เมื่อนิยามของความสุขในการทำเพื่อสังคมไม่จำกัดอายุหรือความมั่นคงทางการเงิน ธนากร พรหมยศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Young Happy กำลังพากิจการเพื่อสังคมที่สร้างจากพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่แห่งนี้ เติมไฟให้ผู้สูงวัยมีคุณค่า พึ่งพาตนเอง และมีความสุขสนุกที่ดี
ปี 2583 หรืออีก 20 ปี มีการคาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยจะมีจำนวน 20.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.13 ของจำนวนประชากรชาวไทยหรือที่เรียกว่า “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super Aged Society) ที่ระดับผู้สูงอายุเกินร้อยละ 30 ของประชากรในประเทศนั้นๆ ทำให้หลากหลายองค์กรทั้งในไทยหรือต่างประเทศ อาทิ UNECE หน่วยงานขององค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ที่ได้จัดทำดัชนีที่เรียกว่า Active Aging Index และรณรงค์ให้กลุ่มคนสูงวัยทั่วโลกมีสุขภาพที่แข็งแรงคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นความท้าทายเดียวกันสุดยอดเป้าหมายของ Young Happy ที่มุ่งแก้ปัญหาในมุมของ “ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล” ที่มีเรื่อง “สุขภาพจิต” เป็นรากเหง้าของปัญหา สุขที่ได้ให้ ราวปี 2559 ธนากร ในวัยยี่สิบกว่ามีโอกาสอ่านหนังสือและพบเรื่องราวของ Muhammad Yunus ชาวบังคลาเทศ เจ้าของรางวัลโบเบลสาขาสันติภาพ และผู้ก่อตั้งธนาคาร Grameen Bank เพี่อให้คนยากไร้เข้าถึงเงินทุน เรื่องราวกิจการสังคมของเขาได้จุดประกายให้ธนากรลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสังคม โดยลุยเดียวทำงานเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมแต่เพียง 7 เดือน โครงการของเขามีอันต้องจบลงเนื่องจากโมเดลทางธุรกิจที่ไม่สามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้ แต่ด้วยแรงใจและเชื้อเพลิงที่ยังลุกโชนผลักดันให้เขาทำงานเพื่อสังคม จึงปรึกษากับกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งในปัจจุบัน ถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่สามารถแจ้งเกิดในวงการกิจการเพื่อสังคมที่สามารถดำเนินธุรกิจและมุ่งมั่นทำเพื่อสังคมองค์รวมและในปี 2560 พวกเขาได้ร่วมกันตั้ง Young Happy ขึ้นมา “ความท้าทายประเทศไทยวันนี้คือประเทศเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกคนรับรู้เรื่องนี้และปัญหาที่เกิดมีหลายมุมมาก ซึ่งสิ่งที่เรามองคือประเด็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย คำถามก็คือค่าใช้จ่ายตรงนี้เกิดจากอะไร สิ่งที่พวกเราค้นพบคือเรื่องสุขภาพจิตที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา” ธนกร พรหมยศ ซีอีโอ Young Happy กล่าว ปัญหาสุขภาพจิตที่ Young Happy ค้นพบมีต้นเรื่องมาจาก ความเหงา ความว่าง และคุณค่าของตนที่ลดลง โดยปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พวกเขาค้นพบมากที่สุดคือการกลายฐานะจาก “ผู้พึ่งพากลายเป็นผู้เพิ่งพิง” “ที่เราเจอะเยอะสุดก็คือผู้สูงอายุ ยิ่งลูกหลานประสบความสำเร็จ ความที่ตนเองมีคุณค่าก็ยิ่งจะน้อยลง วันนึงที่เขาเคยเป็นผู้นำในครอบครัว บางรายลูกหลานออกจากบ้านออกไป บางรายต้องแบมือขอเงิน ถึงแม้ว่าไม่แบมือขอเงินแต่ถ้าเขารู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น” สุขของการแบ่งปัน หลังจากค้นพบต้นต่อของปัญหา Young Happy ได้เปลี่ยนสารและมอบ 3 สิ่งสำคัญซึ่งเป็นคีย์สำคัญในการดำเนินกิจการเพื่อสังคมและสื่อสารไปยังกลุ่มผู้สูงวัย คือ “สนุก คุณค่า และ พึ่งพาตนเอง” ผ่านแอปพลิเคชั่น YoungHappy สังคมออนไลน์ไร้พรมแดนที่ผู้ใช้งานสามารถแชร์ภาพ ความคิดเห็น ซึ่งภายในแอปฯ ผู้ใช้งานสามารถลงชื่อเข้าร่วมอีเว้นต์ต่างๆ ที่ Young Happy ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงกลุ่มผู้สูงอายุออกจากบ้าน มาพบปะกับคนรุ่นเดียวกันและกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน “เราค้นและพบว่าพวกเขาขาดการเข้ากิจกรรม เบื่อ เหงา เราจึงสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้พวกเขามาร่วมสนุก เรากำลังสร้างธนาคารเวลาให้พวกเขาอีกครั้ง บางคนจากสมาชิกกลายเป็นอาสาสมัคร นำความรู้ความสามารถที่พวกเขามีกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันในช่วงโควิด-19 พวกเขาก็เปลี่ยนมาเรียนคลาสผ่านออนไลน์” ซึ่งก่อนวิกฤตการแพร่กระจายของโควิด-19 ธนากรเผยว่าคอมมูตี้ของเขามีการจัดอีเว้นต์แทบทุกวันในวันธรรมดาเนื่องจากวันหยุดพวกเขาใช้ชีวิตกับครอบครัว โดยเฉลี่ยมีกลุ่มผู้สูงอายุเข้าร่วมราว 500-1,000 คน ซึ่งสิ่งที่เขาและทีมงานค้นพบและเป็นความภูมิใจคือการที่สมาชิกผู้สูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปเข้ามาร่วมกิจกรรม “เรารู้สึกภูมิใจมากที่คนวัย 80 เข้ามาร่วมกิจกรรมของเรา สมาชิกคนอื่นรู้สึกตื่นเต้นเช่นกัน เพราะสมาชิกวัย 60 เขาได้เห็นโกลของตัวเองแล้วว่าจะเป็นยังไง ทำไมฉันต้องอยู่ต่อ อยู่ต่อแล้วฉันจะเป็นยังไง” สำหรับอีกตัวอย่างที่ดีที่ธนากรแบ่งปันคือการสมาชิกวัยเกษียณท่านหนึ่งที่ป่วยติดบ้านและภรรยาพาเข้ามาร่วมกับ Young Happy จนวันนี้เขากลายเป็นอาสาสมัครสามารถเป็นตัวแทนให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้คือโกลของ Young Happy ที่ต้องการให้กลุ่มผู้สูงวัย “แอคทีฟ” ซึ่งเมื่อพวกเขามีความสุข พวกเขาจะมีพลัง และเมื่อเขามีสุขภาพที่ดีก็จะลดปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล “อย่างโรคเอาไซเมอร์ มีงานวิจัยเปิดเผยว่าภายใน 5 ปีหนึ่งครอบครัวที่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ราว 2 ล้านบาท ถ้าสมมุติผมพยายามที่จะทำให้คนที่เข้ามาใน Young Happy ยึดเวลาออกไปอีกสักระยะ เราจะประหยัดเงิน 2 ล้านบาทต่อหนึ่งครอบครัว ถ้า Young Happy ช่วยได้ 15,000 ครอบครัว จะเป็นเงินเท่าไรที่พวกเขาไม่ต้องไปจ่ายค่าพยาบาล” สุขที่สร้างตัว ปัจุจบันโมเดลทางธุรกิจของ Young Happy มาจากสามส่วนสำคัญคือ การจัดอีเว้นต์ แบ่งเป็นแบบฟรีที่มีสปอนเซอร์สนับสนุน และแบบเสียค่าใช้ที่ไม่เกิน 1,000 บาท ที่จัดในหกด้านสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุเรียนรู้กับโลกยุคที่ 5 G กำลังจะเข้ามา ส่วนที่สองคือ ฐานข้อมูลกลุ่มผู้สูงวัย สำหรับสินค้าและบริการที่ต้องการเสนอโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย “กลุ่มคนสูงวัยของเราเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพและมีกำลังในการจ่าย แต่การจะเข้าถึงกลุ่มนี้ผ่านออนไลน์ ต่อให้เฟซบุ๊กก็ไม่เจอง่ายๆ และราคาแพงมากซึ่ง Young happy ก็มีเซอร์วิสแบบนี้ ในการโฆษณา ตรงกลุ่ม” สำหรับส่วนสุดท้ายคือ การสร้างแอปฯ Young Happy ให้เป็นซูเปอร์แอปฯ สำหรับผู้สูงอายุ โดยเขาตั้งเป้าให้แอปฯ ของเขาติดท๊อป 5 ที่กลุ่มคนสูงวัยเปิดเข้าทุกวันนอกเหนือไปจากแอปฯ ไลน์ ยูทูป หรือ เพซบุ๊ก "ที่ผ่านมาจุดเด่นของเราคือกิจกรรม ส่วนเทคโนโลยีคือสิ่งที่เขาสนใจ เราใช้แอปฯ Young Happy เป็นเหมือนสะพานเชื่อมพาเขาเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี และเป็นศูนย์กลางเชื่อมอีเว้นต์และการทำงานเข้าไว้ร่วมกัน" ธนกร ทิ้งท้ายด้วยว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่มีส่วนให้ประเทศเป็นสังคมคนสูงวัยที่เต็มไปด้วยคุณภาพ “ประเทศไทยมีเรื่องที่ดีอยู่แล้วคือ hospitality ที่ดีซึ่งเรื่องนี้น่าดึงดูดคนได้เยอะและเราได้เรียนรู้และรู้จักกลุ่มสูงวัยต่างชาติที่เข้ามาเกษียณในบ้านเรา ถ้าเราสามารถทำสำเร็จในประเทศไทยเราจะนำโมเดลกิจการสังคมของเรารุกเอเชียเพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเอเชียจะมีปัญหาผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก"ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine