ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล "Glean Salad" จานสุขภาพ ธุรกิจนอกลู่ของทายาทรุ่น 4 KTIS - Forbes Thailand

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล "Glean Salad" จานสุขภาพ ธุรกิจนอกลู่ของทายาทรุ่น 4 KTIS

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล ทายาทรุ่น 4 ของกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) หรือ KTIS ไม่เลือกที่จะทำงานแบบเต็มตัวกับกลุ่มบริษัท KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลหมื่นล้านระดับโลกที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่ แต่เลือกที่จะทุ่มเทให้กับธุรกิจสลัดเล็กๆ ด้วยยอดขายแค่ “เจ็ดหลัก” ต่อเดือนเพราะรู้สึกท้าทายมากกว่าที่ได้เห็นธุรกิจน้อยๆ จากไม่มีอะไรเลยเติบใหญ่ผลิใบด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

ศิรพัทธ์ ศิริวิริยะกุล วัย 33 ปี เป็นหนึ่งในทายาทรุ่นที่ 4 ของกลุ่ม KTIS ที่ได้รับการวางตัวให้ช่วยสานต่องานในกลุ่มบริษัท เพื่อเติมเต็มแนวทางของกลุ่มที่ว่า “KTIS More Than Sugar” ด้วยการต่อยอดจากธุรกิจน้ำตาลที่มี อย่างไรก็ตาม ศิรพัทธ์ก็ยังไม่เข้าสวมบทบาทอย่างเต็มที่เพราะยังสนุกกับธุรกิจที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เขารู้สึกอยากลองอะไรใหม่ๆที่หาไม่ได้ในองค์กรที่อยู่ตัวแล้ว ชอบแนวคิดแบบ “serial entrepreneur” คือ สนุกที่จะได้ “คิด” และ “ลงมือทำ” พออยู่ตัวแล้ว ก็ทำอย่างอื่นต่อไปเรื่อยๆ “อยากทำอะไรใหม่ๆ เริ่มนับจากศูนย์ มันต้องเรียนรู้อีกเยอะ ต้องดูเรื่องคน เรื่องลงทุน เรื่องการตลาด เยอะมากๆ ผมว่ามันเป็นจุดสำคัญของเรียนรู้ เราค่อยๆเติบโตกับมันไปเรื่อยๆ มันก็สนุกดี” เขากล่าว ด้วยเหตุผลนี้ Glean Salad ของศิรพัทธ์จึงถือกำเนิดขึ้น แต่กระนั้นครอบครัวของเขาก็ร่วมลงทุนด้วยเพื่อสร้างความรู้สึกที่ว่าเขา “ยังทำงานกับที่บ้านอยู่” และศิรพัทธ์ก็ไม่ปฏิเสธความหวังดีนั้นเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเพราะสามารถขอคำปรึกษาในเรื่องการทำธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน หากมิเช่นนั้นแล้ว เขาจะรู้สึกเกรงใจ ในการนี้ ศิรพัทธ์ได้ร่วมก่อตั้ง Glean Salad กับเพื่อนๆ และลูกพี่ลูกน้องที่ชื่อ ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ KTIS ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเรียนต่อระดับปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่ New York ประเทศสหรัฐฯ ปัจจุบัน Glean Salad ได้เสริฟเมนูสลัดเด็ดๆ ที่ไม่เหมือนใครมากว่า 2 ปีที่แล้ว บริษัทจานอร่อยนี้เกิดขึ้นมาจากเหตุผลส่วนหนึ่งว่า ศิรพัทธ์เป็นคนชอบรับประทานอาหารอร่อยๆ ทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่าหรือสเต็ก แต่มาวันหนึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นก็พบว่า ร่างกายไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้วหลังรับประทานอาหารมากๆ เพราะรู้สึกอึดอัดและน้ำหนักก็ขึ้นง่าย ดังนั้น เขาจึงหันมาทบทวนการใช้ชีวิต เน้นดูแลสุขภาพที่มีทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารดีๆ โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ เขาเลือกที่จะเพิ่มปริมาณ “ผัก” เข้าไปในมื้ออาหาร จากจุดนี้เขาได้พบว่า หาสลัดอร่อยๆ ไม่ค่อยมีในท้องตลาด หากมีก็ราคาค่อนข้างแพงเข้าถึงยาก ดังนั้น จึงได้มองถึงความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจสลัด โดยตั้งโจทย์ไว้คือ สลัดต้องมีรสชาติอร่อย วัตถุดิบที่ใช้ต้องดีมีคุณภาพ และขายในราคาที่เหมาะสม และอีกที่สิ่งสำคัญก็คือ กินแล้วอิ่มในตัว ไม่ต้องหาอย่างอื่นกินเพิ่ม และเขาก็เชื่อว่า “ของอร่อยและสุขภาพดี” สามารถเดินไปด้วยกันได้ โจทย์ต่อมาคือ รังสรรค์เมนูสลัดที่แตกต่าง เขาพบว่า ในท้องตลาดมีแต่เมนูซ้ำๆ ไม่มีทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากนัก จากจุดนี้เอง เขาจึงได้คิดค้นเมนูสลัดที่ไม่ซ้ำแบบใครในตลาดโดยร่วมมือกับเชฟ จากแนวทางนี้ เขามองว่า มันเป็นการสร้างจุดขายและเพิ่มจุดเด่นในเชิงการตลาด เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาลิ้มลองสลัดของผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างเขา ดังนั้นเขากับเชฟจึงลองผิดลองถูกอยู่หลายเดือนก่อนที่ธุรกิจจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แล้วในที่สุดเขาก็ได้เมนูอย่าง “สลัดต้มยำกุ้ง” “สลัดหมูชาบู” “สลัดแกงกระหรี่” ค่อยๆ ทะยอยออกมาขาย โดยเขาย้ำว่า แต่ละเมนูสลัดต้องมี “รสชาติอร่อย” ไม่ใช่เน้นสุขภาพดีแล้วต้องกินแบบฝืนใจ โดยผักสลัดทั้งหมดนั้นรับมาจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งรับประกันถึงความสดและไร้การปนเปื้อนจากสารเคมี “ความแตกต่าง สลัดหลายๆ อย่างของเราไม่มีที่อื่นมาก่อนในโลก อย่างต้มยำกุ้ง สลัดหมูชาบู ที่พวกเราคิดค้นขึ้นมา ตอนนี้ก็ให้คนอื่นทำตามแล้ว เราน่าจะ original” เขากล่าว อีกหนึ่งโจทย์ที่เขาให้ความสำคัญคือ “การลดของเสีย” หนุ่มหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่างเขานำมิติด้านสิ่งแวดล้อมมารวมเข้าสู่การดำเนินธุรกิจเล็กๆ ของเขา โดยเขาพยายามลดการสูญเสียของวัตถุดิบให้มากที่สุด เพราะอยากให้ Glean Salad เป็นแบรนด์สลัดที่มี zero waste และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการสำรวจเขาพบว่า บางร้านขายสลัดมีอัตราการสูญเสียอยู่ที่ 15%-20% ส่วนใหญ่มาจากผักสดที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้หลายวันเพราะมันจะเหี่ยวและไม่น่ารับประทาน ซึ่งสำหรับเขาแล้วตัวเลขการสูญเสียนี้ถือว่าเยอะมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีกับโลกเลยเพราะเกษตรกรต้องเสียแรงเงิน แรงกายและเสียเวลาในการเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อป้อนให้กับผู้บริโภค ดังนั้น ผักเหล่านี้ควรใช้ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ดังนั้น ในช่วงแรกเขาจึงให้ลูกค้าสั่งเมนูสลัดล่วงหน้า 3 วัน เพื่อเป็นการลดความสูญเสียและในเวลาเดียวกันลูกค้าก็ได้ของสดๆ และมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่กระนั้น ความคิดรักษ์โลกกับการทำธุรกิจมันก็สวนทางกัน เพราะในความเป็นจริงแล้วผู้บริโภคไม่สามารถรอได้ถึงสามวัน ส่วนใหญ่แล้วนึกอยากกินก็สั่งกินเลย ดังนั้น จึงลดเวลาการสั่งเหลือเพียง 1 วันในเวลาต่อมา
Glean Salad สาขา2 ตั้งอยู่ที่ อารีย์ซอย 1
ปัจจุบัน Glean Salad มีกว่า 10 เมนูให้เลือกและมีราคาระหว่าง 129-269 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบอาหารที่ใช้ อย่างราคาแพงสุดก็ 269 บาทก็เป็นเมนูสลัดหอยเชลล์ ที่แพงเพราะเป็นหอยนำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่ราคาถูกสุดคือ 129 บาทเป็นเมนูสลัดโซบะเย็น โดยเมนูขายดีก็คือ สลัดต้มยำกุ้ง ช่วงแรกบริษัทขายผ่านด้วยระบบ delivery 100 เปอร์เซ็นต์ และในเดือนกรกฎาคมนี้บริษัทจะเปิดหน้าร้านเล็กๆ ที่ซอยอารีย์ เน้นการบริการแบบ grab and go แต่ก็มีที่นั่งเอาใจลูกค้าอยู่ 6-8 ที่ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าเน้นความสะดวก เห็นแล้วรับประทานได้ทันที “การมีหน้าร้านมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการมองเห็นทำให้คนรู้จักมากขึ้น สอง เน้นกลุ่มลูกค้าที่เน้นความสะดวก เดินผ่านก็ซื้อ หิวก็กิน เพิ่มยอดได้ แต่ก็มีข้อจำกัด อย่างโควิด ถ้ามีหน้าร้านแล้วโดนปิด มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น” เขาอธิบายเพิ่ม ศิรพัทธ์บอกว่า ปัจจุบันยอดขายของ Glean Salad มีตัวเลข “เจ็ดหลัก” ต่อเดือน หรือเฉลี่ยขายได้กว่า 300 กล่องต่อวัน (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) และตั้งแต่เปิดบริษัทมา สามารถขายไปแล้วในระดับแสนกล่องและในอนาคตอันใกล้ตั้งใจที่จะขายให้ได้ 1 ล้านกล่อง ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและการสะสมฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น หรือในอนาคตบริษัทอาจจะร่วมมือกับองค์กรต่างๆ อย่างเช่น บริษัท ฟิตเนส เพื่อขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ในเวลาเดียวกันยังจะมีการออกเมนูใหม่ๆ ช่วยกระตุ้นยอดขาย อย่างเช่นเป็นเมนูสลัด “ที่อิ่มมากขึ้น” ปัจจุบันเมนูส่วนใหญ่ผู้หญิงสามารถรับประทานได้ แต่สำหรับผู้ชายอาจจะต้องการเมนูที่มีสารอาหารมากกว่านั้นเพราะผู้ชายอาจเล่นกล้ามด้วย แนวที่อยากได้คือ มีโปรตีนมากขึ้น หรือมีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตที่มากขึ้น ทำให้ลูกค้าผู้ชายได้รับสารอาหารอย่าง “สมดุล” ดังนั้น จึงต้องเลือกโปรตีนให้เหมาะกับร่างกาย และเป็นโปรตีนที่ดีกับกล้ามเนื้อ นอกจากนี้แล้ว ยังมีแผนที่จะผลิตขนมขบเคี้ยวที่ดีกับสุขภาพ โดยอาจจะต่อยอดมาจากสินค้าเกษตร “แบรนด์อยู่ในตลาดล่ะ ถ้าจะโตอาจจะต้องไป co กับคนอื่นอย่างฟิตเนสได้ไหม หรือมีช่องทางใหม่ ต้องดูว่าอันไหนเหมาะกับ philosophy ของเรา ต้องคุยรายละเอียด ไม่ใช่ได้เงินแล้วเอาเลย ต้องเหมาะกับ service ของเรา” เขากล่าว กว่าจะมีที่ยืนในตลาดสลัดในทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ศิรพัทธ์ต้องลองผิดลองถูกและต้องทำงานทุกอย่างด้วยตนเองเพราะต้องการประหยัดต้นทุนและไม่อยากใช้เงินฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะกับกิจกรรมทางด้านการตลาด อย่างเมื่อก่อน เขาต้องออกบูธขายสินค้าด้วยตนเอง ไปเตรียมงานตั้งแต่หกเจ็ดโมงเช้า งานจริงเริ่มแปดโมง และกลับบ้านสองทุ่ม บางครั้งมียอดขายเป็นหลักร้อยก็มี ทั้งยังเคยส่งคนไปส่งโบรชัวร์ตามคอนโดต่างๆ เป็นหมื่นใบ ได้ลูกค้ากลับมาสองสามคนก็มี หรือมีการใช้ influencer โดยส่งเมนูสลัดไปให้ชิม การลองผิดลองถูกนี้ได้ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าการนำ “ของดีๆ มาขายแล้วลูกค้าช่วยบอกต่อ” เป็นวิธีทางการตลาดที่เหมาะกับแบรนด์ของเขามากที่สุด “อย่างวันแรกขายได้ราว 50 กล่อง บางวัน 10-20 กล่องก็มีในช่วงสองสามเดือนแรกเพราะยังไม่มีฐานลูกค้าและไม่มีใครรู้จัก” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม ศิรพัทธ์บอกว่า ปัจจุบันตลาดสลัดเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ “รักสุขภาพ” และเมืองไทยก็มีทิศทางเป็นเช่นนั้น เห็นได้ว่าแบรนด์ที่ทำสลัดหรือแบรนด์ทำอาหารคลีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ร้านอาหารต่างๆ ทั่วไปที่ไม่ได้ทำอาหารคลีน ก็ได้นำเสนอเมนูเพื่อสุขภาพมากขึ้นให้กับลูกค้าเป็นทางเลือก แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า “คนไทยอยากกินคลีน แต่ก็ยังอยากกินของอร่อยอยู่” และนี่คือโอกาสของ Glean Salad

ชีวิตติดดิน

ศิรพัทธ์ เป็นบุตรชายคนเล็กของประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS และศิริวรรณ ศิริวิริยะกุล เขาเรียนจบระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Babson College สหรัฐฯ สถาบันที่มีชื่อเสียงสร้างผู้ประกอบการ ปัจจุบันเขายังช่วยงานในกลุ่ม KTIS และยังรับรู้การความเคลื่อนไหวธุรกิจของ KTIS อยู่ตลอดจากการรวมตัวของสมาชิกของครอบครัวในทุกๆ เดือน สำหรับเขาแล้ว เขามองว่า ปัจจุบันบรรดาสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะรุ่น 4 ก็ได้ช่วยสร้างและต่อยอด KTIS ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าครอบครัวจะเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีในไทยติดทำเนียบ Forbes แต่ศิรพัทธ์ก็ใช้ชีวิตแบบไม่ฟุ้งเฟ้อ เขาบอกว่า ก่อนหน้าที่ทางบ้านจะมีฐานะ ก็เคยลำบากมาก่อนและเขาก็ได้สัมผัสถึงประสบการณ์นั้น โดยประพันธ์ผู้เป็นบิดาก็เลี้ยงเขาแบบธรรมดา ไม่ได้ให้เขาใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย สมัยเด็กเขาเคยขอพ่อทำงานพิเศษ แต่ประพันธ์ก็ให้มาช่วยงานโรงงานบริษัทของครอบครัว จากตรงนี้ ไม่เพียงได้เรียนรู้งานของกลุ่มบริษัท แต่ยังได้เห็นบิดาทุ่มเทกับงานด้วยความอดทน อย่างเช่นครั้งหนึ่งเมื่อเครื่องจักรโรงงานเสีย ประพันธ์ต้องอยู่กับช่างซ่อมจนแล้วเสร็จ กินเวลาไปสองวัน เป็นการทำงานที่เรียกว่า “ไม่นอนคือไม่นอนจริงๆ” ศิรพัทธ์บอกว่า สิ่งที่บิดาย้ำกับเขาเสมอคือ เรื่อง “การเผื่อแผ่” อย่างเช่นเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงการระบาดใหม่ๆ สถานการณ์แอลกอฮอล์ขาดแคลนวิกฤตมาก สินค้าขาดตลาด ราคาขายก็สูง แต่บิดาของเขาก็ไม่เคยคิดที่จะตั้งราคาสินค้าจากโรงงานของบริษัทสูงเพื่อหากำไร โดยให้เหตุผลว่า บริษัท “ไม่ได้” อยู่ในจุดที่ต้องทำแบบนั้น การตัดสินใจเช่นนี้ ศิรพันธ์มองว่า ในแง่ดีคือช่วยปรับกลไกราคาในตลาดไม่ให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งเขาเองก็ได้บทเรียนจากความคิดของบิดา เมื่อมาถึงธุรกิจตัวเอง เขาก็ได้บทเรียนจากการลงมือปฏิบัติเช่นกัน เขาพบว่า “คนที่จะประสบความสำเร็จ มันต้องมีอะไรมากกว่าเรื่องของความฉลาด” มันเป็นเรื่องของความไม่ย่อท้อ พอเจออุปสรรคอะไรต้องผ่านมันมาให้ได้ หลายคนเก่งแต่พอเจอปัญหามาก ก็ไม่สามารถผ่านมันไปได้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับคนที่สู้กับมันได้ เมื่อถามถึงความสำเร็จ ศิรพัทธ์ก็รีบออกตัวว่ายัง “ไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ” คิดว่าธุรกิจพอไปได้เท่านั้น แต่เมื่อเปิดมองมุมอื่นวัดถึงความสำเร็จ นิยามความสำเร็จในแบบฉบับของเขาคือ “มันไม่ใช่แค่เรื่องของคุณทำอะไรได้มากเท่าไร แต่มันเป็นเรื่องของคุณทำให้คนในครอบครัวคุณ คนที่คุณรักมีความสุขได้มากแค่ไหน เราไม่เบียดเบียนใคร เราได้ทำในสิ่งเราชอบก็ถือว่าเป็นความสำเร็จได้อย่างหนึ่ง” ดังนั้น ความสุขและความสำเร็จของเขาในตอนนี้คือ ได้เห็นคนไม่กินผักหันมากินผัก อร่อยกับเมนูสลัดของเขา แล้วติดใจจนเป็นลูกค้าประจำ แต่กระนั้น คนเดียวกินก็คงไม่มีผลกระทบอะไร เขาอยากเห็นคนมากินผักมากๆกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ เมื่อถึงเวลานนั้นจะเป็นความภาคภูมิใจของเขาเพราะเขามองว่า “การกินผักเยอะๆ สังคมก็จะดีขึ้น มีคนเจ็บป่วยน้อยลง มีเวลาทำโน่นทำนี่ได้มากขึ้น แล้วจะมีค่าใช้จ่ายลดลง ดีกับ budget โดยรวม” อ่านเพิ่มเติม: พงษ์พันธุ์ ไชยนิล นำ “เกาะเกร็ด” ปรุงรสละมุนลิ้น เสพศิลป์ ตระการตา 

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine