ผลสำรวจ “เศรษฐีใจบุญ” ที่ใช้ความมั่งคั่งส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของสังคม พบ 2 เศรษฐีไทยที่ติดในทำเนียบเศรษฐีใจบุญของทวีปเอเชีย
การสรรหารายชื่อคนใจบุญประจำปีครั้งที่ 12 ของ Forbes Asia ได้คัดกรองจากบุคคลที่เข้าข่ายหลายสิบคนเพื่อรวบรวมคนใจดีที่รักการช่วยเหลือผู้คนในเอเชียแปซิฟิก
ผู้มีเกียรติที่อยู่ในการสำรวจมีตั้งแต่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และคนดัง การคัดเลือกนี้ต่างจากอันดับบุคคลร่ำรวยเพราะเป็นการคัดเลือกที่มีความเป็นอัตวิสัย เป้าหมายคือการสรรหาผู้ใจบุญที่บริจาคเงินส่วนตัว ไม่ได้ทำผ่านธุรกิจของพวกเขา (เว้นแต่ว่าพวกเขาจะถือหุ้นจำนวนมากในบริษัท ซึ่งในกรณีนี้ เราจะถือว่าเงินส่วนที่บริจาคเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพวกเขา)
นอกจากนี้ การคัดสรรยังไม่รวมเอานักระดมทุนหรือผู้นำองค์กรไม่หวังผลกำไร แม้ว่าพวกเขาจะมีบทบาทสำคัญ โดย Forbes Asia มองหาบุคคลที่มีเงินทุนหรือทุนทางสังคมที่จะสร้างความแตกต่างในประเด็นที่มีความสำคัญ
เช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆ มา เรามุ่งค้นหารายชื่อใหม่ๆ เว้นแต่ว่าผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อในปีก่อนๆ ได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการหรือได้ดำเนินการที่มีนัยสำคัญแล้ว ซึ่ง Forbes Asia ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด 40 คนจากหลากหลายประเทศในทวีปเอเชีย
อย่างไรก็ดี Forbes Thailand ขอนำเสนอบุคคลในประเทศไทยที่มีบทบาทโดดเด่นในการบริจาคทรัพย์สินในปีที่ผ่านมา ซึ่งมี 2 ท่านที่อยู่ในรายชื่อเศรษฐีผู้ใจบุญของ Forbes Asia ในครั้งนี้ คือ มาลี ตั้งสิน ประธานโรงแรมแม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ รามาดา พลาซา กรุงเทพฯ และเพชร โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเคยเป็นบุคคลบนปก Forbes Thailand เมื่อเดือนกันยายน 2561
มาลี ตั้งสิน, 90 ปี ประธานโรงแรมแม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ รามาดาพลาซา กรุงเทพฯ
เมื่อครั้งเดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในภาคกลางช่วงราวปี 2523-2527 เจ้าอาวาสได้ถาม มาลี ตั้งสิน ผู้ที่เกิดในประเทศจีน และ อาจิน สามีผู้ล่วงลับ ว่าพวกเขาอยากให้การอุปถัมภ์เด็กชายฐานะยากจนจำนวนหลายคนที่อาศัยอยู่ในวัดและกำลังเรียนชั้นมัธยมต้นแต่ไม่มีกำลังเรียนต่อมัธยมปลายหรือไม่
ไม่นานมานี้มาลีเพิ่งได้รับการเยี่ยมเยือนจากนักเรียนมัธยมปีที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่ 36 ที่มูลนิธิของครอบครัวได้ให้ทุนทรัพย์ในการศึกษา โดยรวมแล้ว มาลีและมูลนิธิใช้เงินไปแล้วประมาณ 65 ล้านบาท เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กชาย 450 คน เพื่อศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ
เด็กๆ เหล่านี้พักอาศัยในอาคารของครอบครัวตรงข้ามโรงแรมแม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ และรับประทานอาหารที่ห้องอาหารพนักงานของโรงแรม โดยมีลูกๆ 7 คนของมาลีช่วยดูแลเด็กๆ และจัดการเรื่องทัศนศึกษา
ในช่วงแรกเริ่มนั้นมีแต่เด็กชาวไทย แต่ปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาชนเผ่าม้งและอาข่าจากภาคเหนือ หลังจบชั้นมัธยมปลายแล้ว เด็กส่วนใหญ่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรืออาชีวศึกษา
เพชร โอสถานุเคราะห์, 64 ปี ซีอีโอ โอสถสภา
เพชรกล่าวว่าเขาใช้เงินไปแล้วราว 600-900 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่
เขาเผยว่าการจัดสรรเงินแก่พิพิธภัณฑ์จะทำได้ง่ายขึ้นภายหลังบริษัทโอสถสภา ซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัวที่ก่อตั้งมานานถึง 127 ปี ได้เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทของเขาได้รับการประเมินมูลค่าที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพชรกล่าวว่าก่อนหน้านี้เขาได้ชะลอแบบพิพิธภัณฑ์ 2 แบบไว้ก่อน แต่พิพิธภัณฑ์ “ดิบ กรุงเทพฯ” ของเขาได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วในเดือนมีนาคม และมีกำหนดเปิดในปี 2563 พิพิธภัณฑ์ขนาด 3 ชั้นดังกล่าวจะจัดแสดงคอลเล็คชั่นศิลปะขนาดมหึมา 500 ชิ้นของเขา ตลอดจนนิทรรศการหมุนเวียน
“ผมหลงใหลในศิลปะเสมอมา” นักสะสมงานศิลป์ตัวยงกล่าว “ผมแค่อยากแบ่งปันความหลงใหลของผม”
นอกจากมาลี ตั้งสิน และเพชร โอสถานุเคราะห์แล้ว ยังมีโครงการเพื่อสังคมในกัมพูชาที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐีผู้ทำธุรกิจในไทยด้วย
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีคนใจบุญจากกัมพูชาในลิสต์รายชื่อ คือ Suwanna Gauntlett ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในกัมพูชามาเป็นเวลา 18 ปี เป็นผู้ที่ทุ่มเทเสียสละให้กับการปกป้องป่าฝนและสัตว์ป่าที่นั่น โดยนอกจากจะเป็นหนึ่งในผืนป่าฝนแห่งสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่าและพันธุ์สัตว์หายากหลายชนิด
วิธีการอันสร้างสรรค์ของ Wildlife Alliance ที่ Gauntlett ก่อตั้งขึ้นและดำรงตำแหน่งซีอีโอ คือเช่าซื้อที่ดิน 18,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 112,500 ไร่) ในปี 2552 สร้างพื้นที่สงวนพันธุ์สัตว์ป่าที่ดำเนินงานโดยเอกชน
Wildlife Alliance จัดจ้างและอบรมเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในพื้นที่ที่มีปัญหาการลักลอบล่าสัตว์และแย่งยึดที่ดิน เจ้าหน้าที่กว่า 100 คนออกลาดตระเวนกว่า 3,500 เที่ยวในแต่ละปี และสามารถยึดที่ดักสัตว์ผิดกฎหมายได้นับพัน
นอกจากนี้ องค์กรยังได้ล็อบบี้ให้มีการลดหรือยกเลิกสัมปทานสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเกษตรกรรมทั่วพื้นที่หลายล้านไร่ในเขต Cardamom ของกัมพูชา
ปีที่แล้ว Wildlife Alliance ได้จับมือกับมหาเศรษฐีไทย William Heinecke แห่งไมเนอร์ กรุ๊ป และ YAANA Ventures ของ Khiri Travel เปิดแคมป์ที่มีเต๊นท์สำหรับพักผ่อนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์เต๊นท์ 9 หลังให้บริการที่สะดวกสบายแก่ผู้มาพักแคมป์ปิ้งในป่า โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานนำเดินสำรวจ รายได้ทั้งหมดบริจาคให้กับองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งนี้เพื่อสนับสนุนงานด้านอนุรักษ์ในอนาคต
- ชมวิดีโอสัมภาษณ์ William Heinecke ยกชั้นไมเนอร์ Global Player
บรรณาธิกร: Grace Chung เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ภาพ: Forbes Thailand
ติดตามอ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2562 หรือคลิกอ่านในรูปแบบ e-Magazine