ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่สั่งสมตลอดเส้นทางธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และการวางแผน ได้รับการปรับใช้เป็นอาวุธขับเคลื่อนสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทุกมิติ พร้อมตอกย้ำกลยุทธ์ส่งต่อการให้ที่ยั่งยืนในสังคม
ภารกิจต่อยอดความยั่งยืนอาณาจักรประกันยักษ์ใหญ่ระดับโลกอายุ 175 ปี ด้านประกันชีวิตและประกันสุขภาพในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาใน 23 ประเทศ ซึ่งได้สร้างการเติบโตครบศตวรรษในเอเชียและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 28 ปี ด้วยจำนวนลูกค้ามากกว่า 1.9 ล้านราย และสินทรัพย์บริหารมูลค่ากว่า 1.12 แสนล้านบาทในปี 2565 ด้วยเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 สู่ระดับ 235 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2565) ภายใต้การกุมบังเหียนของ บัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
“การเรียน Computer Science ทำให้เราคิดเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วน MBA สอนเกี่ยวกับการเงิน การตลาด และมุมมองธุรกิจ โดยงานแรกที่ทำด้านการตลาดของ AIA ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกสินค้าในตลาด ซึ่งทำอยู่ประมาณ 1 ปีก็เปลี่ยนสาย เพราะต้องการค้นหาตัวเองและทำงานที่หลากหลาย เราจึงลองไปสมัครเป็นเซลส์ขายที่ดินของอมตะนครหรือบางปะกง 2 ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง โดยทำอยู่ประมาณปีกว่าและได้เรียนรู้การทำงานจากคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและกระบวนการติดตามการขายอย่างเป็นระบบ จนได้รับการขักชวนให้เป็นผู้จัดการโรงงานการ์เมนท์ ทำให้เราเข้าใจ process management ที่แตกต่างจากงานออฟฟิศ และการบริหารต้นทุนอย่างไรให้ต่ำที่สุด หรือการคำนวณ process optimization การทำงานของเครื่องจักรแต่ละส่วนไม่ให้เกิด lack time ซึ่งนำมาปรับใช้กับธุรกิจประกันได้ เช่น claim management, under writing management, policy management”
บัณฑิตย้ำความมั่นใจในการปรับความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาใช้ในการทำงาน นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และปริญญาโท สาขาการจัดการและการเงินจาก Wichita State University สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นทำงานบนเส้นทางที่หลากหลายครอบคลุมด้านการตลาด การขาย และการบริหารจัดการโรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยวัยเพียง 26 ปีจึงตัดสินใจกลับสู่ธุรกิจประกันเต็มตัวในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด และแสดงฝีมือสร้างผลงานจนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัทไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด
“ช่วง sunset ของการ์เมนท์ในปี 2543 ผมตัดสินใจเปลี่ยนอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนั้นมีนักลงทุนเข้ามาลงทุน New York Life Insurance และเรามองว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งต้นธุรกิจในไทยน่าจะมีอะไรสนุกๆ จึงสมัครงานที่นี่ โดยถือเป็นความภูมิใจของเราที่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงด้านการตลาดและมุมมองธุรกิจ เนื่องจากสินค้าของเราเป็น mass เราควรนำบทเรียนจาก FMCG มาใช้ในการพัฒนาสินค้าที่ต้องถูกใจลูกค้า และสร้างแบรนด์ให้สัมผัสได้ หรือการนำลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางมากขึ้น โดยเราทำอยู่ประมาณ 11 ปี จนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท และสามารถขยับอันดับบริษัทจากวันแรกที่เข้าไปอันดับที่ 12 เป็น top 5 ของประเทศในวันที่ลาออก”
ขณะเดียวกันบัณฑิตยังได้สั่งสมความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และการวางแผนจากประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการของ บริษัทไทยซัมซุง ประกันชีวิต ประมาณ 2 ปีครึ่ง และนั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เจนเนอราลี่ ประเทศไทย เป็นระยะเวลามากกว่า 8 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอขับเคลื่อนอาณาจักรพรูเด็นเชียล ประเทศไทย อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปี 2566
“เรามองโอกาสในเชิงนโยบายขององค์กร ซึ่งพรูเด็นเชียลเป็นองค์กรที่ใหญ่มากในเอเชีย และมีทิศทางการเติบโตโฟกัสที่เอเชียและแอฟริกาอย่างชัดเจน โดยเราคิดว่าถ้าเราต้องการมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จ เราต้องอยู่ในจุดที่เราสามารถใช้ความสามารถของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทำงานที่นี่เราสัมผัสได้ถึงความแตกต่างอย่างแรกในเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเป็น partnership จับมือทำงานสร้างความสำเร็จร่วมกัน และความ dynamic ในการทำงานแบบ agile principles โดยทุกคนจากทุกแผนกพร้อมเข้ามาช่วยงานในโปรเจกต์เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ positive และความเป็น teamwork หรือการมีความรู้สึกร่วมกันในการไปให้ถึงเป้าหมายสูงมาก”
เดินหน้ากลยุทธ์เติบโตยั่งยืน
ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก บัณฑิตสามารถใช้วิชาความรู้ที่ฝึกปรือตลอดเส้นทางเอาชนะบททดสอบทางธุรกิจได้สำเร็จด้วยการขับเคลื่อนให้พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ขยับขึ้นมาเป็น 1 ใน 6 ของผู้นำธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย และสัดส่วนการตลาดเพิ่มจาก 5.7% เป็น 6.7 % พร้อมทั้งเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (weighted first year premium) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 มีการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมาอยู่ที่ 1.98 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว และสูงกว่าตลาดโดยรวมที่มีการเติบโตอยู่ที่ 17%
นอกจากนั้น เบี้ยประกันภัยรับปีแรกของบริษัทยังสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นทุกช่องทางในไตรมาสแรกปี 2566 โดยช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ (bancassurance) เติบโตขึ้น 28% อยู่ในอันดับที่ 3 ของธุรกิจประกันชีวิต ส่วนช่องทางดิจิทัลเติบโตขึ้น 1,366% อยู่ในอันดับที่ 1 ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางโทรศัพท์ (telemarketing) เติบโตขึ้น 21% อยู่ในอันดับ 4 และช่องทางการขายผ่านตัวแทนที่เติบโตขึ้น 73% เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา
สำหรับกลยุทธ์สร้างการเติบโตทางธุรกิจในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการประกันที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุมทั้งประกันเพื่อความคุ้มครองสุขภาพ การสะสมทรัพย์ การลงทุน และความคุ้มครองชีวิต โดยเฉพาะประกันที่ตอบโจทย์เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งผู้บริโภคทั่วโลกให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพและเตรียมการวางแผนทางการเงินให้พร้อมรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น
บัณฑิตยกตัวอย่างการจับมือกับพันธมิตรเปิดตัวประกันชีวิตและสุขภาพให้ครอบครัวสามารถแชร์วงเงินค่ารักษาพยาบาลร่วมกันได้ในกรมธรรม์เดียวกัน พร้อมทั้งแผนประกันต่างๆที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการโอกาสเพิ่มอัตราผลตอบแทนผ่านทางเลือกการซื้อประกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนประกันเพื่อการออม และแผนประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์)
“เบี้ยประกันหลักของเรามาจากการออม ตามด้วยความคุ้มครอง สุขภาพ และการลงทุน โดยประกันที่ได้รับความสนใจและเป็นหนึ่งในแฟล็กชิปของเรา เช่น ประกันที่ลงทุนกับ Global Index และประกันการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งเราเป็น top 3 ของประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรามีธนาคารเป็นพาร์ตเนอร์และช่องทางการขายต่างๆ ทำให้ลูกค้าของเรามีหลากหลาย และสินค้าของเราต้องสามารถให้บริการรองรับทุกกลุ่ม เพราะเราไม่สามารถนำสินค้าตัวเดียวกันให้บริการทุกคน และปรัชญาของพรูเด็นเชียลคือ For Every Life For Every Future เราต้องการตอบสนองทุกชีวิตและดูแลทุกอนาคต เพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องข้างหลัง โดยให้พรูเด็นเชียลดูแลและเราจะส่งต่อความสำเร็จของคุณไปสู่รุ่นต่อรุ่น”
ขณะเดียวกันบัณฑิตมั่นใจในจุดแข็งของพรูเด็นเชียลที่มีความเชื่อมั่นในบริษัทเป็นคีย์สำคัญของธุรกิจประกันจากระยะเวลาการดำเนินงานที่ยาวนานและสามารถสร้างการเติบโตผ่านวิกฤตต่างๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงช่องทางการจำหน่ายที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วและครอบคลุมทั้งธนาคาร ดิจิทัล และตัวแทนประกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลบนแพลตฟอร์มต่างๆ และความสามารถด้านไอทีเทคโนโลยี โดยสะท้อนชัดจากรางวัลความสำเร็จที่ได้รับบนเวทีระดับนานาชาติ เช่น Digital CX Awards 2023 โดย The Digital Banker ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ สาขา Excellence in Omni-Channel Customer Experience – Insurance และรางวัล Highly Acclaimed สาขา Outstanding Digital CX Transformation in Insurance
“เราต้องการให้ภายนอกมองเราเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งทางการเงินและมีความ dynamic ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นองค์กรที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลาย และความคิดสร้างสรรรค์ พร้อมทั้งสามารถนำความเก่งของทุกคนออกมาสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและสังคมได้ ซึ่งการที่จะทำดีกับสังคมได้ก็ต้องเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ และไม่ใช่การเติบโตแบบเล็กน้อย แต่เราต้องเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เข้มแข็งพอจะดูแลคนอื่น”
บัณฑิตกล่าวถึงเป้าหมายสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อลูกค้า พนักงาน ชุมชน และสังคม ด้วยการวางกรอบการดำเนินงาน ESG (Environment, Social และ Governance) ซึ่งแบ่งเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ การสร้างการเข้าถึงทางด้านความมั่นคงทางสุขภาพและการเงินอย่างเท่าเทียม การลงทุนอย่างรับผิดชอบ และการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
ขณะที่พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ได้นำกรอบการดำเนินงานนี้มาร่วมกำหนดกลยุทธ์และผนวกไว้ในทุกส่วนธุรกิจเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง ตามเจตนารมณ์ขององค์กร “ชีวิตมีกัน...ทุกวันดีกว่า” (Prudential For Every Life For Every Future) เช่น การริเริ่มแคมเปญ “การให้ที่ยั่งยืนคือ การให้ที่ส่งต่อได้” ด้วยการส่งต่อการให้ 1 กรมธรรม์ใหม่เป็น 1 ความคุ้มครองสำหรับลูกค้าของกรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐมากกว่า 70,000 กรมธรรม์ ทุนประกันรวมกว่า 7 พันล้านบาท เพื่อให้กลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยให้ได้รับประกันอุบัติเหตุเพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตและสร้างความอุ่นใจในความคุ้มครองกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต
“วันนี้ประเทศไทยมีคนที่ถือกรมธรรม์อยู่ประมาณ 38-39% จากสัดส่วนประชากรทั้งหมด เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถซื้อประกันได้ แต่ยังมีส่วนที่เข้าไม่ถึงหรือไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น เราต้องช่วยเป็นตัวกลางส่งต่อการให้ที่ยั่งยืนและส่งต่ออนาคต ซึ่งทำให้ลูกค้าของเรามีความภูมิใจด้วยที่ได้มอบความคุ้มครองให้กลุ่มที่ทำให้สังคมน่าอยู่ โดยเราตั้งใจให้เป็นโครงการระยะยาวที่ทำต่อเนื่องทุกปี เพราะเราคิดว่าเรามีความเข้มแข็งพอจะช่วยเหลือสังคม ซึ่งเราต้องขอบคุณทีมงานทุกคนที่ร่วมกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น หลังจากเราให้นโยบายและความคิด น้องๆ ช่วยกันดูว่าจะทำอะไร และสามารถทำออกมาได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก”
บัณฑิตกล่าวปิดท้ายถึงหลักการบริหารที่เล็งเห็นคุณค่าและความสามารถของทุกคนในองค์กร ซึ่งนำความหลากหลายมาร่วมกันทำงานขับเคลื่อนความท้าทายขนาดใหญ่ให้สำเร็จได้ โดยพร้อมเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงศักยภาพสูงสุดและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
“เราเชื่อในความสามารถของตัวบุคคล แต่ถ้าไม่เป็น teamwork ก็ไม่สามารถทำให้งานขนาดใหญ่สำเร็จได้ โดยเราต้องพยายามนำความเก่งของแต่ละคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าคนของเราประสบความสำเร็จในตัวเองมากเท่าไหร่ องค์กรยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เทคออฟการบินไทย ฝ่ามรสุมหนี้แสนล้าน “เร็ว-แรงเกินคาด”