เคยสงสัยไหมว่า ท่อส่งน้ำประปาขนาดใหญ่ ท่อระบายน้ำเสีย ท่อลอดใต้ถนน ฯลฯ ที่มีน้ำไหลผ่านปริมาณมาก ด้วยแรงดันสูง ทนทานต่อความร้อน ทำมาจากอะไร ใครเป็นผู้ผลิต
ประเทศไทยได้ทำความรู้จักกับ WH Pipe International บริษัทในกลุ่มของ KWH Pipe Ltd ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับท่อ HDPE (High Density Polyethylene) ทั้งการออกแบบและติดตั้ง รวมทั้งเป็นผู้ผลิตท่อ HDPE รายใหญ่ของโลกในปี 2523 โดยรับเชิญเข้าร่วมประมูลโครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำของการประปานครหลวง บริเวณถนนพระราม 4 ถนนราชดำริ และถนนเจริญกรุง ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาว่า ระบบท่อส่งน้ำประปามีอัตราการสูญเสีย 40% บริษัทจากฟินแลนด์ชนะการประมูลเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทผลิตและติดตั้งท่อ HDPE รายแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อบริษัท วิค แอนด์ ฮุคลันด์ จำกัด ในปี 2526 โดยมี KWH Pipe Ltd เป็นผู้ถือหุ้น 90% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2539 ต่อมาปี 2558 นักลงทุนไทยได้ซื้อหุ้นทั้งหมดจากฟินแลนด์ แต่ยังคงเป็นพันธมิตรและร่วมมือกันในฐานะคู่ค้า ทำให้บริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายท่อวีโฮไลท์ (Weholite) ซึ่งเป็นท่อพีอีชนิดโครงสร้างผนังเบาได้รายเดียวในประเทศไทย- ท่อ HDPE มาตรฐานฟินแลนด์ -
บริษัทผลิตและจำหน่ายท่อและข้อต่อ HDPE โดยแบ่งธุรกิจออกเป็นประเภทต่างๆ ประกอบด้วย- ท่อพอลิเอทิลีนคุณภาพสูงใช้สำหรับเป็นท่อส่งน้ำประปา ท่อระบายน้ำฝน ท่อระบายน้ำเสีย ท่อร้อยสายโทรศัพท์ท่อใต้น้ำ (submarine pipe)
- ท่อพอลิเอทิลีน วีโฮไลท์ (Weholite) ใช้สำหรับเป็นท่อระบายน้ำ ท่อรวบรวมน้ำเสีย ท่อน้ำทิ้งลงทะเล ท่อลอดใต้ถนน บ่อพักระบายน้ำ ซึ่งท่อประเภทนี้บริษัทเป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศไทย
- ข้อต่อท่อ HDPE หรืออุปกรณ์ประกอบท่อ (fittings)
- การเชื่อมต่อท่อ HDPE
- การรับเหมาวางท่อแบบครบวงจรตั้งแต่การติดตั้ง การเชื่อมต่อท่อและข้อต่อการติดตั้งอุปกรณ์ การขุดและฝังท่อ และการก่อสร้างประกอบ รวมถึงการออกแบบระบบ
- เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค ตำบลมาบยางพร อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาด้วยระบบ UF Membrane (Ultrafiltration Membrane) ผลิตขั้นต่ำ 12,000 ลบม.ต่อวัน สัญญา 20 ปี เริ่มดำเนินการวันที่ 1 มิถุนายน 2559
- นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ตำบลหอมศีล อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา รับจ้างผลิตน้ำประปาด้วยระบบ UF/RO (Ultrafiltration/Reverse Osmosis) ปริมาณขั้นต่ำ 17,000 ลบม. ต่อวัน ระยะเวลา 20 ปี เริ่มดำเนินการวันที่ 5 มิถุนายน 2560 และ
- ดำเนินการผลิตหรือจัดหาน้ำดี (RO) ให้แก่เทศบาลเมืองป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ด้วยระบบ UF/RO (Ultrafiltration/Reverse Osmosis) สัญญา 30 ปี (สัญญาลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2555)
- รุกธุรกิจผลิตน้ำประปา -
วิบูลย์ แสงวิทยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่ามูลค่ารวมของธุรกิจท่อพีอีทั้งตลาดมีประมาณ 4-5 พันล้านบาท ซึ่ง WIIK อยู่ในลำดับที่ 1 หรือ 2 สลับกับบริษัทอีกแห่ง โดยไตรมาส 3 ของปี 2563 รายได้อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท กำไร 78 ล้านบาทเศษ วิบูลย์จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบ MBA จาก National Institute of Development Administration ได้มาร่วมงานกับ WIIK ในตำแหน่ง Sale Engineer ทำงาน 14 ปี จึงลาออก โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ Sale Marketing Manager หลังจากนั้นไปทำงานด้านรับเหมา วางท่อ การผลิตน้ำประปา โดยช่วงที่ทำงาน หจก. ไว-วา (ปัจจุบันคือ บจ. ไว-วา) มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ และผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำกับการประปาส่วนภูมิภาค รับผิดชอบการบริหารโรงกรองน้ำที่บริษัทได้งานจากการประปาส่วนภูมิภาค ปี 2555 ผู้บริหาร WIIK ชวนกลับมาให้ร่วมงานในตำแหน่งรองประธานฝ่ายขายและการตลาด และเลื่อนตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารในอีก 3 ปีต่อมา วิบูลย์ให้ภาพรวมธุรกิจท่อน้ำในประเทศว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้เรื่อยๆ เพราะรัฐบาลมีเมกะโปรเจ็กต์เพื่อพัฒนาประเทศ เพียงแต่ว่าอาจมีการชะลอบางช่วงเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้การเติบโตไม่สม่ำเสมอ “เราก็ดูว่าโอกาสทำกำไรกับรายได้มันไม่ยั่งยืน จึงมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพ พอผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เข้ามาก็มีความคิดเห็นตรงกันว่าจะไปด้านบริหารจัดการน้ำ ก่อนหน้านั้น ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นฟินแลนด์ก็มองด้านนี้ แต่เขาไม่อยู่เมืองไทย ส่วนกลุ่มคนไทยรู้ความเสี่ยงและคิดว่ารับได้...” สำหรับการลงทุนทำธุรกิจบริหารจัดการน้ำประปา เน้นทำกับหน่วยงานเอกชนเพื่อไปจำหน่ายให้รายย่อยอีกทอดหนึ่ง ลงทุนเฉลี่ยโครงการละ 100-140 ล้านบาท เมื่อครบสัญญา 20 ปี คาดว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำ 1-1.3 พันล้านบาทต่อโครงการ สำหรับสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ บริษัทไม่ทำสัญญาระยะสั้น เพราะจะส่งผลต่อราคาขาย ซึ่งผู้บริโภคปลายทางอาจแบกรับไม่ไหว คู่สัญญาเป็นบริษัทเอกชนเนื่องจากมีความคล่องตัวสูงกว่าขณะที่หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถทำสัญญาระยะยาวได้ “ถ้าสัญญา 20 ปี สมมติว่าค่าน้ำราคา 9 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าสัญญา 5 ปีอาจต้องคิดที่ 18 บาท โดยทั่วไปงานลักษณะนี้สัญญาแค่ 5 ปีจะรับไม่ค่อยได้ ความเสี่ยงสูงหากคิดตัวเลขตามตารางโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ต้อง 10 ปีขึ้นไปถึงจะ commercial ได้ การประปาไปขายต่อให้นิคมอุตสาหกรรมๆ เอาไปขายต่อโรงงาน...เราไม่ขายรายย่อยเพราะต้องเผื่อความเสี่ยงการสูญเสียตามท่อ หรือเก็บเงินไม่ได้ เราดีลกับเอกชนหรือราชการเป็นหลัก” สำหรับการทำธุรกิจน้ำประปา บริษัทเสนอทางเลือกให้ลูกค้า 2 แบบคือ 1. ซื้อขาดโดยออกแบบก่อสร้างให้ 2. รับซื้อน้ำจากบริษัทระยะยาว ซึ่งคู่สัญญาคำนวณได้ว่าบริษัทจะได้กำไรเท่าไร แต่คู่สัญญาทั้ง 3 แห่งเลือกการซื้อน้ำระยะยาว เพราะต้องการนำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นที่มีผลตอบแทนดีกว่า “เราหาแหล่งน้ำดิบ ผลิต และส่งขายให้ผู้ใช้น้ำ เพียงแต่อายุโปรเจ็กต์ต้องหลายปีจึงจะได้ราคาที่เหมาะสม ภาครัฐไม่ค่อยให้สัมปทาน 10-20 ปี มันเลยไม่วิ่ง จึงค่อยๆ แก้ปัญหา การประปาภูมิภาคก็ไม่อยากออกสัมปทานเพราะติดปัญหาเรื่องกฎหมาย (ธุรกิจ) จึงไม่บูมพรวดพราด หากแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ธุรกิจจะไปได้เร็ว” และว่า ตอนนี้คนไม่กลัวเรื่องวิธีการผลิตน้ำ แต่มีปัญหาด้านวัตถุดิบ เช่น ภัยแล้ง ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ การผลิตจากน้ำกร่อยอาจช่วยได้บ้าง หากใช้น้ำทะเลต้นทุนก็แพงอีกระดับหนึ่ง “น้ำเสียเป็นน้ำที่ผ่านการ retreat มาแล้วสามารถระบายลงแม่น้ำลำคลองได้ เอามากรองเป็นน้ำดิบ ถ้าปล่อยลงคลองและสูบมาใหม่ก็เหมือนน้ำประปา แล้วแต่ว่าจะบำบัดระดับไหน ถ้าขั้นต้นกรองเป็นน้ำใช้ต้นทุนระดับหนึ่ง ถ้ากรองเป็นน้ำดื่มต้นทุนมากเป็นอีกระดับหนึ่ง...ถ้านำน้ำทะเลมาเป็นน้ำใช้ ต้นทุนแพงกว่า เพราะค่าก่อสร้างแพงต้องวางท่อลงทะเล ดูดน้ำเข้ามา กรอง และ feeding ลงทะเล การผลิตต้องใช้แรงดันสูงกว่า membrane แพงกว่า” “ผมมองว่าแนวโน้มระยะยาวของไทยหนีไม่พ้นการรีไซเคิลจากน้ำเสีย หลายประเทศใช้เป็นเรื่องปกติ หรือนำน้ำทะเลมาผลิตด้วยเทคโนโลยี RO ซึ่งถูกลงเรื่อยๆ การผลิตจากน้ำเสียจะถูกกว่า RO แต่แพงในด้านจิตวิทยา เพราะคนไม่กล้าใช้...ตอนนี้มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งใช้น้ำประปารีไซเคิลแล้ว ผลิตเสร็จก็ feed เข้าท่อน้ำประปาหลักให้โรงงานใช้ ค่านิยมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเมื่อเจอวิกฤตเรื่อยๆ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า ในอนาคตจะนำ บริษัท วิค วอเตอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai แต่ทั้งนี้ต้องมีโครงการผลิตน้ำประปาอีก 3-4 แห่ง เพื่อให้บริษัทมีผลประกอบการที่มั่นคง อ่านเพิ่มเติม:- สุขภาพกับความร่ำรวยของเศรษฐีพันล้านแห่งวงการไบโอเทค BOB DUGGAN
- ชูเกียรติ รุจนพรพจี สร้าง ECOSYSTEM ให้ SABUY
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine