เกิดมาเพื่อแฟชั่น - Forbes Thailand

เกิดมาเพื่อแฟชั่น

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jan 2018 | 03:26 PM
READ 13154

หลังจากที่ Zang Toi เดินทางจากมาเลเซียมาถึง New York ได้ไม่นาน เขาก็เปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตนเอง ทุกวันนี้เขาชอบสวมกระโปรงสั้นจับจีบ และยังเป็นเจ้าของผลงานออกแบบเสื้อผ้าให้กับสตรีที่มีชื่อเสียงมากมาย

  สตูดิโอกลาง Manhattan ของ Zang Toi ดีไซเนอร์ชาวมาเลเซีย ประดับด้วยโคมระย้าคริสตัลพร้อมดอกกล้วยไม้สีขาว และมีชุดราตรียาวตั้งโชว์สนนราคาเริ่มต้นที่ 13,000 เหรียญสหรัฐฯ ในห้องมีภาพขาวดำไซส์เล็กใส่กรอบเงินอยู่ภาพหนึ่งในภาพคือ Zang Toi วัยเด็กกับพี่ชายชะโงกหน้าออกมาจากหน้าต่างชั้นบนของร้านขายของชำแห่งหนึ่ง บานเกล็ดไม้เปิดออก เด็กชายทั้งสองถือประทัดไว้ในมือ   พ่อแม่ของ Toi เป็นเจ้าของร้านค้าแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Kuala Kerai ตอนในของคาบสมุทรมลายู Toi เป็นลูกคนเล็กจากจำนวนพี่น้องรวมทั้งสิ้น 7 คน ในวัยเด็กเขามีหน้าที่เติมสินค้าในร้านจดบัญชีรายรับ-รายจ่ายและทำทุกอย่างที่จะช่วยได้ “นั่นแหละที่ปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้ประกอบการ ผมชอบค้าขายครับ” Toi กล่าว   ย้อนกลับไปเมื่อปี 1990 Zang Toi สร้างชื่อให้กับตัวเองเมื่อแจ็กเก็ตและกระโปรงสีส้มม่วง และชมพูสด ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนมเค้กกับดอกไม้มาเลเซีย ทำให้เขาได้ปรากฏในบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Vogue ว่าเป็นดาวรุ่งแห่งทศวรรษ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็มีรายชื่อลูกค้ายาวเหยียดไม่ว่าจะเป็น Sharon Stone, Elizabeth Taylor, Melinda Gates, Kirstie Alley, Patti LaBelle และ Ivana Trump รวมทั้งสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนสมาชิกตระกูล Hearst อีก 1-2 คน   แม้จะอยู่ในแวดวงธุรกิจนี้มายาวนานถึง 30 ปี แต่ Toi ก็ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่ม ในช่วงที่มีการจัดงาน New York Fashion Week เมื่อเดือนที่ผ่านมานั้น เขาจึงเปิดร้านเสื้อ Zang Toi แบบสแตนด์อะโลนขึ้นมาเป็นสาขาแรกโดยเป็นหน้าร้านขนาด 800 ตารางฟุต (72 ตารางเมตร) ตั้งอยู่ที่ Lexington Avenue ใกล้ๆ กับ 75th Street   นอกจากนี้เขายังทำธุรกิจอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ Zang Toi Café ที่ Kuala Lumpur และยังออกแบบการ์ดอวยพรแบรนด์ Zang Toi ให้กับ Papyrus ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องเขียนทางอเมริกาเหนือ Toi บอกว่าธุรกิจของเขานั้น “มีขนาดเล็ก แต่ทำกำไรได้ดี” โดยมีรายได้ปีละ 5-7 ล้านเหรียญธุรกิจแฟชั่นของ Toi ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิง อย่างคุณแม่ของเขาก็เป็นคนในยุคที่สวมกี่เพ้าจีนทุกวัน “แม่ของผมไม่ใช่นักช็อปเลยครับ”   Zang Toi จำได้ว่าเขาซื้อนิตยสาร Vogue ให้กับตัวเองเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงทำภาพปะติดตามโจทย์สำหรับใช้ยื่นส่งเข้าสมัครเรียนเขาได้รับการตอบรับจากทั้ง Parsons และ The Fashion Institute of Technology ที่ New York พ่อของเขาบอกว่ามีเงินพอสมทบค่าเล่าเรียนให้ได้ แต่แทบจะไม่พอค่าใช้จ่ายอื่นๆ เลย Toi จึงเดินทางไปยัง Parsons โดยมีเงินติดตัว 300 เหรียญ และลงมือทำงานพิเศษเป็นผู้ช่วยนักออกแบบเสื้อถักอยู่ที่ SoHo เพื่อหาเงินเป็นค่าเช่า ค่าอาหาร และอุปกรณ์ศิลปะ   หลังจบการศึกษาในปี 1984 Zang Toi ยังคงทำงานให้กับนักออกแบบคนเดิม (Mary Jane Marcasiano) ต่ออีกหลายปีทีเดียวจนกว่าจะเปิดแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง หลังจากเปิดธุรกิจมาได้ 2 เดือนเต็ม ผลงานของเขาก็ไปเข้าตาบรรณาธิการ Vogue   ด้านลูกค้าของ Zang Toi ก็ดูเหมือนจะชื่นชอบเขาทั้งในฐานะนักออกแบบและเพื่อนคนหนึ่งเลยทีเดียว อาทิ Patti LaBelle ศิลปินนักร้องสาวที่สวมเสื้อผ้าของ Zang Toi มากว่า 15 ปี เธอบอกว่า “การตัดเย็บของเขาเข้ากับตัวฉันพอดี" เขาสามารถตัดเย็บเสื้อผ้าที่เผยให้เห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว LaBelle ขึ้นแสดงในงาน Women of Soul ของทำเนียบขาวต่อหน้าประธานาธิบดี Barack Obama กับสตรีหมายเลขหนึ่ง Michelle Obama เธอสวมเสื้อคลุมของ Zang Toi เป็นเสื้อคลุมสีเขียวประดับลูกปัดร้อยด้วยมือ กางเกงผ้าไหมสีดำและเสื้อสตรี เธอบอกว่าประธานาธิบดีถึงกับกล่าวชมชุดที่เธอสวมในวันนั้น ทุกๆ วันเกิดของเธอ Toi ยังคงส่งดอกไม้ให้เธอทุกครั้ง “เขาเหมือนน้องชายฉัน เขาเป็นคนสำคัญจริงๆ”   ธุรกิจของ Toi มีขนาดเล็ก มีทีมงานรวมเพียง 17 คนเท่านั้น ประกอบด้วยช่างแก้ทรงผ้า ช่างเย็บผ้า ช่างตัด ผู้ช่วย 2 คนและผู้จัดการสำนักงานอีก 1 คน ทำงานกันบนพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางฟุตบนชั้น 20 ของอาคารระฟ้าแห่งหนึ่งใน Manhattan นี่คือสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ และเขาก็บริหาร จัดการงานประชาสัมพันธ์ด้วยตัวเอง   ทุกวันนี้ เขาบอกว่าตัวเองเป็น “รัฐบุรุษอาวุโส” แห่งวงการ เขาดีใจเหลือเกินที่ได้เห็นดีไซเนอร์ดาวรุ่งชาวเอเชียแจ้งเกิดในสหรัฐฯ คนแล้วคนเล่า ไม่ว่าจะเป็น ฐากูร พานิชกุล ซึ่งเกิดในประเทศไทย หรือ Jason Wu ซึ่งเกิดที่ไต้หวันและเป็นผู้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับ Michelle Obama ในขณะที่เขากับดาวรุ่งดวงใหม่ๆ ที่แจ้งเกิดตามมา มีโอกาสลัดฟ้าไปสร้างชื่อไกลถึง New York แต่ Toi เองกลับมองว่าศูนย์กลางแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลเริ่มเปลี่ยนไปและกระจายอยู่ทั่วโลกแล้ว เช่น ประเทศจีน ที่ครั้งหนึ่งมองกันว่าเป็นฐานการผลิตต้นทุนต่ำที่ต้องก้าวผ่านประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผ่านการสั่งสมทางวัฒนธรรมหลากหลาย และยุคเศรษฐีใหม่ จนกลายเป็นนครหลวงแห่งแฟชั่น ในปัจจุบันได้ Toi บอกว่าอาจจะต้องใช้เวลา10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี แต่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน   เรื่อง: Chen May Yee เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
อ่านฉบับเต็ม "เกิดมาเพื่อแฟชั่น" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine