ปัทมา เล้าวงษ์ “SMPC” ยังโตได้อีก - Forbes Thailand

ปัทมา เล้าวงษ์ “SMPC” ยังโตได้อีก

ถังแก๊สหลายขนาดหลากสีสันตั้งเรียงอยู่ริมผนังด้านหนึ่งของห้องโถงด้านล่างสำนักงาน SMPC ชวนให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เพราะไม่เคยเห็นถังแก๊สที่มีรูปทรงและสีสดใสเช่นนี้ในท้องตลาด ทราบภายหลังว่าทั้งหมดนั้นส่งออกต่างประเทศเกือบ 100%

ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ปัทมา เล้าวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด มหาชน หรือ SMPC บุตรสาวคนโตของสุธรรม ซึ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นผู้สอบบัญชีอยู่พักหนึ่งก่อนไปศึกษาต่อด้าน MBA (Finance) จาก University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานที่บริษัทในปี 2534 ช่วงแรกทำหน้าที่เหมือนเลขานุการ เรียนรู้งานจากผู้เป็นบิดา ไม่ว่าสุธรรมจะพบใครที่ไหนก็ให้เธอติดตามไปด้วย รวมทั้งช่วยวางระบบหลังบ้าน ส่วนน้องชาย “ธรรมิก เอกะหิตานนท์” ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (โรงงาน) บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ก่อตั้งโดย “สุธรรม เอกะหิตานนท์” อดีตวิศวกรซึ่งได้ทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อด้านเหล็กและกลับมาทำงานกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด 20 ปีเศษ หลังจากนั้นจึงลาออกมาสร้างอาณาจักรของตนเอง โดยทำธุรกิจถัง บรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลวด้วยทุนเริ่มต้น 6.4 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิง จากถ่านมาเป็นแก๊ส และมีผู้ทำธุรกิจด้านนี้เพียง 2 ราย SMPC จากกำลังการผลิต 60,000 ใบต่อปี ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านใบ เป็นผู้ผลิต top 3 ของโลก ส่งออกทุกทวีปมากกว่า 100 ประเทศ ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 3,381.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 455.54 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 มีรายได้รวม 4,217.67 และกำไรสุทธิ 618.71 ล้านบาท บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC ก่อตั้งในปี 2524 เพื่อผลิตถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวแบบต่างๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าและ SMPC รวมทั้งมีบริการเกี่ยวเนื่องในการรับซ่อม ตรวจสอบคุณภาพถังตามที่มาตรฐานแต่ละประเทศกำหนด โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถังบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้รับการรับรองมาตรฐานจากนานาประเทศ รวมทั้งมาตรฐานสากล (ISO), มาตรฐานสหภาพยุโรป (EN) และมาตรฐานสหรัฐอเมริกา (DOT) ทั้งนี้การผลิตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า ซึ่งเป็นผู้ค้าแก๊สและผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ รวมถึงผลิตถังทนความดันต่ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ ถังคลอรีน ถังแอมโมเนีย ส่วนถังที่ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของ SMPC ส่วนใหญ่เป็นถังแก๊สรถยนต์ในประเทศ

- รุกตลาดต่างประเทศพร้อม Shell -

ช่วงแรกๆ ผลิตและจำหน่ายให้กับ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อกำลังการผลิตเหลือจึงส่งออก ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยไปที่บรูไนเป็นประเทศแรก เกณฑ์ในการรุกตลาดต่างประเทศคือไปพร้อมกับเชลล์ เพราะลูกค้าหลักคือผู้ค้าแก๊ส “ทุกปีทำ business review คุยกันว่าปีหน้าขายอย่างไร พอเขาบอกมีแผนจะไปที่นั่นที่นี่ เราก็พร้อมตามไปลุยตลาดด้วยกันนอกจากนั้น ยังมี local player เราก็ดูว่ามีใครบ้าง สมัยก่อนบุกตลาดยากกว่าสมัยนี้ ต้องลงพื้นที่ ติดต่อหาข้อมูลจากสถานทูต และให้ทีมคุณสุรศักดิ์ เอิบสิริสุข CEO คนปัจจุบันดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต ส่วนคุณพ่อมาเรื่องบริหารจัดการมากกว่า”  

- ผู้ผลิต Top 3 ของโลก -

ปัทมาบอกว่า ไม่ใช่เรื่องคุณภาพอย่างเดียวที่คู่ค้าสนใจ แต่ commitment ต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าการส่งของที่ตรงเวลาคุณภาพและบริการหลังการขาย ถ้ามีปัญหาจะติดต่ออย่างไร บางประเทศมีไฮซีซั่น เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย ไฮซีซั่นคือ ช่วงก่อนถึงคริสต์มาส ถ้าส่งของหลังจากช่วงนี้แล้วเหมือนตลาดวาย เพราะฉะนั้น commitment เป็นเรื่องสำคัญ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากประธานาธิบดี Donald Trump ต่อต้านจีนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นกันประมาณ 10% เศษ ขณะที่ผู้ผลิตจีนบางรายโดน 100% “ผู้ผลิตที่เคยซื้อจีนก็หันมาซื้อจากเราปี 2564 เข้าใจว่าตลาด LPG ของอเมริกาโตขึ้นด้วย ไม่ว่าเป็นเรื่องของตลาดรถ campervan เพราะเขาออกนอกประเทศไม่ได้ camping ต่างๆ โตขึ้น และภาวะโลกร้อน จู่ๆ ปี 2563 Texas มีหิมะตก ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ทุกคนก็เอา LPG เป็น heating และมองว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องมีติดบ้านกรณีฉุกเฉินหากไม่มีไฟฟ้า ทำให้ตลาดอเมริกาโต...แต่ตลาดที่ยอดขายไม่เคยตกคือทวีปแอฟริกา” SMPC ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็น hub ของตลาดผู้ผลิตถังแก๊ส และ SMPC คือ ผู้ผลิตอันดับ 1 ของประเทศ และเป็น top 3 ในระดับโลก ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมาร่วม 40 ปี ปัทมาอธิบายว่า SMPC มีจุดแข็ง 4 ด้าน คือ
  1. คุณภาพของผลิตภัณฑ์ การบริการและ commitment
  2. นำนวัตกรรมมาพัฒนาระบบ ล่าสุด 2-3 ปีที่ผ่านมานำ robot มาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อให้คุณภาพมีความสม่ำเสมอ และพัฒนาให้เป็น automation มากขึ้น มีนวัตกรรมในการผลิต เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ถังแก๊สขนาดครึ่งปอนด์กับลูกค้าจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เดิมเป็นแบบใช้แล้วทิ้งก็ปรับเปลี่ยนรูปทรงเล็กน้อยเพื่อใช้กับวาล์วสำหรับเติมแก๊ส ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับรางวัล System and Design Innovation ที่สหรัฐฯ
  3. มีความยืดหยุ่น บริษัทมีโรงงานหลายแห่ง ลูกค้าที่ต้องการสินค้าหลายไซซ์มาที่นี่แห่งเดียวจะได้ครบตามความต้องการ
  4. มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับลูกค้า โดยทุกปีจะ business review ร่วมกันเพื่อประเมินแนวโน้มตลาด และนำข้อมูลมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการ
 

- คำสอนของพ่อ -

“ปรัชญาการทำงาน ดำเนินชีวิตได้มาจากคุณพ่อ ซึ่งมี 2 ข้อ ข้อแรก คุณพ่อได้จากพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 ถ้าเดินรอบโรงงานมีป้ายติดตรงรูปปั้นของคุณพ่อจะมีป้ายติดพระบรมราโชวาทที่ว่า “ในการทำงานอย่าได้เอาความขาดแคลนมาเป็นข้ออ้าง” คือไม่ว่าจะทำอะไรอย่าอ้างว่าไม่มีคนทำ ไม่มีเวลาทำ แต่ให้ทำเท่าที่เรามีกำลังทำ อันนี้คือข้อที่ใช้มาตลอด อีกข้อที่คุณพ่อพูดเสมอคือ “เวลาทำงานไม่มีอะไรทำไม่ได้นอกจากข้อสอบ” คุณพ่อบอกว่าสมัยเป็นนักเรียนบอกทำข้อสอบไม่ได้ โอเค แต่ตอนทำงานไม่มีทางทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่ข้อสอบ
ปัทมา เล้าวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด มหาชน หรือ SMPC
“แรกๆ ก็ไม่เข้าใจ เพราะทำข้อสอบได้ ไม่รู้สึกว่าทำไม่ได้ (หัวเราะน้อยๆ) แต่คุณพ่อเรียนวิศวะ แล้วบางทีออกไม่ตรงกับที่อ่านก็ทำไม่ได้ พอเราโตขึ้นก็จริงนะ ครูเขียนมาให้ตอบ เราไม่สามารถอธิบายว่าที่เราตอบข้อนี้เพราะอย่างนี้ มันเป็นชอยส์ ผิดคือผิด ถูกคือถูก แต่เวลาทำงานมีตัวแปรอื่นตลอดเวลา วันนี้เราอาจตัดสินใจอย่างนี้ เมื่อผ่านไป 1 ปี คำถามเดิม ตัวแปรเหมือนกัน การตัดสินใจอาจเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแล้ว” ผู้บริหารสาวอธิบายต่อว่า เมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าทำไม่ได้ สมองจะสั่งการทันทีว่าคิดไม่ออก “แต่เราจะถอยกลับและมาดูอีกทีว่ามีทางอื่นไหม ถ้าเป็นแบบนี้จะแก้อย่างไร พยายามปิดทุกความเสี่ยง ก็จะใช้ 2 ข้อนี้มาตลอด มันทำได้บนเงื่อนไขแบบนี้ๆ” สำหรับเป้าหมายระยะยาวของบริษัทรองกรรมการผู้จัดการ SMPC บอกว่า ต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน เป็นที่รู้จักของลูกค้า ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้าทวีปแอฟริกาและเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่เติบโต เนื่องจากยังมีอัตราการใช้แก๊สต่อประชากรต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine