Forbes Thailand พบ กรวัฒน์ ครั้งแรกในงานเสวนาใหญ่ของเหล่า startup เมื่อปลายปีก่อน นามบัตรของเขาเรียบง่าย ปรากฏเพียงชื่อ-นามสกุล ตำแหน่งในบริษัทที่เขาก่อตั้ง ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อใดๆ มีเพียงอีเมลที่กลายเป็นช่องทางเดียวในการสื่อสาร นำมาสู่การพบกันของเราในครั้งที่สอง ที่สำนักงานของ Eko บนอาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ย่านรัชดาภิเษก และเพียงไม่นานหลังจากนั้น ชื่อของ กรวัฒน์ ก็ติดโผ 30 Under 30 ของ Forbes Asia ซึ่งเป็นการจัดอันดับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปี ที่สร้างธุรกิจกระทั่งประสบความสำเร็จ
ตารางชีวิตของชายหนุ่มวัย 21 ปีคนนี้ค่อนข้างแน่น ถ้าไม่เข้าประชุมกับทีมงานที่หลายครั้งกินเวลาหลายชั่วโมง หลานชายของ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทย ก็มักเข้าพบผู้บริหารบริษัทใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อแนะนำแอพพลิเคชั่นที่ใช้สื่อสารภายในองค์กรที่บริษัทของเขาพัฒนาขึ้น
“ผมเติบโตในครอบครัวที่ให้อิสระทางความคิด คุณพ่อพูดตลอดว่าให้ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข แต่ส่วนหนึ่งที่ผมทำงานด้านนี้ ก็เพราะได้อิทธิพลจากคุณพ่อที่ชื่นชอบเทคโนโลยี” กรวัฒน์ กล่าวถึง ศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในธุรกิจหลักของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)
กรวัฒน์ ก่อตั้ง Eko ขึ้นในปี 2555 ขณะเรียนไฮสกูลอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยเห็นว่าสมาร์ทโฟนคืออนาคตของการสื่อสาร เริ่มจากการพัฒนา messaging app เน้นการสนทนาแบบกลุ่มที่สามารถตั้งหัวข้อได้ จังหวะเหมาะเมื่อ Tigerlabs ซึ่งเป็น venture capital (VC) จัดโครงการ Accelerate Incubator ที่เมือง Princeton สนับสนุนเงินลงทุนราว 2 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ แก่ทีมที่ได้รับการคัดเลือก พร้อมเปิดแคมป์อบรมธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 2 เดือน กรวัฒน์ และเพื่อนสนิทอีก 2-3 คน จึงสมัครเข้าร่วมในนาม Eko และเป็น 1 ใน 7 ทีม จากกว่า 200 ทีมทั่วประเทศ ที่สามารถฝ่าด่านคว้าเงินสนับสนุนได้สำเร็จ
เมื่อสังคมเอเชียเน้นการทำงานผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ ประกอบกับพนักงานในองค์กรเกือบทั้งหมดมักสนทนาเรื่องงานผ่านแอพฯ เช่น Line หรือ WeChat ซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการใช้งานในองค์กร กรวัฒน์ จึงเห็นช่องว่างในตลาด นำไปสู่การเปลี่ยนตำแหน่งของ Eko จากผู้พัฒนาแอพฯ ส่งข้อความ ไปเป็นผู้พัฒนาแอพฯ เพื่อสื่อสารภายในองค์กร เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทมหาชน ชูจุดเด่นเรื่องระบบความปลอดภัยขั้นสูง และการรวมจุดเด่นของอีเมล์และการส่งข้อความเข้าด้วยกัน สามารถจัดการสนทนาให้เป็นกลุ่มหรือหัวข้อ พร้อมมี feature อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน เช่น การค้นหาข้อความ การกระจายข้อความถึงพนักงานทุกคนหรือเฉพาะแผนกที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
เส้นทางของ กรวัฒน์ ต้องผ่านการทดสอบ เมื่อทุนจาก Tigerlabs เริ่มร่อยหรอ และในปี 2556 ก็ยังไม่มีรายได้มากพอที่จะนำมาเป็นทุนให้ไปต่ออย่างราบรื่น
“ถึงครอบครัวผมจะสนับสนุนให้ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่เขาไม่ได้สนับสนุนเรื่องเงิน ครอบครัวจะไม่ลงทุนเด็ดขาด ถ้าไม่มีกองทุนชั้นนำมาลงทุนก่อน ช่วงนั้นผมเครียดมาก แต่คุณพ่อก็ให้กำลังใจ และบอกว่าการที่ยังไม่ประสบความสำเร็จตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เก่ง แต่ต้องใช้เวลา” กรวัฒน์ เล่า เขาทุ่มเทให้งานอย่างเต็มที่ ถึงขั้นหยุดเรียนด้านประวัติศาสตร์ ชั้นปี 2 ที่ Columbia University เพื่อมาทำ Eko
เค้าลางดีเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อ กรวัฒน์ ได้พบ Khailee Ng ผู้เป็น Managing Partner ของ 500 Startups กองทุนชั้นนำระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ที่เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของแอพฯ จึงช่วยหานักลงทุนรายอื่นมาร่วม ในที่สุดราวเดือนมีนาคม ปี 2557 Eko ก็ได้รับเงินสนับสนุน 1 ล้านเหรียญจาก 500 Startups, Siemer Ventures และ angel investor อีก 2-3 ราย ตามด้วยเงินสนับสนุนจาก Gobi Partners ซึ่งเป็น VC ที่ลงทุนด้านดิจิทัลและไอที อีก 5.7 ล้านเหรียญในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้เดือนเดียวกันนั้น มูลค่าบริษัทของ Eko ขึ้นไปอยู่ที่ 750 ล้านบาท
Eko มีลูกค้ารายใหญ่หลายรายในไทย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ทรู ฯลฯ ซึ่งองค์กรหลัง กรวัฒน์ บอกว่า เขาไม่ได้เข้าไปในฐานะลูกของผู้บริหาร แต่ ศุภชัย ให้เขาเข้าไปนำเสนองานเอง หลังจากเห็นว่า กรวัฒน์ สามารถระดมทุนจาก VC ระดับโลกได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ หมุดหมายต่อไปที่เขาต้องการจะบุกให้สำเร็จให้จงได้คือ จีน เนื่องจากเป็นประเทศที่น่าจับตามองทั้งการเป็นตลาดผู้ใช้และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน รวมทั้งยังมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่มองหาแอพฯ สื่อสารในองค์กรที่มีความปลอดภัยสูง
“นักลงทุนของเราหลายคนช่วยเปิดประตูเมืองจีนให้ ส่วนครอบครัวผมยังไม่ได้ช่วยเรื่อง connection เพราะเขาต้องการให้ผมทำเองก่อน แต่ก็ให้คำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจในจีน และบริษัทที่ผมรับงานที่นั่น ไม่มีที่ไหนเลยที่อยู่ในเครือ ซี.พี.” หลานเจ้าสัว บอกถึงการทำตลาดแดนมังกร ที่ลูกค้าหลายรายคือองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน
รายได้ของ Eko ในปี 2558 อยู่ที่ 1.2 ล้านเหรียญ มาจากจีน 70% และไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ฯลฯ 30% ปีนี้เขาคาดการณ์รายได้ไว้ที่ 7 ล้านเหรียญ แต่ก็อาจโตได้มากกว่านี้ 2 เท่า เป้าหมายของ กรวัฒน์ ต่อจากนี้คือเน้นลูกค้าองค์กรระดับ Top 300 ในรายชื่อ Forbes Global 2000 (บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ระดับโลก 2,000 แห่ง วัดจากรายได้ ผลกำไร สินทรัพย์ และมูลค่าตลาด) ให้ได้ภายในปี 2563 และสร้างฐานให้แข็งแกร่งมากขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน
ซีอีโอวัย 21 ปี ไม่ได้มีความกดดันมากนักในฐานะรุ่น 3 ของ “เจียรวนนท์” ตระกูลที่ในปี 2558 ร่ำรวยเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.99 หมื่นล้านเหรียญ เพราะนโยบายข้อหนึ่งของครอบครัวคือห้ามเข้ามาทำงานในบริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ต้องสร้างธุรกิจของตัวเองเสียก่อน ทำให้ กรวัฒน์ มีอิสระเต็มที่ในการปลุกปั้นธุรกิจ เขายังไม่ได้คิดถึงการเข้าไปรับผิดชอบงานใน ซี.พี. เพราะตอนนี้
“ยังไม่มีใครบอกให้ผมหยุดทำ Eko ทั้งคุณปู่และคุณพ่อล้วนสนับสนุนให้ผมทำเต็มที่ที่สุด”
คลิ๊กอ่าน "กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ปั้น Eko โตไกลในเอเชีย" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ในรูปแบบ E-Magazine
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ปั้น Eko โตไกลในเอเชีย
TAGGED ON