดินให้ เขาจะรู้กันว่าเป็นคุณจ๊อดจากบางกอกพัฒนา พูดภาษาอังกฤษได้”
ช่วงหนึ่งพัทยาไม่มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปมีแต่ชาวจีนซึ่งไม่ซื้อของเหล่านี้ เขาประเมินแล้วว่าไม่ไหวแน่ จึงหาทางกลับกรุงเทพฯ และไปออกบูธงานเพลินจิตแฟร์ จ่ายค่าเช่า 5,000 บาท ขายสินค้าได้ 3,500 บาท ไม่คุ้มทุน แต่โชคดีว่างานนี้ทำให้เขาได้พบ “คุณโป้” ศิร์ณากัญจน์ ชัยสำเร็จ ผู้ซึ่งทำให้ชิ้นงานไปอยู่ในสถานที่ที่คนเห็นคุณค่า อยู่ “ถูกที่ถูกเวลา” ขนาดว่าผลิตงานไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า
“มีพี่คนหนึ่งเป็นผู้จัดการร้านโอเรียนเต็ลบูทีคช็อปมาเจอเราและเอานามบัตรไปรุ่งขึ้นโทรมาบอกว่า สนใจจะเอามาฝากขายที่โอเรียนเต็ลไหม เขาก็ brief มาว่าต้อง exclusive เท่านั้น ผมก็เข้าใจครับ งานทุกชิ้นก็ special มีชิ้นเดียวในโลก วันรุ่งขึ้นขับรถเอาของไปให้ดู...เขาบอกคุณจ๊อดต้องทำ reference แต่ละใบ ลายอะไร ไว้ใส่อะไรใช้เวลาทำกี่เดือนกี่วัน เราก็คิดว่าขาย 2,000 บาท ควรส่ง 1,400 ให้ร้านกำไร 600 บาท
“เขาบอกว่า คุณดูถูกตัวเองได้ยังไง คิดจะขายราคาเท่าไรก็บอกมา มีหน้าที่ผลิตเขามีหน้าที่ในการขาย เราก็หงายหลัง ไม่เคยเจอ...เมื่อบอกว่าเป็น unique ชิ้นเดียวในโลก ทำคนเดียว เราจำคำนี้ได้จนทุกวันนี้ว่าอย่าดูถูกตัวเอง ให้ค่าของฝีมือและเวลาเราขาย 2,000 บาท มี 20 ใบ เขาซื้อสด 3 ใบ สำหรับให้แขกจับสลากช่วงคริสต์มาส อีก 17 ใบฝากขาย แต่บอกว่า ถ้าเดือน 2 เดือนขายไม่ออกต้องเอากลับ การบ้านคุณคือกลับไปทำ reference มา”
ระหว่างขับรถกลับบ้านมีโทรศัพท์เข้ามาพงษ์พันธุ์นึกว่าทางร้านจะคืนของ ปรากฏว่าไม่ใช่ แต่โทรมาเพื่อจะบอกว่า ไม่ต้องทำเรฟเฟอเรนซ์เพราะขายได้หมดแล้วภายในเวลา 40 นาที คนซื้อเป็นคนไทยที่มีร้านเพชรอยู่ฝรั่งเศส พอฟังพนักงานอธิบายว่าสำหรับใส่เครื่องประดับเลือกไม่ถูกจึงเหมาทั้งหมด ร้านถามว่ามีของมาวางใหม่ไหมเจ้าตัวตอบกลับว่าไม่มีแล้ว
อีก 1 เดือนต่อมาจึงเอางานไปส่ง และนับถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 10 ปีที่ชิ้นงานของเขาวางจำหน่ายในร้าน รวมๆ รายได้ก็เป็นเลข 7 หลัก ทั้งยังเคยขึ้นทำเนียบ bestseller ลูกค้าบางคนอยากได้ลวดลายแบบเดิมทางร้านถามว่า ทำให้ได้ไหม ช่างปั้นซึ่งเริ่มมีอีโก้ของตัวเองตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ทำครับ”
“โอเรียนเต็ลไม่เคยมี order ให้ทำแบบไหน บอกแต่ว่าอยากทำอะไรทำมา เขาขายให้ บางชิ้นใหญ่ใช้เวลานานหน่อย แต่ขายได้ทุกชิ้น (เน้นเสียง) จนพี่โป้เกษียณปี 2560 ผมจึงขออนุญาตไปส่งประกวดคือก่อนนั้นทางร้านขอสัญญาว่าอย่าส่งโรงแรมละแวกแม่น้ำ หากจะขายข้างนอกก็ให้ดูด้วย เพราะร้านมีลูกค้าขายให้ได้ผมก็ไม่ทำส่งที่อื่นเลย”
“ผมทำงานตามที่อยากทำ ร้านแค่บอกว่าอยากได้ชิ้นใหญ่ ชิ้นเล็ก เป็นของขวัญ เราก็ไปหา inspire บางคนบอกอยากได้โขนเรือก็ทำอนันตนาคราช ทำตามความชอบของเรา ถ้าไม่ชอบทำออกมาไม่ดี แต่ละชิ้นใช้เวลา 1-2 เดือน...งานของผมต้องละเอียดแบบนี้และเปิดได้ คนไม่รู้ว่าทำอย่างไร ดูจากลายตัว ลายหัว ไม่มีใครทำเหมือนเรา พวกลายฉลุเป็นฝีมือแฟน”
ครูจ๊อดพูดพลางหยิบชิ้นงานที่จัดโชว์ไว้นำมาเปิดให้ดู ถ้าไม่บอกแทบมองไม่ออกเลยว่าผอบสามารถเปิดออกจากกันเป็นส่วนฝาและตัวได้ เทคนิคนี้เขาได้ไอเดียจากการแกะสลักผลละมุดที่ต้องคว้านเมล็ดข้างในออก แต่เขาแกะผอบดินเผาเป็นลายฟันปลา ทำให้เปิดและปิดได้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เวลากว่า 1 ปี ในการคิดค้นวิธี
“ผมตั้งขายหน้าบ้านใบละพันบาท ทุกคนบอกบ้าที่ขายราคานี้ ลูกค้าพอได้ยินราคาก็ตกใจ คนซื้อต่อราคา ผมไม่ลด บอกไม่เอาก็ไม่เป็นไร เทคนิคนี้ย่าเป็นคนสอนก็ทำให้ละเอียดขึ้น จิ้มลายก้างปลาทีละเส้น ลายพวกนี้ทำเอง เราแกะลายบนปลายไม้ เอาลายจิ้มบนดิน ลายไม้ 1 ลายผมทำออกมาได้ 5 ลาย คือจิ้มเท่ากัน ทับกัน ห่างกัน ทับบนล่าง ไขว้กัน คนก๊อปไม่ได้เพราะหาต้นตอลายไม่เจอ
“ผมเรียนจบช่างศิลป ลาดกระบัง ก็เอาเทคนิคการสร้างลายมาใช้ มีคนถามทำไมไม่ทำลายญี่ปุ่น ลายเต่า ผมคิดว่างานผมคือเพชร เขาคงไม่สลักอะไรบนเพชรให้เกิดตำหนิ ในเมื่อเราทำลายอยู่คนเดียวคงไม่มีคนก๊อปได้ ผมแกะไม้ลายเอง ออกแบบเอง แต่เริ่มมีคนทำทรงนี้บ้างเพราะมีอยู่ปีหนึ่งทำไม่ทันส่งโอเรียนเต็ล ก็สอนชาวบ้านและให้ทำส่ง ชาวบ้านทำ 40% อีก 60% ผมทำเอง มาเขียนลายทอง”
พัฒนาบ้านเกิด
ปี 2560 ได้รับอีเมลว่ามีการประกวดทายาทศิลปิน หลังปรึกษากับคู่ชีวิตและคุณโป้แล้ว เขาจึงเข้าประกวดและได้รับรางวัล หลังจากนั้นจึงเริ่มออกงานตามสถานที่ต่างๆ และผลิตชิ้นงานใหม่ๆ ในราคาย่อมเยาลง ปีที่ได้รับรางวัลนั้นเองมีโอกาสเข้ารับการอบรมและสัมมนากับผู้ได้รับรางวัลคนอื่นๆ ซึ่งมี 3 ประเภทคือ ทายาทศิลปิน ครูช่าง และครูศิลป์
“เราเป็นทายาทเพราะต่อจากย่า ไปอบรมที่อัมพวา 50-60 คน และให้แบ่งกลุ่มทำงาน โจทย์คือ ให้คิดงานใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลก คิดด้วยว่าจะไปขายที่ไหนงานตัวนี้ต้องให้ทุกคนในกลุ่มร่วมทำด้วย เราพยายามทำให้เป็น network ก็ทำ dinner set คนนั้นทำจาน คนนี้ทำแก้ว ต้อง present บนเวทีว่าขายที่ไหน...ผมบอกว่าเอาอุปกรณ์สำหรับเซ็ตดินเนอร์ไปทั่วโลกไว้ที่สถานทูตไทยเวลามีงานจัดเลี้ยง ผมไม่ต้องเดินทางแต่มีผลงานไปอยู่ที่โน่น ก็ได้รางวัลที่ 1
“3 ปีที่แล้วเริ่มเหนื่อยกับการออกงานคิดทำสตูดิโอที่นี่ คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกาะเกร็ดดังในแบบของเกาะเกร็ดเอง ไม่ใช่ตลาด แต่เป็น pottery มีเครื่องปั้นดินเผา มีชาติพันธุ์มอญอยู่...ชาวบ้านบอกช่วยหน่อยคนเดิน (เที่ยว) แต่ฝั่งตลาดไม่มาฝั่งนี้ เราก็คิดว่าจะช่วยอย่างไร ขายอะไร มีกลุ่มคนคิดจัดไนต์มาร์เก็ตไหม แบ่งเป็นโซนๆ จัดดินเนอร์ขายเก้าอี้ละพัน คนไม่ได้ทำ pottery ไม่ได้ขายของ ก็มาช่วยงานและได้ค่าแรงตั้งชมรมรักษ์มอญเกาะเกร็ด ผมเดินตั้งแต่บ้านแรกจนบ้านสุดท้าย...ประชุมนั่งคุยกันและคิดจะทำ project นี้ แต่ติดปัญหาหลายอย่าง เลยคิดว่าถ้าทำทั้งหมู่บ้านไม่ได้มาทำที่บ้านดีกว่า”
ความคิดที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะจากดินเนอร์เซ็ตผุดพรายขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปลายปีก่อน ระหว่างออกบูธงานที่ไบเทคบางนาและคนมาชมงานน้อยเนื่องจากสถานการณ์โควิด
“เราคิดว่าทำไมต้องรอต้อนรับ รอคนมาดูงาน ทำอย่างไรจะทำของเราเองขึ้นมาบ้าง ก็กลับไปนึกถึงไอเดียดินเนอร์ มีพี่คนหนึ่งถามเมื่อไรจะทำ ได้ยินมา 2-3 ปีแล้ว ต้องการช่างคนไหนบอกมา...ใช้เวลา 1 วันเดินหาเพื่อนแต่ละคนในงาน ทุกคนเป็นทายาทได้รางวัลหมด ชวนมาร่วมงาน”
รวมทั้งรับหน้าที่ติดต่อหาลูกค้าด้วย เพราะรู้จักคนกว้างขวางมากกว่าศิลปินรายอื่น ในการจัดงานครั้งแรกวันที่เราไปสัมภาษณ์นั้น เขามีลูกค้าแล้วทั้งหมด 4 ราย ประกอบด้วย กุลวดี ศิริภัทร์, วราวุธ เลาหพงศ์ชนะ, สุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ และ ปริชญ์ รังสิมานนท์
“ผมไปพรีเซนต์ด้วยตนเองทั้ง 4 ท่าน เขาซื้อทั้งที่ไม่เห็นของ แต่เชื่อในสิ่งที่เราทำคิดว่าราคา 150,000 บาทต่อที่นั่งไม่แพง ถ้าได้เห็นชิ้นงานบนโต๊ะทุกท่านได้รับ 30 ชิ้นเฉลี่ยชิ้นละ 5,000 บาท เราจัดโต๊ะละ 12 คน จำนวน 12 ครั้ง รวมแล้วมีแค่ 144 คนที่ได้ทานและได้งานกลับไป...ในการจัดงานเราต้องขายโต๊ะให้ได้ก่อน ลูกค้าจ่ายเงินเลย เราเอาเงินนั้นมาให้ช่างทำงาน เพราะทุกชิ้นสลักชื่อผู้จอง โต๊ะแรกได้ 4 ท่านแล้ว ซึ่งจะได้งานพิเศษจากผมอีกต่างหาก”
รูปแบบคือ เป็นดินเนอร์เซ็ตแบบโต๊ะฝรั่งเศสแต่เสิร์ฟอาหารไทย เมื่อลูกค้ามาถึงท่าเรือวัดสนามเหนือ พนักงานต้อนรับด้วย “พันซ์เกาะเกร็ด” ก่อนล่องเรือรับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับเกาะเกร็ด หลังชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าจากมุมสวยที่สุดแห่งหนึ่ง จึงนำขึ้นฝั่งเกาะเกร็ดที่บ้านดินมอญ ซึ่งมีศิลปินเจ้าของชิ้นงานยืนต้อนรับ พร้อมนำชมนิทรรศการเล็กๆ ส่วนอาหารค่ำจัดที่ลานกว้างซึ่งมีฉากหลังเป็นบ้านมอญอายุ 200 ปี บนโต๊ะอาหารมีถ้วยซุป แก้วน้ำ ช้อน มีด หมอนอิง ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดปาก ซึ่งทุกชุดระบุชื่อของผู้ซื้อโต๊ะและศิลปินแต่ละรายจะเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน
พงษ์พันธุ์ตั้งชื่อธีมงานนี้ว่า AZAMON ออกเสียงว่า อา-ซา-มอน ในภาษามอญ อาแปลว่าไป ซาแปลว่าตลาดหรือชุมชนมอนคือมอญ แปลได้ว่า “ไปชุมชนมอญ”
ความคาดหวังของเขาคือ ได้สร้างงานหัตถกรรมที่ยังไม่มีใครเคยทำ ยกระดับงานให้มีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้น ให้เป็นที่จดจำว่างานหัตถกรรมไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย และบ้านดินมอญ
อ่านเพิ่มเติม:- Rachel Drori จากอดีตผู้บริหารการตลาดหญิงแกร่งสู่ผู้ก่อตั้ง Daily Harvest มูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญฯ
- 20 มหาเศรษฐีสุดมั่งคั่งจากมรดกตกทอด
- ศักดา ศรีแสงนาม จัดทัพเตรียมรับ 100 ปี Chin Huay
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine