ชายหนุ่มนักบริหารรีสอร์ตระดับอัลตรา-ลักชัวรี่แห่งภูเก็ต ผู้ตกหลุมรักอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้เวลามุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ สร้างสรรค์ที่พักตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั่วโลก พลิกอาคารเก่าแก่เป็นแมนชั่นริมน้ำสุดหรูพร้อมเนรมิตโรงภาพยนตร์เก่าสู่โรงแรมทันสมัย
กลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่อยู่ในทุกอณูของอาคารเก่าที่พร้อมจะบอกเล่าเรื่องราวหนหลังให้ผู้คนยุคปัจจุบันได้รับรู้ คือมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี วัย 32 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป (MHG) ผู้บริหาร “ตรีสรา” รีสอร์ตชั้นนำใน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เสาะหาอสังหาริมทรัพย์เปี่ยมคุณค่าในกาลเวลาเพื่อสืบทอดให้คงอยู่ยาวนาน เมื่อจังหวะที่ดีมาถึง เขาจึงผสานการอนุรักษ์อาคารเก่าเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านโรงแรม ปรากฏเป็น “พระยาพาลาซโซ่” (Praya Palazzo) คฤหาสน์เกือบร้อยปีริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามท่าพระอาทิตย์ และ “ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์” (Prince Theatre Heritage Stay) โรงภาพยนตร์เก่าย่านบางรักที่กลายเป็นโรงแรม เปิด “คฤหาสน์” รับนักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี่ “บ้านบางยี่ขัน” คือนามเดิมของพระยาพาลาซโซ่ สร้างขึ้นในปี 2466 เป็นที่พำนักของอำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช ขุนนางเชื้อสายจีนผู้รับราชการในกรมท่าซ้าย กับคุณหญิงส่วน (สกุลเดิม อุทกภาชน์) คู่ชีวิตซึ่งเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี และทายาทของทั้งสองอีก 10 คน หลังเจ้าของบ้านถึงแก่อนิจกรรม ทายาทได้โอนกรรมสิทธิ์บ้านบางยี่ขันให้มูลนิธิมุสลิมกรุงเทพวิทยาทานในปี 2489 เพื่อเป็นอาคารเรียนโรงเรียนราชการุณ ต่อมาโรงเรียนปิดตัวในปี 2521 มูลนิธิฯ จึงให้เอกชนเช่าทำเป็นโรงเรียนอินทรอาชีวศึกษา แต่ก็ต้องปิดตัวลงอีกในปี 2539 นับแต่นั้น บ้านบางยี่ขันก็ถูกห้วงเวลากัดกร่อนจนทรุดโทรมรกร้างแทบไม่เหลือเค้าลางอดีตอันรุ่งโรจน์ “ตอนนี้นักท่องเที่ยวกลุ่มลักชัวรี่ต้องการที่พักที่เชื่อมโยงเขาเข้ากับจุดหมายปลายทาง ทำให้เรามองหาอาคารเก่าในกรุงเทพฯ มาพัฒนา กระทั่งเจอพระยาพาลาซโซ่ซึ่งเป็นโรงแรมมาก่อน จึงเห็นโอกาสพัฒนาให้เป็นแมนชั่นระดับลักชัวรี่บูทีค” กิตติศักดิ์เล่าย้อน กระทั่งการเจรจาสำเร็จในเดือนตุลาคม ปี 2560 ด้วยงบลงทุนที่รวมสัญญาเช่าและการปรับปรุงราว 100 ล้านบาท พระยาพาลาซโซ่ชูจุดเด่นที่เรื่องราวในอดีตเสมือนพาผู้เข้าพักท่องไปในกาลเวลาผ่านสถาปัตยกรรม ปีกทั้งสองข้างของอาคารคือห้องพัก 17 ห้องซึ่งออกแบบให้มีบรรยากาศความเป็นไทยผสมตะวันตกผ่านเครื่องเรือนต่างๆ และด้วยเส้นทางด้านหลังซึ่งเป็นซอยเล็กและแคบติดชุมชน จึงกลายเป็นความเฉพาะตัวของพระยาพาลาซโซ่ที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น แม้มีจุดแข็งหลายด้าน ทว่าโรงแรมบูทีคซึ่งตั้งเรียงรายอยู่สองฝั่งเจ้าพระยาก็เป็นสิ่งที่พระยาพาลาซโซ่มองข้ามไปได้ยาก อาทิ โรงแรมเดอะ สยาม โรงแรมริวา เซอร์ยา โรงแรมศาลา รัตนโกสินทร์ รวมทั้งจักรพงษ์วิลล่าในพื้นที่วังจักรพงษ์ ไม่นับโรงแรมหรูที่เป็นเชนระดับโลก เช่น The Peninsula Bangkok, Mandarin Oriental Bangkok เป็นต้น กิตติศักดิ์จึงคิดวิธีไม่ให้พระยาพาลาซโซ่ถูกกลืนหายไปกับกระแสการแข่งขัน ทั้งยังต้องสร้างความแตกต่างจากโรงแรมเชนอื่นๆ นำสู่กลยุทธ์ “แมนชั่นริมน้ำ” ที่หลังจากปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ ก็จะเดินหน้าสร้างความรับรู้อย่างเต็มที่ “เราต้องฉีกตัวเองออกมาและเสนอในสิ่งที่คู่แข่งทำไม่ได้ ปีนี้พอปรับปรุงเสร็จก็จะไม่เน้นการให้เช่าแบบ 1 ใน 17 ห้อง แต่จะเน้นการให้เช่าแมนชั่นริมน้ำทั้งหลังที่มี 17 ห้อง ซึ่งจะเริ่มใกล้เคียงกับสิ่งที่ตรีสราทำที่ภูเก็ต ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นประสบการณ์ที่เอ็กซ์คลูซีฟที่สุดบนริมน้ำเจ้าพระยา” เขายังเตรียมเชื่อมโยงความแข็งแกร่งของตรีสราเข้ากับพระยาพาลาซโซ่ อาทิ พนักงานที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีให้รักษาความเป็นส่วนตัวของแขกมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเอาใจใส่แขกให้รู้สึกถึงความอบอุ่นผ่อนคลาย และช่วยจัดทริปตามความประสงค์ของผู้เข้าพัก พลิกโรงหนังสู่โรงแรม ท่ามกลางความคึกคักของย่านการค้าเก่าแก่อย่างบางรัก คือที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ปริ๊นซ์ รามา ซึ่งเร้นกายอยู่ด้านหลังตึกแถวริมถนนเจริญกรุง แม้ฤดูกาลจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมากระทบให้สภาพผุพังลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่สามารถทำลายโรงภาพยนตร์ที่มีประวัติความเป็นมาราวร้อยปีได้ “ที่นี่สะท้อนถึงยุครุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลนในไทย ตั้งอยู่ในบางรักซึ่งเป็นหนึ่งในย่านสำคัญ เดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวก อีกอย่างเราคิดว่าการจะอนุรักษ์ตึกเก่าไว้ได้คือการทำให้อยู่อย่างยั่งยืน จึงติดต่อกรมธนารักษ์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เพื่อขอเช่าโดยปรับปรุงและเปิดเป็นที่พัก” กิตติศักดิ์พูดถึงอสังหาฯ อีกแห่งที่เขาทำสัญญาเมื่อปีที่แล้ว ด้วยงบลงทุนราว 50 ล้านบาท เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เปิดให้บริการไปเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ โดยตั้งเป้าอัตราการเข้าพักตลอดทั้งปีที่ 64% ชายหนุ่มให้เหตุผลเขาพยายามรักษาโครงสร้างหลักของโรงภาพยนตร์ไว้มากที่สุด ออกแบบตกแต่งโดยอิงกลิ่นอายและบรรยากาศความเป็นโรงภาพยนตร์ เน้นการใช้แสงและเงา นำโทนสีขาว ดำ และน้ำตาล มาใช้สร้างความอบอุ่นเสมือนอยู่บ้านภายในห้องพัก หยอดลูกเล่นด้วยการทำเป็นห้องแต่งกายนักแสดง มีบาร์เครื่องดื่มที่ออกแบบคล้ายบ็อกซ์ออฟฟิศ เครื่องดื่มมีเช่นค็อกเทลที่อยู่ในภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง นำจอฉายภาพยนตร์มาใช้เป็นสื่อให้นักท่องเที่ยวได้ออกไปค้นหาประสบการณ์ในย่านบางรัก ฝึกอบรมพนักงานให้แขกรู้สึกว่าเป็นเพื่อนที่พร้อมให้คำแนะนำเรื่องกินเที่ยวในแบบคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ผู้บริหารยอมรับว่าเป็นเรื่องยากพอสมควรในการสร้างธุรกิจและสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ นอกเหนือจากที่ MHG มีความถนัดอยู่แล้ว แต่ก็ถือเป็นความท้าทาย โดยปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ จะเน้นสร้างความรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียให้แขกได้บอกต่อถึงที่พัก ซึ่งคาดว่าแขกน่าจะมีเรื่องไปบอกเล่าได้ค่อนข้างมากชายหนุ่มไม่หยุดมองหาอาคารที่สะท้อนความรุ่งเรืองของอดีตเพื่อนำมาพัฒนาต่อ “ตรีสรา” ปักหลักผู้เล่นเบอร์ต้น ตรีสรามีวิลล่า 60 หลัง แบ่งเป็นส่วนโรงแรม 39 หลัง หลังละ 1-2 ห้องนอนส่วนอีก 21 หลังเป็นวิลล่าส่วนตัว 2-8 ห้องนอน ที่ปล่อยเช่าระยะยาวด้วยราคา 150-500 ล้านบาท หากเจ้าของต้องการปล่อยเช่าในช่วงที่ไม่ได้มาพัก ตรีสราก็จะช่วยหาผู้เช่าให้ ซึ่งในปี 2560 ตรีสรามีอัตราการเข้าพักรวมทั้งหมด 60-70% “จุดเด่นของเราคือเป็นผู้ประกอบการคนไทย มีสถาปัตยกรรมแบบไทยซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ของเราเอง สร้างความเป็นส่วนตัวด้วยธรรมชาติ ทั้งการตั้งอยู่บนหาดที่บุคคลภายนอกเข้าถึงได้ยาก มีพื้นที่กว้างขวางและร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาด้านอื่นๆ ให้มีความแปลกใหม่อยู่ตลอด เช่นห้องพัก ห้องอาหาร ซึ่งด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทำให้เรามั่นใจว่าตรีสราจะยังเป็นท็อปของตลาดได้” ปีนี้ กิตติศักดิ์ตั้งใจให้ธุรกิจโรงแรมซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของ MHG สร้างรายได้รวมกันราว 560 ล้านบาท แบ่งเป็นตรีสราราว 515 ล้านบาท ซึ่งรายได้จะมาจากทั้งส่วนโรงแรมการบริหารการปล่อยเช่าวิลล่าส่วนตัว และการนำอาหารและเครื่องดื่มจากห้องอาหารต่างๆ ของตรีสราเข้าไปบริการแขกในวิลล่าส่วนตัว ส่วนพระยาพาลาซโซ่ตั้งรายได้ไว้ที่ 30 ล้านบาท และปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ ที่ 15 ล้านบาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจของ MHG ยังคงมีพลังล้นเหลือและสนุกกับการบริหารธุรกิจที่ต้องรับมือกับความท้าทายและความต้องการที่ปรับเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ของนักท่องเที่ยว ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ MHGคลิกอ่านบทความการสร้างธุรกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine