“ปรมินทร์ อินโสม” พลังคนหนุ่มปั้นตลาดทุนดิจิทัล - Forbes Thailand

“ปรมินทร์ อินโสม” พลังคนหนุ่มปั้นตลาดทุนดิจิทัล

ปรมินทร์ อินโสม หนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่และผู้ให้บริการในบ้านเราเพียงไม่กี่รายในโลกของตลาดทุนดิจิทัล ที่บริบทการลงทุนของเขาเกี่ยวข้องไปด้วยเรื่องบิตคอยน์ คริปโตฯ บล็อกเชน และโทเคน สิ่งที่ฟังไม่คุ้นเคยเหล่านี้คือโอกาสและความท้าทายในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น

บนชั้น 12A อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ ถนนรัชดาภิเษก ที่ตั้งของสำนักงานขนาดกะทัดรัดซึ่งเป็นที่ทำการใหญ่ของ ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือกระดานเทรดบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีแบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับกระดานซื้อขายหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เราคุ้นเคย แต่กระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แม้ว่าธุรกิจนี้จะมีบริการในไทยมาตั้งแต่ปี 2556 “ต้องบอกว่าตอนคิดจะก่อตั้งสตางค์ เราเห็นในประเทศไทยคนยังไม่ค่อยรู้จักคริปโตเคอร์เรนซี ตอนนั้นปี 2559 ก่อนหน้านั้นผมเรียนจบในปี 2557 ช่วงปลายปี 2557-2558 ผมทำงานอยู่ที่ Silicon Valley ที่ New York และทำเหรียญที่ชื่อว่า ซีคอยน์ (Zcoin) ซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโทผมระดมทุนมาได้ 400 บิตคอยน์ หรือคิดเป็นเงินช่วงนั้นราว 3-4 ล้านบาท” ปรมินทร์ อินโสม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เขาเริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยยังเรียนระดับปริญญาโท ด้านระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูล (cyber security) มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา   บุกเบิกสร้างการรับรู้ใหม่ ทว่าการมาเริ่มต้นธุรกิจบิตคอยน์ในไทยสำหรับนักเรียนอเมริกาอย่างเขาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “คนจบมาใหม่จากฝั่งโน้นต้องมาหาคอนเนกชั่นในไทย พยายามหาชุมชนเกี่ยวกับคริปโต หาได้ยากมาก ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งที่อยู่ในไทย คนรู้จักน้อย และยังเข้าใจผิดว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ด้วย ยิ่งไปกันใหญ่” ปรมินทร์ย้อนอดีตที่ไม่ง่ายนักในการเริ่มต้นธุรกิจบิตคอยน์ในไทย ซึ่งไม่เพียงบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโทเคนที่คนไทยยังสับสนและมีภาพจำที่ไม่ดีนัก และเมื่อเขาได้เห็นประกาศของกองทัพไทยที่ต้องการรับสมัครนายทหารชั้นสัญญาบัตรเพื่อประจำกองสงครามไซเบอร์ซึ่งก็ตรงกับที่ปรมินทร์เรียนจบมาคือ cyber security เขาจึงสมัครเข้าไปในปี 2558 โดยเลือกเป็นทหารบก เป็น “ร้อยตรีปรมินทร์ อินโสม” อยู่ประมาณปีครึ่งจนถึงปลายปี 2559 ซึ่งตอนนั้นทุกคนรู้จักคริปโตและบล็อกเชนมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันกองทัพได้ตั้งกองสงครามไซเบอร์เป็นรูปร่างแล้ว เขาจึงลาออกจากราชการมาทำธุรกิจเต็มตัว ช่วงปลายปี 2559 คนรู้จักบล็อกเชนและบิตคอยน์แล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการจัดแข่งขัน สตางค์ได้รางวัลอินโนเวชั่นอวอร์ดส์มา ในส่วนของกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล เขานำมาพัฒนาต่อในชื่อ TDAX ซึ่งย่อมาจาก Thai Digital Asset Exchange ปรมินทร์เล่าว่า เขาทำ TDAX และ e-wallet เป็นกลไกเชื่อมโยงกัน “เราทำบริษัทเพราะต้องการให้ ecosystem มันโต” แต่พอทำกระดานก็พบว่ามีคู่แข่งคือ BX ของบริษัท บิตคอยน์ จำกัด เขาเปิดอยู่ก่อนแล้ว   ระดมทุน ICO ครั้งแรก “เราไปแข่งในการจัดของ ก.ล.ต. วัตถุประสงค์คือต้องการให้มันเทรดหุ้นได้ด้วยโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน แต่ ก.ล.ต. บอกต้องรอกฎหมายออกมาก่อนและให้เราอยู่ใน sandbox (การทดสอบซอฟต์แวร์ใหม่ โดยให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด) อีก 1-2 ปี รอกฎหมายที่จะเปิดให้คนอื่นเก็บใบหุ้นได้ ไม่ต้องรอ TSD (บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด) อย่างเดียว เราก็รอ กฎหมายยังไม่เสร็จ” เนื่องจากกรอบเวลาที่ไม่ชัดเจนปรมินทร์จึงคิดว่า ระหว่างนี้เขาต้องเริ่มต้นเป็นสตาร์ทอัพ จึงได้มาทำ TDAX และเปิดการระดมทุนแบบ ICO (initial coin offering) หรือการระดมทุนผ่านการเสนอขายเหรียญดิจิทัลต่อประชาชนครั้งแรก ซึ่งก็คล้ายการระดมทุนแบบ IPO (initial public offering) แต่ใช้โทเคนดิจิทัลแทนหุ้น และระดมทุนจากผู้ลงทุนผ่านระบบบล็อกเชนแทนตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนการลิสต์หุ้นจริง โดย ICO เป็นคอนเซ็ปต์ที่ในปี 2559-2560 พบว่า มีคนไปลงทุนต่างประเทศจำนวนมากแต่ยังไม่มีในไทย เมื่อ TDAX ทำขึ้นมาก็ประสบความสำเร็จ ปรมินทร์เล่าว่า เขาเปิดระดมทุน ICO ในไทยเป็นครั้งแรก โดยทำผ่านแพลตฟอร์ม TDAX ในการระดมทุนให้กับลูกค้าคือ “เจมาร์ท” ซึ่งกำลังต้องการระดมทุนเพื่อมาทำระบบกู้ยืมเงินแบบดิจิทัล เมื่อผู้บริหารเจมาร์ทเห็นไอเดียในการทำ ICO ที่สามารถลงทุนผ่านคริปโตได้โดยไม่ผิดกฎ ก.ล.ต. ไม่ผิดกฎแบงก์ชาติ และยังไม่มีกฎหมายห้ามทำแบบนี้ เจมาร์ทจึงมาระดมทุน ICO ผ่าน TDAX กลายเป็นข่าวฮือฮาเพราะสามารถระดมทุนได้ 600 ล้านบาท นับเป็นการขยายบริการของ TDAX คือทำมากกว่าซื้อขายคริปโตแต่เป็นการระดมทุนผ่านคริปโตได้ด้วย และเป็นการระดมทุนที่ทุกธุรกิจสามารถมาลงได้หมดทำให้ตลาดเห็นว่าเกิดขึ้นได้จริง และไม่ผิดกฎหมาย ‘Zcoin’ ไพรเวซี 1 ใน 3 ของโลก นอกจากทำกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว เหรียญซีคอยน์ที่ปรมินทร์ทำก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สร้างความแตกต่าง และการยอมรับในระดับโลก เพราะเป็นบิตคอยน์เพียงไม่กี่เหรียญเท่านั้นที่มีระบบไพรเวซี หรือป้องกันข้อมูลการโอนให้คนอื่นเห็น ซึ่งปรมินทร์บอกว่า นี่คือวัตถุประสงค์เริ่มแรกที่เขาทำตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท ส่วนชื่อเหรียญซีคอยน์มาจาก zero ซึ่งชื่อย่อเทคโนโลยีที่ใช้คือ zero knowledge proof คือการปรูฟโดยไม่ต้องใช้ความรู้อะไรทั้งสิ้น มันเป็นที่มาชื่อซีคอยน์ที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบิตคอยน์ “90% ของบิตคอยน์ทั่วโลก รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีเหล่านี้ไม่คำนึงเรื่องไพรเวซีเลยไม่ว่าจะเป็นตัว XRP ของริพเพิลที่เอสซีบีไปลงทุนด้วย หรือแม้กระทั่งเหรียญ Libra ของเฟซบุ๊กก็ไม่เน้นไพรเวซี เพราะเขาต้องการเห็นธุรกรรมการเงินอยู่แล้ว” เป็นที่มาของเหรียญดิจิทัลคนไทยที่สร้างการยอมรับในระดับสากล ด้วยแนวคิดที่ว่า คนทำธุรกรรมจริงยังเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองได้หากตำรวจอยากรู้ข้อมูลสามารถขอข้อมูลกับเจ้าตัว และความไพรเวซีนี้ทำให้คู่แข่งดูข้อมูลเราไม่ได้ “ทุกวันนี้เหรียญที่มีไพรเวซีทำได้แค่ 3 เหรียญคือ Zcoin, Mario ของเพื่อนที่เคยทำเหรียญด้วยกัน และ Zcash ของอาจารย์ผมที่อเมริกา เป็นคู่แข่งและร่วมพัฒนาแนวคิดเดียวกัน ทำอย่างไรให้ธุรกรรมมีความไพรเวซี” ปรมินทร์เผยจุดแข็งเหรียญซีคอยน์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เหรียญดิจิทัลทั่วโลกที่มีไพรเวซีเรียกว่าเป็นดาวรุ่งในธุรกิจบิตคอยน์ที่มีจุดแข็งเรื่องความไพรเวซี “บิตคอยน์ราคามาจากดีมานด์ ซัพพลายไม่ผูกติดกับที่ดินหรืออะไร แต่มันผูกอยู่กับสถานการณ์การเมืองโลก ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีราคาจะยิ่งสูง แต่ต้องเป็นโกลบอลสเกล” ปรมินทร์อธิบายคร่าวๆ ถึงหลักความเคลื่อนไหวราคาของบิตคอยน์ทั่วโลก อ่านเพิ่มเติม: OkCredit สตาร์ทอัพแอปทำบัญชีดาวรุ่งแห่งอินเดีย  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ปรมินทร์ อินโสม” พลังคนหนุ่มปั้นตลาดทุนดิจิทัล ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine