บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ IND ซึ่ง ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ปลายปี 2563 ขณะที่บริษัทก้าวเข้าสู่ปีที่ 37
หากเทียบกับชีวิตคนเรา วัย 37 ปีถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างตัว แต่สำหรับธุรกิจแล้วการเดินทางมาถึงปีที่ 37 แสดงถึงความมั่นคง แข็งแรง ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าและผู้ใช้บริการ และคงไม่น่าแปลกใจหากจะมีเรื่องราวใหม่ๆ ให้บันทึกเพิ่มเติม
ดร. ชัยณรงค์หลังเรียนจบปริญญาตรีได้รับราชการเป็นนายช่างกรมชลประทาน ทำงานย่างเข้าปีที่ 3 มีทุน CDG จากเยอรมนีให้ไปศึกษาต่อสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีทั้งแบบไปเรียนที่เยอรมนี และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย
ช่วงที่เรียน AIT เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต เพราะได้พบกับอาจารย์ชาวต่างชาติซึ่งชักชวนให้เขาทำงานในบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับการทำธุรกิจของตนเองในเวลาต่อมา
“ปี 2523 บริษัทที่ทำงานบริษัทแรกทำงานร่วมกับฝรั่ง ซึ่งทำสะพานแขวนพระราม 9 ตอนนั้นใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงนั้นมีแต่สะพานเก่าคือ พระราม 6 สะพานซังฮี้ พระพุทธยอดฟ้าฯ งานที่ทำต้องดีลกับฝรั่ง ทำอยู่ 2 ปีก็คิดว่าถ้าเรารู้จักฝรั่ง มีงาน มี engineer น่าจะทำเองได้...ดูว่าเขามีเอกสาร ทำ paperwork อย่างไร พอผมมาตั้งบริษัทเองก็ run ออฟฟิศได้ ตั้งบริษัทปี 2526”
- ตั้งบริษัทด้วยทุน 200,000 บาท
ในช่วงแรกตั้งบริษัทมีวิศวกร 2-3 คน สถาปนิกและบัญชีอย่างละ 1 คน ส่วนเงินทุนก้อนแรกลงหุ้นร่วมกับเพื่อนๆ รวมเป็นเงิน 200,000 บาท และเพิ่มเป็น 1 ล้าน และ 3 ล้านบาทตามลำดับ ความที่เป็นหนุ่มวิศวะ มีเพื่อนฝูงทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็ได้งานจากเพื่อนๆ โดยรับจ้างคิดงานถอดแบบ ออกแบบคำนวณ คิดแบบเพื่อเสนอราคาลูกค้า รวมทั้งเป็นตัวแทนขายแอร์ด้วย
จุดแข็งของบริษัท IND ขณะนั้นคือ ดร. ชัยณรงค์ เคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ ทำให้มีความเข้าใจเรื่องการเขียนเปเปอร์เวิร์กและการเขียนแบบ ประกอบกับความรู้ภาษาอังกฤษดี ทำให้ได้เปรียบมากในช่วงแรก
ปี 2529 ผู้รับเหมาใหญ่ได้งานโรงเรียนนายร้อย จปร. มูลค่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการใหญ่สุดของประเทศในขณะนั้น และ
IND ได้รับงานเป็นซับคอนแทรคเตอร์
“เราเป็นที่ปรึกษาให้ ช.การช่าง มีคนแนะนำมา เราดูเรื่องปั๊ม ระบบบำบัดน้ำเสียระบบไฟฟ้า ประธานบริษัทคนแรกเคยทำงานที่การไฟฟ้านครหลวงมีความรู้ด้านไฟฟ้า พาร์ตเนอร์อีกคนที่ร่วมก่อตั้งเป็น mechanical”
หลังจากนั้นมีงานที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งผู้รับเหมาไทยประมูลได้ และ
IND ไปควบคุมงานก่อสร้าง “เราได้ตรงนี้เพราะภาษาอังกฤษ หน่วยราชการไทย เอกสารต้องใช้หมึกสีน้ำเงิน เซ็นกำกับทุกเส้นและเป็นภาษาอังกฤษ ผู้รับเหมาไทยไม่ได้สนใจตอนนั้น standard ยังไม่ดี เราอ่านก็ให้คำปรึกษา บางทีประมูลกัน 5-6 ราย รายที่เสนอราคาต่ำสุดไม่ได้ แต่ประมูลสูงลำดับ 4 ได้ เพราะเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เราให้คำปรึกษา ทำให้เรา confident ว่า ความละเอียดถูกต้องและภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็น”
บมจ. อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เป็นบริษัทมีความเชี่ยวชาญทางด้านที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม และให้บริการงาน 3 ประเภท ประกอบด้วย
- งานออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียด (conceptual design & detailed design) ซึ่งเป็นการวางแผนแม่บทและศึกษาความเหมาะสมก่อนเริ่มโครงการ ในขั้นนี้บริษัทได้รับค่าจ้างประมาณ 1-50 ล้านบาท
- งานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง (project management & construction supervision) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ว่าจ้างเพื่อบริหารโครงการและควบคุมโครงการในงานก่อสร้างทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการจัดหาบุคลากร สถาปนิก วิศวกร เพื่อออกแบบทาง วิศวกรรม จัดหาผู้รับเหมา จนถึงขั้นตอนหลังส่งมอบงาน โดยมูลค่างานที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างประมาณ 1-200 ล้านบาท
- งานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (designbuild) ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และลูกค้าส่วนงานต่างประเทศ เป็นการรับจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ เป็นผู้รับจ้างโดยตรงกับผู้ว่าจ้าง และจ้างผู้รับจ้างช่วงต่ออีกทอดหนึ่งโดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้รับงานในกลุ่มคลังน้ำมันระบบขนส่งน้ำมันและกลุ่มอาคารหลัก อาทิ ก่อสร้างถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ คลังน้ำมันสนามบินสุวรรณภูมิ, ออกแบบพร้อมก่อสร้างคลังน้ำมันพิจิตร, คลังน้ำมันลำปาง, สถานีสูบถ่ายน้ำมันและระบบควบคุมบางปะอินบริการส่วนนี้บริษัทได้รับค่าจ้างประมาณ 1-1,500 ล้านบาท
ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา
IND เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทในการเสริมสร้างรากฐานทางสังคม ด้วยการร่วมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น โครงข่ายถนน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบขนส่งทางราง การท่าอากาศยาน เป็นต้น และมีประสบการณ์ทำงานกว่า 300 โครงการ
ผู้ก่อตั้ง
IND แบ่งพัฒนาการของบริษัทออกเป็น 3 ช่วง โดยช่วง 10 ปีแรกเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งบริษัทเน้นงานบริการ การคิดราคางาน ออกแบบปรับปรุงอาคารเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่หลักแสนบาท ช่วง 10 ปีที่ 2 เป็นยุครุ่งเรืองสุดๆ ได้ทำโครงการในสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นจุดขายที่โดดเด่นเพราะยังไม่มีบริษัทที่ปรึกษาอื่นๆ ให้บริการทางด้านนี้
“เราไม่ใช่ได้งานด้วยตนเอง แต่ต้องมีฝรั่งเป็นพาร์ตเนอร์ ฝรั่งเป็น lead พอทำเฟส 2 เราเป็น lead เอาฝรั่งอีกบริษัทมาเป็นพาร์ตเนอร์ ช่วงแรกทำรถไฟฟ้าใต้ดินมีบริษัทฝรั่งเป็น lead 3 บริษัท และคนไทยอีก 3 บริษัท โครงการผ่านไป 5-6 ปี จนเฟส 2 เราเป็น lead และมีฝรั่งอีกบริษัทเป็นพาร์ตเนอร์ เราทำสนามบินหลายแห่งและรถไฟฟ้าด้วย”
ช่วง 10 ปีที่ 3
IND ขยายงานออกแบบมีโครงการที่ทำในลาว กัมพูชา เมียนมา เช่น สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เป็นสะพานข้ามระหว่างนครพนม-มุกดาหารปรับปรุงสนามบินที่จังหวัดพิษณุโลกและบึงกาฬ ปัจจุบันอยู่ช่วงที่ 4 คือ การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งต้องดูแหล่งทุน การทำธุรกิจร่วมกับต่างประเทศ การลงทุนร่วมกับภาครัฐ การออกแบบพร้อมสร้าง ซึ่ง ดร. ชัยณรงค์บอกว่า เป็นหน้าที่ของลูกๆ ต้องมาต่อยอดกิจการ รวมทั้งบริหารงานก่อสร้าง
สำหรับแนวทางการทำงาน ดร. ชัยณรงค์บอกว่า เน้นการหาพาร์ตเนอร์
“เป็น strategic ของเรา เป็น blue ocean เมื่อก่อนเรียก red ocean แข่งกันสู้ราคากัน เดี๋ยวนี้ต้องเป็นพันธมิตรจับมือไปด้วยกัน แล้วเราก็ win-win บางโครงการคุณมีโอกาสก็เป็น lead ในกลุ่ม บางอย่างผมมีศักยภาพมากกว่าก็เป็น lead และเชิญคุณมาร่วม...ด้วยแนวทางแบบนี้เราไม่ต้องสต็อก material หรือ man month (อัตรากำลังคนในการทำงานในโครงการนั้น) เวลามีงานก็ใช้พนักงานจากบริษัทของพันธมิตร”
ดร. ชัยณรงค์บอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นมหาชน เพราะบริษัท consultant ไม่ต้องลงทุนมากนัก
“พอบริษัทเข้าสู่ปีที่ 30 ลูกถามว่า คุณพ่อทำไมเราไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่เป็นบริษัทมหาชน คือการทำงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง หรือลงทุนพร้อมภาครัฐงานส่วนนี้เราก็เคยคิดในใจ แต่ใครจะเป็นคนทำ แต่พอลูกมาพูดรู้ว่าเขาจะทำ...ถ้าเขาไม่ทำต่อเรามีทุนให้ลูกแบ่งกันไป เราสร้าง curve เส้นที่ 1 ลูกก็มาทำ curve เส้นที่ 2”
นั่นเป็นเหตุให้บริษัทเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ mai นำเงินมาลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการภายในปี 2565 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในปี 2564
“รู้ มานะ อดทน” คือ ปรัชญาในการทำงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและทีมงาน
IND กล่าวคือ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ทำมีความพยายามและความอดทนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือความสำเร็จ เพราะการทำงานทุกอย่างมักมีปัญหาและอุปสรรคให้แก้ไข
หลักในการทำงานคือ
“คิด ทำ สำเร็จ” พอเพียง พอใช้รู้รักสามัคคี การคิดไม่ใช่คิดอย่างเดียวต้องคิดบวก คิดลบ ใส่เป็นสูตรเข้าไปเลย แล้วแปลงความคิดออกมาเป็น paper เอามาเป็นแผน ชาร์จ รูปภาพการทำงาน แล้วไม่ใช่ใช้ 2 มือเราอย่างเดียวแต่ 2 มือของเพื่อน ลูกน้อง ผู้บริหาร และตั้งเป้า ความสำเร็จเป็นเป้าหมาย 1 2 3 ไม่ใช่แค่ทำๆ ไป ต้องตั้งเป้าไว้สูง และอย่า aim ว่าเป็นเป้าสุดท้าย มีเป้ารองลงมาความสำเร็จมีหลายอย่าง เช่น ยิงธนู เป้าสุดท้ายใจกลาง แค่ยิงเข้าเป้าก็สำเร็จ
ผู้ก่อตั้ง
IND ย้ำว่าตลอด 37 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่อยู่ในความคิดในการให้บริการลูกค้า คือ การมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ อดทน พัฒนาและมีความกตัญญู การทำงานบริการแม้ว่าจะทำถูกต้อง บางครั้งลูกค้าอาจไม่พอใจ แต่เราต้องอดทน และในท้ายที่สุดจะพิสูจน์ด้วยผลงาน และแต่ละปีบริษัทต้องมีการพัฒนามากขึ้น เพื่อสื่อให้เห็นถึงคุณภาพและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ มีนวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆ สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า
“เราสร้างบริษัทมา 37 ปี ถ้าเป็นต้นไม้ก็เป็นต้นที่โตสมบูรณ์ การที่ลูกมาสานต่ออยากทำอะไร จะต่อด้วยพันธุ์อะไรก็ได้หรือทำจากต้นเดิม โจทย์ไม่ยากแล้ว เช่น import-export ค้าขาย ไอที แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาคือ engineering ไว้เป็น core เมื่อธุรกิจเติบโตต่อไปแล้ว บริษัทอาจเป็น holding company” ดร. ชัยณรงค์กล่าวในตอนท้าย
อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน IND ผู้ร่วมพัฒนาสาธารณูปโภค" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine