บุญยง ตันสกุล หาโอกาสในวิกฤต ชีวิตและธุรกิจที่ต้องเรียนรู้ - Forbes Thailand

บุญยง ตันสกุล หาโอกาสในวิกฤต ชีวิตและธุรกิจที่ต้องเรียนรู้

พลังบวกที่มีอยู่เต็มกายของ บุญยง ตันสกุล บอสใหญ่แห่ง ZEN เจ้าของเชนร้านอาหารชั้นนำของประเทศ กลายเป็นสุดยอด “วัคซีน” ที่ใช้ต่อกรกับโควิด-19 บวกกับความเป็น “นักคิด” คิดทุกอย่างที่อยู่รอบตัวจนตกผลึก เป็นวัตถุดิบชั้นดีช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และนำพาให้เขาได้พบกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอ

เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา Forbes Thailand ได้รับเกียรติเข้าสัมภาษณ์ บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ZEN) บริษัทชั้นนำเจ้าของเชนร้านอาหาร 13 แบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN ร้านเขียง ณ เวลานั้น บุญยงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ไม่ว่าจะเพิ่มเป้าหมายรายได้ในแต่ละปี หรือขยายอาณาจักรเชนร้านอาหารเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าอีก 1 ปีถัดมาคือ ปี 2563 แผนการของเขาก็เริ่มสะดุดจากการมาเยือนของโควิด-19 ทันทีที่การระบาดระลอกแรกในช่วงต้นปีเกิดขึ้น และเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนารัฐบาลก็ได้ตอบโต้อย่างทันควันด้วยการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ จนทำให้ร้านอาหารโดยรวมได้รับผลกระทบเพราะต้องปิดการให้บริการแบบนั่งรับประทานในร้าน ระหว่างปี 2563-2564 บุญยงปรับธุรกิจของ ZEN ตามสถานการณ์ ผ่อนหนักผ่อนเบาไปตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้ ผลกระทบที่ตามมาจึงมีมากน้อยต่างกันไป จนกระทั่งการระบาดเข้าสู่ระลอก 4 ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ บริษัทได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็วในวงกว้าง สร้างผลกระทบหนักกว่าเดิมและร้านอาหารก็ได้ถูกสั่งปิดอีกครั้งทั้งในแบบให้นั่งรับประทานและแบบให้บริการส่งเดลิเวอรี่ บุญยงบอกว่า การระบาดของโควิดสร้างความเจ็บปวดมากที่สุด และผลกระทบที่ได้รับนั้นมากกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ ที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือการระบาดของโรค SARs ในสถานการณ์เช่นนี้ดูเหมือนบุญยงมีทางเลือกไม่มากนัก เห็นได้จากเพื่อนพ้องในแวดวงธุรกิจอื่นๆ จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะปิดร้าน เลือกที่จะอยู่เฉย ชะลอการลงทุน หรือไม่ก็ปลดพนักงานเพื่อตัดค่าใช้จ่ายประคองธุรกิจ แต่สำหรับนักสู้ผู้คิดบวกอย่างบุญยง เขากลับเลือกทำทุกอย่างที่คิดว่า “ใช่” เพราะเชื่อว่าในวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ พลังบวก” กับ “ธุรกิจ” บุญยงรู้อยู่เต็มอกว่า รายได้ธุรกิจร้านอาหารจากการส่งแบบเดลิเวอรี่ไม่สามารถมาทดแทนรายได้หลักแบบนั่งรับประทานในร้านได้ แต่เพราะเป็นคนคิดบวกและชอบพิสูจน์ความคิดใหม่ๆ เขาจึงพา ZEN ลุยฝ่าโรคระบาดไปข้างหน้า จุดมุ่งหมายเพียงต้องการประคองธุรกิจนี้ให้ผ่านพ้นสถานการณ์ให้ได้ เพื่อพนักงานมีงานทำอยู่ได้ไม่ลำบาก และยังเพื่อให้มี “สภาพคล่อง” หล่อเลี้ยงบริษัท ตามข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ZEN มีผลขาดทุนอยู่ที่ 63.66 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา จากที่มีกำไรอยู่ที่ 106.22 ล้านบาทในปี 2562 บุญยงบอกว่า เขา “จำตัวเลขขาดทุนปีที่แล้วได้แม่น” เพราะเป็นการขาดทุนครั้งแรกของบริษัทตั้งแต่ดำเนินกิจการมา เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 “ร้านอาหารเปิดขายออนไลน์ไม่เหมือนซื้อของผ่านออนไลน์อย่าง Lazada หรือ Shopee บางโมเดลธุรกิจอย่างค้าปลีกการทำออนไลน์มัน cover offline ได้ แต่ร้านอาหารทำออนไลน์มัน cover offline ไม่ได้การทำเดลิเวอรี่มา cover ที่เรานั่งรับประทานมันไม่ได้” เขากล่าว การไม่ยอมแพ้กับสถานการณ์โควิดของบุญยง พวกเรารับรู้ได้จากการขยายงานของ “ร้านเขียง” ร้านที่วางตัวเองเป็นร้านอาหารแนวสตรีตฟู้ด เสิร์ฟเมนูอาหารตามสั่งขายดีอย่างข้าวผัดกะเพรา ท่ามกลางที่ผู้ประกอบการยังกลัวๆ กล้าๆ กับสถานการณ์การลงทุนช่วงโรคระบาด บุญยงกลับสวนกระแสด้วยการประกาศกร้าวว่าจะขยายร้านเขียงเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ได้กว่า 120 แห่งภายในปีนี้ ปัจจุบันเปิดไปแล้วกว่า 90 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 1,000 แห่งในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นนี้จะมาจากการแตกแบรนด์เขียงออกมานำเสนออาหารแนวสตรีตฟู้ดใหม่ๆ อย่างล่าสุดเปิด “ร้านเขียงแกงใต้” อนาคตก็จะมี “เขียงผลไม้” ไปกับรถเข็น ครอบคลุมอาหารสตรีตฟู้ด และขยายกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น “คนส่วนใหญ่งงกับผม ธุรกิจแบบนี้คุณต้องเก็บเงิน ต้องลดค่าใช้จ่าย ต้องชะลอการลงทุน ต้องหยุดแล้ว wait and see แต่เขียงเปิดได้ 4-5 สาขาต่อเดือน” เขากล่าวพร้อมกับเสียงหัวเราะ ดูเหมือนบุญยงมี “ญาณทิพย์” รู้ถึงโรคระบาดจะเกิดขึ้นในอนาคต เขาเพิ่มร้านเขียงเข้าไปอยู่ในพอร์ตเชนร้านอาหารของ ZEN ซึ่งได้ช่วยชีวิตบริษัทของเขา เพราะคอนเซ็ปต์ของร้านนี้เน้นซื้อกลับบ้านและส่งแบบเดลิเวอรี่ตอบรับเข้ากับสถานการณ์โควิดพอดิบพอดี เขาริเริ่มเปิดร้านเขียงราวเมื่อ 3 ปีแล้ว ด้วยความคิดที่ว่า อยากเปิดร้านอาหารนอกห้างเพราะพื้นที่ในห้างนั้นมีการแข่งขันกันสูง และค่าเช่าก็เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จนทำให้มาร์จิ้นของร้านค่อยๆ ขยับลดลงจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 6 และร้อยละ 4 ตามลำดับ จนเขารู้สึกว่านี่คือ “ความเสี่ยง” ที่กำลังคุกคามบริษัท และด้วย pain points เหล่านี้ เขาจึงรวบรวมมาและแก้โจทย์นี้โดยการเปิดร้านเขียง ร้านเขียงต่างจากร้านอาหารแบรนด์อื่นๆ ในห้างของบริษัทโดยสิ้นเชิง ร้านเขียงเน้นพื้นที่ขนาดเล็กราว 40 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นใช้สำหรับนั่งรับประทานอาหารสัดส่วนที่ 30 ต่อ 70 ซึ่งเป็นพื้นที่ครัว ตรงกันข้ามกับแบรนด์อื่นๆ ของบริษัทที่ใช้พื้นที่ถึง 300-400 ตารางเมตร และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ให้นั่งรับประทาน โดยร้านเขียงร้านแรกนั้นแทรกตัวอยู่ในปั๊มน้ำมันเล็กๆ แห่งหนึ่งของ ปตท. ในจังหวัดนนทบุรี บุญยงบอกว่า “นั่นเป็นเมล็ดพันธุ์” ที่เขาเพาะเอาไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และ ณ เวลานี้มันเริ่มออกดอกผลที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว และย้ำว่าจุดแข็งของร้านเขียงคือ ลงทุนไม่มาก ค่าเช่าไม่แพง ใช้พนักงานน้อย และขยายสาขาได้รวดเร็วในรูปแบบแฟรนไชส์ สามารถตั้งได้ในแหล่งชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะห้องแถวต่างๆ หรือศูนย์อาหารนอกห้างที่มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับใช้นั่งรับประทาน “ผมว่าการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารเป็น red ocean แล้วนะ แต่การหาพื้นที่มันมากกว่า red ocean อีก เพราะมันต้องจองต้องล็อบบี้ ยุคนั้นก่อนโควิด ผมว่าไม่ไหวอะไรที่ demand มากกว่า supply คน ต้องการมากกว่าพื้นที่ ทางผู้เช่าก็จะเพิ่มค่าเช่าทุกปี ทำจนสู้ค่าเช่าไม่ไหว” เขากล่าว ทุกวันนี้ร้านเขียงไม่ใช่พิสูจน์ว่าตัวเองอยู่ได้ในตลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์ดาวเด่นที่ช่วยประคองบริษัทให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตโรคระบาด ท่ามกลางแบรนด์ร้านอาหารหลักของกลุ่มอย่าง ZEN, AKA และ on the table ที่เน้นการรับประทานในร้านได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยบุญยงคาดว่า ร้านเขียงจะสร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 400 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ ระหว่างโควิดระบาดบุญยงไม่หยุดแค่ความสำเร็จของร้านเขียงเท่านั้น แต่เขายังคิดทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา และ “cloud kitchen” หรือครัวกลาง ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เขาตั้งใจให้เป็นที่ปรุงอาหารให้กับร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN ร้าน on the table และร้าน AKA และส่งในรูปแบบเดลิเวอรี่ เขาบอกกับพวกเราแบบขำๆ ว่า เขาเริ่มเดิมพันกับไอเดียนี้โดยเปลี่ยน “แคนทีน” ที่สำนักงานใหญ่แถวอ่อนนุชที่ไม่ได้ใช้ระหว่างที่พนักงาน work from home ให้กลายเป็น “คลาวด์” แห่งแรก จากนั้นไม่นานก็เดินหน้าต่อ ประกาศเช่าพื้นที่ร้านอาหารนอกห้างหรือโรงแรมที่มีครัวและอุปกรณ์ครัวเพื่อให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรี่ และผูกปิ่นโตภายใต้แบรนด์ทั้งสาม นอกจากนี้แล้วในครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมีแผนเชิงรุกเข้าเช่าพื้นที่คลาวด์คิทเช่นเพื่อเป็นครัวกลางเสิร์ฟอาหารนอกศูนย์การค้าอีก 5 แห่งด้วย การเปิดตัวคลาวด์คิทเช่นเดิมทีบุญยงตั้งใจที่จะทำเป็นโครงการเฉพาะกิจ เพียงเพื่อรอเวลาธุรกิจร้านอาหารกลับสู่ภาวะปกติเท่านั้น แต่เมื่อทำไปก็ได้การตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนมีความคิดว่า โมเดลธุรกิจแบบนี้สมควรที่จะผลักดันต่อ บวกกับเช่าพื้นที่บางสัญญายาวถึง 3 ปี จึงตัดสินใจเดินหน้าเพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาเป็นฐานข้อมูลตัดสินใจในการขยายเครือข่ายร้านในอนาคต โดยแนวทางการลงทุนแบบนี้มีจุดดีคือ ประหยัดและมีความคุ้มค่า ที่สำคัญคือ ยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างมากขึ้นกว่าก่อน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในรัศมีของศูนย์การค้าที่บริษัทมีร้านอาหารไปตั้งอยู่ ในที่สุดพลังบวกของบุญยงกำลังตอบแทนเขา เห็นได้จากผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ 511 ล้านบาท เติบโต 51% แม้จะขาดทุนสุทธิ 67 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลง 14 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาท แต่ก็ขาดทุนลดลง 87 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยบุญยงคาดว่าผลประกอบการทั้งปีน่าจะ “ดีกว่า” ปีก่อนแน่นอนทั้งรายได้และผลกำไร และเชื่อว่า หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ธุรกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะคนไม่ได้ใช้ชีวิตนอกบ้านและสังสรรค์กันมาเป็นเวลานาน พลังบวก” กับ “ชีวิต” แม้อยู่ในวัย 56 ปี บุญยงยังเก็บเกี่ยวพลังบวกและเรียนรู้จากสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมะ คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 รายการโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือแม้แต่ถุงกล้วยทอดเขาก็แกะอ่านหลังรับประทานหมด อย่างล่าสุดเขายังได้พลังบวกและแง่คิดจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ Tokyo อย่างน้อย 2 นักกีฬาที่เขาชื่นชมคือ Anna Kiesenhofer ชาวออสเตรีย อาจารย์มหาวิทยาลัยที่หลงรักกีฬาปั่นจักรยาน เธอเข้าเส้นชัยเป็นผู้ชนะด้วยการคำนวณจากคณิตศาสตร์ และอีกคนคือ นักวิ่งชาวดัตช์ Sifan Hassan เธอล้มลงระหว่างวิ่งและลุกขึ้นมาจนวิ่งแซงหน้าคู่แข่งเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ในการแข่งขันวิ่ง 1,500 เมตร บุญยงบอกว่า เรื่องราวของ Hassan สอนให้เขารู้ว่า “พอล้มแล้วอย่าโอ้เอ้ คุณลุกแล้วเอาให้สุดชีวิต ทำอะไรให้ดีที่สุด ทำอะไรให้สุดชีวิต แล้วคุณก็จะชนะ คุณมีโอกาสชนะในช่วงสุดท้ายของชีวิต” ความคิดบวกของเขาส่องประกายชัดเจนมากในช่วงโควิดระบาด เป็นวิกฤตที่หลายคนมองแต่ปัญหารุมเร้า แต่สำหรับเขาแล้ว เขาเลือกมองด้านดีๆ มากกว่า และย้ำว่า “โควิดไม่ได้ทำให้เวลาคุณหายไปนะ” อย่างน้อยๆ โควิดทำให้เรามีเวลามากขึ้นได้อยู่กับตัวเอง ได้ทบทวนตัวเอง เพื่อทำสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้างในที่ประชุมของพนักงานหรือประชุมผู้บริหารของบริษัท เขาจะให้พนักงานยก 10 ปัจจัยบวกมาแบ่งปันกันระหว่างการประชุม เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงาน สร้างพลังการต่อสู้ เพื่อหาทิศทางแห่งอนาคตที่ใช่ร่วมกัน “คุณต้องคิดให้ได้วันนี้ คิดอย่าไปเอาปัญหามา เพราะปัญหามันมีเป็นร้อย คุณต้องคิดแบบนี้ ในวิกฤตคุณต้องหา คิดให้ได้ว่า มันมีปัจจัยบวก 10 ปัจจัยอะไรในวิกฤต” บุญยงกล่าว ทันทีที่มาแตะถึงเรื่องคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 บุญยงก็มีเรื่องราวอีกมากมายที่อยากจะแบ่งปันกับพวกเรา เขาบอกว่า คำสอนของพระองค์นั้นอมตะ นำมาปรับใช้กับชีวิตจริงและโลกธุรกิจได้อย่างทันสมัย โดยเฉพาะปรัชญาด้านเศรษฐกิจพอเพียง อย่างน้อยในขณะนี้เขาได้น้อมรับพระราชดำรัสของพระองค์มาปรับใช้กับองค์กรธุรกิจของเขา นั่นคือ “ขาดทุนคือกำไร” เขากล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด เขาบอกกับคณะกรรมการบริษัทว่า บริษัทต้องยอมขาดทุน ไม่ควรปลดพนักงานออกเพราะวิกฤตมาแล้วมันก็จะผ่านไป หากปลดพวกเขาแล้ว เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ บริษัทจะเอาคนที่ไหนมาช่วยทำงาน ดังนั้น บางเรื่องบริษัทต้องยอมเจ็บปวดและยอมขาดทุนเพื่อจะไปเอากำไรเมื่อโควิดผ่านพ้นไป “หลักธรรมะในการบริหารสามารถใช้ได้กับโควิดทุกสายพันธุ์” เขากล่าวพร้อมหัวเราะ แม้จะวุ่นวายกับหน้าที่ในแต่ละวัน แต่บุญยงก็ยอมสละเวลาทำงานให้กับสังคม หยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับผู้เดือดร้อนจากโควิดระบาดด้วยจุดยืนที่ว่า “อันไหนที่ช่วยได้ก็ช่วยกัน แล้วชักจูงแนวร่วม” ปัจจุบันเขานั่งเป็นกรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีสมาชิกอยู่ 800-900 บริษัท ปัจจุบันบุญยงบอกว่า คำว่า “เหนื่อย” ไม่มีในพจนานุกรมของเขา เขามีความสุขกับการทำงาน สุขกับการเรียนรู้ สุขกับการพูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชา พวกนี้คือ “ยาวิเศษ” ที่ทำให้เขาตื่นขึ้นมาทุกวันและพยายามทำให้คนมีความสุขที่ทำงานกับเขา เขาย้ำว่า เขาไม่เคยแสดงความเหนื่อย ความขี้เกียจ หรือความท้อให้ใครเห็นเพราะต้องการส่งต่อพลังบวกให้กับสังคมรอบข้าง และหลังโควิดนี้เขาวาดฝันที่อยากจะเห็นคนมีพจนานุกรมเล่มใหม่คือ เปลี่ยนความเหนื่อยเป็นความขยัน เปลี่ยนความยากเป็นความง่าย เปลี่ยนมุมมองที่เป็นลบให้เป็นบวกแล้วมองความเสี่ยงให้เป็นโอกาส “อย่าไปจมอยู่กับปัญหา จมปลักอยู่กับอดีต...เพื่อนผมไม่ออกจากบ้านเลย ตรงข้ามนะ วัคซีนที่ดีที่สุดในโลกไม่มี อเมริกาฉีดไปเถอะก็ยังติดอยู่ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ป้องกันตัวเอง อยู่กับมันให้ได้ อยู่กับความสุขที่มีอยู่ ทุกที่มีความสุข คุณต้องหาให้เจอ แต่ทุกที่ก็มีความทุกข์ ถ้าคุณไม่หาความสุข” บุญยงกล่าวทิ้งท้ายกับพวกเราก่อนจบการสัมภาษณ์เกือบ 2 ชั่วโมงในวันนั้น ภาพ: บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป