จากโปรเจกต์วัดฝีมือแห่งแรก “สเตลล่า เฮาส์” ของ ปิยะเลิศ ใบหยก ด้วยกลยุทธ์แบบ “พี่เลี้ยงน้อง” สะท้อนถึงดีเอ็นเอนักสู้ธุรกิจ ทายาท พันธ์เลิศ ใบหยก ผู้สร้างตำนานตึกสูงที่สุดในไทย ที่ตอนนี้เขากำลังปลุกปั้นโรงแรมระดับ 4 ดาวที่เขาชื่นชอบ โดยมีแต้มต่อด้านทำเลเป็นสำคัญ
ปิยะเลิศคือทายาทคนโตของ พันธ์เลิศ ใบหยก ผู้สร้างตำนานตึกสูงที่สุดในไทยไว้ 2 ครั้ง ปัจจุบันเขาเป็นมือขวาของบิดาโดยดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มใบหยก ธุรกิจครอบครัวที่มีโรงแรมในเครือ 10 แห่ง ตลาดค้าส่งย่านประตูน้ำ บี-แกลเลอรี และธุรกิจอื่นๆ เช่น ห้องเย็นและสะพานปลาในจังหวัดระนอง เมื่อ 7 ปีก่อน พันธ์เลิศเคยแถลงต่อสื่อว่าเขากำลังถ่ายโอนงานในมือให้ลูกๆ ทั้ง 4 คนเข้ามาดูแลแทน แต่เขาจะยังกำกับด้านนโยบายในฐานะประธานกลุ่ม มาถึงวันนี้ Forbes Thailand เกริ่นถามกับปิยะเลิศว่าคุณพ่อจะวางมือแล้วหรือยัง ลูกชายในวัย 38 ปีหัวเราะร่าก่อนตอบ “คุณพันธ์เลิศทำงานทุกวัน ดูทุกคนครับ ไม่ยอมวาง บางทีซื้อมือจับประตูคุณพันธ์เลิศยังไปซื้อเองเลย ผมว่าไม่มีใครซื้อของเก่งเท่าเขาแล้ว และคงไม่มีประธานที่ไหนมานั่งซื้อของเองทุกวัน” ปิยะเลิศกล่าวถึงหัวใจหลักคือการ “จัดซื้อ” ที่พันธ์เลิศยังคุมอยู่ทุกเม็ด กลุ่มใบหยกสร้างตำนานตึกสูงที่สุดในไทย 2 อาคาร เริ่มด้วยใบหยก 1 กับความสูง 150.9 เมตร สูง 42 ชั้น ครองตำแหน่งตึกสูงที่สุดในไทยช่วงปี 2530-36 ต่อด้วยตึกใบหยก 2 ที่ทำความสูงแบบเท่าตัวที่ 304 เมตร สูง 85 ชั้น ใบหยก 2 เริ่มเปิดบริการในปี 2540 ปีแห่งวิกฤตต้มยำกุ้งและครองตำแหน่งยาวนานจนถึงปี 2559 ก่อนเสียแชมป์ให้กับตึกมหานครไป ขณะที่รุ่น 3 อย่างปิยะเลิศเข้ามาร่วมงานหลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจระหว่างประเทศจาก Uni-versity of Exeter ประเทศอังกฤษ พ่วงด้วยใบประกาศนียบัตรด้านภาษาญี่ปุ่นจาก Kokusai Gakuyuukai Ni-hongo Gakkoo ที่ Tokyo “ผมอยู่อังกฤษคิดถึงบ้านมาก พอกลับมากรุงเทพฯ วันแรกผมก็มาคุยกับพ่อว่าอยากทำงาน จะให้ไปทำที่ไหน เขาก็นั่งคิดแป๊บนึง แล้วก็บอกว่า พรุ่งนี้เช้าให้ไปสเตลล่า เฮาส์ เป็นเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ ไปทำเป็นโรงแรมซะ” ปิยะเลิศ ใบหยก เล่าความหลัง สิ่งที่รอเด็กจบใหม่ไฟแรงอยู่ทำให้เขาต้องผงะ เพราะสเตลล่า เฮาส์นั้นเป็นตึกเก่าโทรมที่มีเงินหมุนเหลืออยู่ไม่ถึง 2 ล้านบาท และพันธ์เลิศไม่อนุมัติให้เพิ่มเงิน ดังนั้น โปรเจกต์วัดฝีมือแห่งแรกจึงทำให้ปิยะเลิศใช้กลยุทธ์แบบ “พี่เลี้ยงน้อง” คือทยอยปรับเป็นโรงแรมไปทีละฟลอร์ เมื่อมีรายได้เข้าแล้วจึงรีโนเวทชั้นต่อๆ ไปจนครบ 9 ชั้น “ทำอยู่ 2 ปีที่เป็นจีเอ็ม ทำเองทุกอย่าง ปูเตียง เก็บขยะ ทำให้รู้ว่างานโรงแรมมีอะไร” โครงการนั้นเหมือนเป็นใบรับรองให้ปิยะเลิศได้เข้ามาดูแลเครือใบหยก โดยเขานิยามตัวเองว่ามีหน้าที่เป็น “มือเปิดโรงแรมใหม่” ให้กับเครือ เช่น โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ โรงแรมแบงค็อก มิดทาวน์ โฮเต็ล ดูแลตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง รับพนักงาน เทรนนิ่งพนักงาน และการปฏิบัติการที่พันธ์เลิศไว้ใจให้เขากับน้องๆ บริหารจัดการเองธุรกิจบนความไม่เสี่ยง
สำหรับธุรกิจโรงแรมในเครือใบหยกนั้น ปีนี้บริษัทเตรียมตอกเสาเข็มโรงแรมใหม่บนที่ดินขนาด 3-4 ไร่ บนถนนศรีอยุธยา สร้างเป็นตึกสูงราว 20-30 ชั้น มีพื้นที่รีเทลด้านล่าง และห้องพักด้านบนจำนวน 300-400 ห้อง ยังอยู่ระหว่างออกแบบแต่พร้อมเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และเปิดบริการปี 2564 โดยวางแผนเปิดเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ใช้ชื่อ “เดอะ ควีน โฮเทล” เนื่องจากที่ดินผืนนี้เป็นมรดกในตระกูลพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ผมชอบโรงแรม 4 ดาวที่สุด พวกนี้ถ้าเปิดมาผมทำได้หมด 4 ดาวมันไม่แพงเกินไป ไม่ถูกเกินไป แล้วทำไมต้อง 300 ห้อง คือถ้ามีลูกค้ากรุ๊ปทัวร์มา 80 ห้อง แต่โรงแรมเรามีแค่ 200 ห้องก็เหมาครึ่งโรงแรมแล้ว จะรับกรุ๊ปก็ลำบาก แต่ถ้าเกินไปเป็น 500-600 ห้อง การจะดัน occupancy ให้เต็มก็ยากเหมือนกับใบหยก 2 ตอนนี้” นอกจากนี้ ปิยะเลิศยังกล่าวว่าครอบครัวมีที่ดินในมืออีก 2 แปลงที่คาดว่าจะพัฒนาเป็นโรงแรมได้ เพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสม เป็นที่ดินบริเวณสี่พระยา 1 แปลง และในหัวหิน 1 แปลง รวมถึงเครือกำลังมองหาที่ดินหรือโครงการโรงแรมอีก 1 แห่งในเมืองพัทยาด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลงทุนเพิ่มทั้งฝั่งโรงแรมใบหยกและร้านอาหารในเครือพีดีเอส ปิยะเลิศบอกกับเราว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะกดดันทั้งสองประเภทธุรกิจ โดยกลุ่มโรงแรมนั้นไม่สามารถเพิ่มเรทราคาต่อคืน (ADR: Average Daily Rate) ได้มา 5 ปีติดต่อกันแล้ว เนื่องจากมีคู่แข่งมากและเกิดสงครามราคา โดยเฉพาะปี 2562 นี้ที่ได้รับผลกระทบสูงจากปัญหานักท่องเที่ยวจีนหด ทำให้อัตราการเข้าพักของกลุ่มใบหยกลดลงจาก 80% เหลือ 70% ในปีนี้ โดยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นประมาณ 25% ของลูกค้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นกลุ่มสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนกลุ่มร้านอาหารในพีดีเอสนั้นปีนี้มีการเติบโตของสาขาเดิม (Same Store Growth) เพียง 5% จากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ลูกค้าตัดสินใจยากขึ้นในการใช้จ่าย ต้องปรับโปรดักส์ให้มีราคาเหมาะสมและจัดโปรโมชั่นช่วยกระตุ้น อย่างไรก็ตาม โชคดีที่กลุ่มใบหยกไม่ “เจ็บตัว” มากจากสภาวะเช่นนี้ เนื่องจากปรัชญาเดิมของพันธ์เลิศที่ส่งต่อให้ลูกชายนั่นคือการดำเนินธุรกิจแบบไม่เสี่ยงและไม่กู้สินเชื่อ “เรากู้ครั้งสุดท้ายคือใบหยก 2 พูดเรื่องกู้นี่พ่อหันหน้าหนีเลย เขารู้สึกว่าดอกเบี้ยมันไม่โอเค ไม่จำเป็นต้องกู้ ซึ่งที่จริงก็ถูกแล้วนะเพราะยุคนี้ถ้าเรามีเงินกู้อยู่เราคงลำบาก” ปิยะเลิศกล่าวถึงไอเดียที่เขาเคยนำเสนอว่าจะเสี่ยงขยายสาขาร้านในกลุ่มพีดีเอสอย่างรวดเร็ว แต่ถูกพันธ์เลิศตีตกเสียก่อน สิ่งที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่น 2 ของใบหยกยังมีเรื่องการมองทำเลที่ดินให้ขาดเพื่อเป็นการลงทุน ซึ่งที่ดินนับเป็นหัวใจการเติบโตอย่างหนึ่งของครอบครัวที่ปิยะเลิศยอมรับว่าเป็น “แต้มต่อ” สำคัญ แม้ว่าการพัฒนาโครงการบนที่ดินนั้นๆ อาจทำรายได้หรือกำไรได้ไม่มาก แต่เมื่อขายที่ดินออกไปย่อมไม่มีขาดทุน ในทางกลับกัน สิ่งที่ปิยะเลิศมองว่าเขาและน้องๆ ต้องการผลักดันให้กับเครือคือการทำการตลาด-การประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ในยุคแห่งโซเชียลมีเดียที่การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการขึ้นอยู่กับกระแสและแบรนด์ ขณะที่เรื่อง “อาหาร” ปิยะเลิศเลือกนำแฟรนไชส์ร้านเนื้อย่างกิวคาขุเข้ามาในไทย เนื่องจากเป็นแบรนด์ดังที่มีหลายสาขาในญี่ปุ่น ปรากฏว่าหลังเปิดร้านในปี 2555 เพียงปีเดียวร้านก็ติดตลาดมากจนบริษัทแม่เจรจาขอให้พีดีเอสขยายร้านไป 400 สาขา แต่บริษัทในขณะนั้นยังไม่พร้อมจึงตัดสินใจขายคืนสิทธิให้กับบริษัทแม่ไป และมาเริ่มใหม่ด้วยการเซ้งร้านอุชิดายะ ราเมน ในซอยธนิยะในปี 2557 ต่อด้วยการซื้อแฟรนไชส์ร้านเซะไก โนะ ยามะจัง ร้านกินดื่มประเภทอิซากายะจากเมือง Nagoya จุดเปลี่ยนด้านของ ปิยะเลิศ ใบหยก เกิดขึ้นปี 2559 เมื่อพีดีเอสตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ Pablo Cheese Tart และ Gram ซึ่งร้าน Gram กองทอง ใบหยก ลูกพี่ลูกน้องของเขาเป็นผู้แนะนำ ทั้งนี้ ราวกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด และเปลี่ยนมือจากกลุ่มใบหยกในที่สุดคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine