Ho Kwon Ping บันยันกรุ๊ป แบรนด์หรูที่เรียบง่าย-ยั่งยืน - Forbes Thailand

Ho Kwon Ping บันยันกรุ๊ป แบรนด์หรูที่เรียบง่าย-ยั่งยืน

ลากูน่า ภูเก็ต แหล่งตากอากาศที่คุ้นเคยของเศรษฐีไทยและนักเดินทางต่างชาติ กว่า 30 ปีของการพัฒนาขุมเหมืองแร่เก่ามาเป็นอาณาจักรที่พักหรูแบบเรียบง่าย สร้างแบรนด์ “บันยันทรี” ดังไกลไปหลายประเทศ


    ความหรูหราไม่ได้ดูแค่ที่สิ่งประดับหรือลวดลายวิจิตรงดงามเพียงอย่างเดียว แต่มาจากความพิเศษของสิ่งๆ นั้นในแบบที่มีทั้งความสวยงามและคุณภาพ ประโยชน์ใช้สอยดีเลิศและมีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และโลก เช่นเดียวกับแบรนด์ “บันยันทรี” ที่ก่อกำเนิดจากชื่อ Banyan Tree (ต้นไทร) เกาะแห่งหนึ่งในฮ่องกงซึ่งผู้ก่อตั้งบันยันกรุ๊ปเคยพำนักกับภรรยาเมื่อครั้งเริ่มชีวิตการทำงานวัยหนุ่ม

    Ho Kwon Ping ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บันยันกรุ๊ป เป็นนักธุรกิจสูงวัยที่อารมณ์ดี เขามักพูดคุยทักทายทุกคนอย่างเป็นกันเอง ในช่วงวัย 70+ เขาดูสนุกและผ่อนคลาย “คุณเคพี” คือชื่อเรียกที่คุ้นเคยของพนักงานบันยันกรุ๊ปเมื่อเอ่ยถึงเจ้านายผู้เป็นเจ้าของลากูน่า ภูเก็ต ที่แม้จะถือสัญชาติสิงคโปร์ตามบิดา แต่เขาก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่เมืองไทยตั้งแต่เข้ามาซื้อที่ดินขุมเหมืองแร่เก่าในภูเก็ต จากจุดเริ่มต้นเพื่อหาที่สร้างบ้านตากอากาศนอกสิงคโปร์


3 ทศวรรษบันยันกรุ๊ป

    “ผมมาภูเก็ตเพื่อหาที่สร้างบ้านตากอากาศ พอดีมาเจอที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่ราบมี lake สวยงาม ด้านหลังเป็นเขา ด้านหน้าติดทะเล ราคาไม่สูง จึงซื้อต่อมากระทั่งทุกวันนี้มี 3,000 ไร่” Ho ย้อนอดีตให้ผู้สื่อข่าวกลุ่มเล็กๆ ที่มาเยือนบันยันทรี ภูเก็ต เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ปี 2567 ได้รับรู้

    Ho เป็นนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ที่รับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว แต่เขามีความฝันที่ต่างจากคนอื่น ด้วยเส้นทางชีวิตที่ค่อนข้างโลดโผน ในวัยหนุ่มเขาได้ร่วมขบวนเรียกร้องและต่อต้านสงครามเวียดนามกระทั่งถูกจำคุกและขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าสหรัฐฯ นาน 20 ปี เนื่องจากเคยเป็นนักข่าว The Straits Times หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษในสิงคโปร์ และ Far East Economic Review นิตยสารข่าวเศรษฐกิจของเอเชีย (ภาษาอังกฤษ) แง่คิดและมุมมองของเขาจึงต่างไปจากนักธุรกิจทั่วไป

    อดีตผู้สื่อข่าวที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจด้วยการพัฒนาอสังหาฯ บนที่ดินกว่า 3,000 ไร่ ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จอย่างเรียบง่ายเหมือนเป็นสิ่งปกติที่ทำมาตลอด เขาบอกว่า ไม่ได้คิดที่จะทำโครงการขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนด้วยความชอบมากกว่า เริ่มแรกที่จะสร้างโรงแรมเขามองหาเชนที่จะเข้ามาบริหาร แต่ด้วยทำเลและอีกหลายอย่างขณะนั้นไม่มีเชนไหนสนใจจะเข้ามาบริหาร จนกระทั่งเขาได้กลุ่มดุสิตมาบริหาร และเปิดโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ทำให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้น


    ต่อมาเขาพัฒนาแบรนด์ “บันยันทรี” ขึ้นมาด้วยการสร้างโรงแรมแบบวิลล่า โดยทุกหลังมีสระว่ายน้ำของตัวเอง หรือที่เรียกว่า พูลวิลล่า เริ่มด้วยจำนวน 25 หลัง ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 200 หลังในปัจจุบัน

    แน่นอนด้วยขนาด รูปแบบ และราคา ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ของบันยันทรี ภูเก็ต เป็นชาวต่างชาติ โครงการนี้สร้างชื่อบันยันทรีให้เป็นที่รู้จัก หลังจากนั้นก็เกิดบันยันทรีเป็นแบรนด์โรงแรมหรูขยายไปในหลายทำเลและหลายเมืองในกว่า 22 ประเทศ มีจำนวนกว่า 30,000 ห้องพักจาก 80 โรงแรมและรีสอร์ต และสปากว่า 60 แห่ง


ลักชัวรี่จากเริ่มต้น

    กลับมาโฟกัสที่ภูเก็ต Ho บอกว่า เขาทำธุรกิจที่นี่ไม่ได้คิดแข่งขันกับใคร แต่เน้นตอบโจทย์ตัวเองมากกว่า ดังนั้นที่ลากูน่า ภูเก็ต จึงไม่เหมือนโครงการที่พักและรีสอร์ตที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะเขาไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบและการแข่งขัน แต่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและบริการเป็นหลัก

    “โครงการทั้งหมดของเราไม่ว่าจะเป็นห้องยูนิตเล็กหรือวิลล่าหรูล้วนมีราคาสูงกว่าคนอื่นประมาณ 25-30% เพราะมั่นใจในคุณภาพ” Ho อธิบายว่า คุณภาพที่เขาย้ำคือ คุณภาพสิ่งก่อสร้าง ความได้มาตรฐานสากล มีทั้งความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกที่มากกว่าเป็นเพียงที่อยู่อาศัย ซึ่งความต่างนี้เองทำให้ลากูน่าสานต่อแนวทางธุรกิจไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่เขาจะพัฒนาให้อยู่ในระดับลักชัวรี่ทั้งหมด

    เมื่อถามว่า ทำไมจึงวางตำแหน่งให้ทุกพร็อพเพอร์ตี้ในลากูน่าเป็นลักชัวรี่ทั้งหมด Ho อธิบายว่า เขาต้องการทำให้ดีที่สุด ในเมื่อต้นทุนการก่อสร้างไม่ต่างกัน แต่ลากูน่ามีข้อได้เปรียบคือ ต้นทุนที่ดินต่ำมากเพราะซื้อมานานแล้ว และตลอดเวลาก็ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมาหลายปี


    ข้อได้เปรียบนี้ทำให้ลากูน่าสามารถสร้างความลักชัวรี่ได้มากกว่า และด้วยสภาพพื้นที่การเป็นขุมเหมืองเก่าซึ่งเป็นพื้นที่ราบทำให้การอยู่อาศัยที่นี่สะดวกสบายกว่าที่ดินบนเนินเขา เรียกว่าศักยภาพดีกว่า เอื้อต่อการอยู่อาศัยที่สะดวกสบายมากกว่า

    นักธุรกิจผู้สร้างอาณาจักรลากูน่า ภูเก็ต สรุปคร่าวๆ ถึงการพัฒนาที่เขาทำจากอดีตถึงปัจจุบัน “ในส่วนของอสังหาฯ ที่สร้างและขายเราได้ลงทุนไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนโรงแรมลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท” เขาบอกว่า ปัจจุบันมีโครงการอสังหาฯ เปิดขายอยู่ 12 โครงการมูลค่ารวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง โดยโครงการพัฒนาอสังหาฯ ในอนาคตสามารถสร้างได้อีกหลายโครงการ จากพื้นที่ดินมากกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

    เหตุผลที่ทำให้ Ho เดินหน้าการพัฒนาโครงการลากูน่าแม้จะเริ่มต้นเพียงเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ แต่กลายเป็นโครงการที่พักตากอากาศซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์บ้านพักนอกสิงคโปร์ของเขา แต่ได้กลายเป็นเมืองตากอากาศที่น่าตื่นเต้นของภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ถูกเรียกว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามันมาช้านาน และทุกวันนี้ด้วยสภาพแวดล้อมและโลกที่เปลี่ยนไป ศักยภาพของภูเก็ตยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น


    กล่าวคือ หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก Ho เผยเล่าว่า ในตอนนั้นเกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยผู้มีรายได้ดีจากที่เคยไปเที่ยวยุโรปหรือญี่ปุ่น เมื่อไม่ได้เดินทางไปประเทศเหล่านั้นก็หันมาเที่ยวภายในประเทศและเลือกมาที่ภูเก็ต โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยที่มีกำลังทรัพย์ไม่ได้มาเที่ยวเพียงอย่างเดียว บางคนตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ราคาสูงที่ภูเก็ต ซื้อวิลล่าในราคา 200-300 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

    เมื่อบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ซื้ออสังหาฯ ในภูเก็ตมากขึ้น คนอื่นๆ ก็ เริ่มสนใจเข้ามาซื้อเช่นเดียวกัน องค์ประกอบหล่านี้เร่งให้ภูเก็ตกลับมาคึกคัก คราวนี้มีทั้งตลาดต่างชาติและคนไทยฐานะดีเข้ามาสร้างความคึกคักในธุรกิจอสังหาฯ ในภูเก็ต ทำให้อสังหาฯ ภูเก็ตเฟื่องฟูมากเป็นประวัติการณ์


    Ho เล่าอีกว่า ถึงแม้ไม่ได้ศึกษาด้านนี้มาโดยตรงแต่อสังหาฯ เป็นธุรกิจที่สามารถเรียนรู้ได้ “การพัฒนาอสังหาฯ คุณไม่จำเป็นต้องมีปริญญาเอกหรือปริญญาโทสายตรง แต่คุณต้องสามารถวิเคราะห์ความต้องการจากความเข้าใจของตัวเองได้ เพราะที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งใกล้ตัว”

    อย่างไรก็ดี แม้เขาจะบอกว่าการศึกษาในสาขาเฉพาะอาจไม่จำเป็น แต่การพัฒนาอสังหาฯ ต้องใช้การวิเคราะห์และความเข้าใจจากความต้องการของผู้คนเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้สำคัญ คนที่จะทำได้ต้องมีความรู้และเข้าใจพื้นฐานความต้องการของผู้บริโภค แม้ไม่มีปริญญามากำหนดโดยตรงก็ตาม

    Ho ยอมรับว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเวลาสั้นๆ แต่มันต้องใช้เวลา ความตั้งใจ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง “สิ่งที่เราพยายามทำในตอนแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จ มีคนซื้อไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปการพัฒนาไม่ใช่มีแค่เรา ภูเก็ตได้รับการพัฒนาและเติบโตขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น จำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นก็สำคัญ”

    เขาย้ำว่า การเติบโตของเมืองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองนั้นๆ มีความพร้อม ซึ่งนอกจากบริการในพื้นที่แล้ว การเข้าถึงที่ง่ายและการมีสนามบินที่เป็นมาตรฐาน มีเที่ยวบินที่จะนำผู้คนเข้าสู่พื้นที่ได้ง่ายและสะดวกก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

    “อยากให้รัฐบาลหันมามองและทำให้ภูเก็ตมีความคล่องตัวเหมือนกรุงเทพฯ และพัทยาที่บริหารในรูปแบบเขตปกครองพิเศษ เพื่อให้ภูเก็ตมีเงินในการพัฒนาตัวเองได้ เชื่อว่าการเติบโตของภูเก็ตจะไปได้ดีกว่านี้” เป็นข้อสรุปส่งท้ายการพูดคุยกับ Ho ในช่วงเวลาไม่ถึงชั่วโมง แต่มีมุมมองและแง่คิดหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการสร้างความพร้อมให้เมืองท่องเที่ยวแห่งอันดามันแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาได้มากขึ้น



ภาพ: บันยันทรี ภูเก็ต



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เควิน กัมบีร์ EURO เนรมิตไลฟ์สไตล์เหนือระดับ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine