ชูเกียรติ รุจนพรพจี สร้าง Ecosystem ให้ SABUY - Forbes Thailand

ชูเกียรติ รุจนพรพจี สร้าง Ecosystem ให้ SABUY

หลังจากทำงานในแวดวงธนาคารมา 20 ปี และประสบความสำเร็จในสายวิชาชีพ ชูเกียรติ รุจนพรพจี จึงโบกมือลามาเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ 5 ปี พร้อมๆ กับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ

ความท้าทายใหม่เริ่มต้นอีกครั้งเมื่อเพื่อนสนิทชักชวนให้มาดูธุรกิจตู้เติมเงิน ซึ่งต่อมาเขาได้เข้ามาเป็นผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด เมื่อปี 2559 ปัจจุบันคือ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY โดยเพิ่งนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai เดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 โดย ดร. อธิษฐ์ วีระรังสรรค์, ดร. วชิรธร คงสุข, ธัชกฤต กฤคส์มาลา และ ศรัยพัทธ์ สังข์แสงใส ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท มีธุรกิจ 4 ประเภท ประกอบด้วย
  1. ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน และให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติในระบบแฟรนไชส์ (franchise) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส”
  2. การจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้า “เวนดิ้งพลัส”
  3. ห้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร รวมถึงการให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมศูนย์อาหาร
  4. ให้บริการชำระเงิน (payment service provider/ facilitator)
ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าถึงสาเหตุที่มาทำงานธุรกิจนี้ว่า ปี 2558 เพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกให้มาดูธุรกิจตู้เติมเงินหรือเติมสบายว่าพอทำอะไรได้บ้าง และได้พบผู้ก่อตั้งคือ ดร.อธิษฐ์ วีระรังสรรค์ และ ดร.วชิรธร คงสุข ซึ่งเรียนปริญญาเอกในสถาบันเดียวกัน “ผมเห็น Alibaba, WeChat มาลงทุนในไทยแต่ไม่สำเร็จ ผมเห็นตู้เติมเงินนั้นปุ๊บคิดว่าอันนั้นคือจุดที่จะเข้า wallet ได้ ผมต้องการสร้างสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่าจะทำได้คือ payment อย่าง Alipay ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ยาก" แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายชูเกียรติจึงเริ่มจากการทำตู้เติมเงิน และขยับมาเป็นตู้ขายสินค้า เน้นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตู้เติมเงิน ผ่านช่องทางออฟไลน์เพื่อสร้าง ecosystem ของตนเองก่อน โดยชูเกียรติ ยกตัวอย่างความสะดวกของการใช้อี-วอลเล็ต เช่น อาลีเพย์ว่าไม่ต้องพกเงินสดแต่สามารถใช้โทรศัพท์สแกนกับสินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น ชำระค่าโดยสารรถเมล์ หรือเช่าจักรยานด้วยการสแกนบาร์โค้ด ผ่านมา 4 ปี เขาประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ โดยต้นปี 2563 ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำธุรกิจให้บริการชำระเงิน 4 ประเภท ประกอบด้วยใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money License) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Payment Agent License) ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร (Payment Facilitator License) และใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Fund Transfer License) ผ่าน บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด ตู้เติมเงินกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ธุรกิจแรกของ SABUY คือ ตู้เติมเงินอัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” ปัจจุบันมี 53,000 ตู้ ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเติมเงินล่วงหน้า รับชำระบิล บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร ชำระบิลสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ และซื้อสินค้าอื่นๆ ธุรกิจนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนต่างจังหวัดผู้ไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือไม่สะดวกเดินทางไปธนาคารซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 30 และคนต่างด้าว 12 ล้านคน ตัวตู้ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดร้อยละ 80 และอีก 20 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รูปแบบมีทั้งการขายและให้เช่า ซึ่ง 75-80% เป็นแบบขายให้ลูกค้า รายได้ของบริษัทช่วงแรกมาจากการขายตู้ราคา 42,693 บาท ปัจจุบันรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยผ่อนชำระค่าตู้และการให้บริการ ซึ่งชูเกียรติมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีก ปัจจุบันในตลาดมีตู้เติมเงิน 10 แบรนด์ ซึ่งเติมสบายพลัสมีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 2 ขณะที่เบอร์ 1 คือ บุญเติม เน้นขายแฟรนไชส์ส่วนเบอร์ 3 เน้นขายตู้แบบขายขาด ธุรกิจที่ 2 คือตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ “เวนดิ้งพลัส” และ “6.11” เติบโตอย่างรวดเร็วโดยเปิดตัวเข้าสู่ตลาดปี 2560 ธุรกิจนี้บริษัทลงทุนเอง โดยติดตั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 จังหวัด ปัจจุบันมี 5,800 ตู้ รองรับระบบอี-เพย์เมนต์ได้เกือบ 4,000 ตู้ และมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจประเภทเดียวกันรองจาก SUN 108 และว่าปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วด้านหนึ่งเป็นเพราะมีคอลเซ็นเตอร์ตอบคำถามลูกค้า รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้เงินสดหรือจ่ายด้วยระบบอี-เพย์เมนต์ ในช่วงแรกบริษัทโฟกัสกลุ่มพนักงานโรงงาน คนต่างจังหวัด แต่ปัจจุบันได้ขยายมายังคนเมืองด้วย โดยเป้าหมายมี 4 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กซึ่งคาดว่าจะเริ่มปี 2564 เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น นมรสต่างๆ กลุ่ม 2 สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ซอฟต์ดริงก์ กลุ่ม3 พนักงานออฟฟิศที่ต้องการคุณสมบัติเฉพาะ เช่น เครื่องดื่มไม่ใส่น้ำตาล หรือให้สรรพคุณ เช่น ตัวขาว หน้าใส บล็อกแป้งและกลุ่ม 4 ซึ่งคาดว่าออกในปี 2564 เฉพาะกลุ่มที่ได้รับเชิญเท่านั้น โดยจับมือกับบริษัทเอกชนที่ต้องการให้สิทธิพิเศษแก่สมาชิก นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ตู้เวนดิ้งพลัสยังจำหน่ายสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย อาทิ หน้ากากผ้า เสื้อยืด สายชาร์จโทรศัพท์ ชุดชั้นใน ผลิตภัณฑ์ของฝาก เป็นต้น จุดเด่นของธุรกิจคือ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าตลาด เนื่องจากไม่มีค่าเช่าร้านและค่าจ้างพนักงาน แต่นำตู้ไปวางในย่านชุมชนในทำเลที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายที่สุด ขุมทองใหม่ ธุรกิจระบบศูนย์อาหาร ธุรกิจที่ 3 คือ ระบบศูนย์อาหารดำเนินการผ่าน บจ. สบาย ซิสเต็มส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ แบ่งเป็น 2 บริการคือ ติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร และให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา กลุ่มลูกค้าคือ ศูนย์อาหารในแหล่งช็อปปิ้ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า หอพัก สถานที่ราชการ ในบริษัทเอกชน สถานศึกษา สวนน้ำ และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ มีคู่ค้ารายใหญ่คือเทสโก้ โลตัส ชูเกียรติเล่าว่า ซื้อบริษัทจากนักธุรกิจรายหนึ่งซึ่งป่วยและไม่มีคนสานต่อกิจการก่อนหน้าที่เขาจะซื้อมีหลายรายสนใจแต่กลัวสัญญาที่ติดมาคือ เป็นคู่ค้ากับเทสโก้ โลตัส แต่ผู้บริหาร SABUY กลับตอบตกลงด้วยเงื่อนไขนี้ “คนไม่ซื้อเพราะหากบริหารจัดการไม่ดีจะถูกปรับ เพราะบริษัทดูแลระบบศูนย์อาหารของ Tesco Lotus ทั่วประเทศ ผมซื้อมาเพราะเห็นว่าอีกหน่อยกิจการตัวนี้เป็นช่องทางที่สบายมันนี่จะใช้ พนักงานยังงงว่าคุณชูซื้อมาได้อย่างไร...ผมได้บุคลากรการซ่อมบำรุงศูนย์อาหารทั่วประเทศ ได้ฐานลูกค้า หลังซื้อกิจการให้ทีม development พัฒนาระบบใหม่ขึ้นมา เป็นระบบ payment ศูนย์อาหารซึ่งดีที่สุดในเอเชียสามารถรองรับการจ่ายทุกตระกูล” เป้าหมายของผู้บริหาร SABUY คือ อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติเวนดิ้งในทุกตรอกซอกซอยของประเทศไทยเหมือนในญี่ปุ่น และระบบศูนย์อาหารที่มีอี-เพย์เมนต์ครึ่งหนึ่งของจำนวนเครื่องที่ใช้เป็นระบบของบริษัท โดยปัจจุบันทั้งตลาดมีประมาณ 70,000-80,000 เครื่อง รวมทั้งเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจให้บริการชำระเงิน ในฐานะผู้พัฒนาระบบซึ่งเป็นคนไทยชูเกียรติย้ำว่าอยากให้คนไทยเชื่อ โมเดลฝีมือคนไทย เพราะอี-เพย์เมนต์ทุกระบบที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นของต่างชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทรู, ไลน์, ดอลฟิน, แกร็บ, โกเปย์, โกเจ็ก หรือแอร์เพย์ และว่าจากประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ ชาวต่างชาติไม่ได้เก่งกว่าคนไทย แต่คนไทยไม่เชื่อกันเอง “ผมคิดตัวนี้อยากให้คนไทยได้ใช้และสนับสนุน คือ ecosystem ของ SABUY ใช้ชื่อ “สบาย” เป็นชื่อที่คนรู้สึกเข้าถึงง่าย เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นของแสลงสำหรับคนต่างจังหวัดหรือสูงอายุ ทุกสิ่งที่คิดทำขึ้นมาอยากให้ใช้งานแบบง่ายๆ สบายๆ” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine