สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ขับเคลื่อนความฝันเภสัชกรไทย - Forbes Thailand

สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ขับเคลื่อนความฝันเภสัชกรไทย

เพราะต้องการผลิตยาที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ปี 2526 เภสัชกรกลุ่มหนึ่งจึงร่วมกันจัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตยาและจำหน่ายให้กับสมาชิก ทว่าความที่ไม่ใช่นักธุรกิจเมื่อกิจการขยายตัวถึงระดับหนึ่งก็ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ จำเป็นต้องมีมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ


    ปี 2546 เภสัชกร (ภก.) สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ได้รับการติดต่อให้ทำหน้าที่คัดสรรทีมผู้บริหาร ทว่าภายในเวลา 1 ปีเปลี่ยนทีมถึง 3 ชุด ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาและผลักดันให้บริษัทเติบโตทำกำไรได้

    “ยิ่งเปลี่ยนก็ยิ่งทรุด ผมคิดว่าจะปล่อยให้พังทลายไม่ได้เพราะบริษัทเป็นที่ยอมรับของวงการวิชาชีพ เลยคิดว่าต้องมาทำด้วยตนเอง...ผมเข้ามาช่วยปรับปรุงเรื่องการตลาด กำหนดทิศทางของบริษัท สร้างยุทธศาสตร์โดยเป็นผู้บริหารนับแต่ตอนนั้น ขณะเดียวกันมีกรรมการบริษัทช่วยคิด สนับสนุน ให้แนวทาง ทำให้บริษัทมีทิศทางชัดเจน” ภก. สุรชัย เรืองสุขศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชุมชนเภสัชกรรม จำกัด (มหาชน) (CHUMCHON) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เข้ามาเป็นผู้บริหารที่นี่


    สุรชัยเรียนจบคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ต่อมาลาออกและเปลี่ยนบทบาทเป็น “เภสัชกรชุมชน” ทำธุรกิจร้านขายยาส่วนตัว 6 ปี และวางมือลงเพื่อมากอบกู้กิจการแห่งนี้ ความจริงเขาก็ไม่ใช่คนนอก ตอนที่เรียนจบเป็นจังหวะเดียวกับที่มีการจัดตั้งบริษัทและเขาตั้งปณิธานว่าต้องร่วมลงหุ้นด้วยเพื่อตอบแทนวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา

    “ปี 2529 ผมซื้อ 100 หุ้น ซึ่งมันเล็กมาก พอเป็นลักษณะนั้นเขาควานหาจากทั้งหมดว่าใครมีความสามารถมาช่วยพยุงเรือลำนี้ไม่ให้พังทลายลงไป ผมก็ติดชื่อ เขาบอกว่าหุ้นเล็กใหญ่ไม่เป็นไรมาช่วยกัน ก็เป็นความตั้งใจว่าจะมาช่วยวิชาชีพ แต่พอเข้ามาแล้วจำเป็นต้องบริหารจัดการ ถ้ามีหุ้นน้อยบริษัทไม่สามารถเดินตามทิศทางของคนไม่มีส่วนได้เสีย ผมก็เลยขอซื้อหุ้นจากท่านเดิมๆ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ท่านขายให้...นั่นเป็นเหตุผลว่าจากผู้ถือ 100 หุ้นกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่”

    จากจุดเริ่มต้นที่เกิดจากการร่วมระดมทุนของเภสัชกร 300-400 ราย ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นถึง 700 ราย นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จึงเกิดร้านขายยากระจายไปทั่วประเทศ เพื่อต่อรองราคายาให้มีราคาถูกลง เภสัชกรที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันจึงร่วมแรงร่วมใจกันรวมกลุ่มโดยใช้ชื่อว่า “เภสัชกรชุมชน” ในสังกัดเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และเริ่มกิจกรรมยายี่ปั๊วเพื่อบริการแก่สมาชิกของกลุ่มในราคาถูก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ยาที่ต้องการยาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมจึงก่อตั้งบริษัทผลิตยาเองร่วมกัน

    “เภสัชกรเปิดร้านขายยาอยู่แล้ว อยากมียาผลิตในไทยไว้ใจได้ ไม่ต้องพึ่งพิงยาต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมมีคุณภาพและทำให้เจ้าของร้านมั่นใจว่าจ่ายยาแล้วรักษาได้ ในอดีตไม่มีเกณฑ์วัดคุณภาพยาเหมือนปัจจุบันจึงสร้างโรงงานขึ้นมา คน 300-400 คนรวมตัวกันคนละนิดละหน่อย หาซื้อที่ดินสร้างโรงงาน จนมีโรงงานและผลิตภัณฑ์จำหน่าย"


    “เดิมประเทศไทยพึ่งยาจากบริษัทข้ามชาติเท่านั้น ยาผลิตในประเทศไม่ได้มีเกณฑ์มาตรฐานบังคับเต็มที่ต้องหาคนที่วางใจได้ว่าจะทำให้ดีที่สุด เกิดสถานผลิตยาที่น่าเชื่อถือยาที่โดดเด่นคือยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากทุกคนเป็นเภสัชกรไม่มีความสามารถ ด้านการค้าเชิงบริหารจัดการ การแข่งขัน หรือวางยุทธศาสตร์ ตอนนั้นรู้แต่ว่าอยากทำของดีแล้วแบ่งๆ กันไป แต่มันไม่พอ ถ้าอยู่ในลักษณะนี้บริษัทไม่มีความแข็งแรง ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ ไม่มีคนรุ่นใหม่อยากเข้ามา”

    สุรชัยรับตำแหน่งเป็นผู้นำบริษัทในปี 2547 ขณะนั้นบริษัทมีรายได้ประมาณ 80-90 ล้านบาท รายได้หลักมาจากการรับจ้างผลิตให้กับองค์การเภสัชกรรมและรายย่อยอื่นๆ อีก 6-7 ราย คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทจำหน่ายให้กับร้านขายยาของกลุ่มผู้ถือหุ้นคิดเป็นสัดส่วน 40% ซึ่งเขาประเมินแล้วว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้มีความเสี่ยง หากคู่ค้าเลิกจ้างรายได้จะหายไปครึ่งหนึ่งทันที

    “ยอดขายพอมี แต่ไม่มียุทธศาสตร์ ทิศทาง (เดิม) บริษัทมีคนเกี่ยวข้อง 300-400 คน เท่ากับว่ามี shop เท่านั้น แต่วันนี้กระจายไป 4,000-5,000 shop ก็ 10 เท่าแล้ว”

    ปี 2566 บริษัทมีรายได้ 721 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52 ล้านบาท สำหรับปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 850 ล้านบาท และ1 พันล้านบาทในปี 2568



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ CHUMCHON



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นพ.กันตพงศ์ ทองรงค์ จากเพจท่องเที่ยวสู่คลินิกบนห้างหรู

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine