ผศ.ดร. พูนศักดิ์ บุญสาลี ชูสินเชื่อเพื่อสังคม “ศักดิ์สยาม” - Forbes Thailand

ผศ.ดร. พูนศักดิ์ บุญสาลี ชูสินเชื่อเพื่อสังคม “ศักดิ์สยาม”

ผศ.ดร. พูนศักดิ์ บุญสาลี กับธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์ของข้าราชการครูจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีประสบการณ์การบริหารจัดการหนี้ และความเข้าใจในความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับต่อยอดอาชีพสู่การจัดตั้งสถาบันสินเชื่อบริการรายย่อยในท้องถิ่น พร้อมเดินหน้าขยายสาขาทั่วประเทศและพอร์ตสินเชื่อเติบโตเท่าตัวแตะ 1.2 หมื่นล้านใน 3 ปี

“ผมเรียนทางด้านครู โดยบรรจุเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์เมื่อปี 2514 และรับราชการที่นี่เรื่อยมาจนปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว ซึ่งในช่วงเรียนปริญญาโทด้านจิตวิทยาสาขาแนะแนว ก็ได้รับมอบหมายจากวิทยาลัยให้ดูแลห้องแนะแนวและดูแลบัณฑิตที่จบการศึกษารอบรรจุและลงชื่อไว้ โดยเราจะหาทางช่วยเหลือพร้อมกับสอนหนังสือ” ผศ.ดร. พูนศักดิ์ บุญสาลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ยังคงระลึกถึงเส้นทางการศึกษาและการทำงานเป็นข้าราชการครูในช่วงที่ผ่านมา โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาการศึกษา (คณิตศาสตร์) วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ปริญญาโท สาขาศิลปศาสตร์ (จิตวิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (การจัดการ) มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย รวมทั้งปริญญาเอก สาขาศิลปศาสตร์ (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาและปริญญาเอก สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ขณะที่เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ด้านจิตวิทยาแนะแนว พูนศักดิ์ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษารอสอบบรรจุ และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือเรื่องงานให้กับบัณฑิตจบใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่ธุรกิจขายตรง หรือ direct sale ได้รับความนิยมในพื้นที่ต่างจังหวัดจนเกิดเป็นธุรกิจรับบริหารจัดการหนี้และสร้างโอกาสการทำงานเพิ่มมากขึ้นในชุมชน
ผศ.ดร. พูนศักดิ์ บุญสาลี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
 
  • ปรับโมเดล Grameen Bank
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตและธุรกิจได้เริ่มต้นขึ้นเพียงเสี้ยวนาทีที่พูนศักดิ์อ่านหนังสือของ Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และรางวัลมากมายจากการก่อตั้งธนาคารชุมชน หรือธนาคารคนจน Grameen Bank เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนและช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนชนบทในบังกลาเทศ ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการปรับใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก “ช่วงนั้นได้อ่านหนังสือของ Dr. Muhammad Yunus ซึ่งก่อตั้งธนาคาร Grameen เพื่อให้เงินกู้กับประชาชนฐานรากของบังกลาเทศ ที่มีพื้นฐานประชาชนคล้ายกับของเราคือ ฐานะยากจน และเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ผมจึงนำความคิดที่ได้จากการอ่านมาตั้งเป็นบริษัทสินเชื่อ โดยใช้ทะเบียนรถเป็นประกันแทนการรับบริหารหนี้ ซึ่งชื่อศักดิ์สยามมาจากชื่อพูนศักดิ์ของผม และสยามมาจากความตั้งใจที่จะไม่อยู่เฉพาะจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ต้องขยายหลายแห่งทั่วประเทศ”
บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)
จากประสบการณ์จัดเก็บหนี้ การบริหารหนี้ และการบริหารงานข้ามจังหวัดร่วมกับผู้ให้บริการจัดเก็บเงินผ่อนจากการจัดจำหน่ายสินค้าสำหรับลูกค้ารายย่อยที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2529 ได้กลายเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแก่ลูกค้ารายย่อยในปี 2538 ภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจ การให้บริการอย่างเป็นธรรม เข้าใจและเข้าถึงด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และจริงใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม สำหรับในปัจจุบันพูนศักดิ์สามารถขยายผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการ 4 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อทะเบียนรถ (vehicle title loan), สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan), สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (nano finance) และสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อรถแลกเงิน (hire-purchase and car for cash) โดยรวมพอร์ตสินเชื่อ 6.07 พันล้านบาท และจำนวนสัญญาสินเชื่อรวม 230,273 สัญญาแบ่งเป็นลูกหนี้ที่มีหลักประกัน 88% และลูกหนี้ไม่มีหลักประกัน 12% ของพอร์ตสินเชื่อรวม (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) “เราต้องปรับโมเดลธุรกิจจากเมื่อก่อนเป็นการบริหารหนี้ ตอนนี้ต้องพัฒนาสาขาและฝึกอบรมเรื่องการขาย ซึ่งเราเรียกว่าโมเดลเก้าอี้ 4 ขา ได้แก่ พนักงานต้องเข้าใจการทำตลาด วิเคราะห์หนี้หรือสินเชื่อได้ และเรื่องบัญชีการเงินรวมถึงการบริหารหนี้ ถ้าปล่อยสินเชื่อได้ เราต้องบริหารหนี้ได้ โดยเริ่มจาก 1 สาขาที่อุตรดิตถ์ เพราะเราไม่ได้มีฐานะหรือเป็นลูกเถ้าแก่ เราต้องค่อยๆ เก็บเงินและนำไปลงทุนทดแทนการบริหารหนี้ที่ยอดลดลง ซึ่งเราสร้างความแตกต่างจากสินเชื่อนอกระบบตั้งแต่แรก ด้วยความรู้ด้านการบริหารจึงทำให้บริษัทอยู่ในรูปแบบองค์กรเราใช้ระบบการบริหารจัดการที่ดีเข้ามาช่วย และกำหนดนโยบายการปฏิบัติงานที่ชัดเจน” ดังนั้น พนักงานของบริษัทต้องเอาใจใส่ความต้องการของผู้ขอสินเชื่อที่เป็นประชาชนในพื้นที่ ด้วยความเป็นกันเอง ให้เกียรติ และมีมารยาทกับผู้ขอสินเชื่อ พร้อมสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจในการใช้บริการ ซึ่งพนักงานของศักดิ์สยามในปัจจุบันล้วนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อและการบริหารหนี้จากการร่วมงานกับบริษัทอย่างยาวนาน ทั้งยังเข้าใจในวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ท้องถิ่นที่สาขาตั้งอยู่ รวมถึงสามารถเข้ากับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยถือเป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของบริษัท “ภาพของเราคือ การทำให้เขามีแหล่งเงินกู้ที่เข้าใจเขา ไม่ใช่ส่งไม่ได้ก็ยึดรถ โดยเราจะพูดคุยกับลูกค้าว่า การเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติของคนขยันทำมาหากิน และเขาจะรู้สึกภูมิใจว่า เงินที่เขาได้จากเราสามารถนำไปทำมาหากินได้ เมื่อหมดภาระก็ชำระเงินคืน ซึ่งเป็นปรัชญาของเราว่า การเป็นหนี้ไม่ใช่ความเลวร้าย เพราะคนเราเกิดมาต้นทุนไม่เท่ากัน คนขยันแต่ขาดโอกาสทำให้มีความจำเป็นต้องนำเงินไปสร้างโอกาส”  
  • ปั้นสินเชื่อโตเท่าตัว
แม้ในปัจจุบันพูนศักดิ์จะสามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่ 38 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก รวมจำนวน 519 สาขา แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจนับตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและเพิ่มขีดความสามารถการขยายธุรกิจให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น “ผมมาจากครูที่มีฐานะยากจน กว่าจะสะสมเงินทุนซื้อหลักทรัพย์เป็นตัวค้ำประกันเงินกู้ได้ต้องค่อยๆ เก็บเงิน จนมีที่ดินไปค้ำประกันกับธนาคาร เราอยู่ได้ด้วยการประหยัดและนำเงินที่มีลงทุนตลอด แม้เราจะมีประสบการณ์และความชำนาญมาก แต่ขยายธุรกิจได้ยากเพราะขาดแคลนเงินทุน ซึ่งที่ผ่านมาในการทำแผนเข้าตลาดฯ ก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น หลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านบัญชี เรื่องการคิดดอกเบี้ยและช่วงต้นปีก็เจอโควิด -19 ทำให้เราต้องปรับระบบบริษัทเพื่อให้อยู่รอดก่อน โดยสิ่งที่เราภูมิใจคือ พนักงาน 1,600 คน เราไม่ให้ใครออกแม้แต่คนเดียว ทุกคนช่วยกันทำงานและบริหารหนี้จนไม่ต้องกู้เงินเพิ่มจากธนาคารก็ยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้ด้วยหลักการบริหารที่มีความสมดุล ทำให้หลุดพ้นจากโควิด-19 ได้” สำหรับแผนขยายธุรกิจหลังจากระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมุ่งเน้นที่การขยายสาขาของบริษัทให้ครอบคลุมการให้บริการมากขึ้นเป็น 1,119 สาขา ภายในปี 2566 หรือเฉลี่ยจำนวน 200 สาขาต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีนโยบายเปิดสาขาให้บริการอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 80 สาขาในปี 2560-2563 เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการอย่างทั่วถึง และให้ลูกค้าสามารถเข้ามาติดต่อใช้บริการได้สะดวก ซึ่งสถานที่ตั้งของสาขาส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลใกล้กับแหล่งชุมชน ตลาด หรือธนาคาร โดยเน้นการเดินทางสะดวกและมองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนั้น พูนศักดิ์ยังเดินหน้าพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือด้านไอทีเพื่อปรับปรุงระบบการให้บริการสินเชื่อ และพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ขอสินเชื่อในเชิงลึก ตั้งแต่การเสนอสินเชื่อ พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ รับชำระหนี้ บริหารหนี้สูญพร้อมอำนวยความสะดวกให้ผู้ขอสินเชื่อ และเพิ่มขีดความสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ได้แก่โปรแกรมเกี่ยวกับการให้สินเชื่อ การรับชำระเงิน การจ่ายเงินระบบบัญชี ระบบเครือข่าย ระบบเซิร์ฟเวอร์ และการพัฒนาแอปพลิเคชัน เป็นต้น ด้วยเป้าหมายขยายพอร์ตสินเชื่อเติบโตเท่าตัวเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ในปัจจุบันระบบปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทเป็นระบบที่เชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการทางบัญชี ที่ได้รับการออกแบบสำหรับใช้ในการบันทึกบัญชีของบริษัทได้โดยตรง ด้วยการโอนถ่ายข้อมูลโดยอัตโนมัติ (Enterprise Resource Planning หรือ ERP) เพื่อรองรับการประมวลข้อมูลจำนวนมาก (big data) และการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective rate) ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเข้มงวด “เทคโนโลยีหรือไอทีเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยในปัจจุบันลูกชายคนโตของผม (ศิวพงศ์) เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา และเคยทำงานที่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย 15 ปี เขาได้เข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งที่บริษัทเขียนโปรแกรมการให้สินเชื่อแบบของเราโดยเฉพาะเรียกว่า LMIS วิเคราะห์ลูกค้า ชำระหนี้ หรือเก็บเงินเข้าโปรแกรมนี้หมด ซึ่งเราพัฒนาทุก5 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ช่วงนี้กำลังพัฒนาเฟส 2 ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และพัฒนาแอปพลิเคชันติดต่อกับประชาชนผ่านเทคโนโลยีได้” พูนศักดิ์กล่าวถึงหนึ่งในหน้าที่ความรับผิดชอบที่มอบหมายให้ทายาทดูแลด้านไอทีเทคโนโลยี พร้อมทั้งให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการในปัจจุบันโดยให้ความสำคัญกับการกำหนดโครงสร้างองค์กรที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ และกระจายอำนาจหน้าที่ให้กับผู้บริหารจนถึงพนักงานระดับหัวหน้างานที่มีความรับผิดชอบไว้วางใจได้ รวมถึงวางระบบผู้สืบทอด (successor) และพัฒนาระบบการสรรหาหรือคัดเลือกพนักงานอย่างต่อเนื่อง     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine