สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ภารกิจสร้างสุดยอด Tech Stock ของบอสวัยเกษียณพลังม้า - Forbes Thailand

สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ภารกิจสร้างสุดยอด Tech Stock ของบอสวัยเกษียณพลังม้า

เป้าหมายที่จะพิชิตรายได้ 1 พันล้านบาทในปีนี้ ของ สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ และการสร้าง iiG ให้กลายเป็น “tech stock” เบอร์ 1 ประดับตลาดหุ้นไทยดูเหมือนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเลย เมื่อหนุ่มวัยเลข 6 ออกมา call out เรียกร้องให้คนในรุ่นเขาลุกขึ้นมาล่าฝันเหมือนเขา มองหาชีวิตแบบ “adventure” สร้างคุณให้กับสังคม อย่าจำนนกับตัวเลขอายุ

อายุเป็นเพียงตัวเลขน่าจะเป็นวลีที่อธิบายตัวตนของ สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (iiG) ได้เป็นอย่างดี หนุ่มวัย 66 ปีเบื้องหน้าของพวกเราดูมีรูปร่างแข็งแรงได้สัดส่วนกระฉับกระเฉง และมีบุคลิกคล่องแคล่วว่องไว ต่างจากคนในรุ่นเดียวกับเขา ในวันสัมภาษณ์เขาสวมใส่ชุดอย่างเป็นทางการเพราะมีภารกิจสำคัญในช่วงบ่าย แต่หากในวันปกติแล้วเขาจะปรากฏตัวในอีกลุคด้วยการสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์และรองเท้าผ้าใบเดินปะปนกับพนักงานรุ่นลูกที่มีราว 200 คนในสำนักงานของเขา เมื่อพูดคุยลงลึกในรายละเอียดของชีวิตพวกเราก็พบเรื่องน่าทึ่งเข้าไปอีก เด็กชายสมชายในสมัยเรียนมัธยมเต็มไปด้วย เรื่องราวบู๊ๆ จริงๆ แล้วเป็นเด็กหัวดีแต่เลือกที่จะไม่เรียน บ่อยครั้งเขาจะโดดเรียนไปเฮฮากับเพื่อนๆ จนกระทั่งสอบตกต้องเรียนหนังสือซ้ำชั้น ต่อมาเกิดวิกฤตครอบครัวจนต้องกลับเนื้อกลับตัวเป็นเด็กดีเพื่อเป็นเสาหลัก พร้อมมุ่งหน้ากลับเข้าสู่โลกแห่งการศึกษาอย่างจริงจังจนสอบเข้าจุฬาฯ ได้ความไม่แน่นอนในชีวิตนี่กระมังได้มอบความแข็งแกร่ง ความอดทน และความเป็น “นักสู้” ให้กับสมชาย ผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยสร้าง iiG ให้เป็นบริษัทเทคชั้นนำแม้ว่าจะอยู่ในวัยเกษียณก็ตามที iiG ดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นนำของไทย ปัจจุบันสมชายถือหุ้นส่วนตัวอยู่ในบริษัท 28.52% (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม ปี 2564) หากรวมผู้ถือหุ้นของครอบครัวเมฆะสุวรรณโรจน์อีก 2 คน สัดส่วนการถือหุ้นรวมก็อยู่ที่ 36.71% ซึ่งหุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลามตั้งแต่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ราคาหุ้นวิ่งไปปิดที่ 57.75 บาทในวันที่ 4 มกราคม ปี 2565 จากราคาปิด 22.50 บาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม ปี 2563 แม้ราคาหุ้นทะยานขึ้น แต่ภารกิจของสมชายยังไม่จบ เขาบอกว่ายังมีเรื่องที่จะต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะแผนการสร้าง iiG ให้กลายเป็น tech stock เบอร์ 1 ในตลาดหุ้นไทย พร้อมๆ กับสร้างบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่อีกด้านก็ต้องการจะช่วยบรรดาบริษัทลูกค้าให้ก้าวข้ามผ่าน “digital transformation” อย่างไร้รอยต่อ เราเรียกคุณสมชายว่า “reborn” อีกครั้งได้ไหมในวัยขนาดนี้? พวกเราถามแบบเย้าๆ สนุกๆ และสมชายก็ตอบทันทีว่า “ใช่เลย” คำนี่ใช่เลย ตรงที่สุด ที่พวกเราถามเช่นนั้นเป็นเพราะว่าคนในวัยนี้ส่วนใหญ่ได้วางมือจากหน้าที่การงานแล้ว และเลือกที่จะอยู่บ้านเลี้ยงดูหลาน หรือไม่ก็หาเวลาท่องเที่ยวใช้ชีวิตที่เหลือ แต่สมชายกลับทำสิ่งตรงกันข้ามทั้งหมด วัยเลข 6 ของเขาไม่สามารถหยุด “ความฝัน” ของเขาได้
สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์

ชีวิตต้องสู้

สมชายเกิดในครอบครัวฐานะดี มีพี่น้องอีก 2 คน บิดาทำกิจการไนต์คลับแถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งคู่เลี้ยงดูสมชายแบบปล่อยให้คิดเอง ทำเอง เพราะวุ่นวายกับการทำมาหากิน แต่ย้ำเน้นว่าต้องเป็น “เด็กดี” ด้วยชีวิตที่ค่อนข้างอิสระนี่เอง ทำให้เด็กชายสมชายเดินออกนอกลู่นอกทาง โดยโดดเรียนไปตีสนุ๊กกับเพื่อนบ้าง ไปดูภาพยนตร์บ้าง ดื่มแอลกอฮอล์บ้าง จนสอบตก และต้องเรียนซ้ำชั้น มศ. 4 (ระบบการศึกษาเดิม) ทำให้มารดาร้องไห้เสียใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับวันหนึ่งบิดาประสบอุบัติเหตุ ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งตัว ทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองเป็นสมชายคนใหม่เพื่อเป็นเสาหลัก ฐานะทางบ้านที่เคยดีก็เริ่มสั่นคลอนหลังพ่อล้มป่วย เพราะต้องขายบ้านเพื่อนำเงินมารักษา และสมชายก็รับรู้ถึงความลำบากนั้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดเขาจึงนำเงินจากแม่ก้อนสุดท้ายมาเปิดธุรกิจโต๊ะสนุ๊กจำนวน 5 โต๊ะ คุมกิจการด้วยตัวเองเพื่อหารายได้จุนเจือจนทุกคนสามารถอยู่รอดได้ ขณะที่ยามว่างเขาก็ทุ่มเทกับการเรียนหนังสือจนสอบติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ โดยเลือกเรียนสาขาวิชาสถิติ เน้นเรียนด้านคอมพิวเตอร์ สมชายบอกว่า เขาชอบ “คอมพิวเตอร์มาก” ชอบมาตั้งแต่เด็ก และยังพูดติดตลกว่า เรียนคณะนี้มา 4 ปี แต่ไม่ได้ลงเรียนวิชา “บัญชี” สักตัวเลย ขณะอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเขาก็สนุกกับการทำกิจกรรมไปด้วย เพราะอยู่ในยุคที่มีบรรยากาศการเมืองครุกรุ่นบวกกับมีอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น จึงได้ลากเขาเข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมในรั้วพระเกี้ยว จนทำให้เขาจบระดับปริญญาตรีด้วยเกรดเฉลี่ย 2.00 เมื่อเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานก็รับรู้ทันทีว่ายากที่จะหางานดีๆ ได้ด้วยเกรดน้อยนิดเช่นนี้ จึงต้องตัดสินใจเรียนระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คณะสถิติประยุกต์ ด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง และครั้งนี้ก็ไม่ผิดหวังเพราะเขาสามารถเรียนจบด้วยเกรดสูงสุดของรุ่น จนอาจารย์เชื้อเชิญเขามาเป็นอาจารย์ประจำ แต่เขาก็ปฏิเสธไป “ต้องบอกว่า พื้นฐานเราเป็นเด็กเรียนเก่ง ฉลาด สมองดีแต่ไม่ใช้ ที่เรียนไม่ดีเพราะเราไม่เรียน ก็จะพิสูจน์ให้ดูว่า ถ้าฉันเรียนฉันทำได้ ก็จบได้ที่ 1 ของรุ่น” สมชายย้อนอดีตให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ จบมาครานี้สมชายมีโอกาสเลือกงานมากขึ้น มุ่งไปสายงานที่ตนเองรักคือ โปรแกรมเมอร์ บริษัทแรกหลังจบที่เขาได้แสดงฝีมือคือ ที่ Dow Chemical บริษัทเคมีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ทำอยู่ 2-3 ปี ก็ย้ายไปทำงานที่โรงกลั่นของ บริษัท ไทยออยล์ ที่ศรีราชา วันหนึ่งก็รู้สึกเบื่ออยากกลับมาทำงานในเมืองหลวง จึงร่อนใบสมัครงานไปในบริษัทฝรั่งหลายๆ แห่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายไอที ตอนนั้นอายุ 32 ปี ในใจลึกๆ เริ่มตระหนักว่างานตำแหน่งนี้มัน “it’s the end of the road” ของวิชาชีพแล้ว แล้วมันจะโตจะไปอย่างไรต่อ แล้ววันหนึ่งจุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาถึง เมื่อได้เรียกตัวไปสัมภาษณ์งานจากบริษัทสัญชาติสวิสแห่งหนึ่งในตำแหน่งงานผู้จัดการฝ่ายไอที แผนกยา แต่ผู้บริหารชาวเยอรมันไม่รับเพราะมองว่าเขาเป็นคนทะเยอทะยานและไม่น่าจะทำงานที่นี่นาน จึงส่งต่อไปให้คุยกับนายใหญ่ชาวสวิสแทน และเขาก็ได้เสนอตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย เพราะตอนนั้นบริษัทกำลังจะเปิดแผนกคอมพิวเตอร์ขายเครื่อง IBM และต้องการคนมาช่วยผลักดัน แต่กระนั้นเขาก็ไม่ตอบทันทีเพราะไม่มีประสบการณ์ กลับมาครุ่นคิดและท้ายสุดก็ตัดสินใจรับงานเพราะดูน่าท้าทาย ไม่นานก็ปรับตัวได้ สามารถขายเครื่องได้ เพราะลูกค้าไว้ใจเขา จากนั้นอีก 3-4 ปีต่อมางานก็ดูจะจืดชืด จึงหาซอฟต์แวร์มาขายพ่วงกับเครื่อง IBM ที่เรียกว่า ERP นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด “ถือว่าผมเป็นรุ่นแรกๆ ในประเทศไทยที่ทำเรื่องซอฟต์แวร์ ERP ขายอยู่ 3-4 ปีขายดิบขายดี มือขึ้นมาก แม้ไม่เคยขายของมาก่อน แล้วมีข้อสรุปว่า เราขายของได้” เขากล่าว

สร้าง “องค์กรในฝัน”

ยิ่งทำไปเสียงเรียกร้อง “ความเป็นผู้ประกอบการ” จากภายในกายยิ่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุ 35 ปีเขาตัดสนใจจบชีวิตลูกจ้างและตั้งบริษัทจำหน่ายธุรกิจขายเครื่อง IBM พ่วงกับซอฟต์แวร์ ERP ด้วยเงินเก็บของตนเอง 1 ล้านบาทกับเงินทุนอีกก้อนใหญ่จากผู้ถือหุ้นใหญ่อีก 2 คน นอกเหนือจากเหตุผลนี้แล้ว เขาบอกว่า เขาเป็นคนมี “ความเชื่อมั่นในตัวเองสูง” มักไม่เห็นด้วยกับการทำงานของหัวหน้าในบางครั้งและได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาจนไม่เป็นที่ชื่นชอบ ดังนั้น การเปิดบริษัทตัวเองจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า สามารถสร้าง “องค์กรในฝัน” ที่ตนเองอยากให้เป็นได้อย่างเต็มที่ “ผมเป็นคนที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการเต็มตัว นั่นคือทำไมอายุ 35 พอละ ไม่อยากเป็นลูกจ้าง มาขอวัดดวง เชื่อมือตัวเองจากประสบการณ์ที่ขายระบบคอมพิวเตอร์อยู่ราว 3 ปี” “ตอนนั้นมุ่งมั่นอย่างเดียว ต้องการประสบความสำเร็จ อาจเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่มาได้หลายเส้นทาง มาได้หลายสูตร ไม่จำเป็นว่าต้องเรียนจากสถาบันดี เก่ง แล้วประสบความสำเร็จ มันไม่มี pattern” บริษัทเติบโตตามลำดับและอนาคตยังเต็มไปด้วยโอกาส เนื่องจากโลกคอมพิวเตอร์เข้าไปมีบทบาทในทุกๆ ธุรกิจและวันหนึ่งโอกาสครั้งใหญ่ก็มาถึง เมื่อเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มันเริ่มเปลี่ยนจากระบบ “ปิด” มาเป็น “ระบบเปิด” โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อไหนก็สามารถสื่อสารกันได้ ต่างจากอดีตยี่ห้อไหนยี่ห้อนั้นคำว่า “ระบบเปิด” ก็คือ ระบบปฏิบัติการแบบยูนิกซ์ (Unix) ซึ่งได้เริ่มมีซอฟต์แวร์ แพ็กเกจที่ได้รับการพัฒนามาใช้บนระบบปฏิบัติการนี้ และเขาเห็นว่าซอฟต์แวร์ตัวนี้น่าจะ “ครองโลก” แล้วระบบปิดจะตายในที่สุด ดังนั้น เขาจึงนำซอฟต์แวร์ ERP ที่ปฏิบัติการบนระบบเปิดจากบริษัท QAD Inc. จากสหรัฐฯ เข้ามาจำหน่าย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีกำไรตั้งแต่ปีแรกและตลอด 5-6 ปีที่จำหน่ายกิจการดีมากจนกระทั่งบริษัท QAD Inc. ซึ่งได้เงินทุนก้อนโตจากการเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เสนอเข้าซื้อกิจการ แต่สมชายเสนอให้ตั้งบริษัทร่วมทุนแทน โดยเขาจะถือหุ้น 25% และการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยนี่เองทำให้เขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากนัก แม้มีข้อตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า ให้เขามีส่วนร่วมบริหารและการตัดสินใจ เขาบอกเหมือนโดนใส่ “กุญแจมือ” ในที่สุดอีก 10 ปีต่อมาเขาก็ประกาศแยกทางกันโดยขายหุ้นไปทั้งหมด ระหว่างเป็นพันธมิตรกับ QAD Inc. สมชายยังมี บริษัท ไอซีอี คอนซัลติ้ง จำกัด (iCE) โดยมีผู้บริหารมืออาชีพรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย หลังแยกทางกันเขาเว้นวรรคจากการทำงานไป 2 ปี พออายุเข้าไป 55 ปีมีความคิดที่จะเกษียณ แต่ก็เห็นเรื่องของคลาวด์เทคโนโลยีก็นึก “สนุก” ขึ้นมาอีกบังเอิญว่า บริษัท Salesforce จากสิงคโปร์ซึ่งเป็นออฟฟิศภูมิภาคติดต่อเข้ามาให้เป็นตัวแทนจำหน่าย เขาไม่รีรอที่จะตะครุบโอกาส โดยบอกว่า “จะช่วยบุกตลาด Salesforce ในประเทศไทยให้” แม้ช่วงนั้นราวปี 2555 เทคโนโลยีคลาวด์ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน แต่นานวันบวกกับความพยายามให้ข้อมูลกับตลาด เทคโนโลยีคลาวด์ก็มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าสู่จุดพีคในช่วงโควิดระบาดเมื่อมีการล็อกดาวน์ที่องค์กรชั้นนำประกาศให้พนักงานทำงานแบบ work from home iiG ทำตลาดให้ Salesforce ได้ 8-9 ปีและปี 2563 สมชายก็นำบริษัทเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ทั้งนี้ก่อนเข้าตลาดเขาได้ปรับโครงสร้างในกลุ่มธุรกิจ โดยให้ iiG เข้าถือหุ้นใน iCE 100% และอีกไม่นานก็ได้ตั้ง บริษัท ไอแอนด์ไอ เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (iiXP) ซึ่งบริษัทก็เข้าไปถือหุ้น 100% เช่นกัน เพื่อสร้างการบริการอย่างรอบด้าน ขณะที่ผลประกอบการก็เติบโตโดดเด่นไม่แพ้กัน สมชายคาดว่า รายได้น่าจะถึง 700 ล้านบาท และปี 2565 ก็น่าจะโตเพิ่มอีก 30-40% ซึ่งจะแตะใกล้ 1 พันล้านบาท และหากจะโตเร็วขึ้น เขาก็มีแผนการทางลัดคือ เข้า “ซื้อกิจการ” เลือก “ของดี” เข้ามาเสริมให้กับกลุ่ม พร้อมๆ กับการรักษาวินัยทางการเงิน โดยเขาบอกว่า “ไม่ชอบการเป็นหนี้” แต่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของสมชายมากไปกว่าเป้าตัวเลข กล่าวคือ มุ่งมั่นจะให้ iiG เป็น tech stock หมายเลข 1 ของตลาดหุ้นไทย และใครได้ยินชื่อก็ต้องร้อง “ว้าว” กับความเป็นมืออาชีพ เขาเปรยว่า หุ้นบิ๊กแคปบ้านเรายังอยู่ในกลุ่ม “old economy” ต่างจากสหรัฐฯ ที่หุ้นบิ๊กแคปขนาดใหญ่เป็นใน Fortune 500 ในอันดับ 1-10 เป็น tech stock หมด อาทิ Amazon, Facebook, Google, Apple จากเดิมที่เป็นบริษัทอย่าง Exxon, Shell, General Motor และ Walmart ขณะที่บ้านเรายังเป็นหุ้นสายเทคเดิมๆ และบางส่วนเป็นเพียงแค่ผู้จัดจำหน่าย และเขาก็ตระหนักดีว่า การจะไปถึงเป้าหมายนั้นก็ต้องมาจากขุมกำลังของ “คน” เนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญ ปัจจุบันในบ้านเราคนเก่งๆ ในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างจะขาดแคลน ทำให้มีการแย่งซื้อตัว ดังนั้น เพื่อเลี่ยงปัญหานี้ เขาจึงไปเปิดศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ จ. เชียงใหม่ และ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา เพื่อเฟ้นหาช้างเผือกงามๆ สายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้าร่วมงาน และปัจจุบันหามาได้ราว 100 คน “ธุรกิจที่เป็น new economy เขามี asset อย่างเดียวคือ human asset ขาย intellectual เพราะฉะนั้นถ้าเราจะโต เราต้องขยาย capacity ของเรา นั่นก็คืออะไร คือบุคลากรต้องมีบุคลากรที่เก่งและมีจำนวนมากพอ นอกจากที่จะทำให้ธุรกิจเราเติบโตแล้ว ผมช่วยสร้าง digital skill ให้ประเทศไทย” เขากล่าว สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ สิ่งที่เขาลุกขึ้นมา “ล่าฝัน” เขายังคาดหวังอีกว่าจะส่งแรงกระเพื่อมในเชิงสังคมด้วย เขาเปรยว่า มันหมดยุดแล้วที่ชีวิตคนจะมายอมจำนนอยู่กับตัวเลขอายุ วัยเกษียณยุคนี้ยังทำอะไรได้อีกมาก เพราะมีความรู้และประสบการณ์สะสมมาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ดังนั้น เขาจึงไม่มีความคิดในหัวที่จะเกษียณเลย เพราะทุกวันนี้เขา “สนุก” กับการทำงานมาก แต่กระนั้นก็ไม่นิ่งนอนใจในการทำ “succession plan” เพื่อสร้างตัวตายตัวแทนรับช่วง และจะต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพ เขาไม่เคยคิดที่จะเอาลูกๆ เข้ามาดูแล เพราะเข้าใจดีว่าธุรกิจนี้มันยากและต้องเข้าใจเทคโนโลยี และที่สำคัญคือ มันไม่ยุติธรรมกับผู้บริหารคนอื่นๆ ที่มุ่งมั่นทำงานแต่แล้วโอกาสกลับมาถูกปิดเช่นนี้ เมื่อถามถึงความสำเร็จ อะไรที่เป็นตัวผลักดันให้เขาเดินมาถึงจุดนี้ จากจุดเริ่มต้นในวัยเด็กที่มีเพียงคำว่า “survival” ในชีวิตเท่านั้นหลังเกิดวิกฤตครอบครัว สมชายบอกว่า มีคำอยู่ 2 คำที่ยึดมั่นไว้ตลอดคือ dedication (มุ่งมั่น) และ competitive โดยเฉพาะคำหลังเขาบอกว่า ชอบเป็นผู้ชนะแล้วเคยแพ้ไหม? พวกเราถามต่อ เขาตอบว่า มนุษย์ทุกคน “เคยล้ม” กันทั้งนั้น เคยตัดสินใจพลาด แต่เมื่อล้มเหลวแล้วต้องลุกและต้องเอา “ชนะ” มันให้ได้ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine