สองทายาทค่าย เบนซ์ตลิ่งชัน ผู้ผสานโลกใบใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เข้ากับคนทุกเจเนอเรชั่น ยกระดับการบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวข้ามยุค “Digital Transformation”
จุดเริ่มต้นของบริษัท เบนซ์ตลิ่งชัน จำกัด มาจากความชื่นชอบและหลงใหลในแบรนด์ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ของ อนันต์ และ เพ็ญจันทร์ ตันตสิรินทร์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเบนซ์ตลิ่งชัน ตั้งแต่ซื้อรถเบนซ์คันแรกมาขับ และก่อตั้งบริษัทเพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายเมื่อปี 2523 จนได้รับความไว้วางใจจากบริษัทแม่แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ รวมทั้งมีศูนย์ซ่อมบำรุงมาตรฐาน และศูนย์ซ่อมสีและตัวถังอย่างเป็นทางการเพียงแห่งเดียว โดยสามารถสร้างผลการเติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มลูกค้ามากว่า 40 ปี ด้วยรายได้เกือบ 3 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา
แม้ตลอดเส้นทางของเบนซ์ตลิ่งชันจะต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ด้วยแรงบันดาลใจของผู้บริหารที่มีต่อแบรนด์ทำให้ไม่ยอมแพ้และสู้ไม่ถอยเพื่อให้แบรนด์เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งผ่านวิธีคิด และแนวทางการทำธุรกิจสู่สองทายาทธุรกิจ “เบญจรัตน์ และ จิตติรัตน์ ตันตสิรินทร์” ที่มีความมุ่งมั่นในการสานต่อธุรกิจเบนซ์ตลิ่งชันให้เติบโตยิ่งขึ้น และก้าวข้ามไปสู่ยุคดิจิทัล ที่จะเปลี่ยนเกมธุรกิจรถหรูไปสู่โฉมหน้าใหม่อีกครั้ง
จุดมุ่งหมายคือการพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
กว่า 40 ปีของค่ายเบนซ์ที่สร้างตำนานในพื้นที่กรุงเทพตะวันตกในเขตฝั่งธนบุรีถึงนนทบุรีพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจภาคต่อ นำโดย เบญจรัตน์ บุตรสาวคนโตของอนันต์และเพ็ญจันทร์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบนซ์ตลิ่งชัน จำกัด ดูแลบริหารจัดการด้านการขายและการเงิน ด้วยความตั้งใจที่จะกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้าน Multinational Commerce ที่ Boston University และได้ประกาศนียบัตรด้าน Finance จาก Northeastern University
“ตั้งแต่เรียนจบก็ไม่ได้คิดว่าจะไปทำธุรกิจอื่น เพราะได้เห็นความตั้งใจของคุณพ่อ คุณแม่ในการทำธุรกิจรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างจริงจัง เรียกได้ว่าครอบครัวเรารู้จักรถยนต์ยี่ห้อนี้ดีที่สุด เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวที่ได้รับความไว้วางใจจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ โกลบอลในการเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ” เบญจรัตน์ยังคงระลึกถึงจุดเริ่มต้นในวันแรกที่ได้เข้ามาช่วยงานในธุรกิจครอบครัวระยะเวลาสั้นๆหลังศึกษาสำเร็จระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ด้วยความสู้ไม่ถอยของครอบครัวจึงทำให้บริษัทผ่านวิกฤตนั้นมาได้
ขณะที่จิตติรัตน์ บุตรสาวคนเล็กของครอบครัวตันตสิรินทร์ ได้เริ่มต้นทำงานที่เบนซ์ตลิ่งชันทันทีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาโทด้าน Asia Pacific Business จาก Royal Hollow University of London ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสานต่อธุรกิจครอบครัว โดยเข้ามาดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจ บริการหลังการขาย การตลาด และนวัตกรรมด้านการบริการ
“โลกอยู่ในยุคของการติดต่อสื่อสารแบบเชื่อมโยงได้ทุกที่ ทุกเวลา และลูกค้าสามารถชมสินค้าและบริการได้ตามความต้องการ รวมถึงลูกค้ายังมีไลฟ์สไตล์และความคาดหวังในการบริการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงพยายามเชื่อมต่อความต้องการของลูกค้าให้เข้ากับการบริการได้สะดวก ง่ายดาย และรวดเร็ว ผ่านการใช้เทคโนโลยี ทำให้เกิดการใช้นวัตกรรมการบริการรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง” จิตติรัตน์กล่าว
สร้างวัฒนธรรมองค์กร เชื่อมคนทุกรุ่น
สำหรับคีย์สำคัญของความสำเร็จในมุมมองของจิตติรัตน์อยู่ที่ “บุคลากร” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในองค์กร โดยเบนซ์ตลิ่งชันประกอบด้วยคนหลากหลายรุ่นทำงานร่วมกัน นับตั้งแต่พนักงานที่ทำงานร่วมกับบิดาถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี ตลอดจนเจเนอเรชั่น X เจเนอเรชั่น Y และมิลเลนเนียล
ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การเชื่อมโยงความคิด ความต้องการที่หลากหลายของแต่ละรุ่น ผสมผสานแนวคิด ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของแต่ละช่วงวัย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องสนับสนุนทั้งเรื่องการฝึกอบรม การสร้างแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน และเป็นเวทีในทุกฝ่ายสามารถแชร์ไอเดียกันได้ เกิดเป็นข้อตกลงร่วมกัน และได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
“แนวทางการทำงานที่เกิดขึ้น สร้างให้เบนซ์ตลิ่งชันมีวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของคนทุกรุ่น และเกิดเป็นรูปแบบในการทำงาน ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า เป็นเสียงสะท้อนที่เราได้รับกลับมา ตลอดช่วง 10 ปีที่เข้ามาทำงาน”
นอกจากนั้น เบนซ์ตลิ่งชันยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านบุคลากรอย่างต่อเนื่องในฐานะผูุ้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค โดยการจัดฝึกอบรมพนักงาน ทั้งกระบวนการคิด การจัดการ การแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยความรู้ ความเข้าใจ เพื่อจะนำไปปรับใช้ในการให้บริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์ของธุรกิจจำหน่ายรถยนต์กลุ่มรถหรูในประเทศไทย ซึ่งการแข่งขันโดยรวมมุ่งที่การสร้างสรรค์บริการและการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า
ขณะเดียวกันเบนซ์ตลิ่งชันยังเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาปรับเข้ากับการบริการเพื่อเชื่อมต่อความต้องการของผู้บริโภคให้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เกิดเป็นนวัตกรรมบริการที่เข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภค โดยนับเป็นผู้จัดจำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์รายแรกที่เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมต่อการบริการได้อย่างไร้รอยต่ออย่างแท้จริง
ก้าวสู่ยุค “Digital Transformation”
เมื่อดิจิทัลก้าวเข้ามา และไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงเป็นที่มาของการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี ของเบนซ์ตลิ่งชัน กับการเปิดตัวโชว์รูมและศูนย์บริการแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ Atta Autohaus (แอทต้า ออโต้เฮ้าส์) โดยใช้งบลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นมากกว่าโชว์รูมจำหน่ายรถยนต์ แต่เป็นการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
“เราอยู่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เมื่อก่อนเราเรียกแท็กซี่ วันนี้เราเรียกแกร็บ เมื่อก่อนเราต้องเดินทางไปซื้ออาหาร วันนี้เราสั่งไลน์แมน หรือการจองโรงแรมผ่านออนไลน์ วันหนึ่งการเดินทางมาซื้อรถที่โชว์รูมอาจจะไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้อง Disrupt ธุรกิจตัวเองก่อน เพื่อสร้างรูปแบบบริการใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” จิตติรัตน์กล่าว
สำหรับ Atta Autohaus จะเป็นมากกว่าโชว์รูม มีบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากโชว์รูมอื่น เกิดการเชื่อมโยงระบบดิจิทัลมีเดียใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าแบบไร้รอยต่อด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้นำเสนอบริการที่หลากหลาย และขยายธุรกิจใหม่ได้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศเริ่มให้บริการ Car Sharing หรือเช่ารถ เพราะแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคต้องการใช้รถหลายรุ่น ในแต่ละช่วงเวลา หรือการให้บริการระบบ 5G ที่จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่มากมาย โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะขยายต่อไปในอนาคต
“ถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน Atta Autohaus เพราะเข้ามาตอบโจทย์เรื่องดิจิทัล Transformation ซึ่งนอกจากการลงทุนโชว์รูมใหม่แล้ว ต้องพัฒนาบุคคลากรให้พร้อม โดยเฉพาะเป็นนักเทคโนโลยีและนวัตกร ที่จะเข้ามาช่วยคิดรูปแบบธุรกิจที่สามารถขยายต่อไปได้ในอนาคต” จิตติรัตน์กล่าว
ถึงแม้ว่าอนาคตข้างหน้าจะยังไม่เห็นภาพชัด และยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกที่อยู่นอกเหนือความควบคุม แต่สำหรับสองทายาทเบนซ์ตลิ่งชัน ได้เตรียมพร้อมองค์กรเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเสมอ ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีที่เข้ามาช่วยกิจการ การส่งต่อแนวทางการทำธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น และวิกฤติที่เผชิญตลอดช่วงที่ผ่านมา สำหรับพี่น้องตระกูล “ตันตสิรินทร์” ไม่ได้มีแค่แพลนเอ หรือ แพลนบี ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์รูปแบบใด ก็พร้อมที่จะสู้ทุกรูปแบบ ทุกยุทธวิธี เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการเป็นแบรนด์ในใจของผู้บริโภค
“ในปี 2563 เราวางเป้าหมายที่จะเติบโตเท่าตัว จากการขยายโชว์รูมใหม่ Atta Autohaus หรือมียอดขายรวม 2,000 คัน ที่สำคัญเราจะพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” เบญจรัตน์กล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม- เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เผยความสำเร็จ “เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี”
“วิทิต ลีนุตพงษ์” จากยนตรกิจสู่ไทยยานยนตร์ ธุรกิจครอบครัวถึงเวลาต้องเปลี่ยน
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine