ก้าวย่างที่มั่นคงของ BCC บริษัทผู้บุกเบิกการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในประเทศไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของ “พงศภัค นครศรี” ทายาทรุ่น 3 ซึ่งสร้างรายได้ถึง 12,800 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา นับเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 60 ปี
บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด (BCC) ก่อตั้งโดย สมพงศ์ นครศรี ในปี 2507 ด้วยทุนจดทะเบียน 4 ล้านบาท ปัจจุบันสมพงศ์อายุ 89 ปี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ส่วน พงศภัค นครศรี กรรมการบริหาร ซึ่งได้รับการวางตัวให้เป็นผู้นำคนต่อไปนั้นเป็นหลานตา
BCC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าหลายชนิด ประกอบด้วย
1. สายไฟฟ้า ชนิดตัวนำทองแดงและตัวนำอะลูมิเนียม
2. สายอิเล็กทรอนิกส์และสายเคเบิลสำหรับระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าและสัญญาณควบคุม
3. สายทนไฟ เป็นสายไฟฟ้าที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้ตัวนำทองแดงสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง แม้ตัวฉนวนและเปลือกจะถูกไฟไหม้ไปแล้ว
4. สายคอนโทรลและสายสัญญาณ สายไฟที่มีตัวนำเป็นเส้นฝอยขนาดเล็กทำให้มีความอ่อนตัวสูง เหมาะสำหรับเชื่อมต่อ เพื่อนำสัญญาณระหว่างอุปกรณ์วัดและคอมพิวเตอร์
5. สายโทรคมนาคมสำหรับการส่งสัญญาณและข้อมูลระยะไกล 6. สายสำหรับบ้านและอุปกรณ์มือถือ
หน้าเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า มีอัตรากำลังการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลชนิดตัวนำทองแดง 30,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดตัวนำอะลูมิเนียมที่มีกำลังการผลิต 22,000 เมตริกตันต่อปี
ทั้งนี้ตลาดอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณปีละ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง BCC ครองส่วนแบ่งการตลาด 25% และปีที่ผ่านมามีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 12,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้ 11,400 ล้านบาท
ปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกจะเติบโตเป็น 3 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า รวมถึงเทรนด์ ESG และ Net Zero ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งดั้งเดิมสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยในปีนี้คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 3.5% และเพิ่มขึ้น 3.3% ในอีก 3 ปีข้างหน้า
นั่นหมายถึงโอกาสของ BCC ในฐานะเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลซึ่งเป็นต้นทางของการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากหน่วยงานการไฟฟ้าภาครัฐ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไปยังผู้ใช้ปลายทาง
Bid โปรเจกต์ใหญ่
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) และได้รับรางวัลเฟลมมิ่งสำหรับผลการเรียนดีเด่นจาก University College London (UCL) London ประเทศอังกฤษ พงศภัคศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการจัดการ (Masters in Management: MiM) จาก London Business School (LBS) และกลับมาช่วยงานธุรกิจของครอบครัว โดยเป็นผู้บุกเบิก บจ. บางกอกแม็กเน็ตไวร์ ซึ่งทำธุรกิจลวดทองแดงอาบน้ำยา ลวดแม่เหล็กและโซลูชั่นต่างๆ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พงศภัคบอกว่า เขาเป็นพนักงานคนแรก ปัจจุบันมีพนักงาน 100 กว่าคน และสร้างยอดขายหลักพันล้านบาทต่อปี
บริษัทแห่งนี้ใช้ทองแดงเป็นวัตถุดิบทำให้ BCC มียอดขายทองแดงมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนถูกลง
“ออฟฟิศใช้โรงงานที่ปิดตัวลง มีแอร์ตัวเดียว เราเรียนรู้ตั้งแต่ก่อสร้าง สรรหาบุคลากร เซ็ตอัพทีม ติดตั้งเครื่องจักร จนบริษัท operate ได้มีระบบการทำงาน เป็นโอกาสที่ดี ได้เรียนรู้ learning by doing ทำให้เข้าใจธุรกิจมากขึ้น ตอนเรียนเป็นเชิงทฤษฎีไม่ได้ apply แต่นี่ทำจริงและแข่งกับเวลาที่มีความกดดัน เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก”
ปี 2561 พงศภัคได้ก้าวเข้ามาดูแลธุรกิจของ BCC อย่างจริงจังในตำแหน่งผู้ช่วยรองประธานฝ่ายขายและการตลาด โดยมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ Fortune 500 และบริษัท EPC ระดับโลกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือโครงการ Thaioil Clean Fuel ซึ่งเป็นโครงการเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดของ BCC สร้างรายได้กว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.4 พันล้านบาทให้กับบริษัท เมื่อทำโครงการนี้สำเร็จผู้บริหารไว้วางใจมากขึ้น “เรา success deliver สิ่งที่จับต้องได้ เรื่องยอดขาย”
ในระหว่างนี้เขาต้องดูแลด้านการวางแผนกลยุทธ์องค์กรด้วย โดยรับผิดชอบตั้งแต่การขาย การดำเนินงาน การจัดซื้อ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การเข้าร่วมทุน และความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ สร้างรายได้ให้บริษัทจากการเพิ่มโอกาสการขายและลดต้นทุนจากการปรับปรุงกระบวนการธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงธุรกิจสายไฟฟ้าและยานยนต์ ธุรกิจผลิตแท่งทองแดง โดยบริหารจัดการความเสี่ยงของวัตถุดิบทองแดงด้วยวิธี hedging (copper hedging desk) ช่วยประหยัดต้นทุนจากความเสี่ยงด้านราคาทองแดง
รวมทั้งนำทีมขายเปิดตลาดใหม่ในประเทศกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว สร้างยอดขายส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ภายใน 4 ปี ส่งผลให้บริษัทครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในตลาด CLM
ปี 2563 ดูแลธุรกิจของ BCC ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) และเป็นผู้ริเริ่มการสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ของในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยรับผิดชอบการบริหารโครงการและการดำเนินงานต่างๆ จนประสบความสำเร็จสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิลได้ภายใน 6 เดือนแรก โดยดูแลการลงทุงทั้งหมด 30 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,112 ล้านบาท และได้รับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI
รวมทั้งรับผิดชอบดูแลระบบคุณภาพทั้งหมดตั้งแต่การออกแบบสายไฟฟ้าและเคเบิล การวิจัยและพัฒนา การควบคุมคุณภาพ และการประกันคุณภาพ สามารถบรรลุเป้าหมาย KPI สูงสุด ด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ HVA ใหม่กว่า 3 รายการ ยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนจากวัสดุเหลือทิ้ง
สร้าง Value Added
ในบทบาทของกรรมการบริษัท ผู้บริหารหนุ่มได้แสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เสมอ อาทิ การควบรวมกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน สร้างข้อเสนอซื้อกิจการ 2 ราย สำหรับบริษัทมหาชนและบริษัทเอกชน รับมือกับโควิด-19 ที่ผ่านมาด้วยการวางกลยุทธ์การสื่อสาร และวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อประเมินความปลอดภัยและผลกระทบต่อธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทำให้บริษัทสามารถก้าวผ่านวิกฤตการณ์ดังกล่าว
ดังจะเห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการช่วง 4 ที่ผ่านมา โดยปี 2563 บริษัทมีผลประกอบการ 9,096 ล้านบาท กำไรสุทธิ 769 ล้านบาท รายได้กลับมาแตะหลักหมื่นล้านระหว่างปี 2564-2566 และในปีนี้ได้เพิ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตสายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูงพิเศษเป็น 2 เท่า เพื่อรองรับการเติบโต ตั้งเป้าเพิ่มยอดจำหน่ายสายโซลาร์เซลล์หรือสายเคเบิล PV (Photovoltaic Cable) เป็น 3 เท่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 30%
การเริ่มงานจากบริษัทในเครือก่อนมาดูแล BCC ทำให้เขาได้ฝึกปรือฝีมือและเก็บรับประสบการณ์ก่อนมาดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ของครอบครัว
“พอเรากลับมาทำบางกอกเคเบิ้ล สามารถเอาสิ่งที่เรียนรู้จากข้างนอก ด้านเทคโนโลยี การบริหาร ประสบการณ์ความรู้ตอนเรียนมาหลอมรวม apply ต่อยอดธุรกิจได้จริง BCC แข็งแกร่งมากอยู่แล้ว การที่คนคนหนึ่งจะเข้ามาสร้าง value added ให้บริษัทต้องเป็นสิ่งที่บริษัทอาจยังไม่มี หรือขาด ณ เวลานั้น เราเข้ามาช่วยหลายส่วน ไม่ได้ทำแค่สายตลาด
สำหรับกลยุทธ์ปีนี้ผู้บริหารหนุ่มตั้งเป้าหมายว่า รายได้เติบโต 30% เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำ ขณะที่มาร์เก็ตแชร์ขยับจาก 25% เป็น 30- 35% ซึ่งเขาให้โจทย์กับทีมขายโดยเจาะจงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการแข่งขันและมาร์จินดี ได้แก่ สายไฟฟ้าชนิดแรงดันปานกลางและแรงดันสูง
“กลุ่มนี้ใช้ในโครงการการไฟฟ้าต่างๆ scale ภาคอุตสาหกรรมขึ้นไป เราตั้งเป้าว่า โต 2 เท่า อีกส่วนคือ สายโซลาร์เซลล์ (PV Cable) เราก็ตั้งเป้าตัวเลขยอดขาย 200 ล้านบาท ประมาณ 20% ของ market share”
ส่วนกลุ่มสายไฟฟ้าใต้ดินก็ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะบริษัทเป็นผู้นำด้านนี้และมีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 70%
“เรามีประสบการณ์ๆ อย่างเดียวไม่พอต้องมีกำลังการผลิตด้วย ปีนี้ก็เลยลงทุน 500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกำลังการผลิต เรามี backorder อยู่เยอะ ถามว่าทำไมเพิ่มยอดขายได้ เพราะมีในมืออยู่ที่ต้องส่งมอบต่อเนื่องจากปีนี้ถึง 5 ปีข้างหน้า เราทำตั้งแต่ช่องนนทรี อโศก รัชดาฯ ลาดพร้าว และพระราม 4 เป็นโครงการต่อเนื่อง พอเห็นดีมานด์ก็ต้องวางแผนซัพพลาย ลงทุนเครื่องจักรใหม่ สร้างอาคาร และมีเครื่องมือทดสอบใหม่ๆ”
ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกเกือบ 4 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยส่งมอบภายใน 3 ปี เฉพาะปี 2567 ส่งมอบประมาณพันกว่าล้าน “ปีนี้พยายาม secure backlog ให้หนาแน่นขึ้นอีก เราจะสร้างให้ถึงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เพราะมีโครงการที่จะเข้าใหม่ในระบบตามแผนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีอีกหลายโครงการ”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, BCC
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศุภลักษณ์ อัมพุช จากย่านช็อปปิ้งหรูสู่ “มอลล์เพื่อคนรุ่นใหม่”