Arnaud Bialecki โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) ปรับโมเดลสู้โควิด - Forbes Thailand

Arnaud Bialecki โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) ปรับโมเดลสู้โควิด

การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจกันถ้วนหน้า รายได้ที่หายไปทำให้บริษัทต้องลดเงินเดือน หรือเลิกจ้างพนักงาน บ้างถึงกับต้องปิดกิจการ ทว่า บริษัท โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การบริหารของ Arnaud Bialecki ยังคงจ้างพนักงานเหมือนเดิม สิ้นปีมีโบนัสพร้อมปรับขึ้นเงินเดือน

บจ. โซเด็กซ์โซ (ประเทศไทย) โดยปี 2564 มีรายได้ 1,966.39 ล้านบาท กำไร 17% ขณะที่ปี 2563 มีรายได้ 1,946.34 ล้านบาท กำไร 16% โซเด็กซ์โซ่ (Sodexo) เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี 2509 โดย Pierre Bellon โซเด็กซ์โซ่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านต่างๆ ประกอบด้วยการบริหารวิศวกรรมอาคารและช่างซ่อมบำรุง บริการรักษาความปลอดภัย บริการพนักงานต้อนรับและจุดบริการข้อมูล บริการทำความสะอาด บริการดูแลสวนและภูมิทัศน์ บริการด้านอาหาร รวมทั้งหมดกว่า 100 รายการ ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปี 2564 มีสำนักงานใน 56 ประเทศ พนักงาน 412,000 คนทั่วโลก รายได้รวม 17.4 พันล้านยูโร ส่วน บจ. โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) เริ่มธุรกิจในปี 2547 ให้บริการเอาต์ซอร์สด้านการจัดเตรียมอาหาร ช่างดูแลอาคาร แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และให้เช่าอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์มีลูกค้าองค์กรรวม 200 แห่ง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน แท่นขึ้นเจาะน้ำมัน มีบริษัทในกลุ่มและบริษัทร่วมทุน 6 แห่ง โดยอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย บจ. โซเด็กซ์โซ่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย), บจ. รักษาความปลอดภัย โซเด็กซ์โซ่ เซอร์วิส (ประเทศไทย), บจ. โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส, บจ. โซเด็กซ์โซ่ อมฤต (ประเทศไทย) และ บจ. โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส พนักงานทั้งรายวันและรายเดือนรวม 3,800 คน บจ. โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) โดยกลุ่มผู้รับบริการของโซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาล อาทิ สมิติเวช สุขุมวิท, กรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา, บำรุงราษฎร์ 2. บริษัทหรือ องค์กร เช่น กูเกิ้ล ประเทศไทย, ยูนิลีเวอร์, หัวเว่ย 3. สถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต 4. องค์กรนอกชายฝั่งและพื้นที่ห่างไกล เช่น คริสเอ็นเนอร์ยี่, เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต  

- วิศวกรฝรั่งสัญชาติไทย -

บ่ายวันหนึ่งของวันศุกร์สุดสัปดาห์ Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ Arnaud Bialecki ประธานบริหาร บจ. โซเด็กซ์โซ (ประเทศไทย) ที่สำนักงานใหญ่ในอาคารย่านเอกมัย ศูนย์กลางบัญชาการของพนักงานบริษัทจำนวน 3,800 คน แต่ออฟฟิศนี้มีพนักงานเพียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่ประจำอยู่ที่องค์กรหรือไซต์งานของลูกค้า ผู้บริหารชาวฝรั่งเศสเล่าถึงสถานการณ์ของบริษัทช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า “ปี 2563 เจอโควิด 2-3 เดือนแรกหลายบริษัทเริ่ม panic ช่วงหนึ่งปิดโรงงานแล้วคืนพนักงานกลับมา 300 คน ไม่มีที่ลง ตอนนั้น Sodexo ทั่วโลกตัดสินใจว่าระดับผู้จัดการขึ้นไปไม่รับโบนัส และนำเงินก้อนนี้มาสนับสนุน พนักงานที่ leave without pay บางประเทศมีรัฐบาลสนับสนุน เช่น ฝรั่งเศสสั่งให้บริษัทปิดและจ่ายเงินเดือนแทน แต่ที่ไทยพนักงานไม่มีรายได้ เราให้ฝ่ายบริหารดูว่าพนักงานควรมีรายได้เท่าไรพออยู่ได้ กำหนดไว้ 7,500 บาทต่อเดือน เราจ่ายพนักงาน 300 คนประมาณ 3 เดือน” "หลังจากนั้นธุรกิจดีขึ้น พนักงานกลับไปทำงานได้ บริษัทไม่ได้ให้พนักงานออกเลย มีเฉพาะพนักงานอายุเกิน 60 ปีที่เราไม่ต่อสัญญา 10 คนจาก 40 คน สิ่งที่ภูมิใจคือ สิ้นปี 2563 เราจ่ายโบนัส มกราคม ปี 2564 ปรับเงินเดือนให้...เราอยากให้พนักงานอยู่ได้เพื่อให้เขาอยู่กับเรา” หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากสถาบัน Ecole Centrale de Marseille ประเทศฝรั่งเศส Arnaud เริ่มต้นทำงานกับบริษัทในประเทศ ซึ่งได้เซ็นสัญญากับ กสท. เพื่อติดตั้งระบบชุมสายเทเลกซ์ ที่ตึกไปรษณีย์กลางในตำแหน่งโปรเจ็กต์เอ็นจิเนียร์ หลังจบโครงการ 1 ปีครึ่งในประเทศไทยบริษัทเรียกตัวกลับฝรั่งเศส แต่เจ้าตัวขออยู่ต่อและย้ายมาทำงานในบริษัทใหม่อีก 2 แห่ง กระทั่งปี 2555 โซเด็กซ์โซ่ ชวนให้มารับตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานในประเทศไทย และไม่โยกย้ายไปไหนอีกแม้ว่าบริษัทแม่จะเสนอตำแหน่งที่ใหญ่กว่า จากวิศวกรมารับตำแหน่งเป็นผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบงานหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร ถามว่า มีวิธีการจัดการอย่างไร? Arnaud ตอบว่า ไม่มีอะไรที่วิศวกรทำไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนวิศวะคือ “วิธีการคิด” “มีข้อมูลเท่านี้ ปัญหาแบบนี้ ต้องการผลเท่านี้ จะใส่ส่วนประกอบที่มีเพื่อทำให้สำเร็จอย่างไร วิศวะเป็น logic เราจะเรียนรู้วิธีการคิดและนำมาใช้ในทุกหัวข้อ การบริหารบุคลากรเป็นอีกส่วนที่ค่อนข้างท้าทาย ก็ทำอยู่ทุกวัน” ในอดีตองค์กรหรือบริษัทอาจจ้างพนักงานเองในทุกตำแหน่ง ทว่าระยะหลัง เป็นการจ้างแบบเอาต์ซอร์ส เช่น แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย จากบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มาทำแทน ซึ่งโซเด็กซ์โซ่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการข้างต้น ธุรกิจหลักคือ ให้บริการจัดเตรียมอาหาร ส่วนบริการอื่นๆ ปรับเสริมตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อีกบริการที่สร้างชื่อเสียงให้โซเด็กซ์โซ่คือ คูปองอาหาร ในต่างประเทศบริษัทให้สวัสดิการพนักงานโดยแจกคูปองนำไปใช้กับร้านค้าพันธมิตร แต่ไม่มีในไทย ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไม่นับว่าเป็นรายได้ ทั้งนี้ลักษณะการให้บริการแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ “ในประเทศไทยบริการคูปองเสียภาษีเราจึงไม่ทำ แต่มีโอกาสด้านธุรกิจรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการซ่อมเครื่องมือแพทย์ เราก็เปิดธุรกิจนี้”  

- ธุรกิจ 4 กลุ่มช่วยกระจายความเสี่ยง -

การมีบริการที่หลากหลายทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตได้ ดังที่ประธานบริหารฉายภาพให้ฟังว่า “2 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้เรารอดเพราะมีธุรกิจหลากหลาย ปี 2563 ยังไม่มีวัคซีนคนกลัวติดโควิด ช่วงนั้นรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลลดลง แต่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม โรงงานยังเปิดอยู่ ธุรกิจกลุ่มช่าง แม่บ้าน รปภ. ยังไปได้ดี ไม่โดนผลกระทบหรือกลุ่มลูกค้าธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน เรามีพนักงานอยู่บนเรือเตรียมอาหารให้เชฟรอน ปีแรกยังไปได้ดี ล่าสุดเพิ่งได้สัญญาจาก ปตท. เป็นงานเตรียมอาหาร ซักรีด ทำความสะอาด” “ธุรกิจให้บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์จำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เรามีเครื่องสลายนิ่ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกเลื่อน รายได้ก็หายไปด้วย แต่ในเวลาเดียวกันมีผู้ป่วยติดโควิดเพิ่ม มีรายได้จากกลุ่มอาหารเพิ่มเข้ามา แม้มีโควิด 2 ปีแต่รายได้เพิ่มจากก่อนโควิดมานิดหนึ่ง อันนี้คือกลยุทธ์ที่เรากระจายความเสี่ยงหลายกลุ่ม รายได้ปี 2564 ประมาณ 2 พันล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1%” ธุรกิจข้างต้นดำเนินการภายใต้ บจ. โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส โดยบริษัทลงทุนซื้อเครื่องมือให้โรงพยาบาลเช่าใช้ เช่น เครื่องสลายนิ่วราคา 8-10 ล้านบาท โรงพยาบาลใช้วิธีเช่าและคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเคส สถานพยาบาลใดมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ให้เครื่องอยู่ประจำและมีพนักงานดูแล กรณีที่สถานพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนน้อยรายจะนำเครื่องมือใส่รถไปให้บริการตามวันเวลาที่นัดหมาย โดยบริษัทให้บริการโรงพยาบาลทั่วประเทศ “บริษัทนี้รายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 5% เราถือว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง” ประธานบริหารย้ำว่าจุดแข็งของบริษัทคือ การมีบริการธุรกิจหลายประเภท ตัวอย่างเช่น คราวที่ประมูลงานช่างดูแลอาคารโรงพยาบาลเอกชน จะบอกว่ามีช่างที่สามารถดูแลและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย โดยสามารถจัดทำบัญชีรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์และการเคลื่อนไหวการใช้งานภายในโรงพยาบาล ทำให้ตัดคู่แข่งออกไปได้ “เราให้บริการ 4 ด้าน ครอบคลุมมากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ให้บริการเฉพาะทาง เช่น แม่บ้าน รปภ. แต่ไม่มีบริการด้านอาหาร ซ่อมบำรุง หรือบริษัทที่ให้บริการงานช่างก็ไม่ได้ทำงานโภชนาการ” 6 ปีก่อนโซเด็กซ์โซ่ร่วมกับ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด จัดตั้ง บริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส จำกัด มีลูกค้ารวม 117 ไซต์งาน โดยให้บริการบริหารจัดการอาคาร ดูแลและซ่อมบำรุง การรักษาความปลอดภัย และงานทำความสะอาด  

- สู้โควิดด้วย Flexible Model -

โมเดลล่าสุดที่บริษัทภูมิใจนำเสนอให้กับลูกค้าคือ “Flexible Model” หลักการคือ คิดค่าใช้จ่ายตามพื้นที่หรือจำนวนผู้ใช้บริการ เป็นการลดภาระให้กับลูกค้า โดยเริ่มดำเนินการให้กับ บจ. สยามซีเมนต์ (SCG) แล้ว ประธานบริหารอธิบายว่า เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมามีโควิด บริษัทให้พนักงาน work from home จากเดิมพนักงานที่บางซื่อต้องเข้าสำนักงานทุกคนก็ลดจำนวนลง “เราเสนอว่า เมื่อไรมีพนักงานกลับมาอยู่ในพื้นที่ 4,000 คนคิดราคาเท่านี้ คิดจากจำนวนคนและพื้นที่ ถ้าเดือนต่อไปมี 7,000 คนขึ้น (ราคา) เป็นเท่านี้ ไม่ต้องสนใจว่าเราใช้พนักงานกี่คน เดิมสัญญากำหนดว่า ต้องมีช่าง แม่บ้าน รปภ. กี่คน การใช้จำนวนคนมาก คิดราคาถูกสุด พนักงานได้ผลตอบแทนน้อย เราเปลี่ยนมุมมองให้วัดจากผลงานที่ออกมา หรือ KPI เช่น ในพื้นที่นี้ไม่ควรมีบุคคลต้องสงสัยเข้ามา หรือห้องน้ำต้องสะอาดระหว่างเวลานี้ จะใช้กี่คนเป็นเรื่องของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราใช้จำนวนคนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีและเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานเรา เป็นโมเดลตอบโจทย์ที่เขาต้องการ “จากสถานการณ์โควิดเราเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ลูกค้าเห็นความสำคัญ เมื่อรัฐบาลสั่งปิดบริษัท ทำไมต้องเสียเงินค่าจ้างเท่าเดิม ผู้บริหารก็พอใจ วางแผนได้ว่าค่าใช้จ่ายเท่าไร คิดจากพื้นที่การใช้งาน ล่าสุดเพิ่งเสนอโมเดลนี้กับมหาวิทยาลัย ถ้าเปิดเทอมคิดราคาเท่านี้ ปิดเทอมคิดอีกราคา ถ้าเลื่อนยังไม่เปิดเทอม cost ลดลง เป็นโมเดลที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจเวลานี้ เราอยากนำเสนอมานานแล้ว และปัจจุบันลูกค้าเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่สมควรทำ” Arnaud กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะขยาย Flexible Model ให้ครอบคลุมไปสู่อุตสาหกรรมโรงแรมระดับ 3 ดาว และโรงงานเปิดใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยโรงแรมที่โซเด็กซ์โซ่ได้เริ่มให้บริการแล้วคือ โรงแรม ฮอลิเดย์ อิน เอ็กซ์เพลส สาทร ด้วยคอนเซ็ปต์คือ คิดค่าบริการตามจำนวนห้อง ทำให้ธุรกิจโรงแรมสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นในช่วงโลว์ซีซั่น หรือภายใต้สถานการณ์วิกฤตอย่างโควิด-19 ในปัจจุบัน   ภาพ: บจ. โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine