วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธรผู้สร้าง “อาร์ตชบุรี” - Forbes Thailand

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธรผู้สร้าง “อาร์ตชบุรี”

ศิลปาธร มาจากคำว่า ศิลปะ + ธร หมายถึง ยึดโยงและดำรงรักษางานศิลปะ ศิลปินศิลปาธรจึงเป็นการระบุถึงผู้สร้างงานศิลปะและยึดโยงศิลปะให้คงอยู่กับสังคม ชุมชน ผู้คน ตลอดจนกาลเวลาและยุคสมัย


    รางวัลศิลปาธรเป็นการยอมรับเชิดชูจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับศิลปินผู้สร้างงานศิลป์และดำรงรักษาศิลปะให้อยู่คู่สังคมได้เป็นอย่างดี วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 เป็นแบบอย่างของศิลปินศิลปาธรผู้ผลักดันและเพิ่มค่างานศิลปะเข้ากับชุมชนมาโดยตลอด

    อย่างที่ใครหลายคนทราบดีเขาคือผู้ตั้งต้นความเป็น “อาร์ตชบุรี” หรือเมืองศิลปะราชบุรี ที่เป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวน่าสนใจแห่งภาคตะวันตก จากเมืองทางผ่านกลายเป็นจุดแวะพักเพื่อเสพงานศิลป์และชื่นชมความอาร์ตของเมืองในแง่มุมที่แตกต่างตลอดหลายปีที่ผ่านมา

    วศินบุรี หรือพี่ติ้ว ชื่อเล่นที่น้องๆ ศิลปินเรียกขานในฐานะศิลปินผู้ทุ่มเท ชัดเจนในการสร้างสรรค์งานศิลปะและสืบทอดกิจการของบ้าน “เถ้าฮงไถ่” โรงงานโอ่งมังกรเก่าแก่อายุกว่า 90 ปีของราชบุรี เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวผู้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีหลังจบมัธยมปลายด้วยข้อเสนอของบิดา โดยที่เขาเองไม่เคยคิดว่าจะเดินทางบนถนนสายศิลปะมาตั้งแต่ต้น



ไม่เคยมีฝันด้านศิลปะ

    “ไม่เคยสนใจศิลปะ ออกจะเกลียดด้วยซ้ำ เพราะเคยมีเหตุฝังใจสมัยเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ครูศิลปะให้โจทย์วาดรูปอะไรก็ได้ ผมวาดภูเขา สายน้ำ ดวงอาทิตย์ แต่ได้คะแนน 0 เป็นไปได้อย่างไร” วศินบุรีย้อนอดีตฝังใจวัยเด็กให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับรู้ที่มาของความไม่ชอบงานศิลปะในวัยเด็กเพราะรู้สึกว่าถูกดูแคลนในตอนนั้นซึ่งเขากลายเป็นตัวตลกของเพื่อนๆ ทำให้ไม่สนใจและไม่คิดจะทำงานศิลปะเลย

    ขณะเดียวกันทางบ้านเป็นโรงผลิตโอ่งมังกร เขาคุ้นเคยกับงานปั้นดินและการออกแบบที่ต่อเนื่องเหมือนเป็นคอมฟอร์ตโซนของตัวเองตลอดมา เด็กชายติ้วไม่ใช่คนดื้อ ไม่เกเร แต่ก็ไม่ค่อยแสดงออกมากนัก เขาค่อนข้างเชื่อฟังบิดา และจุดเปลี่ยนในชีวิตเขาก็เริ่มต้นมาจากข้อเสนอของบิดาว่า “ไปเรียนต่อที่เยอรมนีไหม? ไปอยู่กับคุณน้า”

    เขาไม่ได้ลังเลกับข้อเสนอนี้ มองว่าเป็นโอกาสจึงคว้ามันไว้ โดยขณะนั้นเขาเรียนอยู่ปี 1 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของบิดาที่อยากให้เรียนวิศวะ เขาตัดสินใจไปเยอรมนีโดยยังไม่มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ฝังในจิตสำนึกของวศินบุรีตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นคือ ถ้าตัวเองไปเรียนวิศวะหรือสายอาชีพอื่นตามที่ทางบ้านต้องการแล้วกิจการของเถ้าฮงไถ่ที่คุณปู่และคุณพ่อทำมาเป็นอย่างดีใครจะดูแลต่อ เป็นคำถามที่ก้องอยู่ในสำนึกเขาตลอดเวลา

    เมื่อมีโอกาสไปเยอรมนีการจะเรียนต่อก็ไม่ใช่ง่าย วศินบุรีต้องไปฝึกภาษาเยอรมันกว่า 10 เดือน จากนั้นก็หาโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ ได้โรงเรียนฝึกอาชีพด้านเซรามิก (สถาบันเทคโนโลยีสำหรับเครื่องเคลือบดินเผา เมือง Landshut) จึงได้เข้าเรียน และหลังจากนั้นก็พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัย (MFA University Gesamthochschule Kassel Germany) โดยใช้พอร์ตงานเซรามิกเข้ายื่นสมัครในการสอบรอบนั้นแต่เขาสอบไม่ผ่าน

    ความไม่มั่นใจมาเยือนอีกครั้ง ความคิดของเขาสับสนว้าวุ่น บังเอิญโชคดีมีอาจารย์ท่านหนึ่งเห็นพอร์ตงานและต้องการนักศึกษาด้านนี้พอดี วศินบุรีจึงได้เป็นนักเรียนรับเชิญของอาจารย์ท่านนั้นในมหาวิทยาลัยที่เขาสอบเข้าไม่ได้นั่นเอง และในปีต่อมาเขาก็ยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยนี้อีกครั้งผ่านการคัดเลือกได้เรียนในที่สุด ใช้เวลา 4 ปีในการเป็นนักศึกษาและจบออกมาด้วยวุฒิปริญญาโทด้านเซรามิก ทำให้เขามองเห็นโอกาสต่อยอดกิจการที่บ้าน คาดหวังจะยกระดับงานเซรามิกของเถ้าฮงไถ่ไปสู่ความเป็นสากลมากขึ้น

    ช่วงเริ่มแรกที่วศินบุรีเรียนจบปริญญาโทกลับมาไทย ตอนนั้นงานศิลปะในราชบุรียังไม่มีอะไรโดดเด่น และเขาไม่รู้จักศิลปินในไทยเลยเพราะไม่ได้อยู่ในแวดวง สัมผัสแรกที่กลับมาในช่วงปี 2542 เขารู้สึกว่าราชบุรีไม่มีอะไรเลย ตอนนั้นวศินบุรีอายุราว 28 ปี ช่วงที่กลับมาพิพิธภัณฑ์ราชบุรีกำลังซ่อมแซมอาคาร เขาเดินเข้าไปติดต่อกับเทศบาลเพื่อขอนำงานศิลปะของเพื่อนๆ จากเยอรมนีมาแสดงที่นี่ แต่ยังไม่ทันจะซ่อมอาคารเสร็จก็ได้รับแจ้งว่าทางจังหวัดจะนำพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์อื่น

    แต่ขณะนั้นเขาได้รับงานจากเพื่อนๆ มาแล้วซึ่งมี 20 กว่าชิ้น ทั้งงานเพนต์ โฟโต้ เซรามิก ใส่ตู้คอนเทนเนอร์มา เมื่อนโยบายการใช้พื้นที่เปลี่ยน เขาจึงนำงานของเพื่อนๆ ไปจัดแสดงที่หอศิลป์เจ้าฟ้าแทน จึงเป็นจุดเริ่มต้น

    “ตอนนั้นไม่คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แค่คิดทำบางอย่างที่ชอบให้เกิดกับบ้านเรา ศิลปะไม่ใช่ความจำเป็น จึงเป็นหน้าที่เราที่อยู่ในแวดวงเรื่องนี้ต้องเป็นคนทำ” นั่นคือเหตุผลว่าทำไมวศินบุรีจึงต้องการนำงานศิลปะมาจัดแสดงให้ผู้คนได้เห็น


สร้างงานศิลป์เพื่อชุมชน

    เขาอยากให้ศิลปะเป็นเรื่องที่คนจับต้องได้ เข้าถึงได้ง่ายระดับชุมชนจึงพยายามดึงหลายภาคส่วนมาเป็นความร่วมมือ นำงานศิลปะมาประกอบในเมือง โดยศิลปะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ถ้าเปรียบก็เหมือนมุมซ้ายสุดของภาพซึ่งหากหายไปคนก็ไม่รู้เพราะคนไม่สนใจ แต่ในเมื่อเขาสนใจ ทำได้ และไม่เดือดร้อนใครเขาก็ทำ เพราะอยากเห็นภาพชุมชนที่สมบูรณ์โดยมีศิลปะเป็นส่วนประกอบ ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นคนที่ชื่นชอบงานศิลปะและเป็นศิลปินผู้สร้างงานศิลป์ไปแล้ว แม้ว่าในวัยเด็กเขาจะมีความทรงจำที่ไม่ดีนักต่อเรื่องศิลปะก็ตาม

    วศินบุรีต่อสู้กับการสร้างงานศิลปะในรอยต่อของการศึกษา เมื่อครั้งเขาไปเรียนที่เยอรมนีซึ่งไม่ได้มองว่าเซรามิกคืองานศิลปะ มองเป็นงานฝีมือหรือหัตถกรรมมากกว่า แต่เขายึดมั่นว่างานเซรามิกเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตชิ้นงาน

    “ผมกลับมาใช้รูปแบบที่ตัวเองทำ มีความสนใจเทคนิคระดับหนึ่ง เอาเทคโนโลยีการทำสีเซรามิกมาทดลองวิจัยและเสริม ไม่เคยเปลี่ยนสิ่งที่อากงและพ่อทำ แต่เพิ่มเทคนิคเข้าไปมากขึ้น” เขาย้ำและยืนยันว่า ยังคงรักษาและเห็นคุณค่าของคอมฟอร์ตโซน โรงงานโอ่งที่มีบุญคุณกับครอบครัว จึงไม่คิดจะเปลี่ยน เพียงแต่ทำเพิ่มเข้าไปเป็นการต่อยอดคุณค่าเดิมให้มีคุณค่า มีความทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น

    วศินบุรีบอกว่า สิ่งที่เขาทำคือการเพิ่มความแปลกใหม่ โดยยังคงรักษาคุณค่าเดิมไว้แทบทุกอย่าง แม้กระทั่งชื่อเขายังใช้ชื่อเดิม “เถ้าฮงไถ่” ไม่เปลี่ยน เพราะมองว่าความเป็นอินเตอร์ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่อยู่ที่ผลงาน อยู่ที่วิธีการทำและผลงานเป็นที่ยอมรับระดับไหน “เราไม่ต้องออกนอกกรอบไปตามใคร เราดึงเขาให้มาในกรอบที่เราเป็นก็ได้” นั่นคือแนวคิดที่เขาใช้และทำมาอย่างต่อเนื่อง

    “ผมพยายามจัดกิจกรรมซัพพอร์ต เชิญศิลปินเซรามิกมาซัพพอร์ต ช่วงนั้นราว 20 ปีก่อนคนทำงานเซรามิกน้อยไม่หลากหลาย” เขาเล่าถึงสถานการณ์ด้านศิลปะเกี่ยวกับเซรามิกที่มีคนจัดน้อยมาก มีเพียงเขาที่จัดงานใหญ่ล่าสุดที่เพลย์กราวด์ทองหล่อเป็นงานฉลอง 75 ปี เถ้าฮงไถ่

    ครั้งนั้นนำศิลปินหลายสาขามาทำงานเซรามิก ทั้งนักออกแบบแฟชั่น ช่างภาพ มาจัดเป็นเซรามิกร่วมสมัย ซึ่งไม่เหมือนงานเซรามิกแห่งชาติ ส่วนในราชบุรีเขาพยายามหาพื้นที่และนำงานศิลปะเข้าไปติดตั้งเพื่อให้คนได้สัมผัสงานง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะมองว่างานศิลปะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์

    เพราะคนทั่วไปไม่ได้เข้าพิพิธภัณฑ์เป็นปกติ ฉะนั้นจึงต้องพยายามนำศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันปกติของผู้คนให้ได้ เช่น ไปติดตั้งในร้านอาหาร ในสวนสาธารณะ บนเขื่อน เมื่อทำสิ่งเหล่านี้ได้ภาพความเป็นเมืองศิลปะมากขึ้น และผู้คนได้สัมผัสชื่นชมกับงานศิลปะได้ง่ายขึ้น


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นำพล มลิชัย ผนึกกำลังติดปีก SCGD

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine