ทัพหน้าการขยายอาณาจักรให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วสู่ผู้นำการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมลงทุนต่อเนื่องเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจดันผลงานสร้างสถิติรายได้ 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ด้วยเป้าหมายมาร์เก็ตแคปหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 5 ปี
เบื้องหลังความสำเร็จดีลประวัติศาสตร์การเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (backdoorlisting) มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทด้วยการซื้อเพิ่มทุน บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จำนวน 2.15 หมื่นล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 0.60 บาท เพื่อรับโอนกิจการจาก บริษัท ทีม เอ โฮลดิ้ง 2 จำกัด (TAH2) และ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ผู้นำเทคโนโลยีการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลที่ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 5 ทศวรรษ พร้อมดันรายได้ธุรกิจรวมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากหลักร้อยล้านบาทสู่หมื่นล้านบาทในปี 2562 ภายใต้การนำทัพของ ชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “การสั่งสมประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้มาถึงปัจจุบันเริ่มต้นจากวัยเด็กที่ใช้ชีวิตในอเมริกาตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล ทำให้มีความเข้าใจในตลาดเสรี ภาษา และการเปิดกว้างทางความคิด ส่วนการเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ทำให้มีกระบวนการที่ชัดเจนและละเอียด หลังจากนั้นเรายังเข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติในบริษัท Fortune 100 และมีช่วงที่ทำธุรกิจของตัวเองก่อนจะเข้าไปทำงานกับบริษัทมหาชนและเป็นกรรมการบริษัท ทำให้เราได้เห็นวิวัฒนาการของตลาดทุนและวงจรธุรกิจตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งถึงแฮมเบอร์เกอร์” มือหนึ่งในการซื้อกิจการอนาคตไกลและเทิร์นอะราวด์บริษัทเริ่มต้นเล่าถึงการปรับความรู้และประสบการณ์ทำงานตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ทั้งปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาโทบริหารธุรกิจ Worcester Polytechnic Institute สหรัฐอเมริกา พร้อมแสดงฝีมือการบริหารหลายกลุ่มธุรกิจที่ผ่านมา “การปรับประสบการณ์ทางธุรกิจที่ผ่านมา อย่างแรกเรื่องการเข้าซื้อกิจการ ต่อมาจะเป็นการปรับใช้ในเรื่องธุรกิจจากการซื้อเอง ปรับเอง operation เอง ทำให้เราเห็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นตลอดและประสบการณ์ทั้งหมดบอกเราว่า สิ่งที่ต้องทำเราต้องทำให้เร็ว และแพ้ชนะอยู่ที่รายละเอียด โดยเราต้องสามารถมองภาพใหญ่และคาดเดาได้ ที่สำคัญต้อง execute และสามารถตอบสนองลูกค้าได้” ชนินทร์กล่าวถึงความพร้อมเป็นผู้นำทัพของกลุ่มวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในการทำ backdoor listing ปรับโครงสร้างและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็น holding company ขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นำโดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าและสายเคเบิล ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิตสายแรงดันไฟฟ้าสูงพิเศษหุ้มฉนวนรายเดียวในประเทศไทย และเริ่มให้บริการหน่วยตรวจสอบคุณภาพสายไฟแรงดันสูงแบบเคลื่อนที่ (high voltage mobile testing unit) นอกจากนี้ ชนินทร์ยังเล็งเห็นความสำคัญของการขยายธุรกิจที่มีโอกาสทำกำไรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการซื้อกิจการทั้งหมดของ บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด ในปี 2562 ซึ่งให้บริการด้านทรัพยากรบุคคลมากว่า 30 ปี พร้อมทั้งให้บริการวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการทำความสะอาดเรือ การก่อสร้างนอกชายฝั่ง การติดตั้งและบำรุงรักษา การบริการให้เช่าคลังสินค้า อุปกรณ์ และเครื่องจักร “เราเข้าตลาดทุนเพื่อขยายกิจการและการสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง โดยต้องอาศัย leadership เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งกลุ่มปัจจุบัน กลุ่มที่กำลังเติบโตขึ้น กลุ่มที่เกิดจากการซื้อกิจการและกลุ่มที่มากับตัวกิจการนั้น รวมถึงการหาคนเก่งเข้ามาร่วม พร้อมสร้าง management system ขึ้น" "ซึ่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลกับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนำสิ่งที่เรามีเข้าไปควบรวมกับ SMM และนำกิจการของเราเติมเข้าไป จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น STARK รวมกันระหว่าง wire and cable บวกกับโลจิสติกส์และทำให้มันใหญ่ขึ้นด้วยการซื้อของต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ซึ่งธุรกิจหลักของเราเป็น wire and cable ประมาณ 90% ทั้งประเทศไทยและเวียดนาม” ดังนั้น ชนินทร์จึงเดินหน้าขยายอาณาจักรการลงทุนสู่ประเทศเวียดนามด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมดของกิจการ Thipha Cables และ Dovina ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลในประเทศเวียดนาม พร้อมทั้งขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าและเคเบิลให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สำคัญตั้งแต่สายไฟฟ้า สายเคเบิลขนาดเล็กและขนาดใหญ่พิเศษ โดยลงทุนใน บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลขนาดเล็กผ่านการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด ในปี 2563 “การขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของบริษัท และธุรกิจที่ขยายต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น new normal, globalization, ความขัดแย้งที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ ยูโร บาท, ซัพพลายเชนสะดุด ซึ่งเรามีบริษัทโลจิสติกส์ไว้ก่อนหน้าแล้ว เพราะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการพิจารณาคัดเลือกต้องวาง footprint ให้ดี" "ซึ่งเราสนใจขยายธุรกิจที่เวียดนามเพราะโอกาสการเติบโตสูงมากทั้ง GDP growth จำนวนประชากร โดยเฉพาะวัยแรงงานหนุ่มสาว ท่าเรือจำนวนมาก FTA สูงกว่าเรา 2 เท่า และความต้องการใช้พลังงาน ซึ่งอนาคตเรายังสนใจลงทุนธุรกิจเพิ่มที่ประเทศเวียดนามอีกแน่นอน” ชนินทร์กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับในการพึ่งพาข้อตกลงระหว่างประเทศจาก FTA (Free Trade Area) ของบริษัทย่อย Thipha Cables ที่เอื้อต่อการส่งออกและสามารถช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในระดับโลก โดยวางเป้าหมายขยายตลาดส่งออกเป็น 50 ประเทศ จากปีที่ผ่านมาส่งออก 42 ประเทศ เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง มั่นคงในระยะยาวและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป- ติดสปีดสู่หมื่นล้านเหรียญ -
ท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก แต่บริษัทยังสามารถสร้างการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้รวม 2.71 หมื่นล้านบาทในปี 2564 พร้อมทั้งขยายธุรกิจพลังงานดิจิทัล โดยร่วมกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงทุนใน บริษัท ไทย เอ็นคอม จำกัด ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบการดูแลจัดการต่างๆ ในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดในอนาคต รวมถึงวางแผนลงทุนการให้บริการด้าน data center ช่วยลดภาระต้นทุนการจัดการ และเพิ่มความปลอดภัยของระบบสารสนเทศให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตพร้อมตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย ขณะเดียวกันบริษัทยังดำเนินการตามแผนกลยุทธ์มุ่งเน้นการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลแรงดันไฟฟ้าปานกลาง สูง และสูงพิเศษ (medium-extra high voltage) เพื่อรักษาอัตรากำไรในระดับสูง (high margin) ต่อเนื่องในระยะยาว จากโรงงานทั้งในไทยและเวียดนามทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์แรงดันไฟฟ้าสูงและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การเสนอขาย และความเชี่ยวชาญในด้านสายแรงดันไฟฟ้าสูงและสูงพิเศษพร้อมเพิ่มโอกาสในการประมูลงานสำหรับผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากการผลิตสายแรงดันไฟฟ้าสูงและสายไฟฟ้าแบบพิเศษ บริษัทยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สายเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การผลิตสายไฟ HVDC cable ระบบสายส่งกระแสตรงแรงดันสูงและการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ติดตั้งในทะเล เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมอวกาศ และยานอวกาศ “กลยุทธ์ของเราชัดเจนในการขยายธุรกิจเชิงรุก และเราไม่เชื่อเรื่องทำวันนี้ให้ดีที่สุด เช่น Jeffrey ผู้ก่อตั้ง Amazon เคยกล่าวไว้ว่า ‘Everyday is day one’ ซึ่ง day one เป็นเรื่องสำคัญ เพราะวันนี้กับพรุ่งนี้สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้น ทำดีที่สุดวันนี้ไม่พอ แต่ต้องมองถึงสัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้าทำอย่างไร โดยปัจจัยที่วิ่งเข้ามาก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงการแข่งขันในอนาคตทำให้เราต้องขยายออกไปต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างทั้งอัตราแลกเปลี่ยน บุคลากร การเข้าถึงลูกค้า ตรงนี้เป็นการทำงานเชิงรุกจริง ไม่ใช่ ตั้งรับเชิงรุก หรือสร้างป้อมรอวันถูกกิน แต่เราต้องแหกค่ายไปกินคนอื่นด้วย” ดังนั้น บริษัทจึงวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตด้านรายได้ด้วยการขยายและเปิดตลาดใหม่ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสสำคัญที่เวียดนามจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยมีหลายปัจจัยที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย รวมถึงการพัฒนารถไฟฟ้าและเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคอาเซียนจะสามารถช่วยเพิ่มจำนวนการใช้สายไฟฟ้าและสายเคเบิลได้ “การซื้อธุรกิจหรือควบรวมกิจการของเราไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจ wire and cable และ โลจิสติกส์ แต่เราสนใจในธุรกิจที่ทำเงินและมีโอกาสฟื้นตัวหรือต่อยอด ยกเว้นผิดหลักศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ธุรกิจฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ของมึนเมา ธุรกิจทำนาบนหลังคนหรือเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราไม่ทำและไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งเราต้องดูมิติอื่นๆ ของธุรกิจประกอบด้วย เช่น การส่งออก การต่อยอดโรงงานในประเทศอื่น การย้ายพื้นที่โรงงาน รวมถึงเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศหรือบรรยากาศคล้ายบ้านเรามากน้อยแค่ไหน ดังนั้น เราเลือกก่อนเซ็ตและพิจารณาว่าต้องแยกธุรกิจออกมา หรือนำมา plug in ต่อยอดในซัพพลายเชน ขยายฐานลูกค้า หรือช่วยกันสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่” ชนินทร์ย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการคัดเลือกธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การส่งเสริมการเสนอขายผลิตภัณฑ์ ฐานการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการได้มาซึ่งเทคโนโลยีและทักษะใหม่การสร้างรายได้ พร้อมประหยัดจากการใช้ต้นทุนรวมกัน (cost synergies) เพื่อเพิ่มความสามารถการทำกำไรและการเติบโตในอนาคต “เทรนด์ดิจิทัลมีแต่ผลบวกกับบริษัทและทำให้อนาคตน่าจะเติบโตได้มากขึ้นอีก ทั้ง data transformation, 5G, 6G, Cloud การเชื่อมต่อของรถ EV ที่รถแต่ละคันต้องสื่อสารถึงกันและข้อมูลจำนวนมากที่ต้องส่งถึงกันผ่านสายไฟ data transition ไฟเบอร์ ซึ่งเราต้องมีส่วนร่วมกับตรงนี้ โดยรายได้ในปีนี้คาดว่าน่าจะประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และ market cap. (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด) เติบโตจาก 5 หมื่นล้านบาทเป็น 1 หมื่นล้านเหรียญใน 5 ปี ซึ่งภาพลักษณ์ของ STARK ที่ต้องการให้ภายนอกรับรู้อย่างแรกคือ growth company ถัดมาเป็นการทำเพื่อนักลงทุนในระยะยาว รวมถึงเป็นบริษัทที่สถาบันการเงินไว้ใจและเป็น employer of choice สุดท้ายเป็น partner of choice ถ้าใครต้องการลงทุนหรือมองหาพันธมิตรในเมืองไทย ขอให้สนใจเราเป็นอันดับต้นๆ” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:- “ธัชพล ชลวัฒนสกุล” และ “ศุภกร พันธุกานนท์” สานฝันเครือข่ายร้านยา สร้างที่พึ่งให้ชุมชน
- จารุวรรณ โชติเทวัญ เติมสีสันสหฟาร์ม ต่อยอดธุรกิจปั้นแบรนด์พรีเมียม
- “RECITATIF” ของ TONI MORRISON กลายเป็นงานศิลป์ในรูปหนังสือ
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine