ภาณุ ถนอมวรสิน นำ Thai-A นวัตกรรมอินเทรนด์ - Forbes Thailand

ภาณุ ถนอมวรสิน นำ Thai-A นวัตกรรมอินเทรนด์

ทุกนวัตกรรมย่อมเริ่มด้วยการบุกเบิก คิดค้น วิจัยและพัฒนาทั้งนวัตกรรมที่คิดขึ้นใหม่และการสานต่อจากต้นกำเนิดมาสู่การประยุกต์พัฒนาเพื่อใช้งานใหม่จนกระทั่งตอบโจทย์ตลาด ได้การยอมรับในวงกว้าง


    คอลัมน์ “The Trend” ฉบับนี้มีความคาบเกี่ยวระหว่างเทรนด์และนวัตกรรม จากจุดเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีใหม่เมื่อ 55 ปี ก่อนรุ่นบิดาเป็นผู้บุกเบิกการนำระบบไฮดรอลิก (hydraulic) เข้ามาใช้ นอกจากเป็นรายแรกในไทย ยังเป็นรายแรกในภาคพื้นเอเชีย มาวันนี้เป็นยุคของรุ่น 2 ดร.ภาณุ ถนอมวรสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเอเย่นซี เอ็นยีเนียริ่ง จำกัด (Thai-A) ยังคงเป็นผู้นำเทรนด์ด้านนวัตกรรมโดยเปลี่ยนรูปแบบไปตามตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรทางการเกษตรที่คิดค้นและผลิตโดยคนไทย ทำให้ทุกคนเห็นว่าความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรของคนไทยมีดีไม่ด้อยกว่าใครเช่นกัน

    “คุณพ่อผม ดร.สมศักดิ์ ถนอมวรสิน ท่านเป็นประธานบริษัทผู้บุกเบิกนำระบบไฮดรอลิกเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นเจ้าแรก และเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกรายแรกของภาคพื้นเอเชีย” ภาณุบอกเล่าอย่างภาคภูมิถึงหัวคิดก้าวหน้าของบิดา เมื่อย้อนเวลากลับไปกว่า 50 ปี สิ่งที่บริษัทนี้ทำนอกจากระบบไฮดรอลิกแล้วยังมีระบบนิวเมติกส์ (pneumatic) ที่เติบโตเคียงคู่กันมาตลอดกว่าครึ่งศตวรรษ


บุกเบิกด้วยนวัตกรรม

    ภาณุเล่าว่า ตลอดเวลา 50 กว่าปี Thai-A มีลูกค้าหลากหลายตามความต้องการใช้ระบบไฮดรอลิก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรกลหนักต่างๆ และเนื่องจากบิดาเขาได้นำเข้าเครื่องจักรเจาะน้ำบาดาล เจาะสํารวจต่างๆ ซึ่งขณะนั้นต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อเมริกา ใช้ไฮดรอลิกอยู่แล้วแต่ในไทยยังไม่มี บิดาเขาได้นำเข้ามาใช้ในไทย พร้อมยกตัวอย่างที่แม่เมาะ Thai-A เป็นคนนำเทคโนโลยีการขุดเจาะเข้ามา และยังมีเครื่องจักรในอุตสาหกรรม เครื่องฉีดพลาสติกในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัล ซึ่งเครื่องจักรทุกส่วนที่มีการเคลื่อนไหว มีการยกหนักๆ จะใช้ไฮดอรลิกเป็นต้นกําลังเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วยของเหลว

    “ตอนเด็กๆ คุณพ่อไปเจาะสํารวจถ่านหินที่แม่เมาะเมื่อราว 40 ปีก่อนก็เริ่มใช้เครื่องจักรพวกนี้ นอกจากนี้ คุณพ่อยังนำเข้าเรือพาณิชย์นาวีทั้งลํามาจากเดนมาร์ก” เขาเล่าถึงความริเริ่มใหม่ๆ ของครอบครัวซึ่งบิดาเขาเป็นผู้นำร่องในยุคแรกๆ ไอเดียในการนำร่องธุรกิจใหม่ๆ ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน บิดาเขากำลังจะเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    “คุณพ่อผมชอบคิดหาสิ่งใหม่ตลอดเวลา อย่างเรือพาณิชย์นาวีที่นำเข้ามาทั้งลําจากเดนมาร์กเป็นเรือที่ใช้สอนการขับเรืออีกทีหนึ่ง ปัจจุบันยังอยู่ที่กรมพาณิชย์นาวี เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ต้น” เขาย้ำสิ่งที่ทำในยุคนั้นคือ บริษัทนำเข้าเรือเพื่อให้กรม-พาณิชย์นาวีสอนให้คนขับเป็น โดยที่เรือลำนี้ล่องตรงมาจากเดนมาร์ก เป็นการทำงานร่วมกับพาณิชย์นาวีไทยซึ่งขณะนั้นขึ้นอยู่กับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และตอนนี้ก็ยังขึ้นกับกรมเจ้าท่าไม่ได้ขึ้นกับกองทัพเรือ

    สมัยนั้นเรือพาณิชย์นาวีเป็นเรือที่ทันสมัยมาก มีระบบคอมพิวเตอร์จำลองสอนขับ (simulator) เหมือนการจำลองขับเครื่องบินแต่เป็นการขับเรือลำใหญ่โดยมีเรือจริงขนาดใหญ่ ช่วงนั้นการซื้อเข้ามาเป็นแบบจีทูจีในนามรัฐบาลต่อรัฐบาล เพราะรัฐบาลไทยอยากได้มาเพื่อฝึกคน “การซื้อเรือครั้งนั้นพาร์ตเนอร์เราคือท่านทูตไทยประจําเดนมาร์ก เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกวันนี้ก็ยังมีธุรกิจด้านนี้อยู่ เพราะเราทําหางเสือเรือ ทําอะไรพวกนี้โดยนำไฮดรอลิกไปใช้” ภาณุยังบอกอีกว่า ไฮดรอลิกนำมาใช้ได้หลากหลายมาก

    ประมาณ 10 กว่าปีหลังมานี้บริษัทสังเกตเห็นว่าอุตสาหกรรมไทยเริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ การผลิตอ่อนแอลง จึงขยับขยายนำไฮดรอลิกไปใช้ด้านการเกษตรในการเก็บ-เกี่ยวพืชผล เช่น รถเกี่ยวข้าว รถคีบอ้อย รถคีบไม้ และอื่นๆ โดยใช้เป็นเครื่องมือการเกษตรเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะปัจจุบันคนหนุ่มสาวเลือกทำงานในเมืองมากกว่าที่จะทำเกษตร


เบนเข็มเจาะการเกษตร

    “เราไปภาคเกษตรมาเป็น 10 ปีแล้วเพราะมองว่า industrial อ่อนแอลง เห็นภาพมาตั้งแต่ตอนนั้น มาวันนี้หลายอุตสาหกรรมย้ายไปเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเขมรเพราะค่าแรงถูกกว่าไทย” ภาณุยืนยันและว่านอกจากค่าแรงถูกกว่า ทักษะแรงงานเขาก็ดีกว่า ขณะที่ไทยนั่งเฉยมานาน การพัฒนาค่อนข้างช้า แต่ยังดีที่เขาทำเรื่องไฮดรอลิกจึงยังพอไปได้ เพราะโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ แขนหุ่นยนต์ต้องมีไฮดรอลิก

    ภาณุอธิบายว่า ธุรกิจของ Thai-A เป็น supporting industry คือเป็นคนซัพพอร์ตให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อตัวโรงงานทั้งโรงหายไปหรือย้ายไปก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเบาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่ไม่ไฮเทคมากอย่างการฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนรถยนต์ออโต้พาร์ตต่างๆ ที่ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง เหตุผลเพราะค่าแรงของไทยแพงขึ้น “บ้านเราค่าแรงแพงขึ้นแต่เศษฐกิจถอยหลัง มันสวนทางกัน เพราะนโยบายมันผิดเรื่องการพัฒนาคนและการศึกษาที่จะสร้างคนในอุตสาหกรรม”

    ผู้บริหาร Thai-A ย้ำว่า “ปัจจุบันเราเน้นแต่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องผิด เพราะค่าแรงขั้นต่ำพอขึ้นทำให้สินค้าต่างๆ อาหารแพงขึ้น ทุกอย่างแพงขึ้น สุดท้ายเงินก็ไม่เหลือ ไม่มีประโยชน์อะไร สู้เพิ่มค่าแรงตาม skill จะดีกว่า” ภาณุยังบอกด้วยว่า แนวทางที่ดีควรกำหนดการขึ้นค่าแรงตามทักษะ (skill) ที่เพิ่มขึ้น เช่น เพิ่ม 1 ทักษะได้กี่บาท 2 ทักษะอีกกี่บาท เป็นต้น “แต่เราไม่ได้ทำแบบนี้ นโยบายไม่ถูกเลยทําให้การพัฒนา skill ผิด ควรฝึกคนพัฒนาทักษะเพื่อได้ค่าแรงเพิ่ม ไม่ใช่มีนโยบายขึ้นค่าแรงอย่างเดียว”



เครื่องจักรเกษตรของไทย

    สำหรับแผ่นดินไทยภาคเกษตรคือเสาหลัก แต่การพัฒนาเกษตรจะใช้เพียงเกษตรกรรมอย่างเดียวคงไม่พอ Thai-A จึงหันมาเน้นทำเครื่องจักรทางการเกษตร

    “ผมจะ disrupt ระบบการเก็บเกี่ยวในไร่ เราทําเครื่องคีบอ้อย เครื่องคีบไม้ ทํามา 10 กว่าปี ตอนแรกไปใช้แทนช้างและแทนคน วันไหนฝนตกจึงใช้ช้างลาก ช้างก็ไม่ถูกใช้งานมากเกินไป”

    ภาณุบอกว่า บริษัทมีโรงงานสร้างเครื่องจักรเหล่านี้ที่ใช้ระบบไฮดรอลิกเป็นส่วนประกอบออกมาเป็นเครื่องพร้อมใช้งานแต่ละวัตถุประสงค์ จากเดิมแค่ต้องการแก้ปัญหาแรงงานภาคเกษตรขาดแคลน กลายเป็นว่าได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าใช้คนมาก เก็บเกี่ยวได้มากเป็น 10 เท่าของแรงคน ทุกวันนี้ต่อไร่จึงลดจำนวนแรงงานคนจาก 30 คนเหลือเพียง 5 คนกับเครื่องจักร ได้งานเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า มากสุดได้ถึง 10 เท่า

ผลิตแผงโซลาร์ทางเลือก
    นอกจากเครื่องจักรทางการเกษตรแล้วภาณุเผยว่า เขายังมีบริษัทลูกที่ผลิตแผงโซลาร์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ด้วยการที่ไทยเราผลิตน้อยกว่าจีน พอโดนจีนทุ่มตลาด (dumping) ก็ค่อนข้างหนัก แต่แผงโซลาร์ของบริษัทมี มอก. ผลิตภายใต้มาตรฐานของไทยโดยการนำเซลล์เข้ามาผลิต เมื่อมี มอก. ราชการก็ออกสเปกใช้สินค้าได้ ส่วนใหญ่จึงได้งานโปรเจกต์ราชการ

    ขณะเดียวกัน ภาณุยังเล่าถึงการศึกษา pain point ที่เกิดขึ้นในตลาด และหันมาเพิ่มบริการที่สร้างโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาในองค์รวม โดยมีโครงการนําร่องร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีข้อดีเพราะได้ทำการศึกษาจริงจัง และตอนนี้ได้เข้าไปติดตั้งอะไรเรียบร้อยแล้วเริ่มทดลองใช้ในบางโครงการเช่น โซลูชันสําหรับแก้ปัญหาน้ําประปา

    “การขายของเป็นชิ้นๆ มันลําบาก เราต้องขายเป็นโซลูชันเพื่อไปแก้ปัญหา แต่ขายแบบไหนก็ต้องเข้าไปดูไปศึกษาก่อน ตรงไหนที่เป็น pain point ศึกษาให้ละเอียดและจริงจัง ทำทีเดียวต้องจบ”



ภาพ: Thai-A



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กฤศ โกษานันตชัย รุ่น 2 “EVT” ขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคนไทย

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine