PASSION & BEYOND ของนักสะสมนาฬิกาหรู “เชษฐา ส่งทวีผล” - Forbes Thailand

PASSION & BEYOND ของนักสะสมนาฬิกาหรู “เชษฐา ส่งทวีผล”

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Dec 2022 | 08:02 PM
READ 4423

ในแวดวงนาฬิกาหรู ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “เชษฐา ส่งทวีผล” นักสะสมนาฬิกาตัวยงผู้หลงใหลเครื่องบอกเวลามากว่า 30 ปี และเป็นเจ้าของนาฬิกาข้อมือหรูหลายแบรนด์ดัง รวมทั้งรุ่นหายากที่กลุ่มคนรักนาฬิกาต้องการครอบครอง 


ซึ่ง Forbes Life มีโอกาสได้พูดคุยกับเชษฐา หรือ ดร.บอย ถึงเสน่ห์ของนาฬิกาที่เป็นมากกว่าอุปกรณ์บอกเวลา


Q: จุดเริ่มต้นของการสะสมนาฬิกา

A:  เรือนแรกคือ Seiko แต่เรือนที่ทำให้ชอบนาฬิกาคือ Rolex Datejust รุ่นสองกษัตริย์ หน้าปัดสีขาว ที่คุณแม่ซื้อให้ตอนประถม แต่ให้เก็บไว้ใส่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ที่คุณแม่ต้องซื้อเก็บไว้ก่อนเพราะราคานาฬิกาแพงขึ้นทุกปี

    ตอนนั้นรู้สึกว่ามันมีมูลค่าสูงเพราะคุณแม่ย้ำตลอดว่าให้เก็บไว้ใส่ตอนโต และยิ่งเห็นการเดินของเข็มที่เดินนุ่มมากเพราะเป็นระบบออโตเมติกยิ่งรู้สึกว่ามันน่าพิศวง ไม่เหมือนแบบควอตซ์ที่ใส่อยู่ ผ่านไป2 ปีน้าชายมาขอซื้อต่อในราคา 8 หมื่นบาท ซึ่งได้กำไรถึง 2 หมื่นบาท เป็นราคาที่กระโดดมาก จึงเริ่มรู้ว่านาฬิกามีมูลค่าและเป็นการลงทุนที่ดี เราได้ใช้และยังได้กำไรจากการขายต่อ แถมมีคนมาขอซื้อโดยที่เราไม่ต้องเสนอขาย


Rolex Datejust


Q: ทำไมนาฬิกาจึงน่าสะสม

A: ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ราคาของนาฬิกาขึ้นทุกปีเพราะคุณภาพในการผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบนาฬิกาค่าแรงในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้ทักษะความสามารถและประสบการณ์ส่วนทองคำซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหลายรุ่นมีราคาขึ้นตลอดทำให้ต้นทุนการผลิตนาฬิกาขึ้นทุกปีและยิ่งนานไปความต้องการในตลาดมีมากขึ้น สวนทางกับนาฬิกาที่มีปริมาณการผลิตเท่าเดิมหรือน้อยลงด้วยซ้ำ เพราะคนทำนาฬิกามีแต่คนรุ่นเก่าๆ

    ในขณะที่รถยนต์มีการเสื่อมสภาพ แต่นาฬิกาสามารถใช้งานได้เป็นร้อยๆ ปีหยิบขึ้นมาขยับและหยอดน้ำมันก็เดินได้นาฬิกาเป็นของไม่กี่อย่างในโลกที่มีคุณค่าและน่าสะสมมากกว่าอย่างอื่นเป็นของมูลค่าสูงที่สามารถนำมาใส่ได้นอกจากบอกเวลาแล้วยังเป็นตัวบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่อีกด้วย


Q: ปัจจุบันมีทั้งหมดกี่เรือน และใช้เงินไปทั้งหมดเท่าไร

A:  มากกว่า 100 เรือนรวมๆ แล้วใช้เงินประมาณ 50 ล้านบาทเรือนที่แพงที่สุดคือ Patek Philippe Sky Moon Tourbillon ซื้อในราคา 7-8 ล้านบาท ตอนนี้ราคา 15 ล้านบาท รองลงมาคือ Richard Mille RM 11 Chronograph ซื้อในราคา 3-4 ล้านบาท ปัจจุบันราคาพุ่งไป 12-13 ล้านบาท และทุกเรือนที่มีอยู่ราคาขึ้นทั้งหมดไม่มีเรือนไหนราคาตก อาจเป็นเพราะเก็งถูกและชอบซื้อรุ่น Limited Edition ซึ่งตั้งแต่ซื้อนาฬิกาสะสมมาทั้งหมดขายออกไปไม่ถึง 10 เรือนเพราะซื้อเพื่อคุณค่า ไม่ได้ดูว่าเป็นการลงทุนแต่กลายเป็นการลงทุนโดยอัตโนมัติ


Patek Philippe Sky Moon Tourbillon

Q: เป็นเพราะ Limited Edition จึงทำให้ราคาขึ้นตลอดหรือไม่

A: สมัยก่อนใช่ เพราะคนที่ซื้อ Limited Edition ซื้อไปเก็บไม่เหมือนสมัยนี้ที่เก็งกำไร ดังนั้นเวลาซื้อนาฬิกาไม่ใช่ดูว่ารุ่นไหนผลิตน้อย แต่ต้องดูว่ารุ่นไหนที่คนซื้อไปแล้วไม่ขาย บางรุ่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผลิตกี่เรือน แต่อยู่ที่ว่าใครครอบครอง

    อย่างรุ่นที่มีอยู่บางเรือนราคาขึ้นจาก 2-3 แสนบาทเป็น 2-3 ล้านบาท ขายไปได้กำไรแน่นอน แต่อาจซื้อกลับมาไม่ได้อีกแล้วเพราะไม่มีคนปล่อย เป็นรุ่นหายากจริงๆ ซึ่งหากนาฬิกาอยู่กับคนที่ไม่ขายมูลค่าก็จะสูงขึ้นแต่ถ้าอยู่กับคนที่ไม่ได้หลงใหล เสนอขายง่าย รุ่นนั้นก็จะมีเสนอขายอยู่เต็มตลาด พอเบื่อก็ดัมป์ราคาขายหรือคนที่ไม่ได้มี Passion ในนาฬิกา เจอ COVID-19 เศรษฐกิจไม่ดีก็ตัดขายนาฬิกาทิ้งในราคาขาดทุน ราคาก็จะตก

    เรื่องการทำ Limited Edition บางแบรนด์ไม่ได้ทำเพื่อให้ราคาแพงขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนมือ เขาเลือกที่จะผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อขายได้มากขึ้นดีกว่า แต่ต้องผลิตเป็น Limited Edition เพราะเป็นเรื่องของการผลิต เช่น แม่พิมพ์ในการผลิตเคส ซึ่งทุกวันนี้ใช้วิธีพิมพ์ เมื่อเหล็กปั๊มเหล็กหรือเหล็กตัดเหล็กหลายชิ้นก็จะมีการสึกหรอ หรือผลิตไป 100 เรือนแล้วเครื่องเสีย ก็ต้องเปลี่ยนเครื่องผู้ผลิตจึงต้องวิเคราะห์ว่าจะหยุดผลิตรุ่นนั้นเป็นจำนวนเท่านั้นหรือผลิตต่อ ซึ่งจะต้องสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ถ้าหยุดก็จะขายได้จำนวนเท่านั้น กำไรเท่านั้น จึงเป็นที่มาของ Limited Edition


​Richard Mille RM 11 Chronograph


Q: แบรนด์ที่ชอบ

A:  ไม่มีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ แต่ชอบที่ฟังก์ชัน ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีความสามารถในการประดิษฐ์นาฬิกาที่พิเศษในแต่ละฟังก์ชันแตกต่างกันไปเช่นแบบ Chronograph ที่มีฟังก์ชันจับเวลา Perpetual Calendar ฟังก์ชันปฏิทินร้อยปี MoonPhase ที่บอกข้างขึ้นข้างแรม Emergency ที่ฝังระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน

    หลากหลายฟังก์ชันของนาฬิกาทำให้เริ่มสะสมนาฬิกามากขึ้นเรื่อยๆ และมีครบทุกฟังก์ชันแต่ฟังก์ชันที่ชอบที่สุดคือ Tourbillon หรือนาฬิกาต้านแรงโน้มถ่วงที่ทำให้เดินได้เที่ยงตรง เป็นนาฬิกาที่มีกลไกซับซ้อนที่สุดผลิตยากที่สุด ดูแลรักษายาก ค่าบำรุงรักษาแพง และไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่จะผลิตได้ เป็นรุ่นท็อป รุ่นใฝ่ฝันของนักสะสมนาฬิกา ตอนนี้มีนาฬิกา Tourbillon ไม่ถึง 10 เรือน เพราะราคาค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่หลักล้านบาท


Q: เรือนหรือรุ่นโปรด

A:  เรือนแรกคือ Patek Philippe Nautilus ซึ่งเป็นรุ่นที่ฮิตที่สุดของนักสะสมซื้อไว้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3-4 มีญาติมาแนะนำให้ซื้อเพราะราคาจะขึ้น เป็นรุ่นสายสตีลแบบสองเข็ม Power Reserve ราคา 2.7 แสนบาท ผ่านมา 6 ปี ญาติคนเดิมมาขอซื้อต่อ ให้ราคา 5 แสนบาท เพราะเขาขายของเขาไปในราคา 9 แสนบาท แต่เราไม่ได้ขายไป ตอนนี้ราคาพุ่งไป 2 ล้านบาท และถ้าสภาพใหม่ได้ถึง 3 ล้านบาท จึงค่อนข้างประทับใจรุ่นนี้ เพราะราคาขึ้นสูงและเรายังเป็นเจ้าของอยู่


Patek Philippe Nautilus


    อีกเรือนคือ Audemars Piguet Royal Oak Foundation เพราะมีเรื่องราวน่าจดจำ เป็นเรือนแรกที่เก็บเงินซื้อเอง ตอนนั้นอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 รุ่นนี้เปิดตัวและเป็นรุ่นที่นำรายได้เข้ามูลนิธิปลูกต้นโอ๊ก ขายในราคา 2.2 แสนบาท แต่เงินไม่พอ ด้วยความที่อยากได้มากก็จะแวะมองทุกครั้งที่ผ่านร้านที่ดิเอ็มโพเรียมแต่ก็ไม่ได้ซื้อ จนมีโอกาสไปอังกฤษและแวะไปดูที่ร้านของแบรนด์และรู้ว่ารุ่นนี้ Sold Out ตั้งแต่วันแรก เพราะผลิตแค่ 800 เรือน 

    พอกลับมาเมืองไทยจึงรีบไปที่ดิเอ็มโพเรียม ปรากฏว่ารุ่นนี้ไม่อยู่แล้ว จึงเข้าไปถามพนักงานและพบว่าไปอยู่ที่สาขาอื่น สุดท้ายก็ตามไปที่สาขานั้นและยืมเงินแฟน 7 หมื่นบาทไปซื้อ จึงเป็นเรือนที่ฝังใจและชอบใส่จนถึงทุกวันนี้ปัจจุบันมีคนเสนอซื้อในราคา 3-4 ล้านบาท แต่ก็ไม่ขาย


Audemars Piguet Royal Oak Foundation

Q: เรือนล่าสุดที่ซื้อ

A:  Sevenfriday ซื้อเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นนาฬิกาดีไซน์สปอร์ตและไม่มีขายื่นออกมาที่ทำให้เสียดสีกับข้อมือ ที่สำคัญคือ เจ้าของแบรนด์ใส่นวัตกรรมใหม่ๆ ลงไปในนาฬิกา เพราะเป็นแบรนด์ใหม่ไม่ถึง 10 ปี จึงต้องสร้างความแตกต่างเพื่อสู้กับแบรนด์เก่าแก่ชื่อดังที่มีมาเป็นร้อยๆ ปีเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปมีทั้งฝังชิปที่บอกรายละเอียดของนาฬิกา Service Guarantee และข้อมูลของผู้ซื้อ ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำใบรับประกันหรือใบเสร็จไปเมื่อเข้ารับบริการหรือหากนาฬิกาถูกขโมยและมีการนำไปเข้ารับบริการ เมื่อบริษัทสแกนชิปและพบว่าผู้นำนาฬิกาเข้ารับบริการไม่ใช่เจ้าของก็จะติดต่อไปยังเจ้าของให้ทันที

    นอกจากเรื่องความสะดวกและ Protection แล้วแบรนด์นี้ยังมีแอปพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีรุ่นไหนบ้าง รายละเอียดของแต่ละรุ่นมีอะไร ที่สำคัญ Sevenfriday มี NFT แถมมาด้วยทุกเรือน เป็นผลงานของศิลปินชื่อดังในยุโรป ซึ่งเราสามารถนำ NFT ไปขายต่อได้หรือถ้าเก็บไว้ขายต่อคู่กับนาฬิกา มูลค่าของนาฬิกาก็จะสูงขึ้น ตอนนี้มีแบรนด์นี้ 30 เรือน เพราะอยากเก็บทุกคอลเล็กชันให้ครบทุกสีโดยเฉพาะรุ่นพิเศษเลขไทยที่ราคาพุ่งไปถึง 1.7 แสนบาท จาก 5 หมื่นบาทเมื่อ 4 ปีก่อน


Q: นอกจากให้ความสุขแล้ว นาฬิกาให้อะไรอีกบ้าง

A:  นาฬิกาเปิดโลกใหม่ให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง NFT ซึ่งเราไม่ได้เล่นคริปโต ไม่เคยตามเรื่อง NFT แต่พอนาฬิกาให้มาฟรี ทำให้สนใจ NFT ช่วยเปิดอีกโลกให้เรารู้จัก และยังทำให้มีเพื่อนใหม่ๆ ข้ามวงการที่สนใจนาฬิกาเหมือนกัน

    ยิ่งไปกว่านั้นนาฬิกาทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักซีอีโอและเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe, Rolex, Audemars Piguet, Seiko และ Sevenfriday เราได้ข้อมูลเชิงลึก ไม่ใช่ข้อมูลทั่วๆ ไปที่หาอ่านได้และยังได้รู้จักอุปนิสัย วิสัยทัศน์ และวิธีการผลิตนาฬิกา ได้ไปดูโรงงานผลิตและหลายคนก็สนิทกันเป็นเพื่อน บางแบรนด์มาถามเราเวลาจะผลิตนาฬิกา 

    เช่น Cartier ให้เราไปดูนาฬิกา ลองสวม และขอความคิดเห็นก่อนการผลิตซึ่งเป็นชีวิตอีกแบบที่มากกว่าการสะสมนาฬิกาและรู้สึกคุ้มค่ามาก เพราะถ้าเป็นสินค้าอื่นเราคงไม่ได้มีโอกาสไปเจอเจ้าของหรือซีอีโอ

    สุดท้ายเราพบว่า Passion ที่เรามีให้นาฬิกาคือการลงทุนในไลฟ์สไตล์และประสบการณ์มันมากกว่าตัวเงิน ซึ่งเงินมาทีหลังสุด เมื่อขายนาฬิกาเราได้เงิน ได้กำไรทันที แต่มันจบแล้ว ความสนุกและความสุขโดนตัดออกไปทันทีในวันที่เราตัดสินใจขาย


เรื่อง: นฐ ดิลกวิพัฒน์

อ่านเพิ่มเติม:

>> 10 งานที่องค์กรต้องการมากที่สุดในอนาคต

>> วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ Norse Republics วิศวกรผู้ผันตัวสู่งานดีไซน์


​คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Life (เล่มแถม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565)