ธรรมรัตน์ การย์สิริเลิศ HBE ยักษ์เล็กพลังงานทางเลือก - Forbes Thailand

ธรรมรัตน์ การย์สิริเลิศ HBE ยักษ์เล็กพลังงานทางเลือก

ผู้บริหารหนุ่มที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม โดยช่วยพี่สาวทำธุรกิจ ด้านจัดหาและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม กระทั่งอายุ 25 ปีจึงแยกออกมาทำกิจการของตนเอง และให้บริการเชื้อเพลิงจากกะลาปาล์มเป็นรายได้เสริม ต่อมาได้จัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจจัดหาและ จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเน้นสินค้ากะลาปาล์มเป็นหลัก


    ธรรมรัตน์ การย์สิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮบริด เอ็นเนอร์จี จำกัด หรือ HBE ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่สำนักงานใหญ่ย่านพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

    “เริ่มทำงานอายุ 11 อายุ 12 ปีก็ขับรถพิกอัปส่งของ ทำทุกอย่าง เป็นเด็กส่งของเสมียน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีได้เรียนรู้ พออายุ 14 ปีก็สอบเทียบที่ กศน. เรียน ป.6, ม.3, ม.6 จบภายใน 2 ปี”

    แม้จะเริ่มต้นชีวิตทำงานเร็วกว่าคนอื่นๆ และสนุกกับบทบาทนี้ แต่เขายังให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยหลังสอบเทียบได้วุฒิมัธยมปลายแล้วจึงสมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความฝันว่าอายุ 19 ปีจะเรียนจบปริญญาตรี ทว่าความฝันสวนทางกับความจริงเพราะใช้เวลาถึง 10 ปี เนื่องจากต้องทำงานและเรียนไปด้วย แทบไม่เคยเข้าชั้นเรียน อาศัยการอ่านหนังสือเพื่อเข้าสอบ หลังจากนั้นเขายังเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตร MBA Executive)

    “จู่ๆ มีคนมาบอกเรา ทำไมไม่ไปสมัครจุฬาฯ เราบอกเรียนได้ยังไง ความรู้ไม่แน่น อ่านหนังสือสอบตลอด แต่ก็ไปสอบสัมภาษณ์ ผมเปิดบริษัทตั้งแต่อายุ 25 ปี เราก็สร้างการเติบโต ทั้งการขายเคมีเชื้อเพลิง ตอนยื่นโปร์ไฟล์ที่จุฬาฯ บอกว่าผ่านตำแหน่งไหนมาบ้าง สร้างยอดขายเท่าไร มหาวิทยาลัยเรียกสัมภาษณ์และได้รับโอกาสจากจุฬาฯ เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และได้เจอเพื่อน เจอพี่ดีๆ ได้รับโอกาสดีๆ ไม่ว่าความรู้ เพื่อนๆ ได้ความรู้ประสบการณ์จากเพื่อนในคลาส และอาจารย์ทำให้เรามาพัฒนาธุรกิจต่อทำให้เรามีความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางธุรกิจ”


เห็นโอกาสจากรายได้เสริม

    กลับมาที่เรื่องงาน หลังทำงานที่บริษัทของพี่สาวได้ 14 ปี มีความคิดอยากตั้งบริษัทของตนเอง ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากพี่สาวและแยกตัวออกมาในปี 2544 โดยก่อตั้ง บริษัท ไดนามิค เคมิคอล ซิสเต็ม จำกัด ประกอบธุรกิจขายผลิตเคมีภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรม ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฟอกย้อม

    “เราขายเบสิกเคมี เคมีทั่วไป และสเปเชียลเคมี เจริญเติบโตดี ความที่เป็นคนชอบพูดคุย ชอบบริการลูกค้าๆ อยากได้อะไร สนใจอะไรบอกเราๆ หาให้ พบว่าลูกค้าใช้เชื้อเพลิงจากกะลาปาล์ม เมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นของที่คนยังไม่รู้จัก ทิ้งๆ ขว้างๆ เราเจอว่าคนใช้แล้วลดต้นทุนให้โรงงานได้ เราสนใจก็เริ่มมาลองทำตลาด และจับตัวนี้เสนอกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าเคมีภัณฑ์เราอยู่แล้ว เอาสินค้าตัวนี้ไปเสนอ ทดลองใช้ และเรียนรู้ไปพร้อมกับเขาด้วย ได้เรียนรู้ว่าใช้ได้ดี ลดต้นทุนได้ เช่น ลูกค้าจ่ายค่าเชื้อเพลิง 1 ล้านบาทลดไปครึ่งหนึ่ง เราตื่นเต้นว่าลดได้จริง ก็เลยคิดว่าตัวนี้น่าจะพัฒนาทำธุรกิจจริงจังได้”

    ทั้งนี้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2015) คาดการณ์ว่า ปี 2580 การผลิตพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ 23,000 พันตันเทียบน้ำมันดิบ และกะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์ม เมื่อสกัดเอาน้ำมันปาล์มออกแล้วจะเหลือกะลาปาล์ม ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่ให้ค่าความร้อนสูง และโรงงานอุตสาหกรรมนิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาซึ่งมีราคาสูงกว่า

    “เราขายเคมี โตมาจากเด็กส่งของและชอบพูดคุย ลูกค้ามีอะไรก็บริการ เขาก็เมตตาเอ็นดู กะลาปาล์มเป็นสิ่งที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว (เราไปหามา) ราคาของไม่ได้แพงกว่าเดิม ลูกค้าก็ให้การสนับสนุน พอเราหาของมาซัพพลายได้ เขาก็ซื้อเพิ่มเรื่อยๆ จากออร์เดอร์ 500,000 บาทวันแรก อาทิตย์ต่อมาเป็นล้านเลย”

    จากเดิมที่คิดว่าจะทำเป็นรายได้เสริม ซึ่งผู้บริหารหนุ่มใช้คำว่าเป็น “ค่าขนม” เมื่อธุรกิจด้านนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเขาจึงเปิด บริษัท ไฮบริด เอ็นเนอร์จี มารองรับ

    “พอเราเริ่มมาจับก็เติบโตมากเลย ปีหนึ่งยอดเติบโตเกิน 100% เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ สินค้าใหม่ ในตอนนั้นเราเป็นเจ้าแรกๆ เราจับและ run ให้ธุรกิจเต็มรูปแบบ มีบริการซัพพอร์ตลูกค้าทำให้ได้รับการตอบรับและเติบโต ตอนนั้นซื้อมาและส่งให้ลูกค้าผ่านมือไป พอทำๆ ไปยอดขายเติบโต ความต้องการตลาดมากขึ้นจากวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ยอดขายเติบโตก้าวกระโดดเลยต้องทำสต็อก สร้าง warehouse ที่สมุทรสาครเพื่อเก็บสต็อก"


    เนื่องจากขณะนั้นกะลาปาล์มยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หากจะเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงนี้โรงงานต้องลงทุนซื้อบอยล์เลอร์ราคาตัวละ 10-20 ล้านบาท เขาใช้วิธีเชิญว่าที่ลูกค้าเหล่านั้นไปเยี่ยมชมของจริงที่โรงงานที่จำหน่ายวัตถุดิบให้ เมื่อได้คุยกับเจ้าของตัวจริงก็เกิดความเชื่อมั่น ตัดสินใจเปลี่ยนเชื้อเพลิง “เราทำอย่างนี้กับลูกค้าใหม่ๆ สามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง”

    “เคยมีคนพูดว่าธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องของพลังงานเป็นธุรกิจของยักษ์ใหญ่ ผู้มีอิทธิพล เราก็ไม่เคยนึกฝันว่าจะได้มีโอกาสมาทำ มองว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ไกลตัว แต่ความที่เราทำอะไรเราเอาใจใส่ สนใจ มีปัญหาก็แก้ พยายาม develop ไปเรื่อยๆ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ธุรกิจพลังงานเติบโตมาเรื่อยๆ เนื่องจากเจ้าเก่าไม่ค่อยบริการจึงเป็นโอกาส แรกๆ ที่ไปเจอคนขายๆ แนะนำว่าใช้ตัวนี้อยู่และเป็นแหล่ง (ขาย) ให้เราไปติดต่อลูกค้าที่เราคุ้นเคย"

    ปี 2551 ประเทศไทยเกิดวิกฤตน้ำมันแพง น้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกราคาบาร์เรลละ 140-150 เหรียญสหรัฐฯ โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งจึงลงทุนซื้อเครื่องบอยเลอร์เพื่อใช้เชื้อเพลิงจากกะลาปาล์มแทนน้ำมันเตา ส่งผลให้ช่วงแรกธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

    ธรรมรัตน์บอกว่า ตอนเริ่มธุรกิจนี้กะลาปาล์มยังเป็นวัสดุเหลือทิ้ง เขาเป็นรายแรกๆ ที่ทำตลาด โดยช่วงแรกรับซื้อกะลาปาล์มที่ผลิตในประเทศ 90% กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงมองหาแหล่งจากต่างประเทศ และจัดตั้งบริษัทในประเทศอินโดนีเซียในปี 2552 เพื่อรับซื้อกะลาปาล์ม (ปัจจุบันบริษัทปิดตัวลงแล้ว) และนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทย

    นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ผู้บริหารหนุ่มได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้ จากธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่มากนัก การแข่งขันไม่ดุเดือด ทว่า 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มรุนแรงขึ้นเนื่องจากธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อนจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งได้ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 21 (COP21) จัดขึ้นปลายปี 2558 ที่กรุง Paris ประเทศฝรั่งเศส

    แม้จะมีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่เขามองว่าอีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสและได้เตรียมรับมือไว้แล้ว โดยศึกษาและจัดหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า เช่น 4 ปีก่อนเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ และจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ ทำให้ได้ตลาดลูกค้าใหม่เพิ่ม

    ทั้งนี้ในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 10-20% ในสินค้าทุกประเภท รายได้รวม 1.3 พันล้านบาท และเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ด้วยความตั้งใจว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า



ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ HBE, ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุติศาสตร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘Tim Latimer’ ดาวแห่งโลกขุดเจาะ นักพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2568 ในรูปแบบ e-magazine