ก้าวใหม่ของผู้นำด้านเทคโนโลยีการชำระเงินระดับโลกกับการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และการสนับสนุนศักยภาพและพลังของสตรีในโลกธุรกิจ
ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทด้านการเงินมากขึ้นทุกขณะ มาสเตอร์การ์ดพร้อมสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในภูมิภาคเอเชียเอเชียแปซิฟิก ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโปรเจกต์คิวอาร์โค้ดที่ประเทศอินเดียภายใต้ชื่อ Bharat QR ในปี 2559 ก่อนที่จะต่อยอดไปยังประเทศอื่นๆ ภายใต้การนำของ
ไอลีน ชูว ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด
“ช่วงที่เริ่มทำโปรเจกต์ Bharat QR เป็นช่วงเดียวกันกับที่รัฐบาลอินเดียพยายามผลักดันสังคมให้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด บทบาทของมาสเตอร์การ์ดจึงเป็นการร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมการชำระเงินของอินเดียด้วยเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด และยังได้นำเทคโนโลยีเดียวกันนี้ไปเสนอต่อ EMVCo ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลและรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทั่วโลก เพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานกลางของทั่วโลกสำหรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด”
จากประสบการณ์การทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมการเงินและฟินเทคราว 2 ทศวรรษ ไอลีนตระหนักเสมอว่า โอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน คือ รากฐานสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยืนยันว่า “ไม่มีเทคโนโลยีใดดีพอหากไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้ และไม่มีสิ่งใดคุ้มค่ามากพอที่จะทำหากไม่สามารถทำเพื่อคนทุกคนได้”
หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์การพัฒนาคิวอาร์โค้ดและระบบพร้อมเพย์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยศึกษาระบบคิวอาร์โค้ดที่ประสบความสำเร็จในประเทศอินเดีย เธอจึงตัดสินใจเสนอตัวมาทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
ภารกิจนำทัพนวัตกรรมทางการเงิน
ผลงานกว่า 5 ปีที่ไอลีนร่วมเสริมทัพนวัตกรรมให้กับมาสเตอร์การ์ดในการพัฒนาโครงการพื้นฐานของระบบการชำระเงินขององค์กรให้เป็น
“Multi-Rail Payment” หรือ การรองรับการชำระเงินทางดิจิทัลจากหลากหลายช่องทาง ที่นอกเหนือจากบัตรเครดิต ดังที่อาเจย์ บังกา ประธานกรรมการบริหารของบริษัท มักกล่าวเสมอว่ามาสเตอร์การ์ดไม่ใช่บริษัทบัตรเครดิต แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการชำระเงินที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ และผู้คนในต่างสถานที่เข้าด้วยกัน
“ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดในไทย เราได้ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ ทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ ช่องทาง และความปลอดภัยของการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลส ผ่านโครงการบริจาคอาหารเช้าแก่เด็กๆ ตามโรงเรียน (ทุก 1 การใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสด้วยบัตรมาสเตอร์การ์ด จะเท่ากับ 1 มื้ออาหาร) และแคมเปญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการชำระเงิน ซึ่งในปีที่ผ่านมาการชำระเงินแบบคอนแทคเลสผ่านบัตรมาสเตอร์การ์ดเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 37% ในปี 2562 มาเป็นเกือบ 70% ในปี 2563”
ดังนั้น พันธกิจหลักของบริษัทจึงมุ่งเน้นไปยังการสร้างสังคมที่ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการชำระเงินได้อย่างปลอดภัย ไร้รอยต่อ เท่าเทียม และทั่วถึง ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดได้สร้างความสำเร็จมากมายจากการร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วโลกจำนวนนับไม่ถ้วน เพราะนอกเหนือจากระบบชำระเงิน มาสเตอร์การ์ดยังได้แบ่งปันทรัพยากรที่องค์กรมีให้กับพันธมิตร ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการพูดคุยโมเดลธุรกิจ
ในขณะเดียวกันก็ได้เดินหน้าลงทุนในด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ การระบุตัวตน และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่แข็งแกร่ง และมอบบริการที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
“ดิฉันคิดว่ากำลังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีต่างพัฒนารวดเร็วเกินกว่าที่เราจะตามทัน จึงต้องมีความคิดที่เปิดกว้างว่า ไม่มีอะไรที่เหมาะกับทุกคนหรือทุกอย่าง”
ไอลีนยกตัวอย่างเทคโนโลยี AI ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของธุรกิจ ตลอดจนการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเงินและธนาคาร เช่น การจ่ายเงินโดยอัตโนมัติ (Automatic Payments) และล่าสุด
Mastercard Sonic Brand เสียงเพลงท่อนสั้นๆ ที่จะดังขึ้นมาทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรมาสเตอร์การ์ด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระบุตัวตนของแบรนด์
“เราเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ในโลกที่คนสามารถจำได้โดยไม่ต้องเห็นคำว่า มาสเตอร์การ์ด”
องค์กรแห่งความหลากหลายและวัฒนธรรมการให้เกียรติ
นอกจากการเติบโตของระบบนิเวศด้านการบริการทางการเงินที่มีพลวัตรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไอลีนคิดว่าธุรกิจในประเทศไทยทำได้ดีมาก คือ การสนับสนุนผู้บริหารหญิง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนซีอีโอหญิงในประเทศไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 24 ขณะที่ทั่วโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพียงร้อยละ 20 และ 13 ตามลำดับ
ในฐานะผู้นำหญิงคนหนึ่ง ไอลีนเชื่อว่าความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ที่ความมั่นใจ ผู้ชายถูกเลี้ยงให้เติบโตมาในโลกที่ต้องมีความเชื่อมั่น กล้าหาญ ขณะที่ผู้หญิงมักตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเองมากมาย และคัดตัวเองออกจากการแข่งขันเร็วเกินไป
"ถ้าจะให้สรุปเคล็ดลับของความสำเร็จ คือ คุณต้องมีคนที่เชื่อมั่นว่าคุณทำได้อยู่รอบข้าง ไม่ใช่คนที่จะขอให้คุณลองคิดที่จะไม่ทำ ดิฉันไม่ใช่ซูเปอร์วูแมน ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นที่มีลูกและรู้สึกเหนื่อย เพียงแต่มีซูเปอร์เชียร์ลีดเดอร์ที่คอยอยู่ข้างๆ ให้ความเชื่อมั่น เพราะทุกครั้งที่ดิฉันคิดจะเลิก สามีจะบอกว่า คุณทำได้ อย่าไปคิดมาก ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง"
ทั้งนี้ ภายใต้ความมุ่งมั่นยกระดับบริการให้ตอบโจทย์ทางธุรกิจและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ไอลีนยึดหลักการบริหารบนความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงเปิดใจรับฟังสิ่งที่พันธมิตร ทีมงานและลูกค้าพูดอย่างใส่ใจ ซึ่งช่วยให้สามารถทำงานได้ดีทั้งในประเทศไทยและเมียนมาร์ซึ่งเป็นคนละตลาดกันเลย
“แต่วิธีเดียวที่จะบริหารให้ประสบความสำเร็จในโลกที่มีหลายสิ่งที่เราไม่เข้าใจและมีหลากหลายแนวทางที่มีค่าจากหลายคน คือ การเสี่ยงอย่างรอบคอบ เดินหน้าต่อในแบบที่คิดแล้วอย่างถี่ถ้วน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
อ่านเพิ่มเติม:
ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ ภารกิจปั้น “กบข.” กองทุนบำนาญโลก