ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อย
นวพลและยุพิน จันทร์จุฑามาศ สองสามีภรรยาซึ่งขณะนั้นเป็นมนุษย์เงินเดือนได้เซ้งร้านต่อจากเพื่อน และเปิดร้านขายสมุนไพรและอาหารเสริมในปี 2543 โดยช่วงแรกเป็นการคัดเลือกสินค้าจากแหล่งต่างๆ มาจำหน่าย ประกอบด้วยสมุนไพร อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เครื่องสำอาง ซึ่งนับเป็นจุดเด่น เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่มีร้านที่เป็นศูนย์รวมสินค้าดังกล่าว หลังเปิดร้านได้ 1 ปีพบว่า รายได้เสริมสูงกว่าเงินเดือนประจำ “นวพล” จึงลาออกจากบริษัทมาทำธุรกิจนี้เต็มตัว ขณะที่ “ยุพิน” ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท เมื่อเปิดร้านได้ 3 สาขาในอีก 2 ปีต่อมา รวมทั้งตั้งเป้าว่าต้องมี 50 สาขา ซึ่งทั้งคู่ก็ทำได้สำเร็จ และเพิ่งนำ บริษัท โนวา ออร์แกนิค จำกัด (มหาชน) หรือ NV เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม ปี 2564 นวพล จันทร์จุฑามาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โนวา ออร์แกนิค จำกัด (มหาชน) หรือ NV เล่าถึงความเป็นมาในการเริ่มต้นธุรกิจนี้ว่า แบรนด์แรกคือ “โดนัทท์” โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จ้างโรงงานผลิตชื่อ “คอลลาเจน เปปไทด์” (Collagen Peptide) ซึ่งขายทั้งหน้าร้านและคอลเซ็นเตอร์ 1577 Home Shopping ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ยุพิน จันทร์จุฑามาศ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน หยิบกล่องผลิตภัณฑ์ซึ่งมีรูปขนมโดนัทสีชมพูสดใสให้ดูและกล่าวเสริมว่า “เราซื้อครั้งหนึ่งเป็นพันชิ้นจำนวนมากพอสามารถผลิตเองได้ เลยออกตัวนี้ (กล่อง) เป็นรูปโดนัทสีชมพูเป็นสินค้าตัวแรก เรายืนขายของเอง รู้ความต้องการของลูกค้า ตอนท้อง 9 เดือนก็ยังยืนขาย ตอนแรกจ้าง OEM คนซื้อเป็นผู้หญิงซื้อเสร็จมักไม่เอากล่อง เพราะพอกลับบ้านสามีจะถามว่า ซื้อยาลดน้ำหนักหรือ ก็เลยออกแบบกล่องให้ดูแบบไม่ใช่ยา” บวกโจทย์อีกข้อคือ เมื่อวางบนชั้นแล้วสินค้าต้องโดดเด่นสะดุดตา ลูกค้าสงสัยว่าคืออะไรปัญหาแรกเกิดขึ้น เมื่อโมเดิร์นเทรดที่ทั้งคู่เช่าพื้นที่ปรับราคาขึ้นทุกปี รวมทั้งให้ตบแต่งร้านใหม่ ซึ่งนวพลคำนวณแล้ว ว่ารายรับที่ได้ต้องมาจ่ายเป็นค่าเช่า เขาจึงลดจำนวนร้านและปรับมาจำหน่ายในช่องทางอื่นๆ แทน เช่น ร้าน Watsons, Boots, Home Shopping โดนัทท์กล่องนี้ขายดีมากในโฮมชอปปิ้งจากยอดขายเดือนละ 5 ล้านเป็น 20 ล้านสูงสุดที่เคยทำได้คือ 30 ล้านบาท วันดีคืนดีมีสินค้าของบริษัทวางขายในตลาดแต่ไม่ได้ออกมาจากบริษัท ประกอบกับเริ่มมีปัญหาว่าโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ เป็นผลให้นวพลต้องตัดสินใจใหม่ จากเดิมไม่คิดจะสร้างโรงงานผลิตเอง กลายเป็นว่าต้องขยายมาลงทุนด้านนี้ในปี 2556 ด้วยเงินลงทุน 30 ล้านบาท โดยก่อนตั้งโรงงานยอดขายก็แตะหลักหลายร้อยล้านแล้ว พอบริษัทมีโรงงานเองจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาด ปัจจุบันมีประมาณ 100 รายการ เป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ สร้างภูมิต้านทาน เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง- เติบโตจากเทเลเซลส์ -
บมจ. โนวา ออร์แกนิค หรือ NV ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement product) ที่มีส่วนประกอบหลักมาจากวัตถุดิบหลายประเภท ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าโดนัทท์ (DONUTT) เช่น โดนัทท์คอลลาเจน และโดนัทท์โทเทิลไฟบิลี่
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าลีฟเนส (LIVNEST) ซึ่งมีส่วนผสมหลักจากวัตถุดิบถั่งเช่า
- อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลินจือพลัสชิตาเกะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมัทซึทาเกะ ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม คิว-ติน แฮร์โทนิคเซรั่ม เป็นต้น
- ปัญหาสร้างโอกาส -
นวพลบอกว่า แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เขาต้องแตกธุรกิจเพิ่มทั้งที่ความตั้งใจคือ อยากทำธุรกิจแบบเป็นพาร์ตเนอร์กับคู่ค้า ปัญหาแรกคือ เจ้าของพื้นที่ขึ้นราคาค่าเช่าทุกปีจึงต้องหาช่องทางจำหน่ายใหม่ ต่อมาโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ เป็นเหตุให้ NV ต้องตั้งโรงงานเอง ปัญหาครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อบริษัทผลิตสินค้าตัวใหม่ “เห็ดหลินจือชิตาเกะ” แต่เนื่องจากว่าช่องเคเบิลทีวีที่บริษัทใช้บริการมีสินค้าลักษณะเดียวกันจึงไม่สามารถโฆษณาได้ เขาจึงนำสินค้าตัวนี้ไปโฆษณากับอีกราย ต่อมาได้รับการชักชวนให้ย้ายพอร์ตสินค้าทั้งหมดมาโฆษณาที่ช่องใหม่ ซึ่งเขาก็ทำตาม เพราะต้องการโปรโมตสินค้าทั้งที่ยอดขายในช่องเดิมมีมูลค่าเดือนละ 30 ล้านบาท ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือชิตาเกะยอดขายดีอีกเช่นกัน กลายเป็นว่าทางช่องเคเบิลทีวีเชียร์ให้ลูกค้าที่โทรติดซื้อสินค้าของตนเอง ทั้งที่ NV เป็นผู้ซื้อโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าว “เราให้เด็กลองโทรไปตอนออกรายการปรากฏว่าเป็นจริง ผมไม่ได้บอกเขาตรงๆ ว่าทราบเรื่อง แต่บอกว่า เดือนหน้าขอลดสื่อลง และเซ็ตทีม telesales ขึ้นมา เราเริ่มทำ call center เอง เริ่มจาก 4 คน ตอนนี้มี 180 คน เรา train เองทั้งหมด อย่างที่บอกถ้าไม่เกิดปัญหาเราก็อยากทำธุรกิจกับพาร์ตเนอร์ ไม่ได้อยากทำต้นน้ำถึงปลายน้ำ...จากปี 2561 มาถึงวันนี้มีฐานลูกค้าล้านกว่าคน ซึ่งเป็นมูลค่ามาก เราสามารถขายสินค้าและส่งข่าวให้ลูกค้าได้” จากประสบการณ์ของยุพินที่เคยทำงานในบริษัทวิทยุติดตามตัว และดูแลจัดการให้พนักงานโอเปอเรเตอร์รับโทรศัพท์จากลูกค้า จึงนำความรู้นั้นมาปรับใช้กับระบบเทเลเซลส์ของ NV- มุ่งสู่อนาคต -
เมื่อมีเป้าหมายว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งคู่ต้องทำงานหนักขึ้น และวางแผนว่าจะนำเม็ดเงินที่ได้ประมาณ 500 ล้านบาทมาลงทุนในโรงงานและคลังสินค้าแห่งใหม่ ขยายพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2567 และใช้สำหรับปรับปรุงโรงงานเดิม เพื่อการผลิตสินค้าประเภทสมุนไพรและโรงงานสกัดสารสมุนไพรประมาณ 35 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2566 รวมทั้งปรับปรุงอาคารสำนักงานแห่งใหม่อีก 50 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จภายในปีนี้ นอกจากการระดมทุนแล้ว นวพลมองว่าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นประตูที่นำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ทำให้มีโอกาสในการต่อยอดธุรกิจมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าตลาดโลกต้องการอะไร “การทำพวกนี้ต้องเรียนรู้สารสกัดและอะไรอีกเยอะ ผมอยากทำเพื่อยกระดับ บ้านเราปลูกอะไรก็ดี แต่จะทำให้ดีต้องลงลึกไปอีก เช่น ปลูกกระชายตรงพื้นที่ไหนดีที่สุด ปลูกอย่างไรให้ได้สารสกัดดีที่สุด ผมอยากต่อยอดตรงนี้ ประเทศไทยต้องแข่งขันแต่การจะให้นักวิจัยทำ (ไม่ใช่ว่า) เริ่มจากข้าวเพราะปลูกเยอะเหลือเยอะ จะนำมาทำอะไรได้บ้าง สกัดเป็นน้ำมันข้าว จมูกข้าว เราสู้ต่างชาติได้ไหม สารสกัดงาดำสู้คอลลาเจนญี่ปุ่นได้ไหม... “เราต้องตั้งต้นก่อนว่า มีสมุนไพรอะไรบ้างที่โลกต้องการ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุๆ ป่วยเป็นอะไรบ้าง ปวดเข่า สายตาไม่ดี เราต้องเอาพวกนี้เป็นโจทย์และค้นหาว่าปลูกสมุนไพรอะไรดีเพื่อที่จะได้สารสกัดออกมาแข่งกับเมืองนอกได้ ไม่ใช่ดูว่ามีอะไรเหลือแล้วทำมาเป็นผลงาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NV บอกว่าสมุนไพรที่เขาสนใจคือ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขิง แต่เบื้องต้นคือ ต้องศึกษาก่อนว่าพันธุ์ไหนดีที่สุด ในพื้นที่ใด ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง “ถ้าเราทำกัน 2 คนไปไม่ไกลสักที พอเราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อาจเจอคนที่มองเห็นว่าเรามีศักยภาพ เติบโตได้อีก และเข้ามาเป็น strategic partner ช่วยต่อยอด...เราจับเทรนด์สุขภาพมาตลอด คนเราทุกคนอยากสุขภาพดี คนที่สุขภาพดีแล้ว ก็อยากคงสภาพไว้ ยังมีลูกค้าที่อยากใช้สินค้าเรา” ยุพินกล่าวในตอนท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ NV อ่านเพิ่มเติม:- แนวโน้มอุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนัง โอกาสและการแข่งขันในปี 2565
- สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ภารกิจสร้างสุดยอด TECH STOCK ของบอสวัยเกษียณพลังม้า
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine