Karun สูตรความสำเร็จ ‘ชาไทยพรีเมียม’ รายได้หลัก 100 ล้าน พร้อมปักธงโกอินเตอร์ - Forbes Thailand

Karun สูตรความสำเร็จ ‘ชาไทยพรีเมียม’ รายได้หลัก 100 ล้าน พร้อมปักธงโกอินเตอร์

Karun แบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียมที่วางเป้าหมายธุรกิจไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น สามารถสร้างยอดขายแตะหลักสิบล้านได้นับตั้งแต่ปีแรก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ธุรกิจได้ขยายการเติบโตจากการขายผ่านออนไลน์กลายเป็นเปิดร้านถึง 15 สาขา พร้อมตั้งเป้ารายได้รวมปี 2567 ไว้ที่ 200 ล้านบาท และยังมีแผนปักธงไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศในปีหน้าที่เกาะฮ่องกง


    หลายคนที่ชื่นชอบเครื่องดื่มหวานละมุนลิ้นอย่างชาไทยก็น่าจะพอรู้จักหรืออาจจะเคยเห็น 'Karun' แบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียมผ่านตากันมาบ้าง หลังจากธุรกิจนี้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดตลอดระยะราวๆ เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา รัส-ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ ซีอีโอผู้ก่อตั้งแบรนด์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้เป็นผลมาจากการที่คุณแม่ของเธอมักจะชงชาไทยคุณภาพคัดเกรดอย่างดีซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่ชงดื่มเองและยังถือเป็น welcome drink เครื่องดื่มที่ชงไว้คอยต้อนรับเหล่าบรรดาแขกผู้มาเยี่ยมเยือนที่บ้านอยู่เสมอตลอด 30 ปีที่ผ่านมา 

    เมื่อหลายคนได้ลองชิม 'ชาไทย' ฝีมือคุณแม่ต่างก็ติดใจในรสชาติจนต้องเอ่ยปากชม ประกอบกับตอนที่ทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งหนึ่งได้มาติดต่อธุระที่บ้านก็ติดใจในรสชาติฝีมือคุณแม่เช่นกันจึงได้ขอสั่งซื้อเครื่องดื่มชาไทยเป็นจำนวน 300 ชุด เพื่อนำไปจัดเลี้ยงสัมมนาต่างๆ เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นคุณแม่ของธัญย์ณภัคช์จึงแนะลูกสาวของตนเองว่า สูตรชาไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นนี้ น่าจะนำมาสร้างเป็นธุรกิจให้เติบโตได้ในอนาคต นี่จึงถือเป็นตัวจุดประกายไอเดียของการทำธุรกิจในเบื้องต้น ซึ่งระหว่างนั้นเอง ธัญย์ณภัคช์ที่มีอายุเพียง 24 ปี กำลังทำงานอยู่ฝ่ายวิเคราะห์กองทุนของธนาคารธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งโดยเธอมีแผนล่วงหน้าที่วางไว้ในใจแล้วว่า หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในธุรกิจด้านการเงินและการลงทุนกับธนาคารแห่งนี้ได้สัก 2-3 ปี ก็จะตัดสินใจออกมาเก็บเกี่ยวหาประสบการณ์สร้างธุรกิจเป็นของตนเองด้วยเช่นกัน

    "เป็นคนชอบคิดเลข ชอบขายของหาเงินเองมาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ หลังจากจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็เลือกเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภาคอินเตอร์ พอเรียนจบออกมาก็ทำงานตรงสายในตำแหน่ง Client Advisor ของ ธนาคาร Standard Chartered ที่อเมริกาได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งหลังจากที่เกิดไอเดียคิดอยากทำธุรกิจก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำหันมาศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่มชาไทย พร้อมลงพื้นที่ทำ research ด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคชาไทยระดับพรีเมียม ควบคู่กับการทำธุรกิจ startup ด้านเทคโนโลยีการศึกษาร่วมกับเพื่อนๆ ไปพร้อมกัน" ซีอีโอเจ้าของแบรนด์ Karun กล่าว


Karun ชาไทยแบรนด์นี้มี Story telling

    เดือนกันยายน ปี 2019 คือ ช่วงที่แบรนด์ชาไทย Karun เริ่มรุกตลาดขายผ่านออนไลน์โดยจะผลิตและจำหน่ายรอบละ 500 ขวด เป็นจำนวน 3 รอบต่อเดือน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ ธัญย์ณภัคช์เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจนี้เธอต้องพิสูจน์ตัวเองให้พ่อกับแม่ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจค้าเหล็กได้เห็นว่าทุกอย่างที่เธอศึกษา เรียนรู้ ควบคู่ไปกับการค่อยๆ สร้างแบรนด์ขึ้นมาจะนำพาให้ธุรกิจไปรอดได้จริงๆ หลังจากที่ท่านทั้งคู่มีความคิดเห็นแตกต่างจากสิ่งที่เธอแพลนไว้อย่างสิ้นเชิง

    "ช่วงแรกพ่อกับแม่ก็งงค่ะว่าเราจะขายเครื่องดื่มขวดละ 100 บาท โดยมีชาไทยเป็นสินค้าหลักเพียงอย่างเดียวได้อย่างไร มันควรจะมีสินค้าเครื่องดื่มหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกดีกว่าไหม และท่านก็ยังมีความเห็นอยากจะให้เราผลิตชาไทยใส่กระป๋องส่งขายออกนอกและยังเตรียมการซื้อที่ดินสำหรับทำโรงงานเผื่อไว้ด้วย แต่ด้วยข้อมูลที่เราได้ศึกษาค้นคว้าและ research ในเชิงลึกเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี ทั้งในเรื่องชนิดและคุณภาพของชาในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องไปถึงกระบวนการผลิตเพื่อรักษารสชาติของชาให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคและโอกาสทางธุรกิจของตลาดชาระดับพรีเมียม จึงทำให้เรามองเห็นปัญหาว่าหากจะขายชาในรูปแบบกระป๋อง รสชาติดั้งเดิมที่เป็นสูตรของคุณแม่ก็จะหายไป อีกทั้งการลงทุนขายสินค้าระดับแมสยังต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ต้องขายในราคาต่ำให้ได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงตัดสินใจใช้เงินลงทุนสำหรับการสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเป้าหมายในเบื้องต้นไปราวๆ 50,000 บาท และอีก 50,000 บาท สำหรับการผลิตชาไทยให้มีรสชาติตามมาตรฐานที่วางไว้"

    ด้วยรูปลักษณ์ของแบรนด์ Karun ที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม และยังมี Story telling โดยชื่อแบรนด์ 'การัน" มาจากชื่อบ้านของครอบครัวอันเป็นมรดกตกทอดจากคุณปู่ ประกอบกับการชงชาสูตรพิเศษที่คัดสรรคุณภาพระดับพรีเมียมซึ่งเป็นสูตรของคุณแม่ที่นิยมชงเสิร์ฟให้แก่แขกผู้มาเยือนที่บ้านอยู่เสมอ อีกทั้งการเลือกใช้ขวดแก้วทรงแบนในการบรรจุเครื่องดื่มขายเพื่อรักษาคุณภาพหลังจากผลิตชาเสร็จใหม่ๆ ก็ยังสร้างเอกลักษณ์โดดเด่นให้เป็นที่จดจำในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิดที่กลายมาเป็นผลดีต่อธุรกิจที่ผู้บริโภคต่างสั่งซื้อชาไทยพรีเมียมผ่านออนไลน์เพราะไม่สามรถออกไปช้อปปิ้งซื้อของนอกบ้านได้จึงทำให้ยอดขายของ Karun พุ่งสูงขึ้นหลังจากเปิดตัวไปได้ไม่กี่เดือน จากเดิมที่ขายได้รอบละ 500 ขวด ก็ขยับกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นกลายมาเป็นขายได้สูงถึงวันละ 1,000 ขวด เมื่อธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แบรนด์นี้จึงเริ่มเปิดร้านขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น


ธุรกิจโตก้าวกระโดด ผลจากการสร้าง Branding ชัดเจน

    ต้นปี 2020 ที่รัฐบาลเริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ ‘Karun’ ชาไทยได้ลองขยับออกจากพื้นที่ออนไลน์ไปเปิดบูธขายที่ห้างเอ็มควอเทียร์เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน หลังจากนั้นร้านชาไทยระดับพรีเมียมจึงเปิดขึ้นเป็นสาขาแรก ณ ห้างหรูใจกลางสุขุมวิท การตัดสินใจออกร้านเปิดตัวแบรนด์ที่ห้างแห่งนี้ ธัญย์ณภัคช์บอกว่าทุกอย่างล้วนผ่านการศึกษาคิดวิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วน     


    หลังเปิดตัวสาขาแรก 4 เดือนถัดมา Karun สาขา 2 ก็ผุดขึ้นที่ห้างหรูกลางแยกราชประสงค์อย่าง เกษรวิลเลจ ต่อเนื่องด้วยสาขาไอคอนสยาม เจ้าของธุรกิจชาไทยพรีเมียมแบรนด์นี้ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องตีโจทย์ธุรกิจให้แตก คือ 

1. จะทำให้สินค้า ‘ชาไทย’ ธรรมดาๆ ที่หลายคนมองว่าหาซื้อได้ตามร้านค้าหรือรถเข็นทั่วไปและยังมีหลายระดับราคาให้เลือก กลายเป็นสินค้าพรีเมียมที่ลูกค้ายอมจ่ายแพงกว่าในราคาแก้วละ 100 บาท ได้อย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องสร้าง Branding ให้แข็งแกร่ง ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพระดับพรีเมี่ยม เหมาะสมกับราคา และมีคุณค่าของแบรนด์ที่สร้างไว้จริงๆ

2. แบรนด์ของเราจะต้องเข้าใจง่าย เพราะสินค้าของเราเป็นชาไทยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความเป็นไทยอย่าง รูปช้าง รูปนางรำ เหมือนที่เราเคยเห็นตามผลิตภัณฑ์สินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก “เราตั้งใจมากที่จะทำแบรนด์ขึ้นมาเจาะกลุ่มตลาดของลูกค้าในเมืองไทยก่อน ถ้าคนไทยชื่นชอบและนิยมรับประทานแบรนด์ของเราก็น่าจะทำให้เกิดการบอกต่อแบรนด์ไทยไปยังเพื่อนต่างชาติหรือกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญของจุดนี้ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยกลุ่มเป้าหมายกล้าซื้อสินค้าของเราและกล้าที่จะถือตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยแบบไม่เขินอาย ซึ่งทุกอย่างถือเป็น Image ภาพลักษณ์ของแบรนด์และของกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมที่เป็น niche market ของเราด้วย” ธัญย์ณภัค กล่าว

3. Brand CI ชาไทย Karun เลือกใช้ concept สีแดงเป็นหลักผสมกับสีทอง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหรูหรา โดดเด่น ชัดเจน และยังทำให้ Packaging หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของสินค้าสามารถเข้าได้กับทุกเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ ตรุษจีน หรือคริสต์มาส รวมทั้งยังเป็นของขวัญของฝากได้อย่างสวยงามตามสไตล์ของสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียม


อุปสรรค ผิดพลาด สร้างภูมิธุรกิจแข็งแกร่ง

    ทุกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเติบโตอย่างว่องไวใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แบรนด์ชาไทย Karun เองก็ต้องเจอกับอุปสรรคในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน โดย CEO ของแบรนด์บอกว่า ช่วงแรกที่ขายผ่านออนไลน์มีพนักงานเพียง 3 คนเท่านั้น ทุกคนต่างช่วยกันทำหลากหลายหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน นับตั้งแต่การต้มชา กรอกชา ต่อเนื่องไปถึงกระบวนการต่างๆ รวมทั้งการเป็นแอดมินตอบไลน์แชทลูกค้า แต่พอขยายธุรกิจมาเปิดหน้าร้านพนักงานในส่วนต่างๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็มีทักษาการสื่อสารที่แตกต่างกันจึงเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นให้เธอต้องแก้ไข ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็น 1 ในโจทย์ที่ท้าทายของการทำธุรกิจนับตั้งแต่เริ่มต้นวันแรกมาถึงปัจจุบัน

    หลังเปิดตัวสาขา 2 ที่ห้างเกษรวิลเลจ 1 ปีต่อมา Karun ก็ขยายสาขาเพิ่มที่ห้างไอคอนสยามโดยหวังจะขยับมาเจาะตลาดกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติควบคู่ไปกับลูกค้าไทย แม้ว่าขณะนั้นสถานการณ์โควิดในประเทศจะเริ่มคลี่คลายลงแต่รัฐบาลเองก็ยังไม่ได้มีมาตรการผ่อนปรนแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าไทยได้อย่างสะดวกแบบ 100% นี่จึงเป็นผลให้ยอดขายของสาขานี้ไม่เป็นไปตามเป้า ประกอบกับต้องแบกภาระเสียค่าเช่าอยู่ราวๆ 2 ปี จึงตัดสินใจเปิดตัวสาขานี้ลง

    “ตอนเปิดสาขา 2 ที่ห้างเกษรเป็นร้านเล็กๆ ที่ใช้ทุนในการตกแต่งร้านไม่มาก ช่วงนั้นเราได้กำไรเยอะมากจากการขายผ่านออนไลน์ หลังจากนั้นหนึ่งปีเราจึงได้ขยายสาขาเพิ่มไปที่ห้างไอคอนสยาม ซึ่งสถานที่ตั้งของสาขานี้ก็อยู่ในมุมอับเป็นทางตันไม่ได้อยู่ในทราฟฟิกโซน area ที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเดินผ่าน ถือการตัดสินใจที่ผิดพลาดมากๆ และทำให้เราได้บทเรียนในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าตอนนั้นเราจะมีทีมที่เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดและรูปแบบต่างๆ ของธุรกิจแล้วก็ตาม ซึ่งช่วงที่ทีมเราไปเซอร์เวย์ดูสถานที่อยู่ 4 วันนั้น เป็นช่วงที่ห้างมีการจัดงานแฟนมิตติ้งหรืออีเวนต์ต่างๆ ที่เราคิดว่าจะมีคนเยอะและดีต่อโลเคชันที่ตั้งร้าน แต่สรุปคือผลออกมาตรงกันข้ามนี่จึงเป็นบทเรียนที่เราจะไม่พลาดซ้ำอีก” เจ้าของแบรนด์ Karun กล่าว


    เซ็นทรัล ลาดพร้าว คือโลเคชันถัดมาที่แบรนด์ชาไทยพรีเมียมเลือกเดินหมากขยายสาขา โดยทำเลแห่งนี้ช่วยสร้างยอดขายให้ธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะฐานลูกค้าของห้างมีอยู่หลากหลายกลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยรุ่น วัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์โดดเด่น ทำงานออฟฟิศใจกลางเมือง พักอาศัยอยู่ย่านลาดพร้าวและมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น การเลือกทำเลสถานที่จะต้องไม่เป็นจุดบอดเหมือนที่เคยตัดสินใจผิดพลาดอย่างในอดีต

    “กลยุทธ์การเลือกทำเลที่ตั้งร้านของเรา จะเน้นใกล้กับร้านสินค้าแบรนด์เนมที่กลุ่มลูกค้ามีกำลังซื้อสูงสามารถเดินผ่านมองเห็นได้ง่ายและตัดสินใจซื้อได้ทันที อย่างสาขาเอ็มควอเทียร์ก็จะอยู่ชั้นเดียวกับเสื้อผ้าแบรนด์เนม, สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าวจะอยู่ใกล้กับร้านเครื่องสำอาง Dior, สาขาแฟชั่นไอร์แลนด์ อยู่ใกล้กับร้าน Victoria’s Secret และสาขาเมกะ บางนา อยู่ใกล้กับโซนห้าง IKEA ซึ่งถือเป็นแหล่งช้อปปิ้งเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงเป็นต้น”

    ทั้งนี้ นับจากอดีตถึงปี 2024 ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 Karun ขยายธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 15 สาขา โดยทำเลย่านใจกลางเมืองอย่างห้างพารากอนและเซ็นทรัลเวิร์ลคือการวางหมากตัวถัดๆ มาที่ทางแบรนด์ทำการขยายสาขา ซึ่ง ณ ปัจจุบันเอง ทั้งสองสาขานี้ สามารถทำยอดขายได้สูงสุดอันเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รองลงมาก็ยังเป็นเซ็นทรัลลาดพร้าวที่สามารถสร้างยอดขายได้สูงอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ


ขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่ ‘บริหารคน’

    ธัญย์ณภัค บอกว่าทำธุรกิจต่อเนื่องมาถึงปีที่ 5 ปีนี้ถือว่าพีคมากที่สุด เพราะได้เรียนรู้การเติบโตของการทำงานบริหารที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันเธอมีการแตก line ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก 2 แบรนด์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้บริหารงานบุคลากรให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมดุล นอกจากนี้ เธอยังเข้าใจโลกของธุรกิจมากขึ้นด้วยว่า ธุรกิจมีขึ้นก็ต้องมีลง เพราะฉะนั้นเมื่อธุรกิจก้าวไปสู่จุดสูงๆ ได้แล้ว ควรจะมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ได้เพื่อไม่ให้ถดถอยลงไปมากกว่าเดิม ดังนั้นการวางแผนธุรกิจไว้อย่างรอบคอบชัดแจนพร้อมมีแผนสำรองคอยรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เธอและเหล่าพนักงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านต่างใส่ใจเช่นกัน

    “คนทำธุรกิจที่เป็นเจ้าของส่วนใหญ่มักจะกลัวว่าลูกน้องหรือพนักงานทำงานได้ไม่ดีเท่ากับตัวเอง ซึ่งจริงๆแล้วการดูแลและพัฒนาให้พนักงานเก่งกว่าเรานั้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เรื่องของ product หรือคุณภาพสินค้าก็เป็นเรื่องสำคัญแต่ถือเป็นเรื่องที่เรามีรูปแบบมาตรฐานการผลิตที่ชัดเจน สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามระบบที่วางไว้ได้ แต่เรื่องของคน หรือบุคลากรภายในองค์กรนั้นเป็นเรื่องของศิลปะที่จะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการดูแลคนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยปัจจุบัน เรามีพนักงานทั้งหมดประมาณ 150 คนหน้าร้าน 90 คนทีมผลิต 50 และออฟฟิศ 10 คน"



    อย่างไรก็ตาม แผนงานธุรกิจในปีนี้ นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์คนเก่งยังตั้งเป้ารายได้ปี 2024 ไว้ที่ 200 ล้านบาท และสำหรับแผนในอนาคตปี 2025 นั้น เธอยังมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 3-4 แห่ง และจะยังไม่ตั้งเป้าขยายสาขาเยอะอันเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวลงในปีหน้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายโรงงานการผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเตรียมการขยายธุรกิจออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงเป็นที่แรก 

    “ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศที่สนใจติดต่อมาและอยากจะซื้อแฟรนไชส์ของเรา แต่พอได้คุยกับแบรนด์ที่เป็นเจ้าของห้างใหญ่ในเกาะฮ่องกงที่เค้าจะเชิญเราไปร่วมทุนและเปิดสาขาที่นั่น ก็น่าจะทำให้เห็นเป้าหมายการเติบโตได้ชัดเจนกว่า เพราะการได้เป็นพันธมิตรร่วมทุนกับบริษัทใหญ่ที่รู้ข้อมูล inside ของผู้บริโภคในพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย” ธัญย์ณภัค กล่าวทิ้งท้าย 





เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อรรคเดช อุดมศิริธำรง ปักธง ORN โตยั่งยืน “Mill Hill School” เพิ่มมูลค่า

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine