การผสมผสานศาสตร์แห่งพาณิชย์ศิลป์และความเชื่อมั่นของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่มีต่อคอนเทนต์เป็นกุญแจสำคัญเปิดประตูดิสรัปชันความสำเร็จทุกแพลตฟอร์มจากออฟไลน์ถึงออนไลน์ ดันรายได้กว่า 5 พันล้านบาท พร้อมติดอาวุธตลาดทุนเสริมความแข็งแกร่งอาณาจักร ONEE เสิร์ฟความบันเทิงไทยสร้างชื่อทั่วโลก
บนความเชื่อมั่นในโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจยุคสงครามสื่อทีวีดิจิทัล พร้อมกับกระแสความเปลี่ยนแปลงดิจิทัลดิสรัปชันสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้ชมมีทางเลือกเข้าถึงคอนเทนต์ได้มากขึ้นกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ ถกลเกียรติ วีรวรรณ หัวเรือใหญ่ของค่ายเอ็กแซ็กท์และซีเนริโอ ร่วมกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งช่อง ONE31 พร้อมวางเดิมพันหมดหน้าตักเปลี่ยนเก้าอี้ซีอีโอเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นเต็มตัวเพื่อขับเคลื่อนอาณาจักรได้อย่างเต็มที่ “บุคลากรหลายคนของเรามาจากสมัยเอ็กแซ็กท์ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผลิตรายการและละครให้หลายๆ ช่อง จนกระทั่งแกรมมี่เข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลและรวมตัวกับเราทำช่อง ONE31 ขึ้นมา เพราะเราต้องการที่ทางเป็นของตัวเองให้คอนเทนต์ได้มีช่องทางออกอากาศ โดยในปี 2558 เรายังตัดสินใจร่วมถือหุ้นบริษัทจากความเชื่อมั่นในศักยภาพและต้องการทำให้ช่องเกิด แต่ด้วยสถานการณ์ที่ทีวีดิจิทัลยังฝุ่นตลบกันอยู่ การลงทุนละครที่ใช้เงินจำนวนมากจึงดูมีความเสี่ยง แต่ผมมองว่า ถ้าเราไม่ทำเราจะตกรถไฟ ดังนั้น ผมจึงต้องเอาเงินลงทุนตัวเองเป็นประกันให้มั่นใจในโอกาสและอนาคต ซึ่งถ้าเราไม่ทำตอนนั้นมันก็ไม่ได้มาถึงวันนี้” ถกลเกียรติ บอกเล่าความระลึกถึงช่วงเวลาของการตัดสินใจวางเดิมพันครั้งใหญ่ในชีวิต ด้วยความมั่นใจในความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมากกว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ศึกษาในต่างประเทศและตระเวนชมละครบรอดเวย์จนตัดสินใจเบนเข็มเส้นทางนักเศรษฐศาสตร์สู่ปริญญาตรี Communication and Theatre ที่ Boston College และปริญญาโทด้าน Broadcasting ที่ Boston University ก่อนจะเดินทางกลับมาสร้างผลงานในธุรกิจสื่อและบันเทิงไทยอย่างต่อเนื่อง “ตั้งแต่เด็กเวลาดูละครอย่างโกมินทร์กุมาร ที่มีฉากแสดงอภินิหาร เราอยากรู้เบื้องหลังหรือวิธีการถ่ายทำฉากต่างๆ ซึ่งเมื่อได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาและชมภาพยนตร์ ละคร ละครเวทีมากขึ้น บวกกับได้อ่านหนังสือเบื้องหลังอีกจำนวนมากยิ่งทำให้เรามีความสนใจ จนเข้ามหาวิทยาลัยและได้ลองเรียนเศรษฐศาสตร์ประมาณ 1 เทอม เพราะคุณพ่อ (ดร.อำนวย วีรวรรณ) ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่สุดท้ายเปลี่ยนเป็น Communication and Theatre เพราะเรารู้ว่าเราชอบด้านนี้ โดยทุกวันนี้ถือว่าเราเลือกทางเดินที่ถูกในการผสมผสานสิ่งที่เรียนมา และยังรู้สึกดีมากที่ได้ทำงานสายอาชีพนี้” หลังจากสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนาน ตั้งแต่ค่ายเอ็กแซ็กท์ในปี 2533 และซีเนริโอในปี 2547 ถกลเกียรติพร้อมนำทีมบริหารช่อง ONE31 ซึ่งชนะการประมูลในเดือนธันวาคม ปี 2556 และเผยแพร่ภาพอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2557 ก่อนจะร่วมลงทุนในบริษัทและดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจของซีเนริโอและเอ็กแซ็กท์ ด้วยการโอนย้ายฝ่ายบริหารและบุคลากรฝ่ายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับรายการโทรทัศน์มายังกลุ่มบริษัท เพื่อเสริมศักยภาพในการผลิตรายการโทรทัศน์ นอกจากนั้น ถกลเกียรติยังเดินหน้าขยายธุรกิจสื่อและความบันเทิงครบวงจรครอบคลุม 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตรายการ บริหารลิขสิทธิ์และการให้บริการช่องโทรทัศน์ รวมทั้งช่องทางออนไลน์และต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้เพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ LINE TV, Disney+ hotstar, Netflix เป็นต้น พร้อมนำรายการไปเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ที่กลุ่มบริษัทพัฒนาขึ้นเองทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ตลอดจนให้สิทธิในการเผยแพร่รายการในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครบทั้ง 10 ประเทศ และภูมิภาคอื่น ส่วนธุรกิจผลิตรายการวิทยุของกลุ่มบริษัท 3 รายการ ได้แก่ รายการวิทยุ EFM, GREENWAVE และ Chill Online ซึ่งรายการวิทยุ EFM และ GREENWAVE เผยแพร่ผ่านคลื่นความถี่วิทยุที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเป็นอันดับที่ 1 ในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาประเภทวิทยุในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงปี 2561 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปี 2564 และอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่จัดทำโดย Nielsen) ด้านธุรกิจรับจ้างผลิตและบริการ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิต Netflix Original เรื่องแรกของประเทศไทยในปี 2562 และ “เด็กใหม่ ซีซั่น 2” ทั้งยังเป็นผู้ผลิต LINE Original ให้ LINE TV จำนวน 8 เรื่อง (ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปี 2564) รวมถึงธุรกิจจัดอีเวนต์ เช่น งานพบปะศิลปิน คอนเสิร์ต และสัมมนา โดยยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน ธุรกิจขายสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับรายการหรือศิลปินของกลุ่มบริษัท และธุรกิจให้บริการเช่าสถานที่สำหรับการถ่ายทำงานและจัดอีเวนต์ เป็นต้น บาลานซ์ศาสตร์ศิลป์ ONEE ก้าวต่อของอาณาจักรเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและโอกาสแจ้งเกิดคอนเทนต์ไทยสู่ต่างประเทศ โดยสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนผ่านการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยความมั่นใจในทัพธุรกิจที่ได้รับการวางรากฐานไว้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และความสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง “เราเล็งเห็นว่าโอกาสยังมีอีกมาก และไม่ได้เสี่ยงเหมือนเมื่อ 7 ปีก่อนจากสิ่งที่เราทำมาหรือเริ่มบริษัทเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกำไรและอัตราการเติบโตมากขึ้นทุกปี รวมถึงความแข็งแกร่งของรากฐานธุรกิจที่วางไว้ ซึ่งในอนาคตยังมีอะไรขยายต่อได้อีกมาก และเราเห็นโอกาสที่ดีจากการที่เราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีประสบการณ์และการ research ที่แม่นยำ โดยเราต้องไม่ยึดติด เพราะโลกเปลี่ยนไป ความสำเร็จเมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราสำเร็จได้ หรืออาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนดูต้องการใน พ.ศ. นี้ ดังนั้น เราต้องอยู่กับปัจจุบันให้มากและต้องยินดีที่จะปรับตัว” ถกลเกียรติย้ำในข้อได้เปรียบของบริษัทในการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีประสบการณ์ยาวนานและความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านสื่อและความบันเทิงครบวงจร (vertically integrated service provider) โดยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมขยายฐานผู้ชมไปยังต่างประเทศ โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเจ้าของช่องทางโทรทัศน์ในประเทศไทยรวม 3 ช่อง และเจ้าของช่องทางการเผยแพร่ออนไลน์ทั้งหมด 8 ราย รวมถึงผลิตรายการ original content หรือ รายการที่สามารถรับชมได้ทางช่องทางออนไลน์จำนวนมาก ขณะที่มีพันธมิตรต่างประเทศนำรายการกลุ่มบริษัทเผยแพร่ผ่านพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายและเจ้าของช่องทางเผยแพร่ในต่างประเทศ เช่น YOUKU และ Mango TV ในประเทศจีน Tv Asahi, Nagoya TV, Rakuten TV ในประเทศญี่ปุ่น dimsum ในประเทศมาเลเซีย และ SCTV ในประเทศเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการให้สิทธิในการเผยแพร่รายการผ่านผู้ให้บริการการเผยแพร่ในต่างประเทศรวมมากกว่า 4,500 ชั่วโมง “สิ่งสำคัญสำหรับการบริหารรายได้ในทุกวันนี้คือ การอยู่กับปัจจุบัน แน่นอนว่าเราวางเป้าหมายสำหรับอนาคตแต่ต้องอยู่กับปัจจุบันด้วย ซึ่งสัดส่วนรายได้ของเราในปัจจุบันยังมาจากทีวีเป็นช่องทางหลัก 50% อีก 20% เป็นออนไลน์ และ 5% เป็นต่างประเทศ แต่ถ้าให้มอง 3-5 ปีข้างหน้า ทีวีน่าจะเหลือ 40-45% แต่ออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 25-28% และต่างประเทศ 7-10% โดยเรายังให้น้ำหนักกับละคร เพราะท้ายที่สุด ละครยังเป็นประเภทรายการที่มีผู้ชมมากที่สุด ซึ่งละครเป็นคอนเทนต์ที่ลงทุนสูงแต่ก็ทำรายได้สูง ขณะที่รายการอื่นๆ เรายังมีช่องทางขยายอยู่ และรายการข่าวที่สามารถอัปเดตสถานการณ์เหมือนเป็นกระบอกเสียงสู่สาธารณชนว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมหรือประเทศของเราได้ตลอดทั้งวัน" ถกลเกียรติกล่าวถึงแผนการดำเนินงานพัฒนาช่องทางออนไลน์ร่วมกับผู้ให้บริการสารสนเทศ (IT) ภายนอก ซี่งจะเป็นแหล่งรวบรวมรายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของกลุ่มบริษัททั้งหมดตั้งแต่รายการเก่าถึงรายการใหม่ที่จะถูกเผยแพร่และมีความสามารถในการให้บริการมากขึ้น เช่น การเลือกชมรายการต่อจากที่รับชมค้างไว้ (continue watching) และการหมุนหน้าจออุปกรณ์รับชมอัตโนมัติ เป็นต้น โดยคาดการณ์ความพร้อมให้บริการเวอร์ชันแรกในปี 2565 ด้วยงบลงทุนที่วางไว้ราว 130 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของระบบสารสนเทศทั้งในส่วนด่านหน้าธุรกิจ (frontline technology) และส่วนการสนับสนุนการทำงาน (back- bone technology) ภายในปี 2557 “Content’s the king เพราะไม่มีใครดูแพลตฟอร์มเปล่า ถ้าคนดูต้องการ entertainment คอนเทนต์ก็ยังเป็น king โดยการทำธุรกิจคือ การบาลานซ์ commercial และ art ขณะเดียวกันก็บาลานซ์ระหว่างปัจจุบันกับอนาคต ซึ่งเรายังคงมีเป้าหมายและการคาดการณ์แต่ต้องมองให้ทะลุ ทุกวันนี้ไม่มีใครตอบได้ถึงอนาคตของสื่อทั่วโลกหรือความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เราอาจจะคาดการณ์ได้ประมาณหนึ่งแต่ต้องอยู่กับปัจจุบันด้วย โดยทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นการบาลานซ์ด้วยการวางเป้าหมายมองไปข้างหน้า แต่เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด” ซีอีโอผู้ขับเคลื่อนธุรกิจสื่อและบันเทิงไทยกล่าวปิดท้ายถึงความเชื่อมั่นและหลักบริหารธุรกิจตลอดช่วง 3 ทศวรรษ ภาพ: บมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine