วิทูร-กำธร ศิลาอ่อน ลูกไม้ใต้ต้น พา S&P ไปตลาดโลก - Forbes Thailand

วิทูร-กำธร ศิลาอ่อน ลูกไม้ใต้ต้น พา S&P ไปตลาดโลก

บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 2 วิทูรและกำธร ศิลาอ่อน เดินหน้าขยายอาณาจักรร้านอาหาร เร่งนำแบรนด์ “S&P” ออกล่าโอกาสในต่างแดน เริ่มเจาะตลาดเพื่อนบ้าน ตามด้วยตลาดเอเชีย เพื่อก้าวเป็นแบรนด์ระดับภูมิภาค ก่อนขยับเป็นแบรนด์ระดับโลก

สามสมาชิกของครอบครัวศิลาอ่อน รับนัดทีมงาน Forbes Thailand เพื่อพูดคุยถึงทิศทางธุรกิจ นับเป็นโอกาสที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนักที่สมาชิกทั้งสามปรากฏตัวพร้อมกันต่อหน้าสื่อเพื่อให้สัมภาษณ์ นำโดย ภัทรา หนึ่งในผู้บุกเบิกร้านอาหาร S&P ในยุคแรก ตามด้วยบุตรชายทั้งสองของเธอ วิทูรและกำธร ผู้กำลังมารับช่วงต่อ ปัจจุบันภัทรา นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ขณะที่วิทูรและกำธร อยู่ในตำแหน่งสายงานบริหาร เป็นรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสธุรกิจอาหารในประเทศและรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายการผลิตและซัพพลายเชน ตามลำดับ “เราทำเพราะเราชอบ เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ไม่คิดว่าจะทำให้ใหญ่โต คิดทำสนุกๆ...เป็นการฆ่าเวลาระหว่างลูกไปโรงเรียน” ภัทรา ในวัย 74 ปี เกริ่นกับพวกเราด้วยรอยยิ้ม กิจกรรมฆ่าเวลาของภัทราที่ว่าคือ เปิดร้านเอสแอนด์พี ไอศกรีม คอร์เนอร์ ในปี 2516 มียอดขายวันแรกเพียง 400 กว่าบาท และได้กลายเป็นธุรกิจใหญ่โตถึง 7 พันล้านบาทในวันนี้ ตลอด 43 ปีแห่งการต่อสู้ ภัทราและพี่น้อง ได้รวมสายใยของครอบครัวให้เป็น “พลัง” ร่วมฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ
ภัทราเปิดร้านเอสแอนด์พี ไอศกรีม คอร์เนอร์ ภายใต้ห้างหุ้นส่วนจำกัดขณะอายุ 31 ปี ร่วมกับญาติพี่น้องอีก 4 คน เปิดร้านขนาดหนึ่งคูหาในซอยสุขุมวิท 23 จนขยายร้านเป็น 2 คูหา และเริ่มขยายสู่ทำเลสำคัญ เช่น สยามสแควร์และเซ็นทรัล ลาดพร้าวในปี 2524
ภัทรา บอกว่า เธอไม่มีการวางแผนธุรกิจจริงจัง “เราไม่มี five-year plan มีแต่ tomorrow plan” การเติบโตของร้านถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ จวบจนประเวศวุฒิ ไรวา น้องชายของเธอเข้ามาช่วย จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเอสแอนด์พี ที่ก้าวเข้าสู่รูปแบบของธุรกิจอย่างเต็มตัว ประเวศวุฒิเข้ามาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุน โดยเฉพาะการขยายสาขา ปัจจุบันเขานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อย่างไรก็ตาม พี่น้องคนอื่นๆ ของภัทรา ก็เข้ามาช่วย ซึ่งต่างแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ในปี 2532 บริษัทถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “SNP” ตามคำแนะนำของสามี อมเรศ ศิลาอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากนั้นมาบริษัทก็ขยายงานเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง “ควิก มีล” บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน เปิดโรงงานไส้กรอก รวมไปถึงเปิดร้านอาหารในต่างประเทศแห่งแรกที่กรุงลอนดอน ภายใต้ชื่อ Patara ภัทรามีลูกชาย 3 คน ซึ่งพรวิช ลูกชายคนเล็ก เลือกที่จะรับราชการและยังไม่เข้ามาร่วมงานในธุรกิจอาหารของครอบครัว ภัทราเลี้ยงลูกแบบอิสระ ปล่อยให้เรียนตามใจชอบและไม่บังคับลูกให้มาสืบทอดธุรกิจแต่อย่างใด แต่วิทูรลูกชายคนโตและกำธรลูกชายคนกลาง เข้ามาช่วยในเอสแอนด์พี วิทูร ลูกชายคนโต ผู้ที่ผูกพันกับเอสแอนด์พีมาตั้งแต่เด็ก ได้เข้ามาช่วยบริษัทราวปี 2543 ช่วงที่วิทูร เข้ามาทำงานใหม่ๆ ในขณะนั้น เอสแอนด์พี มีร้านอาหารกว่า 100 ร้าน เขาพบว่าบริษัทยังไม่มีแผนพัฒนาธุรกิจรองรับอย่างเป็นมืออาชีพ จึงสวมบทบาทเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้การทำงานของบริษัทเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่กำธร ลูกชายคนกลาง เข้ามาช่วยดูระบบซัพพลายเชน ดูแลตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจัดส่งสินค้าเข้าสู่ร้านค้า ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยประสบการณ์การทำงานกว่ายี่สิบปีในโลกการเงินของเขา การตัดสินใจกระโดดเข้ามาดูแลธุรกิจอาหารของครอบครัวนับเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตของเขาเอง และสร้างให้เอสแอนด์พี สามารถช่วยลดต้นทุนของบริษัทได้อย่างมาก ลูกไม้ใกล้ต้นทั้งสองต่างมุ่งเข้ามาพัฒนาเอสแอนด์พี ให้ก้าวไกล เปิดตลาดใหม่ และมองหาพาร์ทเนอร์มาร่วมขยายธุรกิจ “บริษัททำมากว่า 40 ปี แบรนด์แข็งแรงแล้ว ต้องพยายามรักษาเอาไว้ เรามี business profile แล้วและตอนนี้เรามีพาร์ทเนอร์ค่อนข้างจะ risk taking” วิทูรกล่าว พาร์ทเนอร์ที่วิทูร พูดถึงคือ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มี วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เจ้าของธุรกิจเชนโรงแรมหลายแบรนด์ วิทูรบอกว่า สิ่งที่บริษัทได้เรียนรู้จากกลุ่มไมเนอร์ คือ การบริหารแฟรนไชส์ ทำให้ไมเนอร์ฯ เป็นเสมือน “โค้ช” ให้กับบริษัท หากต้องการจะขยายธุรกิจในด้านนี้อย่างจริงจังในอนาคต เพื่อทำมุ่งทำตลาดในต่างประเทศกับโอกาสอีกมากมาย ปัจจุบันบริษัทมีร้านในประเทศไทย 466 ร้าน ทั้งร้านอาหารและเบเกอรี่ช็อป ภายใต้หลายแบรนด์ นอกเหนือ S&P อาทิ Patio, Blue Cup & Tea, Vanilla Industry, Patara, Maisen และ Umenohana ขณะที่ต่างประเทศมี 23 สาขาใน 6 ประเทศ นอกจากธุรกิจร้านอาหาร บริษัทมุ่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งปัจจุบันบริษัทผลิตสินค้าให้ลูกค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟชื่อดัง และผลิตเพื่อจำหน่ายตามร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ในอนาคตวิทูรหวังที่จะเห็นแบรนด์ของบริษัทอื่นๆ เติบโตขึ้นมียอดขายแตะระดับพันล้านต่อแบรนด์ในอีก 10 ปีข้างหน้า แม้ว่าเส้นทางของเอสแอนด์พียังอีกยาวไกล แต่สมาชิกในครอบครัวยังประสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภัทราบอกว่า ความสำเร็จที่เอสแอนด์พียืนหยัดอยู่มาจนทุกวันนี้ คือ การมีการบริการและสิ่งแวดล้อมที่ดี สถานที่สะอาดและร้านมีแต่ของอร่อยให้รับประทาน “ผมอยากให้เอสแอนด์พีเป็นแบรนด์ที่คนรัก เป็นร้านที่คนชอบ ตอนนี้เราเป็นแบรนด์ระดับประเทศ แต่ก้าวต่อไปคือเป็นระดับภูมิภาค และต้องเติบโตเป็นแบรนด์ระดับโลก” วิทูรกล่าวทิ้งท้าย   เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ
คลิ๊กเพื่ออ่าน "วิทูร-กำธร ศิลาอ่อน ลูกไม้ใต้ต้น พา S&P ไปตลาดโลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine