อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ ขุนพลรุ่น 3 แห่งอาณาจักรน้ำตาลทรายครบุรีเร่งเครื่องเพิ่มกำลังการผลิตส่งออกความหวานทั่วเอเชีย พร้อมเปลี่ยนขยะจากกากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล บาลานซ์พอร์ตรายได้ 7 พันล้านบาท เล็งจังหวะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน
รอยทางธุรกิจที่เคยโรยด้วยผลึกน้ำตาลให้ทายาทได้รับช่วงต่ออาณาจักรพันล้านกำลังถูกกาลเวลากัดกร่อน และลดทอนความหวานลงจากเมื่อ 55 ปีก่อน ด้วยความท้าทายรอบด้านที่ส่งสัญญาณเตือนให้ธุรกิจต้องเร่งเครื่องภาคต่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน เพื่อสานต่อเส้นทางให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว พร้อมการนำของคลื่นลูกใหม่ที่ต้องปรับตัวรับกับกระแสลมเปลี่ยนทิศ “โรงงานน้ำตาลเริ่มจากคุณปู่ (ถวิล) ซึ่งได้รับธุรกิจนี้โดยบังเอิญจากเจ้าของโรงงานน้ำตาลที่นำโรงงานมาชำระหนี้ให้ ตอนนั้นคุณปู่ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย มีแต่ความตั้งใจ ท่านลำบากมาก ต้องกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาทำต่อเหมือนกัน แต่ก็รอดมาได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับต้นๆ ของประเทศ อาจจะไม่ใหญ่แต่มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพ” อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เล่าถึงช่วงเริ่มต้นธุรกิจในชื่อ บริษัท อุตสาหกรรมหนองใหญ่ จำกัด จังหวัดชลบุรี ในปี 2508 จากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และกำลังการผลิต 1,500 ตันอ้อยต่อวัน บริษัทย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2539 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด และได้พัฒนาปรับปรุงระบบการผลิตอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังการผลิตประมาณ 21,000 ตันอ้อยต่อวัน หลังจากนั้นครอบครัวถวิลเติมทรัพย์จึงตัดสินใจแปรสภาพบริษัทเป็นมหาชน และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2554 พร้อมเพิ่มทุนเป็น 500 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการเสริมทัพให้ธุรกิจแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการทำสัญญา strategic alliance agreement กับกลุ่มบริษัทมิตซุยจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 600 ล้านบาท “คุณปู่เริ่มต้นธุรกิจประมาณ 5-6 ปี คุณพ่อ (สมชัย) ก็เข้ามาช่วยกับคุณอา (ถกล) ส่วนผมเรียนที่อเมริกาตั้งแต่ ม. 2 พอจบมัธยมปลายก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น โดยทุกซัมเมอร์ผมจะกลับมาฝึกงานที่บริษัทตั้งแต่เด็ก เช่น เป็นฝ่ายจัดซื้อ สารสนเทศ บัญชี ฝ่ายขาย เมื่อจบมหาวิทยาลัยก็กลับมาทำงานเต็มตัวที่โรงงานครบุรี ซึ่งตั้งแต่แรกผมก็ได้รับการปลูกฝังตลอดว่าต้องมาสืบทอด ผมรักคุณปู่และสนิทกับท่านมาก ตอนที่คุณปู่ยังมีชีวิตอยู่ก็อยากให้เราเข้ามาดูแล และผมก็ชอบธุรกิจนี้” ในฐานะทายาทที่ได้รับการวางตัวบวกกับใจรักในธุรกิจของครอบครัวอิสสระจึงเลือกศึกษาในสาขาการบริหารอุตสาหกรรม หรือ Industrial Management จาก Economics - Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา พร้อมเริ่มต้นทำงานในฝ่ายการผลิตที่โรงงานน้ำตาลครบุรีทันทีในปี 2543 ก่อนจะศึกษาปริญญาตรีเพิ่มจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ตลอดเส้นทางกว่า 20 ปีมาสานต่อความยั่งยืนทางธุรกิจ “ความโชคดีของผมคือ ผมชอบโรงงานน้ำตาลเพราะเป็นธุรกิจที่ท้าทาย มันเป็นโรงงานใหญ่ที่มีอะไรให้ปรับปรุงหรือทำตลอดเวลา ไม่เคยมีคำว่ามีเงินแต่ไม่รู้จะทำอะไร มีแต่เงินไม่พอ เราต้องคัดเลือกว่าอะไรคุ้มค่าเงิน หรือจำเป็นที่สุด เรายังมีความสุขที่ได้ทำและพัฒนาต่อไปไม่มีวันจบ” ชูโรงไฟฟ้าบาลานซ์พอร์ต ภาคต่อธุรกิจน้ำตาลได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากบริษัทเดินหน้าเปลี่ยนขยะจากกากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงาน ภายใต้ชื่อ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ในปี 2551 ซึ่งเริ่มขายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามสัญญาชนิด Firm 22 เมกะวัตต์ (Commercial Operating Date: COD) เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 พร้อมขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง “โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่มีต้นทุนสูง ซึ่งการทำงานมีเวลาแค่ 100-120 วัน ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย ถ้าฝนตกอาจจะทำให้อ้อยเสียหรือไม่มีความหวาน ซึ่งความยากอยู่ที่วัตถุดิบอ้อยต้องไม่เสีย และเครื่องจักรต้องเดินตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดการซ่อมบำรุงสำคัญมาก เหมือนการแข่ง F1 ต้องเตรียมการอย่างดีแต่แข่งไม่นาน รวมถึงการจัดการกับกากอ้อย ถ้ารอนานก็อาจจะส่งกลิ่นเหม็น เน่าเสีย โดยเมื่อก่อนต้องเผาให้หมดแต่ช่วงหลังมีเทคโนโลยีและความต้องการไฟฟ้าจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ” อิสสระกล่าวถึงแผนการดำเนินงานขยายธุรกิจและการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิตไฟฟ้า 18 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีแล้วจำนวน 1 โรง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 16 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบริษัทยังเล็งเห็นโอกาสการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรีจำนวนไม่เกิน 2.8 พันล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อิสสระยังย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาล เนื่องจากเป็นรายได้หลักของธุรกิจ และเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อเพลิงสำหรับการขยายกิจการโรงไฟฟ้าด้วยแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่สีคิ้ว นครราชสีมาปลายปีนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 12,000 ตันต่อวัน จากเดิมที่มีกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อวัน เพื่อวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะต่อไป รวมมูลค่าโครงการประมาณ 4 พันล้านบาท สานต่อความยั่งยืน นอกเหนือจากการต่อยอดธุรกิจไปยัง เส้นทางพลังงานและขยายอาณาจักรน้ำตาล ครอบครัวถวิลเติมทรัพย์ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความท้าทายหลักที่บริษัทต้องเผชิญกับการเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยววัตถุดิบจำหน่ายโรงงานน้ำตาล โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 และเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นเมืองในหมอก ดังนั้นบริษัทจึงได้ริเริ่มโครงการรถตัดอ้อยขึ้นราว 10 ปีก่อน เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการจัดการแปลงอ้อยทุกขั้นตอน ทายาทรุ่นที่ 3 วัย 40 ปี ปิดท้ายถึงหลักการบริหารธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในความสามารถและความเชี่ยวชาญของทีมงาน โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหรือความสามารถมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะในปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายกว่าที่ผ่านมา แม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวขึ้น แต่บริษัทยังต้องเผชิญความท้าทายจากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยหรือจำนวนหีบอ้อยน้อยลงมาก ส่งผลให้รายได้ธุรกิจมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 7 พันล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนที่จำนวน 8.6 พันล้านบาท “รายได้ปี 2561 อยู่ที่ 8.5 พันล้านบาทเนื่องจากราคาน้ำตาลโลกลดลงมาต่ำมาก แม้ปีนี้ราคาจะกลับมาดีขึ้น แต่ผลผลิตน้ำตาลของเราน้อยลงจากภัยแล้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่เราต้องประเมินว่าอ้อยที่เข้ามาจะมีเท่าไหร่ เราจะเปิดไลน์การผลิตกี่ราง และการซ่อมบำรุงต่างๆ โดยเราต้องมีเป้าหมายให้ทีมงานชัดเจนว่า เราต้องการอะไรและต้องให้อิสระในการทำงานด้วยภาพ: ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
คลิกอ่านฉบับเต็ม อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ เติมความหวานเพิ่มพลัง “KBS” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine