'ณัฐพล ดุษฎีโหนด' ทายาทสายตรงสู่การปั้น FM ธุรกิจไก่แปรรูปพันล้านสู่สากล - Forbes Thailand

'ณัฐพล ดุษฎีโหนด' ทายาทสายตรงสู่การปั้น FM ธุรกิจไก่แปรรูปพันล้านสู่สากล

การระบาดของไข้หวัดนกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ไม่น้อย ต่างประเทศไม่นำเข้าเนื้อไก่สดจากไทยเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารสัตว์ไม่น้อย เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ และ “สนิท ดุษฎีโหนด” ชักชวนลูกชายให้กลับมาช่วยงานธุรกิจของครอบครัว และปรับมาทำธุรกิจปลายน้ำ โดยผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่ชำแหละและผลิตผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปปรุงสุก กระทั่งเป็น Top 10 ของประเทศไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัง


    ณัฐพล ดุษฎีโหนด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดโมเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ FM เป็นทายาทคนที่ 3 ของครอบครัว เรียนจบปริญญาตรีศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขา MS In Supply Management จาก Case Western Reserve University หลังใช้ชีวิตเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา 4 ปีครึ่ง จึงกลับมาช่วยกิจการของทางบ้าน

    “เราทำงานอยู่ข้างนอกก็ enjoy มีชีวิตเหมือนคนทำงานไม่ต้องแบกรับมากมาย เผอิญมีหวัดนกระบาด คุณพ่อยุ่งมากขึ้น ก็ชวนว่าถ้าจะมาจังหวะนี้ก็มีอะไรให้ทำ เพราะหลังหวัดนกมันต้องเปลี่ยนธุรกิจพอสมควร” ณัฐพลเล่าถึงเหตุผลที่ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ และปัจจุบันเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัว


เน้นลูกค้าพรีเมียมต่างชาติ

    บริษัท ฟู้ดโมเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ FM เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ โดยเริ่มตั้งแต่การร่วมดูแลการเลี้ยงไก่เนื้อผ่านเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาของบริษัทมากกว่า 87 ราย มีกำลังการผลิตไก่เนื้อประมาณ 43 ล้านตัวต่อปี โดยประกอบธุรกิจ 3 ประเภทประกอบด้วย 

    1. บจ.เอฟแอนด์เอฟฟู้ด จำกัด (FF) ดำเนินธุรกิจโรงเชือดและชำแหละไก่เนื้อ เพื่อจำหน่ายเนื้อไก่และชิ้นส่วนไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง มีกำลังการผลิตสูงสุด 144,000 ตัวต่อวัน กลุ่มลูกค้าหลักได้แก่ ธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ ผู้ประกอบธุรกิจอาหารหรือเนื้อสัตว์

    2. บจ.สปริงคิทเช่น จำกัด (SK) ธุรกิจโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปไก่ปรุงสุกแช่แข็ง ให้กับบริษัทที่นำไปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง (OEM) ซึ่งกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ 4 แบบ ประกอบด้วยการนึ่ง ทอดและอบด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ลูกค้าได้แก่ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปปรุงสุกภายใต้แบรนด์ของตนเอง และนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีก รวมถึงจำหน่ายต่อให้แก่ธุรกิจบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด

    3. บจ.เอฟแอนด์เอฟเพ็ทฟู้ด จำกัด (FFPF) ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทที่จะนำไปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ตนเอง โดยนำผลิตภัณฑ์พลอยได้จากชิ้นส่วนไก่จาก FF มาเป็นวัตถุดิบหลัก (ปัจจุบันยัง ไม่ได้ดำเนินธุรกิจ) 

    กลุ่มบริษัททำธุรกิจแบบ B2B โดยธุรกิจแปรรูปเนื้อไก่มีสัดส่วนส่งออก 86% จำหน่ายในประเทศ 14% ส่วนไก่ชำแหละส่งออก 35% และจำหน่ายในประเทศ 65%

    บริษัทมีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 30 ราย โดยส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และทวีปยุโรป รวมถึงกลุ่มลูกค้าอื่น เช่น ผู้ส่งออก ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เครือข่ายร้านอาหารระดับโลก โดยมากกว่า 55-61% ของยอดขายระหว่างปี 2564–2566 มาจากกลุ่มลูกค้าหลักที่บริษัทมีความสัมพันธ์อย่างยาวนาน

    ทั้งนี้ ภาพรวมผลการดำเนินงานระหว่างปี 2564 -2566 บริษัทมีรายได้รวม 4,166.42 ล้านบาท 5,825.72 ล้านบาท และ 5,782.16 ล้านบาท กำไรสุทธิ 183.72 ล้านบาท 840.67 ล้านบาท และ 254.69 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราส่วนกำไรสุทธิ 4.43%, 14.48% และ 4.42% ของรายได้จากการขาย

    ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 มีรายได้รวม 1,737.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าคือ 1,414.58 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 124.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกำไรสุทธิอยู่ที่ 73.06 ล้านบาท เนื่องจากกำลังซื้อฟื้นตัว ปริมาณการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น

    จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย Allied Market Research คาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปีกแปรรูปทั่วโลกจะมีมูลค่า 592.70 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2574 จากมูลค่า 311.70 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 โดยมีการอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 7.40% ในช่วงปี 2565-2574 โดยอุตสาหกรรมไก่แปรรูปเป็นอุตสาหกรรมหลักในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปีกแปรรูป ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 83.93% คิดเป็นมูลค่า 261.61 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565


ไข้หวัดนกสร้างจุดเปลี่ยน

    ก่อนจะมาทำธุรกิจไก่แปรรูปและไก่ชำแหละ “สนิท ดุษฏีโหนด” และเพื่อนๆ เริ่มจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ในปี 2520 โดยจัดจำหน่ายทั่วประเทศผ่านผู้แทนจำหน่ายและฟาร์มต่างๆ ต่อมาได้ขยายธุรกิจสู่ธุรกิจฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อภายใต้ชื่อ บจ.ทีเอฟเอ็มฟาร์ม เพื่อจำหน่ายลูกไก่เนื้อให้กับเกษตรกร

    ช่วงที่ทำธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเปลี่ยนจากแบบผสมเองเป็นอาหารสัตว์สำเร็จรูป ต่อมาขยายโรงงานไปยังประเทศจีนและบรูไน ส่วนในประเทศได้ขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคือธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจโรงเชือดชำแหละไก่ในปี 2544 ซึ่งธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ทว่า หลังจากประเทศไทยเผชิญวิกฤตไข้หวัดนกช่วงปี 2546 ทำให้การส่งออกเนื้อไก่ดิบหยุดชะงักกว่า 10 ปี ประกอบกับภาพรวมอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เปลี่ยนแปลงไป ความต้องการซื้ออาหารสัตว์ในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เลี้ยงสัตว์หันมาสร้างโรงงานอาหารสัตว์เอง แต่ผลกระทบที่รุนแรงสุดยังมาจากการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้รายได้ของบริษัทหายไปถึง 70%
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ครอบครัวดุษฏีโหนดก้าวเข้าสู่ธุรกิจการส่งออก

    ปี 2556 มีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ โดยตัดธุรกิจต้นน้ำคือการผลิตอาหารสัตว์ออกและก่อสร้างโรงงานผลิตไก่แปรรูปส่งออกในอีก 2 ปีต่อมา เพราะมองเห็นว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยมีจุดเด่นด้านมาตรฐานการผลิตไก่แปรรูป ซึ่งทำให้เป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกธุรกิจด้านนี้ ทั้งยังทิ้งห่างประเทศคู่แข่งอันดับรองอย่างจีนและประเทศในกลุ่มยุโรป

    “ผมมาช่วยหลังหวัดนกประมาณปี 2546 เข้ามาในจังหวะที่ธุรกิจไก่ในประเทศเริ่มเปลี่ยน โดยดูแลโรงอาหารสัตว์ 7 ปี แล้วก็ดูแลฝั่งโรงเชือด ก่อสร้างโรงงานไก่แปรรูป พอทำไปเราก็เห็นว่ามาถูกทาง เห็นศักยภาพไก่แปรรูปปรุงสุกว่าโตได้อีกมาก ธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง เมื่อเทียบกับโรงเชือด ต้องใช้เทคโนโลยีสูงและเปลี่ยนใหม่หมด...ไม่ได้เน้นตลาดในไทย เพราะโรงงานของเราทำเกรดส่งออก มาตรฐานสูง ลูกค้าหลักเป็นโลตัส อีกส่วนที่เป็นกลุ่มใหญ่คือโรงงานที่นำไก่ไปแปรรูปแล้วส่งออก เราต้องใช้ไก่จากโรงเชือด เพื่อเป็นมาตรฐานส่งออก สุดท้ายจึงทำสินค้าแปรรูปปรุงสุก"



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, FM



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'Sanjiv Lamba' ราชาแห่งก๊าซสีเขียว

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine