วศิน ดำรงสกุลวงษ์ ขยายน่านน้ำใหม่ “IHL” - Forbes Thailand

วศิน ดำรงสกุลวงษ์ ขยายน่านน้ำใหม่ “IHL”

การสืบทอดธุรกิจในสายตาคนทั่วไปอาจมองว่าง่าย เพราะฐานเดิมที่แข็งแกร่งเป็นแต้มต่อที่ดีกว่าคนเริ่มต้นใหม่แต่การสร้างความเติบโตองค์กรจะอาศัยเพียงฐานธุรกิจเดิมคงไม่พอ ต้องมองหาโอกาสและช่องทางใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

วศิน ดำรงสกุลวงษ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์ไฮด์ จำกัด (มหาชน) หรือ IHL นักธุรกิจหนุ่มวัย 28 ปี เขามีวิธีคิดและมุมมองในแบบคนรุ่นใหม่แม้จะรับไม้ต่องานบริหารมาจากผู้เป็นบิดา (องอาจ ดำรงสกุลวงษ์) ซึ่งยังคงนั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร แต่วางงานบริหารรายวันเกือบทั้งหมดให้บุตรชายคนรองผู้นี้รับผิดชอบแทน โดยมีบุตรสาวคนโตดูแลด้านการเงิน-บุคคล และบุตรชายคนเล็กที่เริ่มเข้ามาช่วยงาน “หน้าที่ผมคือ ดูแลภาพรวมบริหารจัดการ และงาน operation เกือบทั้งหมด” วศินอธิบายภารกิจในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไป ที่เขาทำอยู่ในปัจจุบันแม้ไม่ใช่ตำแหน่งสูงสุด แต่ก็เป็นการรับช่วงบริหารต่อจากคุณพ่อ ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงงานฟอกหนังและตัดเย็บหนังป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงสินค้าแฟชั่นทั้งรองเท้าและเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นการสืบทอดกิจการมาจากรุ่นคุณทวดของเขา กิจการฟอกหนังของครอบครัวนี้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมฟอกหนังย่านบางปูจังหวัดสมุทรปราการ มีโรงงาน 10 แห่งในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยยุคเริ่มแรกที่ก่อตั้งบริษัท โรงงานฟอกหนังศรีนคร ขึ้นตั้งแต่สมัยคุณทวดของเขา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น IHL ในเวลาต่อมา และในยุคบิดาเขาได้สร้างการเติบโตในฐานะผู้ผลิตเบาะหนังรถยนต์ครบวงจร
บรรยากาศภายในโรงงานฟอกหนัง และโรงงานตัดเย็บ หนังสำเร็จรูปแบบครบวงจร ถือเป็นจุดแข็งในบริการของ IHL
 

-โตมากับโรงงานฟอกหนัง-

วศินเล่าว่า เขาเข้ามารับหน้าที่บริหารเต็มตัวเมื่อปี 2559 แต่ก่อนหน้านั้นเขาคุ้นเคยกับงานเป็นอย่างดี เพราะเติบโตมากับธุรกิจของครอบครัว  “คุณพ่อไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนอะไร แต่ท่านปลูกฝังลูกๆ ทุกคนว่า โตขึ้นต้องมาดูแลกิจการของครอบครัว” สิ่งนี้เป็นเสมือนคำมั่นสัญญา วศินจึงเลือกเรียนในสาขาวิชาที่คิดว่าจะนำมาต่อยอดการบริหารกิจการโรงฟอกหนังของที่บ้านได้ เขาเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Pennsylvania State University (Economic B.S) สหรัฐอเมริกา หลังจบก็มาทำงานที่ IHL ตามคำแนะนำของบิดาที่ว่า “จะไปทำงานที่อื่นทำไมได้ทำอย่างเดียว มาเริ่มงานกับที่บ้านดีกว่าได้ทำทุกอย่าง ทั้งได้เรียนรู้และสานต่อกิจการ” 4 ปีที่วศินเข้ามาทำงานกับ IHL เต็มตัวเขาบอกว่า ได้ทำอย่างที่ต้องการ “จากเดิมที่เคยทำงานแบบ one man show หัวหน้าทำงานต่อจากลูกน้อง แต่วันนี้ทุกคนมีบทบาท ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด” คือการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในงานด้านการตลาด ส่วนงานด้านบัญชีการเงิน การผลิตทุกคนเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว แต่การขายการตลาดเมื่อก่อนแคบมาก ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก  

-ฝ่าวิกฤตหวัดหมูและโควิด_19-

หากดูจากรายได้รวมของ IHL ในปี 2562 ที่ผ่านมาทำได้ 1,571 ล้านบาท ลดลงจากรายได้รวมปี 2561 ที่ทำได้ 2,405 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2562 ทางโรงงานมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์โรคระบาดไข้หวัดหมู (swine flu) หรือบางคนเรียก โรคหมูบ้า ทำให้ไม่มีหนังที่จะนำมาฟอก การผลิตจึงต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมาในปี 2563 ตั้งแต่ต้นปีต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องมาตลอดครึ่งปีแรกทำให้ยอดผลิตลดลงไตรมาส 1/2563 IHL ทำยอดรายได้รวมอยู่ที่ 379 ล้านบาท แต่เขายังค่อนข้างมีความมั่นใจว่า จะประคองธุรกิจให้มีกำไรได้ “ปีนี้เราพยายามไม่ให้ขาดทุน ทั้ง 3 บริษัทในเครือ พยายามให้มีกำไรและมีปันผลพยายามที่สุด เราไม่ layoff พนักงาน ผมคิดว่า maintain ได้ แต่รายได้คงน้อยกว่าปีที่แล้ว จะพยายามให้ bottom line ยังเป็นสีเขียว” สิ่งที่ทำให้วศินมั่นใจว่ายังรักษากำไรอยู่ได้คือ การเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น “การผลิตตอนนี้ 70% เริ่มใกล้มีปัญหาคนงานขาด แต่ก็ขึ้นกับ rate การฟื้น ถ้าฟื้นเร็วอาจมีปัญหา” เนื่องจากที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คนงานส่วนหนึ่งกลับต่างจังหวัดเพราะโรงงานหยุดผลิต หายไปราว 200 คน เมื่อออร์เดอร์กลับมาก็อาจต้องตามคนงานกลับมาทำงานให้พอกับความต้องการ จากเดิมที่มีพนักงานทั้งสิ้น 1,300 คน ในแต่ละวันบริษัท IHL ผลิตหนังจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ใช้วัว 5,500 ตัว โดยประมาณ ในอุตสาหกรรมนี้มี IHL และบริษัทคู่แข่งอีก 1 ราย ที่ผลิตครบไลน์ทั้งฟอกหนังและตัดเย็บ โดยส่วนใหญ่ใช้หนังวัวส่วนหนังหมูผลิตอยู่ 8 ตู้ เฉลี่ยใช้หมูตู้ละ 550 ตัว เท่ากับ 4,400 ตัว วศินยังบอกด้วยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขามองเรื่องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น พอร์ตลูกค้า 70% เป็นค่ายรถยนต์อาจไม่ใช่สัดส่วนที่ดีนัก เขาจึงมุ่งเป้าที่จะขยายพอร์ตมายังกลุ่มรองเท้ามากขึ้น โดยล่าสุดได้พยายามส่งแคตตาล็อกหนังไปยังกลุ่มรองเท้า เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด  

-นวัตกรรมหนังปลอดสาร-

IHL ยังผลิต “หนังปลอดสาร” เป็นนวัตกรรมการฟอกที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งของเดิมมีโครเมียมตกค้างซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แม้จะมีอยู่ในปริมาณไม่มากนัก รถยนต์ไม่น่าห่วง แต่สำหรับรองเท้าที่เป็นของใช้ใกล้ตัวใส่ประจำ อาจต้องคำนึงมากขึ้น IHL จึงผลิตหนังปลอดสารออกมาป้อนให้แบรนด์รองเท้า “เราพยายามเอาคอนเซ็ปต์ไปเข้าแบรนด์รองเท้า เด็กๆ ใช้ได้ไม่ต้องห่วง ซึ่งคนไม่รู้ มันมีมานานแล้ว คนรู้แค่หนังเทียม และ eco leather เอาเศษหนังมาทำซึ่งไม่แข็งแรงเหมือนหนัง” วศินอธิบายกรรมวิธีการทำหนังปลอดสารคร่าวๆ ว่า เป็นการฟอกโดยไม่ใช้โลหะหนักแต่ใช้วิธีแบบโบราณ ใช้เกือกม้าและสารสังเคราะห์ แต่การฟอกแบบนี้มีข้อจำกัดว่า ต้องต่อกระบวนการขึ้นรูปทันที ซึ่งโรงงานของ IHL ทำได้แต่โรงงานอื่นๆ อาจทำไม่ได้เพราะไม่ครบวงจร “เราทำต่อเนื่องได้ทันที เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ในโลกที่พร้อมทำต่อเนื่อง ฟอกแล้วขึ้นรูปได้ทันที เทคโนโลยีนี้คุณพ่อสนใจมานาน ลองผิดลองถูกมาเป็น 10 ปี” ซึ่งการทำหนังปลอดสารแต่ก่อนต้นทุนแพง แต่ทุกวันนี้ใกล้เคียงกัน การฟอกแบบปลอดสารยังทำให้ประหยัดค่าบำบัดน้ำเสีย ได้ราคาใกล้เคียงกัน แต่ประหยัดเรื่องสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ หนังที่ได้ไม่มีโลหะหนักเจือปนนำไปเป็นปุ๋ยได้เลย “ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มได้ 3-4% แต่พยายามภายใน 5 ปี เราอยากให้หนังปลอดสารเป็นการผลิตของเราส่วนมาก 70%” วศินยืนยันและว่า เขาได้หารือกับค่ายรถยนต์ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องใช้หนังปลอดสาร ซึ่งมีกฎหมายที่ยุโรป อเมริกาบังคับ ในบ้านเราเขาสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไร เพราะใช้อุปกรณ์เดิม แค่เปลี่ยนตัวที่นำมาฟอกเท่านั้น  

-ต่อยอดปุ๋ยโปรตีนหนัง-

อุตสาหกรรมฟอกและตัดเย็บหนังหุ้มเบาะรถยนต์ รวมถึงหนังรองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ที่ IHL ทำอยู่ในกระบวนการผลิตมีเศษขยะ (waste) ของแต่ละขั้นตอน เศษขยะจำนวนมากคือ เศษหนัง เขาได้พัฒนาธุรกิจต่อยอดจากเศษหนังโดยนำมาผลิต “โปรตีนสำหรับพืช” หรือปุ๋ยจากโปรตีนหนัง ซึ่งได้มาจากการนำเศษหนังไปตุ๋น ให้เปื่อย และนำน้ำจากการตุ๋นนั้นมาเจือจางในปริมาณที่พอดี สามารถนำไปใช้เป็นอาหารพืชได้เป็นอย่างดี ธุรกิจนี้ดำเนินการภายใต้บริษัท อินเตอร์กรีน จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ที่ผ่านมาได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใช้งบไปมากกว่า 40 ล้านบาท ก่อนจบการสัมภาษณ์วศินยังเล่าถึงแผนการขยายธุรกิจว่า เขาและบิดาได้เริ่มศึกษาเรื่องการขยายโรงงานฟอกหนังไปที่ประเทศจีน และได้เดินทางไปดูลู่ทางที่ประเทศจีนแล้ว รวมทั้งเสนองานกับค่ายรถญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตในจีนแล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 แผนงานต่างๆ นี้จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติแผนขยายโรงงานฟอกหนังไปจีนจะเดินหน้าต่อแน่นอน    
คลิกอ่านฉบับเต็ม “วศิน ดำรงสกุลวงษ์ ขยายน่านน้ำใหม่ IHL” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine