“กันกุล” อาณาจักรพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับการวางรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่ง และสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงตามดวงตะวันและสายลมของประเทศ พร้อมรุกขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องและการลงทุนในต่างแดน ด้วยความมั่นใจในเป้าหมายการเติบโตระดับหมื่นล้านใน 2 ปี
เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่อง โอกาสสร้างเส้นทางธุรกิจหลายพันล้านบาทกลายเป็นแรงผลักดันให้บุตรชายเถ้าแก่ร้านฮาร์ดแวร์และรับเปลี่ยนหลอดไฟ เบนเข็มกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า สู่ความท้าทายใหม่ในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ “กันกุล” โดยมีคู่ชีวิตเป็นคู่คิดร่วมสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน
เส้นทางชีวิตที่พลิกผันจากพยาบาลแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลกลางกว่า 7 ปี สู่เก้าอี้ผู้บริหารและเจ้าของอาณาจักรโรงไฟฟ้าที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หลังตัดสินใจใช้ชีวิตคู่พร้อมเคียงข้างด้านธุรกิจกับ กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจโรงไฟฟ้ารายแรกๆ ในแดนอาทิตย์อุทัยได้สำเร็จ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
“หลังจากแต่งงานจึงเริ่มเข้ามาดูแลธุรกิจ จากที่ไม่รู้อะไรเลย หรือเริ่มต้นจากศูนย์ สิ่งที่เรามองคือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินต่อไปข้างหน้าได้ ซึ่งโชคดีที่ทีมท่านประธานกัลกุลให้โอกาสเราเข้ามาบริหาร เรามีพนักงานและทีมงานที่ดี มีประสบการณ์ มีความรู้และความสามารถ เราเริ่มจากการไม่รู้และเรียนรู้ โดยทำความเข้าใจความคิดในมุมของทีมงานที่แลกเปลี่ยนความคิดกัน หรือแชร์กัน” โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวันแรกที่เริ่มต้นบนเส้นทางธุรกิจ
แม้ก้าวแรกของโศภชาจะเริ่มต้นจากงานในโรงพยาบาล แต่ความรู้และความเชี่ยวชาญทางธุรกิจสามารถสั่งสมได้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน โดยเฉพาะในธุรกิจที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและตอบรับทุกโอกาสสร้างการเติบโต นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2525 พร้อมขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2553
ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายธุรกิจผลิต จัดหาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานและพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม เช่น หลอดไฟแอลอีดี (LED) ภายใต้บริษัท กันกุล เอ็นเนอร์จี โซลูชั่น แอนด์ ไลท์ติ้ง จำกัด รวมถึงการผลิตและจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้บริษัท จี.เค.แอสเซ็มบลี้ จำกัด และ บริษัท จี.เค.พาวเวอร์ โปรดักส์ จำกัด
จุดเปลี่ยนทางธุรกิจที่สำคัญและสร้างรายได้หลักให้กับกันกุล เริ่มขึ้นหลังจากบริษัทชนะการประมูลจำหน่ายกังหันลมให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้วยต้นทุนราว 120 ล้านบาทต่อการสร้างกังหัน 1 ต้น ทำให้ครอบครัวดำรงปิยวุฒิ์เล็งเห็นโอกาสต่อยอดความมั่นคงทางธุรกิจ พร้อมขยายอาณาจักรพลังงานทดแทน
“การลงทุนที่ญี่ปุ่นยากมาก ในช่วง 2 ปีแรกแทบจะไม่ได้ทำอะไร กว่าจะซื้อที่ดินครบเพราะที่ดินที่ญี่ปุ่นค่อนข้างแพง และเจ้าของที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่รายได้ดี หรือไม่ต้องการขายที่ โครงการแรกในญี่ปุ่นใช้เวลาประมาณ 3 ปี แต่เราไม่คิดถอย เพราะเชื่อมั่นในประเทศและมาตรการที่ออกมาดอกเบี้ยราคาถูกและอัตราซื้อขายไฟค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบ้านเรา ซึ่งเราเห็นความคุ้มค่าในการลงทุน”
โศภชากล่าวถึงการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท กันกุล ชูบุ พาวเวอร์เจน จำกัด, บริษัท จี-พาวเวอร์ ซอร์ซ จำกัด, บริษัท รางเงินโซลูชั่น จำกัด และบริษัท อีโค่ ไทยเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน และบริษัท เอ็นเค เพาวเวอร์โซล่า จำกัด โดยเป็นบริษัทย่อยของบริษัท รวมถึงการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นตลอดจนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและเวียดนาม
ส่วนโครงการที่เวียดนาม ได้ดำเนินการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 โครงการ ขนาดรวม 60 เมกะวัตต์ และได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันกันกุลสามารถครองสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 638 เมกะวัตต์ และจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้ว 437 เมกะวัตต์ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมกำลังการผลิต 157.9 เมกะวัตต์ และขยายการลงทุนพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มไปยังต่างประเทศประมาณ 237 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 170 เมกะวัตต์
นอกจากนั้นบริษัทยังขยายธุรกิจก่อสร้างระบบไฟฟ้าทั้งระบบสายส่ง สายจำหน่ายสายลงดิน และสถานีไฟฟ้า รวมโครงการที่ได้รับคำสั่งซื้อแล้วในปีที่ผ่านมาราว 8 พันล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมียอดขายและอัตรากำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยรายได้จำนวน 7.2 พันล้านบาท เทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่จำนวน 6.46 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.37%
และกำไรสุทธิ 2.15 พันล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่จำนวน 1.09 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 97.88% โดยสัดส่วนรายได้ยังมาจากการขายไฟฟ้า และส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจำนวน 4.5 พันล้านบาท รองลงมาเป็นการรับเหมาก่อสร้าง และการให้บริการจำานวน 1.1 พันล้านบาท
“เราเติบโต 20% แต่กำไรเติบโต 100% โดยสัดส่วนรายได้ของเราเป็นธุรกิจพลังงานประมาณ 64% ที่เหลือ 34% เป็นเทรดดิ้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตในโรงงานเราและงานรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเราทำโซลาร์ด้วย โดยส่วนใหญ่ 70% เป็นการนำเข้าและนำมาประกอบ รวมถึงทดสอบที่โรงงานเรา เพราะการนำเข้าถูกกว่า ยกเว้นหน่วยงานราชการที่ส่งเสริมให้ผลิตในประเทศ หรือมาตรฐานอุตสาหกรรมในประเทศ เราจึงผลิต แต่ไม่ได้ทำส่งออก เราผลิตเพื่อในประเทศเท่านั้น”
รุกโรงไฟฟ้าต่างแดน
แม้ในวันนี้กันกุลจะสามารถขยายอาณาจักรอย่างแข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ แต่โศภชายังให้ความสำคัญกับการลงทุนทางธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้กับทุกธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิต จัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ธุรกิจผลิต จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ธุรกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตลอดจนธุรกิจให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
ด้านกลยุทธ์ในธุรกิจพลังงานที่สร้างรายได้หลักให้กันกุล โศภชายังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนามและไต้หวัน ด้วยเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าครบ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2564 ซึ่งบริษัทได้เริ่มทยอยรับรู้รายได้จากการดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เต็มปี และคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ในปีนี้
“ในอนาคตน่าจะเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะลมต้องใช้พื้นที่ที่มีลมแต่ในไทยความเร็วลมค่อนข้างต่ำ ในอนาคตถ้าจะขยายโครงการพลังงานลมน่าจะไปที่เวียดนามมากกว่า เพราะความเร็วลมมากกว่าบ้านเรา รวมถึงเรายังสนใจขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มที่เวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุย 2 โครงการ และน่าจะรู้ผลช่วงไตรมาส 2”
ส่วนธุรกิจด้านเทรดดิ้ง หรือการจัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ยังคงมุ่งรักษาฐานลูกค้าสำคัญขององค์กร ได้แก่ หน่วยงานการไฟฟ้า และองค์กรธุรกิจเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ด้วยความมั่นใจในการเติบโตด้านรายได้ไม่น้อยกว่า 30-40% ตามการเติบโตของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง EPC (engineering, procurement and construction) ของบริษัท
ด้านกลยุทธ์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง EPC ยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้น จากการชนะการประมูลงานก่อสร้างระบบสายส่งและงานก่อสร้างสถานีย่อยประมาณ 1.9 พันล้านบาท งานนำสายไฟลงใต้ดิน และงานระบบสายส่งแรงดันสูง 2.8 พันล้านบาท
และงานนำท่อร้อยสายเคเบิลไฟเบอร์ออพติกลงใต้ดินให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมถึงงาน EPC Solar Rooftop อีกราว 4.5 พันล้านบาท ส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดกว่า 9.2 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถทยอยการรับรู้ในปีนี้ประมาณ 35-40% พร้อมเดินหน้าสะสม backlog อย่างต่อเนื่อง
“สัดส่วนรายได้จากพลังงานช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจจะแตะที่ 80% หลังจากโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จ ส่วนเทรดดิ้งและก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามารถเติบโต 10-15% อยู่แล้ว เรายังคงให้ความสำคัญในส่วนนี้ ซึ่งในวันนี้เรามีออร์เดอร์ backlog ประมาณ 9 พันล้านบาท ในอนาคตเรามองถึงการนำธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”
“สำคัญที่สุดคือ การเชื่อมั่นในทีมงาน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราวางเป้าหมายร่วมกันและกระจายกันไปทำงาน ระหว่างทางอาจจะสะดุด หรือไม่เป็นไปตามแผนบ้าง แต่เรามาพูดคุยกัน ด้วยความเชื่อใจซึ่งกันและกันรวมถึงเราเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้ทำงานและแสดงความคิดเห็น พร้อมพูดคุยกันเป็นประจำ แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองและทำงานกันเป็นทีม ทำให้กันกุลเติบโตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เราเติบโตเฉลี่ยกว่า 25% ทุกปี” โศภชากล่าวทิ้งท้าย
- อ่านเพิ่มเติม จิรฐา ทรงเมตตา ACE พิมพ์เขียวโรงไฟฟ้ารักษ์โลก
คลิกอ่านฉบับเต็ม โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ คว้าแสงแห่งโอกาส "กันกุล" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine