ระยะไม่กี่ปีมานี้การลงทุนของภาครัฐในด้านสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ โครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฯลฯ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตาคือ บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JR โดยมี จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุมทิศทางการทำงาน
จรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ ก่อตั้งบริษัทในปี 2536 ก่อนหน้านั้นเขาทำงานฝ่ายบุคคลในบริษัทชั้นนำของประเทศ อาทิ บจ. ปูนซิเมนต์ไทย, บจ. เชลล์แห่งประเทศไทย, บจ. อีริคสัน (ประเทศไทย) ขณะทำงานอยู่อีริคสันมีความสนใจศึกษา เกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสาร ต่อมาเพื่อนซึ่งเป็นลูก เสธ.ทหาร ขอให้ไปช่วยงาน บจ. ฆนาคมน์ ซึ่งได้สัมปทานการ์ดโฟนและมีปัญหาเกี่ยวกับตู้ใช้บัตรโทรศัพท์ (ช่วงปี 2534 ภาครัฐมีการเปิดให้สัมปทานโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร Cardphone) จรัญจึงนำทีมวิศวกรรมจากอีริคสันเข้าไปแก้ไข ได้พบกับ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ซึ่งเป็นผู้บริหารในขณะนั้น และชักชวนให้เขามาทำงานด้วย ปี 2535 มีโครงการขยายบริการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย หลังจากเจรจากับ True ซึ่งได้สัมปทาน และ บจ. ฆนาคมน์ ไม่สามารถทำโครงการนี้ จรัญก่อตั้ง JR เพื่อรับงานในปี 2536 บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นงานด้านวางระบบโครงข่ายสื่อสาร เช่น การรับเหมาติดตั้งเสาและระบบสายเคเบิล ช่วงแรกเน้นงานรับเหมาช่วง (subcontract) ปี 2551 เริ่มปรับเปลี่ยนลักษณะธุรกิจจากการใช้แรงงาน (labor intensive) มาเป็นงานด้านวางระบบโครงข่ายสื่อสาร เช่น การรับเหมาติดตั้งเสาและระบบสายเคเบิล เป็นงานประเภทออกแบบ จัดหา รับเหมาติดตั้ง ทดสอบ ให้คำปรึกษาในการวางระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (total solution) เช่น งานออกแบบและจัดหาอุปกรณ์สำหรับชุมสายหลัก งานรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์เครื่องชุมสาย งานรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ IP broadband รวมทั้งงานรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์สื่อสัญญาณ งานที่เกี่ยวข้องกับระบบ 3G ระบบ 4G mobile network ระบบ Wi-Fi network รวมถึง ระบบซอฟต์แวร์ที่บริการจัดการเกี่ยวข้องกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบสื่อสารต่างๆ ปี 2557 จึงเริ่มธุรกิจรับเหมาวางระบบไฟฟ้า งานแรกคือ ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสถานีไฟฟ้าย่อย 115kV ให้กับโครงการศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต หลังจากนั้น จึงรับงานโครงการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งงานสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลากสายต่อเชื่อมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และลูกค้าอุตสาหกรรม และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปลายปี 2563 ที่มาของการรับเหมาวางระบบไฟฟ้ามาจากปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ระบบไฟฟ้าของศูนย์การค้า ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เสียหาย ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง substation เนื่องจากจรัญมีเพื่อนซึ่งเป็นคนตระกูลหวั่งหลี และเคยเป็นกรรมการของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงประสานให้ทีมการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าไปดูและประเมินค่าซ่อมแซม โดย กฟภ. เสนอราคาเกือบ 300 ล้าน ส่วน กฟน. แม้จะให้ราคาที่ต่ำกว่า แต่ยังถือว่าสูงสำหรับเอกชน ศูนย์การค้าถามว่า ให้ผู้รับเหมาทำได้ไหม คำตอบคือได้ แต่การไฟฟ้าต้องรับรอง “ผมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง บอร์ดการไฟฟ้า การประปา เอางานให้คนอื่นทำทีมทำงานน้องๆ ในบริษัทถามว่า ทำไมนายไม่ทำเอง ก็บอกว่าเราทำโทรคมนาคม ทำไฟฟ้าไหวหรือ เขาบอกว่าไหว” นั่นเป็นเหตุให้บริษัทเข้าประมูลโครงการดังกล่าว “ลักษณะงานที่ทำต้องตัดวงจรและทำ substation ใหม่ ปกติสัญญาพวกนั้นการไฟฟ้า (ทำ) 15 เดือน ผมได้สัญญาแค่ 9 เดือน และเสร็จก่อน 7 วัน กลายเป็นว่าได้รับความเชื่อถือจากซีเมนส์ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์และฟิวเจอร์พาร์ค ตอนนั้นจะ load ของจากเยอรมันช่องแคบปิดเพราะภูเขาไฟระเบิด เรือออกทะเลไม่ได้ทีมงานบอกจะเลท 1 สัปดาห์...เดิมต้องออกจากเมือง Hamburg อ้อมอังกฤษ ฝรั่งเศส ผมบอกให้ load inland มาอิตาลี และออกทางเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อไม่ต้องผ่านช่องแคบ...การใช้เส้นทางนี้ทำให้ขนส่งเร็วขึ้น 10 วัน เยอรมันตกใจว่ารู้ได้ไง ผมบอกว่า ทำงานไม่เคยปล่อย “วิธีนี้เกิด cost บ้าง แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับเวลา กลายเป็นว่าได้เครดิตจากเยอรมันสูง คือคนทำงานกับเยอรมันต้อง tough เจอปัญหาแก้ได้จริง นั่นคือเหตุที่เราเริ่มมาในไฟฟ้า และช่วงที่ปรับเปลี่ยนรถไฟฟ้า เราได้งานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เป็นการรื้อถอนระบบโทรคมนาคมสัญญา 600 ล้าน ถือว่าใหญ่มาก ต้องสวิตช์โหมด ถอน (ระบบ) Huawei เปลี่ยนเป็น fiber optic” นับจากนั้นทำให้ JR ขยายขอบข่ายมารับงานด้านระบบไฟฟ้าด้วย โดยปี 2563 มีสัดส่วนรายได้เกือบร 74% ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารตอบว่า เป็นเพราะสัญญาเดิมมีงานด้านนี้มาก แต่บริษัทกำลังบาลานซ์งานด้านไอซีทีซอฟต์แวร์ “พื้นฐานเดิมการขยายตัวเมโทรไลน์เกิด 2 ขา ทั้ง ICT และ electrical แผนพัฒนาประเทศมูลค่าแสนล้าน วันนี้ยังมาไม่ถึงครึ่ง แต่เราเลือกไม่ได้ไปหมดทุกเรื่อง เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีคนจะเข้ามา engineering field แต่เราไปเร็วกว่าชาวบ้าน อย่างเราเข้า turnkey solution ตอนนี้คนอื่นตามมา” อีกทั้งมีแผนการขยายงานไปยังธุรกิจที่มีความต่อเนื่อง และยกระดับความสามารถในการให้บริการ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเป็น system integrator ในหลากหลายธุรกิจ ผลงานที่ผ่านมา อาทิ งานรื้อย้ายสายเคเบิลและสร้างใหม่ของ TOT, True, Royal Thai Air Force และบริษัทคู่สัญญาของ TOT ตามแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง สะพานใหม่-คูคต มูลค่า 135 ล้านบาท, งานรื้อย้ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง มูลค่า 415 และ 200 ล้านบาท งานเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มูลค่า 2,725.26 ล้านบาท, งานเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู มูลค่า 3,621.77 ล้านบาท เติบโตบนฐานวิศวกรรม JR ประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบไฟฟ้า (electrical power system) และระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (telecommunication and information technology system) แบบครบวงจร ให้บริการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบข้างต้นทุกประเภท และให้บริการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,163.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 124.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 466.03 ล้านบาท มีมูลค่างานในมือ (backlog) 5,320.8 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปีนี้ที่ 1,841.1 ล้านบาท และรับรู้ในปี 2565-2567 จำานวน 2,368.6 ล้านบาท, 1,179.2 ล้านบาท และ 34.2 ล้านบาท ตามลำดับ ธุรกิจรับเหมาวางระบบไฟฟ้ามีลักษณะงานที่ทำคือ ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (high voltage transmission line system) ก่อสร้างติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย และอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าย่อย (high voltage sub- station) และงานก่อสร้างเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับเหมาช่วงต่อมาจากกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาหลัก เช่น บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น, บจ. โตโย เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น, บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นต้น เริ่มจากงานรับเหมา จุดเด่นของ JR คือ ความไม่นิ่งและเรียนรู้ตลอดเวลา จรัญบอกว่า ที่ผ่านมาบริษัทเติบโตบนงานบริการและความรู้ทางเทคโนโลยี แม้เขาจะเรียนจบด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ลักษณะธุรกิจเป็นงานวิศวกรรม มีลูกน้องเป็นวิศวกร นั่นไม่ใช่ข้อจำกัด “เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทีมงานก็บอกผมอยากให้พี่ฟัง เราก็ฟัง ตั้งคำถามเรื่อยๆ ให้ทีม study เราไม่ใช่ engineer แต่ทำงานกับ engineer ต้องอ่านหนักมาก และเรียนรู้มากกว่าเขา 10 เท่า” ถามถึงแนวคิดการสร้างทีมงานผู้ก่อตั้งบริษัทตอบว่า “JR โตบน base วิศวกรรมพยายามไม่จมบน cost ขับเคลื่อนด้วยกำลังคนเอง เราสร้าง business partnership มี subcontractor 100 ราย supplier เกือบ 200 ราย เราโตโดยพันธมิตร เวลาทำงานทีมเราไปรับบรีฟจากลูกค้า พอเริ่ม structure เอาทีม subcontractor มาดูว่าใครอยู่ใน criteria ตัวอย่าง ซิโน-ไทย ไป study โครงการอู่ตะเภา ให้ JR เข้าไปดู engineering ถ้าจะวาง scope ต้องใช้งบเท่าไร JR เอาอยู่ไหม ให้รับรู้ criteria...” ข้อที่ 2 บริษัทไม่เทิร์นไปในงานที่ไม่ใช่ core ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู มีงานก่อสร้างพื้นฐานคือโยธา ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก บริษัทที่ได้สัมปทานจะยกงานส่วนนี้ให้ ทั้งยังช่วยหาผู้รับเหมาช่วง แต่จรัญปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่งานใน area ของบริษัทๆ ทำในส่วน engineering เขาขยายความว่า รถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 2 สายมีมูลค่าโครงการ 6 พันกว่าล้านบาท แต่เป็นงานโยธาไม่ถึง 20% ขณะที่งานวิศวกรรมระบบคิดเป็น 60% ซึ่งมีมูลค่าสูงและมาร์จินดีกว่า “สิ่งที่ JR แข็งแรงคือ วิศวกรรมเทคนิคและวินัยการเงิน...ผมอธิบายทีมว่า นี่คือ โลจิสติกส์ คือเอา wealth ตัวเอง โครงสร้างที่เราแข็งแรง ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์มีเงินสดในบัญชี 400 กว่าล้าน พอเข้าตลาดหลักทรัพย์มีเงินสดเหลือ 1,400 กว่าล้าน เราใช้จ่ายกับ supplier จน supplier เชื่อใจให้เครดิต ผมอธิบายทีมว่า wealth พวกนี้จะเป็นตัวพิสูจน์หลังโควิดมีอีกกี่บริษัทเหนื่อยสาหัส แต่แบงก์ trust เรา เราเพิ่งได้ (วงเงิน) จากกรุงไทย, กสิกร, ไทยพาณิชย์...เบ็ดเสร็จวงเงินเหลือ 2 พันกว่าล้าน และมีเงินฝากบริษัทอีก 1 พันกว่าล้าน นักวิเคราะห์การเงินบอกเสียโอกาส ผมบอกว่าไม่ wealth ตัวนี้ผม structure บนความเติบโต ปลายปีนี้จะมีสัญญาใหญ่ รถไฟสายสีเหลือง สายสีชมพู เพิ่งออกมาครึ่งเดียว ยังเหลืออีกครึ่ง 6 พันกว่าล้าน...ปลายปีที่ผ่านมาหลายบริษัทเช็คเด้ง แต่คู่ค้าบอกเราว่า ถ้าพี่เอาราคาไหนผมก็ขายให้เพราะได้ตังค์ นี่คือสิ่งที่เราสร้าง เราเตรียม wealth ไว้เป็นเครดิตไลน์ในการเติบโต” ปัจจุบัน JR ยังเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อขยับตัวไปรับงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น “วันนี้พอเรา build ตัวเองบนพื้นฐาน สร้าง trust ให้ลูกค้าเติบโตบน electrical และ ICT บน ICT เรา blend ไปไกลจับเทคโนโลยี ความเป็น IoT...การทำ excellent service คือหัวใจ สมมติเราทำงานสายส่ง ข้อเด่นของเราคือ medium voltage กับ high voltage ต่างจังหวัดยังเป็น low เทคโนโลยี แต่วันหน้าคนมีเงิน มี engineering ก็ทำได้เหมือนกัน เราปรับไปดีไซน์กริด รับงานที่ท้าทายขึ้น...เราจะก้าวตัวเองจากไฟฟ้า ICT เข้าสู่ oil & gas ในปิโตรเลียม เพื่อให้มี chance opportunity” ล่าสุดบริษัทได้ขยายงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเข้าไปในกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยเป็นงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยให้กับโครงการของบริษัท ไทยออยล์ ซึ่ง JR รับงานจากกิจการร่วมค้า Petrofac South East Asia, Saipem Singapore และ Samsung Engineering “เรากำลัง diversify ไปสู่ oil & gas อีกขาหนึ่ง จากเดิมมี 2 ขาคือ IT และ electrical ถ้าตัวนั้นทำแล้วโครงสร้างเกิด JR จะจับ instrumental ไปงาน electrical ซึ่งเป็น high grade เยอะขึ้น...ในแผน 5 ปี เราสร้างความเชื่อมโยงบนเทคโนโลยีบนวิศวกรรมตลอดเวลา” ในตอนท้ายจรัญกล่าวถึงหัวใจที่ทำให้บริษัทเติบโตกระทั่งก้าวมาถึงจุดนี้ว่า “เราเติบโตด้วยคน เราสร้างคนเสร็จก็สร้างงานเพื่อให้ blend และสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง ทำระบบไฟฟ้า พอคนอื่นจะเข้ามา เราก็ shift ไป oil & gas ที่ไกลขึ้น ถ้าเราติดกับดัก ตัวอย่างเช่น คนทำธุรกิจก่อสร้างและยังทำงานก่อสร้าง วันหน้าพอมีคนใหม่เข้ามา player เยอะขึ้น pricing จะเปลี่ยน “เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องการเป็น good governance และเราไม่ได้ต้องการโตแค่ไทย หากวันหน้าเป็น global เราจะทำงานที่ใหญ่กว่านั้น ตัวอย่างเช่น เรารับงานจากไทยออยล์ และ Samsung ผมบอกทีมว่า หากวันหนึ่ง success หวังว่า Samsung จะชวนผมว่ามา consortium กันไหม ชวนเราไปรับงานเป็น business partner กัน” ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine