Maxwell Meyer ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Masii.com ดิจิทัลคัมพานีแห่งแรกของกลุ่ม บี.กริม คิดการใหญ่ด้วยเป้าหมายกวาดคำขอรับสินเชื่อ 1.4 แสนล้านบาท สร้างรายได้แตะ 7 พันล้านบาทภายใน 2-3 ปี แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมธนาคารบางคนอาจจะยังไม่เห็นด้วยนักก็ตาม
Masii กำเนิดขึ้น หลังจาก Maxwell Meyer ซีอีโอหนุ่มชาวอเมริกันของบริษัทวัย 28 ปี พบกับ Harald Link ประธานกลุ่ม บี.กริม บนเกาะฮ่องกง เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนเพื่อพุดคุยถึงการริเริ่มธุรกิจดิจิทัลให้กับ บี.กริม
ในที่สุด Ingo Beyer von Morgenstern หนึ่งในคณะกรรมการบริษัท บี.กริม และ Link ตัดสินใจร่วมลงขันให้เงินตั้งต้น (seed money) แก่ Maxwell Meyer และ Matthias Juergens เพื่อร่วมก่อตั้ง บริษัท มาสิ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เพื่อดำเนินธุรกิจเว็บไซต์ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินในประเทศไทย
“ประเทศไทยสร้างความตื่นเต้นให้ผมเสมอ เนื่องจากไทยเป็นตลาดประกันที่ใหญ่ที่สุด ผู้บริโภคคนไทยใช้เวลากับโทรศัพท์ของเขามากกว่าทุกๆ ชาติในโลก...และผมรู้ว่าทุกคนมีบัญชีธนาคาร และส่วนใหญ่มีแอพฯ บนโทรศัพท์สำหรับการทำธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้ง ยังขาดแต่เพียงระบบนิเวศของสตาร์ทอัพเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการจะทำ”
Meyer อธิบายถึงเหตุผลที่เขายอมลาออกจากอาชีพการงานที่กำลังรุ่งโรจน์ที่ McKinsey & Company Asia (ประจำประเทศจีน) มาทำสตาร์ทอัพแห่งแรกให้กลุ่ม บี.กริม
Meyer ยกรายงานการศึกษาของ Deloitte Thailand ที่ระบุว่าครอบครัวไทยมีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบที่บางครั้งมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อวัน
ดังนั้น เป้าประสงค์ของ Masii จึงเป็นการช่วยสถาบันการเงินลดต้นทุนการให้กู้ยืม โดยใช้ช่องทางดิจิทัลและข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์เพื่อช่วยให้ 2 ใน 3 ของครอบครัวไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
ระบบ “credit scoring”
จุดเปลี่ยนสำคัญหลังจากคลำทางมาเกือบ 2 ปีที่ทำให้ Masii เริ่มมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือระบบ credit scoring ที่ทีมงานนักพัฒนาชาวไทยช่วยกันคิดค้น โดยเป็นข้อมูล 54 รายการของผู้ยื่นคำขอสินเชื่อแต่ละรายที่สถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ระบบนี้ทำให้ Masii สามารถผันตัวเองจากการเป็นเพียงผู้ส่งผ่านคำขอจากลูกค้าไปยังสถาบันการเงิน ไปเป็นผู้ที่สามารถให้บริการแบบ end-to-end
เข้าตา VC ยุโรป
หลังจากที่ค้นพบสูตรสำเร็จ Masii เริ่มทะยานด้วยอัตราเติบโตกว่า 100% ตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2560 ซึ่งทำให้บริษัทเริ่มเป็นที่สนใจของกองทุนร่วมลงทุนชั้นนำจากยุโรปอย่าง Santo Venture Capital ซึ่งเป็นผู้เข้าลงทุนรายเดียวในการระดมทุนรอบ Series A เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 ในวงเงิน 2 ล้านยูโร
Meyer ประเมินมูลค่ากิจการของ Masii ณ ปัจจุบันที่ 25 ล้านยูโร หรือกว่า 900 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเขาคาดว่า Masii เพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการก้าวกระโดดเท่านั้น และคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถเริ่ม break even ได้ตั้งแต่ปี 2562
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ Masii ได้รับคำขอสินเชี่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราการอนุมัติของสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นจากอัตราที่ต่ำมากแค่ 0.003% ในปีที่แล้ว สัดส่วนสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเทียบกับจำนวนใบสมัครยังต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องพัฒนาหาโซลูชั่นร่วมกับธนาคารต่อไป
ปัจจุบันรายได้ 60% ของ Masii มาจากธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เหลือประมาณ 40% มาจากธุรกิจประกัน ซึ่งรายได้หลักมาจากการขายประกันภัยโดรนที่บริษัทแนะนำเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันสามารถขายไปทั้งสิ้น 3,000 กรมธรรม์ มูลค่าทุนประกันรวมเกือบ 3 พันล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดกว่า 70%
อีกหนึ่งบทบาท....ทรานส์ฟอร์เมอร์
Masii เป็นเพียงก้าวแรกในการคืบคลานเข้าสู่ ดิจิทัลสเปซ ของกลุ่ม บี.กริม ซึ่งได้มีการจัดตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน cyber security ขึ้นมาเป็นบริษัทที่ 2 ภายใต้กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลของกรุ๊ป โดยมี Matthias Juergens อดีตผู้บริหาร Deutsche Telecom และผู้ร่วมก่อตั้ง Masii อีกคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ (ปัจจุบัน Juergens ยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยข้อมูล กลุ่ม บี.กริม)
ในขณะเดียวกัน Meyer ยังมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนกระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่ม บี.กริม ผ่านการนำเอาบทเรียนที่ได้จากการทำ Masii มาแบ่งปันให้กับธุรกิจในเครือทุกแห่ง บนความเชื่อที่ว่าธุรกิจดิจิทัลมีความสลับซับซ้อนและมีการแข่งขันสูงกว่าธุรกิจดั้งเดิมโดยทั่วไป
ดังนั้น องค์กรใดสามารถนำเอาความรู้หรือเทคนิคที่ได้จากโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือบิ๊กดาต้า มาปรับใช้ในธุรกิจดั้งเดิมได้สำเร็จก็อาจจะล้ำหน้าคู่แข่งไปได้ 5-10 ปี และสามารถช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าได้
“สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อ คือ คุณต้องคิดหาทางทำลายธุรกิจของตัวเองเสมอ ในเรื่องของนวัตกรรมทางธุรกิจนั้น เราจำเป็นต้องเป็นคนแรกที่จะกระทำต่อตัวเอง และบังคับให้ตัวเราเองเปลี่ยนเร็วกว่าคนอื่นๆ เสมอ ดิสรัปตัวคุณเองก่อนที่คนอื่นจะดิสรัปคุณ”
ตั้งเป้าใหญ่แสนล้าน
Meyer เชื่อมั่นว่า Masii กำลังจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับ กลุ่ม บี.กริม ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลจากช่องทางออนไลน์ที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 50% ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหมดที่เขาประเมินว่ามีมูลค่ารวมประมาณ 5.6 แสนล้านบาท และ Masii ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาด 50% จะทำให้มูลค่าสินเชื่อที่จะมีการดำเนินการผ่านบริษัทมีมูลค่าสูงถึง 1.40 แสนล้านบาท ซึ่งจะสร้าง รายได้ 2.8 -7 พันล้านบาท (คิดจากอัตราค่าธรรมเนียมรับ 2-5%)
แต่เนื่องจากการปิดตัวลงของสาขาธนาคาร เขาจึงเชื่อว่ามีโอกาสที่ตลาดสินเชื่อออนไลน์จะเติบโตไปได้ถึง 80% ของตลาดรวมภายใน 3-5 ปี
มุมมองจากแบงก์
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองต่อตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์กับ Forbes Thailand ว่าปัจจุบันต้องถือว่า pure digital lending ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้เล่นซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเพียงแค่ใช้ช่องทางดิจิทัลเป็น “ลีด” ในการนำลูกค้าไปสู่ช่องทางปกติเท่านั้น สัดส่วนเปอร์เซ็นต์รายได้สินเชื่อจากช่องทางออนไลน์ของแต่ละธนาคารจึงคาดว่ายังเป็นแค่ตัวเลขเปอร์เซ็นต์หลักเดียว
อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ คาดว่าไม่เกินภายในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปี 2562 เมื่อแพลตฟอร์มของ digital lending ซึ่งประกอบด้วยระบบโมบายแบงกิ้งของแต่ละธนาคาร และระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความพร้อม จะทำให้ธุรกรรมการเงินทางออนไลน์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของ Masii นั้นฐากรให้ความเห็นว่าเป็นหนึ่งใน “aggregator” หรือผู้รวบรวมแหล่งสินเชื่อออนไลน์ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยธนาคารเข้าถึงลูกค้าได้ อย่างไรก็ตามธนาคารก็มีกลยุทธ์อื่นที่สามารถช่วยลีดลูกค้าเข้ามาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับ Facebook Line หรือ Google ซึ่งสามารถทำทาร์เก็ต หรือ customization ได้
“และต่อไปเราจะมีแอพฯ ของเราเอง เราก็ไม่ต้องการตัวกลางก็ได้” ประธานกรุงศรีคอนซูมเมอร์กล่าวทิ้งท้ายแกมขู่
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ Masii.com
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "ฝันใหญ่บนเส้นทางดิจิทัลของกลุ่ม บี.กริม" ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561