จุดเริ่มต้นจากการทำในสิ่งที่รัก และต้องการให้ทุกคนรักทะเลมากกว่าแค่การได้ไปทะเล พร้อมทั้งให้ทุกคนได้สัมผัสชีวิตกลางทะเล ความสุขสักครั้งในชีวิต กลายเป็นแรงบันดาลใจของ "ธัญชนก วัชโรทัย" สู่ธุรกิจ Blue Voyage บริการเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยว
ภายหลังจากจบการศึกษาด้าน Hospitality Management จาก RMIT University ประเทศออสเตรเลีย ทายาทนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออม - ธัญชนก วัชโรทัย ตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองในทันที โดยได้ร่วมมือกับสามี ปิ๊ง-ฐิตวัฒน์ วัชโรทัย บุตรชายคนโตของวัชรกิตติ วัชโรทัย และหลานชายของเลขาธิการพระราชวัง แก้วขวัญ - ท่านผู้หญิง เพ็ญศรี วัชโรทัย ก่อตั้ง Blue Voyage Thailand (บลู โวยาจ ไทยแลนด์) ผู้บริการให้เช่าเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยว
ไอเดียของธุรกิจนี้มาจากสมัยที่ธัญชนกยังศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย และมีโอกาสกลับมายังประเทศไทยในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ในระหว่างนั้นเธอได้ออกทริปเรือยอชต์กับกลุ่มเพื่อน และมักจะเช่าเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศออยู่เสมอ ประกอบกับใจรักในการท่องเที่ยวทางทะเลและความชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการบันดาลธุรกิจในฝันให้เป็นความจริง
ธัญชนกและสามีจึงร่วมกันสั่งเรือยอชต์แบบครุยเซอร์ลำแรกจากสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่าเริ่มต้นที่ 2 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นธุรกิจให้เช่าเรือยอชต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟเพื่อการท่องเที่ยว โดยเธอต้องการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจเรือยอชต์ที่มีอยู่ในขณะนั้น และเปิดประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อไปสัมผัสธรรมชาติกลางทะเลที่ไม่เคยเห็นมาก่อนให้กับคนทั่วไปในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง
ประสบการณ์ความสุขที่สัมผัสได้
“สมัยก่อน การเช่าเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยวแพงมาก ค่าเช่าเหมาลำหลักแสนบาทต่อทริป ยากที่ทุกคนจะเข้าถึง เราจึงเห็นช่องว่างทางการตลาดตรงนี้ ประกอบกับเป็นคนชอบออกทริปเรือยอชต์มาก มีความสุขที่ได้จากการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการอยู่กลางทะเล เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากแค่เดินทางไปทะเล ทั้งความรู้สึกผ่อนคลาย ชิล ความอิสระ จึงอยากให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์นี้” ธัญชนก เริ่มต้นเล่าถึงธุรกิจด้วยสีหน้าและแววตาที่สัมผัสได้ถึงความสุข
เพราะความสุขที่ได้รับ และต้องการให้ทุกคนมีความสุข ธุรกิจ Blue Voyage จึงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการตอบโจทย์ปัญหาการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือยอชต์ของธัญชนก ทั้งในด้านราคา ต่อมาคือการลงทุนซื้อเรือด้วยตัวเอง และเป็นเจ้าของเรือทุกลำ เพื่อควบคุมคุณภาพและการให้บริการ เนื่องจากช่วงแรกที่ดำเนินธุรกิจ ต้องไปเช่าเรือคนอื่นเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า แต่โดนลูกค้าตำหนิ เพราะไม่ได้บริการเทียบเท่าเรือ Blue Voyage
จากข้อตำหนิเพียงครั้งเดียว ธัญชนกจึงตัดสินใจว่าจะต้องลงทุนซื้อเรือทุกลำด้วยตัวเอง เพื่อควบคุมคุณภาพ ความสะอาด และมาตรฐานการให้บริการเทียบเท่าโรงแรม 5 ดาว
“เราทำให้ Blue Voyage เหมือนโรงแรม 5 ดาวลอยน้ำได้ พนักงานทุกคนได้รับการฝึกอบรม ผ่านทุกขั้นตอนอย่างละเอียดเทียบเท่ามาตรฐานการให้บริการของโรงแรม กว่าที่พนักงานจะออกมาให้บริการได้ ใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ห้องทุกห้องต้องสะอาด ที่ผู้ใช้บริการเข้ามาแล้วต้องรู้สึกได้ ตัวเรือต้องได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย มีกัปตัน มีลูกเรือ และบัดเลอร์ หรือผู้ช่วยส่วนตัวไว้คอยบริการทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ” ธัญชนกกล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับสิ่งที่ทำให้ Blue Voyage แตกต่างจากผู้ให้บริการเรือยอชต์รายอื่นอยู่ที่การรักษามาตรฐานการบริการ ความปลอดภัย และความสะอาดตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ รวมถึงความมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานใหม่ในธุรกิจให้บริการเรือยอชต์เพื่อการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สะอาด สร้างความสุขในแบบคุ้มค่า คุ้มราคา ส่งผลให้บริษัทสามารถผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ เช่น กรณีเรือฟีนิกซ์ล่มที่จังหวัดภูเก็ต ครั้งนั้นทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการของ Blue Voyage มากขึ้น เนื่องจากข้อกังวัลเรื่องความปลอดภัย หรือแม้แต่กรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ครั้งนี้ก็ตาม เชื่อว่าจะผ่านได้เช่นกัน เพราะบริษัทมีระบบสเปรย์ฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับสายการบิน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธัญชนกสามารถขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากเรือยอชต์หนึ่งลำ Blue Voyage Thailand ได้เพิ่มจำนวนและขนาดของเรือยอชต์เรื่อยมา และต่อยอดมาสู่ Blue Voyage Cooperation ผู้ให้บริการครบวงจรเกี่ยวกับเรือยอชต์ ทั้ง Yacht Management Program, Repair and Services และ Pre-owned โดยปัจจุบันมีเรือยอชต์อยู่ 12 ลำ แบ่งเป็น เรือประเภทครุยเซอร์, คาตามารัน (เรือยอชต์ 2 ท้องที่มีใบเรือ) และเรือหางยาวแบบดั้งเดิม (traditional long tail boat)
ก้าวสู่ฮับเรือยอชต์ในอาเซียน
ความมุ่งมั่นทุ่มเทของธัญชนกได้ทำให้ Blue Voyage เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมตลอดระยะทางกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางธุรกิจสำคัญ เมื่อบริษัทได้รับการยอมรับจากลูกค้ากลุ่มองค์กร เช่น กลุ่มธนาคาร ธุรกิจรถยนต์ ที่ซื้อบริการของบริษัทเพื่อเป็นของรางวัลให้ลูกค้า
รวมถึงธุรกิจโรงแรม เช่น เครือไมเนอร์ กรุ๊ป ที่ทำสัญญากับบริษัทเพื่อให้บริการเช่าเหมาเรือเพื่อให้บริการลูกค้าของโรงแรม โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นตามลำดับ จากเรือ 1 ลำ เป็น 3 ลำ ปีที่ 4 เพิ่มเป็น 6 ลำ ปีที่ 5 เป็น 10 ลำ และปีที่ 6 มีเรือจำนวน 12 ลำ
นอกจากนั้น ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Blue Voyage Thailand ได้มุ่งเน้นการโปรโมตทะเลของประเทศไทย ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยได้ร่วมกับภาครัฐต่างๆ รวมถึงสื่อไทยและสื่อต่างชาติ อีกทั้งยังได้ขยายกิจการไปในหัวเมืองทะเลทั่วประเทศไทย อาทิ พัทยา, สมุย, ภูเก็ต และกระบี่
รวมถึงมีโครงการที่ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ การร่วมมือกับ ททท. พัทยา เพื่อช่วยกันเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองพัทยา ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวด้วยเรือยอชต์ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้ทราบว่า พัทยามีธรรมชาติที่สวยงามซ่อนอยู่ โดยน้อยคนนักจะรู้ว่านอกจากเกาะล้านแล้ว พัทยายังมีเกาะครามใหญ่, เกาะครามน้อย, เกาะเป็ด และเกาะไผ่ ที่เป็น Hidden gems หรือ Unseen destination ที่มีน้ำใส ปะการังสวย หาดทรายขาว มีเต่า และสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์อาศัยอยู่ เป็นต้น
ขณะที่ก้าวต่อไปของบริษัท คือการเป็นผู้ให้บริการเรือยอชต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นลำดับแรก ก่อนพิจารณาขยายธุรกิจในฟิลิปปินส์และเมียนมาต่อไป รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจาจับมือกับพันธมิตรที่เปิดธุรกิจโรงแรมที่เกาะนูซาเพนิดา อินโดนีเซีย โดยให้บริการนั่งเรือจากเกาะบาหลีไปยังเกาะนูซาเพนิดา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้
“เดิมเราพิจารณาทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียพร้อมๆ กัน แต่อินโดนีเซียมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางทะเลอยู่แล้ว และนักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับเพื่อนเปิดธุรกิจโรงแรมใหม่ จึงเริ่มที่อินโดนีเซียก่อน ส่วนฟิลิปปินส์จะตามมา เพราะเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะสวยงาม เช่นเดียวกับเมียนมา คาดว่าจะใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปี ซึ่งบริษัทมีความพร้อมมาก เพราะปัจจุบันให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติอยู่แล้ว และมีพนักงานทั้งไทยและต่างประเทศไว้คอยให้บริการ”
สำหรับแผนการเปิดน่านน้ำสู่ท้องทะเลอาเซียนครั้งนี้ ธัญชนกมีความพร้อมทั้งในด้านพันธมิตร และบุคลากรในการให้บริการ ขณะที่วางแผนเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 5 ปีจากนี้ เพื่อระดมทุนต่อยอดกิจการ
ธัญชนกเชื่อว่า ธุรกิจจะก้าวไปได้ไกลตราบเท่าที่ท้องทะเลเปิดกว้าง สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง ทั้งคน เรือ โครงสร้างพื้นฐานของเรือ โดยจุดมุ่งหมายสำคัญที่กำลังจะก้าวไปอีกขั้น คือการเป็นเจ้าของท่าเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะต้องดูแลวางโครงสร้างพื้นฐานให้ดี ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อมและการบริหารงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะ
เดินหน้าธุรกิจด้วยใจรัก
นอกจากความรักในการเดินทางท่องเที่ยวทางเรือแล้ว สิ่งที่ธัญชนกให้ความสำคัญและให้ความรักไม่แพ้กัน คือ เรือ ซึ่งการคัดสรรเรือนำเข้า เธอจะเลือกเฉพาะแบรนด์ที่ดีที่สุด นั่นคือแบรนด์ Lagoon ของประเทศฝรั่งเศส โดยถือเป็นแบรนด์หรู หากเทียบกับรถยนต์ก็เปรียบเสมือนแบรนด์รถยนต์ซูเปอร์คาร์อย่าง “Bentley”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังเธอได้เข้ามาพัฒนาเรือแบบดั้งเดิมของไทย ได้แก่ เรือหางยาว เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการท่องเที่ยวให้กลุ่มไมเนอร์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเรือหางยาวทั่วไปจะมีราคาประมาณ 200,000-300,000 บาท แต่เรือหางยาวของ Blue Voyage ราคาอยู่ที่ 2 ล้านบาท ทุกอย่างพรีเมียม อุปกรณ์ทำด้วยทองเหลือง มีห้องน้ำ และดาดฟ้าสำหรับนอนอาบแดด
สำหรับการสร้างเรือหางยาว หรือ traditional long tail boat เป็นการนำต้นแบบมาจากเรือมหาเภตรา ซึ่งเป็นเรือหางยาวที่มีความสวยงาม และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากว่า 20 ปี โดยเธอได้ไปตามหาและรวบรวมทีมผู้สร้างเรือลำนี้ เพื่อมาต่อเรือให้กับบริษัท จนได้เรือหางยาวแบบที่ต้องการ และนำให้บริการแบบเดียวกับเรือยอชต์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในการทำธุรกิจของตัวเอง
ทุกวันนี้ ธัญชนกยังคงเดินทางท่องเที่ยวทางเรืออย่างสม่ำเสมอ ด้วยความรักและความสุข ทั้งยังได้แสวงหาโอกาสที่ท้องทะเลเป็นผู้มอบให้ พร้อมมองหาจุดหมายปลายทางใหม่เพื่อนำมาให้บริการลูกค้า รวมถึงการทดลองใช้บริการ เพื่อพัฒนาคุณภาพและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพราะเธอเชื่อว่า “การได้สัมผัสชีวิตกลางทะเลนั้น ครั้งเดียวไม่เคยพอ”
- อ่านเพิ่มเติม พิเชษฐ สิทธิอำนวย “Work Life Balance” ความสุขอยู่ที่ใจ
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine