‘ชญาภา จูตระกูล’ กับนิยามความสำเร็จนอกกรอบ ปลุกปั้น The Pink Lab ด้วยตนเอง - Forbes Thailand

‘ชญาภา จูตระกูล’ กับนิยามความสำเร็จนอกกรอบ ปลุกปั้น The Pink Lab ด้วยตนเอง

การเบนเข็มเส้นทางลัดระดับพรีเมียมของทายาทธุรกิจแสนสิริและสยามพิวรรธน์สู่การเขียนโค้ดความสำเร็จด้วยตัวเองบนทางเดินใหม่ไร้กลีบกุหลาบ ‘ชญาภา  จูตระกูล’ พร้อมแสดงฝีมือแจ้งเกิด ผ่าน The Pink Lab ต่อยอดโอกาสเทคโนโลยีดิจิทัล และจับมือ Directions Group Inc สิงคโปร์ ปั้นงานพีอาร์บวกอีเว้นต์เสิร์ฟลักชัวรี่แบรนด์


    บนแต้มต่อของการเป็นทายาทธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศเป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวแรกอย่างมั่นคง ด้วยการสนับสนุนของครอบครัวที่ให้อิสระการตัดสินใจเลือกเรียนและการทำงานจนสามารถค้นพบเส้นทางของตัวเอง พร้อมยึดบิดามารดาเป็นต้นแบบความทุ่มเทสร้างการเติบโตอาณาจักรหมื่นล้าน โดยให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและการปรับตัวรับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ

    ชญาภา  จูตระกูล  กล่าวถึงการผสมผสานแนวทางการทำงานที่ได้รับการถ่ายทอด DNA การบริหารธุรกิจจาก อภิชาติ จูตระกูล ซีอีโอของแสนสิริ และ ชฎาทิพ จูตระกูล ซีอีโอของสยามพิวรรธน์ ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในทุกการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเลือกใช้ชีวิตเป็นนักเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษในวัยเพียง 8 ปี และย้ายไปศึกษาต่อมัธยมปลายที่โรงเรียน Data Hall สหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี Mass Media and Communication จาก Scripps College สหรัฐอเมริกา และเริ่มต้นทำงานกับบริษัทเอเจนซี่ 2x4 ที่ New York ซึ่งได้รับผิดชอบดูแลการสร้างแบรนด์ระดับโลกหลากหลายโปรเจกต์ เช่น Prada, DKNY, Starbucks, Pat McGrath, Target และ Carolina Herrera

    “คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้บริหารคนละสไตล์ในธุรกิจที่แตกต่างกัน แต่ทั้งคู่เหมือนกันในเรื่องการทำงานอย่างจริงจังและความมีวินัยการทำงานสูงมาก รวมถึงคุณพ่อคุณแม่จะมองในระยะยาวเสมอทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยคุณพ่อจะเน้นเรื่องการเงินและการทำตามเป้าหมาย ท่านจะย้ำเสมอว่า การทำธุรกิจไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ สนุกได้ แต่บริษัทต้องรอดและทำกำไร ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือฐานะในวันนี้เป็นของคุณพ่อ ส่วนเราต้องทำงานสร้างความสำเร็จด้วยมือของเราเองเพื่อให้ภูมิใจในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณพ่อช่วย ขณะที่คุณแม่จะ lead by example ท่านไม่ได้สอนแต่ทำให้เห็น และเปิดโอกาสให้เราได้ซึมซับวิธีการทำงาน”

    หลังจากใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลากว่า 15 ปี ชญาภาเดินทางกลับประเทศไทย และเริ่มต้นเก็บชั่วโมงบินทำงานเป็น Strategic Planner บริษัท แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ในปี 2559 ก่อนจะลาออกมาช่วยธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์ในโปรเจกต์ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการวางกลยุทธ์ดิจิทัลและผู้จัดการฝ่ายการตลาดของสยามพิวรรธน์ ซึ่งมีโอกาสได้แสดงฝีมือร่วมจัดงานเฉลิมฉลองการเปิดตัวไอคอนสยามภายใต้แนวคิด “สิ่งที่ดีที่สุดของไทยบรรจบกับสิ่งที่ดีที่สุดของโลก”

    ความสำเร็จในการมีส่วนร่วมสร้างชื่อให้ศูนย์การค้าของไทยเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกถือเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ชญาภาเดินหน้าต่อจากงานด้านการตลาดสู่การมีส่วนร่วมงานพัฒนาธุรกิจและการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าในระยะยาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการรวบรวมข้อมูลสร้าง data lake ต่อยอดการนำฐานข้อมูลจำนวนมากของสยามพิวรรธน์มาใช้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกศึกษาต่อปริญญาโทสาขา Applied Analytic ใน Columbia University สหรัฐอเมริกา

    “ช่วงใกล้จบกำลังจะได้ทำตามฝันใช้ชีวิตและทำงานที่ New York โควิด-19 ก็มา ซึ่งคนในวงการกระซิบกันว่า tech winter กำลังจะมาเราจึงกลับเมืองไทยและทำงาน Business Development Manager ที่ True Corporation อยู่ประมาณปีครึ่งก็เริ่มเข้าสู่ยุค NFT และ metaverse ทำให้เราเห็นโอกาส new economy”


ปั้นผลงานพิสูจน์ฝีมือ

    โอกาสที่สะท้อนชัดในเศรษฐกิจยุคใหม่หรือ new economy เป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มความมั่นใจให้ชญาภาตัดสินใจเริ่มต้นก่อตั้ง บริษัท เดอะ พิงค์แล็บ จำกัด ในปี 2565 โดยกุมบังเหียนซีอีโอขับเคลื่อนสร้างการเติบโตธุรกิจพร้อมกับพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือ Web3.0 (WEB3) ความสามารถเชิงลึกในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (machine learning) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (decentralization) และการเชื่อมต่อกันผ่านโลกเสมือนจริง (metaverse) รวมถึงกระแสสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น คริปโตเคอร์เรนซีหรือ NFT ซึ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    “ช่วงที่ new economy อย่าง NFT และ metaverse กำลังได้รับความสนใจ หลายคนเข้ามาขอคำแนะนำจากเราเพราะเราอยู่ในแวดวงนี้มานาน ทำให้เราเห็นช่องว่างธุรกิจที่ยังไม่มีบริการตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่หรือลูกค้าที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมบวกกับ knowledge ที่สั่งสมมาพร้อมประสบการณ์ทำงาน เราจึงเริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2565”

    “The Pink Lab เป็นเหมือนบริษัท incubator ให้คำปรึกษาสำหรับ corporate หรือสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่สามารถพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ซึ่งพื้นฐานของเราจะเน้นการสร้างแบรนด์ การทำการตลาด และต่อยอดด้วยเทคโนโลยี โดยเราทำให้คนเข้าใจมากขึ้นผ่านการสื่อสาร การวางรากฐานแบรนด์ การพัฒนาธุรกิจ การตลาด และการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์ให้บริษัทหรือสตาร์ทอัพที่ต้องการก้าวข้ามความเป็นสตาร์ทอัพ”

    โดยบริการของ The Pink Lab แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ Digital Marketing เราไม่ได้วางมีเดียให้ แต่แนะนำมีเดียและวางกลยุทธ์ที่ชัดเจนให้ลูกค้า รวมถึงบริการด้าน database หรือ CRM ช่วยให้ลูกค้ารายใหญ่หรือรายเล็กสามารถนำข้อมูลประยุกต์ใช้ได้ สุดท้ายบริการคำแนะนำด้าน AI ที่เหมาะสมกับลูกค้า และ New Economy เช่น NFT, crypto, metaverse ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญเรื่อง NFT และ metaverse เพราะเชื่อมโยงกับด้านการตลาดที่เราทำอยู่


    ตัวอย่างหนึ่งในโปรเจกต์ของบริษัทที่สามารถสร้างรายได้ให้ลูกค้าเติบโตขึ้น 118% ปีต่อปีจาก 23 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 51 ล้านบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ได้แก่ โครงการ LIV-24 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพื่อให้บริการเทคโนโลยีดูแลความปลอดภัยอัจฉริยะและจัดการระบบวิศวกรรมอาคารเต็มรูปแบบ ได้แก่ ด้าน Security Tech ด้วยระบบ AI CCTV Analytics โดยที่ผ่านมาสามารถตรวจจับความผิดปกติ (incident detection) 500,000 ครั้ง และช่วยป้องกันการเกิดเหตุจากการทำงานผิดปกติของระบบวิศวกรรมในอาคารมากกว่า 10,000 ครั้ง เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร ลิฟต์ค้าง ตรวจจับระบบวิศวกรรมอาคารผิดปกติ

    “เราเล็งเห็นศักยภาพจึงวางแผนร่วมกับ LIV-24 เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังจะไป โดยเราโฟกัสที่วิธีสื่อสารแบรนด์และการหาลูกค้าใหม่ ด้วยการแตกไลน์ไปร่วมกับภาครัฐและช่วยให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งโปรเจกต์นี้อยู่ครบทั้ง 3 ส่วน ในด้านการตลาดดิจิทัลและด้าน CRM จากช่วงแรกที่เขาขายตัวเองเป็น B2C เราปรับให้เป็น B2B มากขึ้น โดยเขารวบรวมลูกค้าที่เป็น database ของเขา เราแนะนำลูกค้าใหม่ให้และยังมีด้าน AI เรื่องซอฟต์แวร์”

    นอกจากนั้น ในด้านธุรกิจของสยามพิวรรธน์ ยังเข้าไปริเริ่มโครงการ JAI by ONESIAM สำหรับลูกค้าหนุ่มสาวระดับ Elite ในหลากหลายธุรกิจทั่วโลก ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมคอมมูนิตี้ไลฟ์สไตล์ลักชัวรี่ โดยมอบสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน ได้แก่ curated community การพบปะสังสรรค์กับสมาชิก, exclusive events การร่วมงานอีเว้นต์ กิจกรรมไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้, privileges from ONESIAM and partners สิทธิพิเศษการช็อปปิ้ง และ luxury services บริการอำนวยความสะดวกด้านไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวระดับ VVIP เช่น บริการรับส่งที่สนามบิน บริการคนขับรถ การจองร้านอาหาร เป็นต้น

    จากนั้น ชญาภาพร้อมรับความท้าทายใหม่ที่สามารถเติมเต็มความฝันบนเส้นทางที่สามารถผสมผสานความเชี่ยวชาญร่วมกับ Directions Group Inc ประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท ไดเร็คชั่นส์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และดำรงตำแหน่ง Executive Director ดำเนินธุรกิจด้านประชาสัมพันธ์และการจัดงานอีเว้นต์ที่เน้นลักชัวรี่แบรนด์เป็นหลัก

    “เราชอบทั้งเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ รวมถึงเราเห็นช่องว่างในตลาดที่มีดีมานด์สูง แต่เราไม่ต้องการทำคนเดียวและต้องการให้สิ่งที่เราทำ impact ถึง regional ซึ่งเมื่อโอกาสมาเราจึงไม่ปล่อยให้เป็นของคนอื่น ด้วยความเชื่อมั่นในจุดแข็งของผู้ถือหุ้นบริษัทเราที่เหมือนทีม Avengers ทั้ง Directions Group Inc หนึ่งในผู้นำพีอาร์และอีเว้นต์ลักชัวรี่แบรนด์ที่สิงคโปร์ และผู้ถือหุ้น คุณฟอร์ด กุลวิทย์ เลาสุขศรี มีประสบการณ์ด้านมีเดียและ knowledge ที่ทุกคนวางใจ โดยเรายังเน้นกลยุทธ์การสร้าง network ที่แข็งแกร่งและ ecosystem ที่เรามั่นใจว่า ไม่มีใครทำได้เหมือนเรา ซึ่งเราตั้งใจทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์ในระยะยาวและสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน โดยเราไม่ต้องการเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด แต่ต้องการเป็นบริษัทที่ influencer มากที่สุดของกลุ่มลักชัวรี่แบรนด์ในภูมิภาคนี้”

    ชญาภาในวัย 31 ปีย้ำความมั่นใจในการผนึกกำลังสร้างความแข็งแกร่งในตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งสามารถขยายฐานลูกค้าลักชัวรี่ที่มากกว่าแฟชั่นแบรนด์ เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (hospitality) ธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะ ด้วยเป้าหมายการทำกำไรและคืนทุนทุกธุรกิจตั้งแต่ปีแรก พร้อมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ภายใต้ความเชื่อมั่นในการใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อความสำเร็จของลูกค้าเป็นรางวัลความสำเร็จและความภูมิใจสูงสุด

    “ตั้งแต่ทำงานถึงวันนี้ไม่เคยผิดหวังที่ไม่มี work life balance เรากลัวเสียดายเวลาที่ผ่านมาในวัยที่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้เราเลือกใช้เวลาไปกับการสร้างผลงานและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านายดีกว่า ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น เราก็พร้อมบาลานซ์ เพราะที่ผ่านมาเราทำเต็มที่แล้ว ซึ่งวิธีการทำงานของเรานอกจากซึมซับมาจากคุณพ่อและคุณแม่ เรายังได้รับประสบการณ์ในการทำงานหลายบริษัท ทำให้เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจที่ไม่ได้เกิดจากการคิดแค่เรื่องกำไร เพราะธุรกิจที่ชนะอย่างเดียวไม่ยืนยาว เราต้องคิดเรื่อง win-win situation และเป้าหมายองค์รวมสำคัญมาก โดยความสำเร็จของลูกค้าและการทำให้ลูกค้าพึงพอใจเป็นความสำเร็จที่แท้จริงของบริษัท รวมถึงเราต้องการเป็นผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงฝีมือและผลักดันพนักงานให้เติบโตตามแนวทางที่ต่างกัน”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มาริษา เจียรวนนท์ มอง Life Journey ผ่านโลกศิลปะ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine