อานันท์ ปันยารชุน ผลึกชีวิตนักสู้ผู้ยอมรับความเห็นต่าง - Forbes Thailand

อานันท์ ปันยารชุน ผลึกชีวิตนักสู้ผู้ยอมรับความเห็นต่าง

กลางเดือนตุลาคม ปี 2565 ท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมทั้งเศรษฐกิจและการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็น "คนกลาง" ปรากฏตัวผ่านสื่ออีกครั้งในฐานะตำนานของผู้บริหารนักสู้ จากหน้าที่การงานในอดีตฝากข้อคิดแนวปฏิบัติให้เป็นบทเรียน แม้ในวัย 90 ปีเขายังแบ่งเวลาทำงานด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง


    จากอดีตนักการทูตผู้ได้รับการเชื้อเชิญมาสู่ตำแหน่งบริหารสูงสุดของประเทศ ทำให้ชื่อของ “อานันท์ ปันยารชุน” ยังคุ้นหูผู้คนหลายช่วงวัยในสังคม โดยเฉพาะวัยกลางคนที่ผ่านประสบการณ์สมัยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของประเทศ ภาพในอดีตของนักบริหารสูงวัยท่านนี้ยังคงชัดเจนกับคำเรียก “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ที่อยู่ในความทรงจำของหลายคน

    “ชีวิตผมค่อนข้างแปลก ผมไม่เคยนึกอยากเรียกร้อง ไม่ว่าในตอนเรียนหนังสือ รับราชการ หรือทำงานเอกชน ส่วนใหญ่ทุกอย่างมันมาเอง แต่แน่นอนแหละเรามีความพยายามอุตสาหะมากที่สุด” อานันท์เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการ Forbes Thailand


สถานะ “คนกลาง–นักสู้”


    ความเชื่อมั่นทำให้อานันท์เป็นผู้นำที่ได้รับแรงศรัทธาไม่น้อย หากย้อนกลับไปดูจากประสบการณ์ต่างๆ ของเขาที่ไม่เพียงโดดเด่นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่ทว่าทุกภารกิจหน้าที่ได้รับการชื่นชมและมีรางวัลยืนยันความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

    ตั้งแต่สมัยรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ และได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งของไทยและต่างประเทศ ได้รับจากหลายประเทศหลายปีอย่างต่อเนื่อง

    “ลาภ ยศ ตำแหน่งที่ได้มาเป็นเครื่องประดับเท่านั้น ผมค่อนข้างปล่อยวางในสิ่งเหล่านี้ ใครชมเชยก็ขอบคุณ ใครตำหนิติเตียนก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตแย่ลง” เขากล่าวอย่างสมถะปนความทะนงตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของชายสูงวัยผู้ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมานับไม่ถ้วนทั้งในไทยและระดับนานาชาติ

    พร้อมขยายความเรื่องการตำหนิว่า หากคนดีที่น่านับถือมาตำหนิเขาต้องรับฟัง “ผมพยายามจำแนกรับฟังคนที่เคารพนับถือคนที่เรารัก ส่วนคนที่เรารู้สึกไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตจะไม่เอามาใส่ใจ” นั่นเป็นแนวทางเปิดรับความเห็นของอดีตผู้นำ ซึ่งแน่นอนเขาเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรกับบ้านเมืองมักมีผู้คนติดตามความเห็นแง่คิดมุมมองจากเขาอยู่เสมอ

    นอกจากการเชื่อมโยงสังคมในเรื่องของความคิดเห็นแล้ว อานันท์สำทับว่า การเกิดเป็นคนในชีวิตย่อมมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี มีช่วงที่รุ่งเรืองและถดถอย “ในชีวิตหนึ่งต้องมีขึ้นสุดยอดเขาและลงเหวลึกไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน” เขากล่าวโดยมองเป็นเรื่องธรรมชาติ ก่อนจะยกตัวอย่างเรื่องส่วนตัวว่า กรณีภรรยาเขาที่ล้มเจ็บก็ถือเป็นช่วงที่เลวร้ายในเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องงานที่เคยถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือปฏิบัติราชการไม่ตรงไปตรงมา

    “ในชีวิตผมโดนมาทุกอย่าง ตำแหน่งสูงสุดก็ได้หมด ทั้งประธานสภาอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวง ทูตประเทศต่างๆ จนกระทั่งมาเป็นนายกรัฐมนตรี” ยิ่งตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบสูงอุปสรรคปัญหาก็สูงตามเป็นเงา เขายอมรับในข้อเท็จจริงนี้


    “ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ผมสงบและมีความอดทน อดทนต่อเหตุการณ์ อดทนต่อคำครหานินทา อดทนต่ออะไรหลายอย่าง” คำกล่าวนี้สะท้อนที่มาของคำว่า “นักสู้ อานันท์” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือชีวประวัติเล่มล่าสุดของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทยที่เขียนโดย วิทยา เวชชาชีวะ เพิ่งเปิดตัวสู่สาธารณชนเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

    ซึ่งเป็นวาระใกล้เคียงกับการให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand โดยวันนั้นเขาใช้เรือนไทยของกลุ่มอมตะที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นสถานที่สัมภาษณ์ เนื่องจากการเดินทางไปยังสถานที่สาธารณะ เช่นโรงแรมหรือสำนักงานทั่วไปอาจไม่สะดวกเรือนไทยหลังนี้จึงดูเหมาะสมแก่การนั่งคุยอย่างไม่เป็นทางการ บอกเล่าประสบการณ์ต่างๆ อย่างเป็นกันเอง

    ตอนหนึ่งของการพูดคุยอดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ชีวิตที่ผ่านเรื่องราวมากมายสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกวันยังคงมีความสุขและก้าวเดินต่อได้คือ การไม่ยึดติดเรื่องความอาฆาตพยาบาท ทำให้ชีวิตไม่หยุดชะงัก “ความโกรธเกลียด ความอาฆาตพยาบาท หรือการริษยาอาฆาตเหล่านี้มันไม่ค่อยมีในใจผม ทำอะไรเสร็จแล้วก็หมดไปวันหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็เริ่มต้นใหม่”

    นี่อาจเป็นเคล็ดลับสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี เพราะไม่ยึดติดในเรื่องที่ทำให้ขุ่นข้องใจ ใช้ชีวิตไปตามครรลองครองธรรม พบปัญหา แก้ไข และก้าวเดินต่อไป ทำทุกวันให้มีค่าสำหรับการมีชีวิตเป็นความพอดีในอีกรูปแบบ

    แม้จะดูเหมือนสมถะในการใช้ชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อานันท์คือนักบริหารที่ฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อย ทั้งในแวดวงราชการที่เขาใช้มากว่าครึ่งชีวิตของการทำงาน ก่อนจะก้าวสู่การทำธุรกิจและการเมือง ปัญหา อุปสรรคต่างๆ มีเข้ามาพิสูจน์ความมุ่งมั่นของเขาอย่างต่อเนื่อง

    “ในชีวิตผมสู้กับหลายอย่าง สู้กับความไม่ถูกต้อง สู้กับความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรม สู้กับอำนาจที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม สู้กับการมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม” อานันท์ยกตัวอย่างคำว่า “สู้” ของเขากับเรื่องต่างๆ

    เขายังสำทับด้วยว่า การสู้เหล่านี้ไม่ใช่เพื่อตัวเองและครอบครัว แต่สู้เพื่อส่วนรวมและบ้านเมือง เช่น สู้กับการกลั่นแกล้งคนอื่น สู้กับการข่มเหงประหัตประหารในอาชีพ “ผมไม่ชอบเห็นคนถูกรังแก ผมคิดว่าผู้มีอำนาจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ” เนื่องจากเขามองว่าผู้มีอำนาจมีทั้งกฎหมายและอำนาจ ซึ่งกฎหมายหลายเรื่องก็ไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นการข่มขู่ข่มเหงรังแกจึงทำได้ง่าย

    “ผมสู้กับเรื่องของการมีไม่ทัดเทียมกัน ผมไม่ได้บอกทุกคนต้องมีอำนาจหรือทรัพย์สมบัติเท่ากันมันเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยเมื่อเกิดมาแล้วอยากให้มีโอกาสทัดเทียมกันในเรื่องการศึกษา” เขายังหมายความรวมไปถึงการหางานทำ การมีอาชีพ หรือความเจริญที่จะสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนแก้ไม่หายทั้งหมด แต่อย่างน้อยทำให้มันแคบที่สุด ไม่ใช่สังคมมีคนรวยสุดโต่งและคนจนสุดโต่ง

    “มันไม่มีประโยชน์อะไรที่ประเทศนี้จะมี 50 คนรวยมาก แต่อีก 30 ล้านคนจนมาก สังคมก็ไม่มีความเจริญ” เขามองว่า ช่องว่างเหล่านี้เป็นที่มาของความวุ่นวายต่างๆ จากความไม่ทัดเทียม ช่องว่างระหว่างคนมีฐานะและคนไม่มีฐานะในทางสังคมเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคม พร้อมย้ำว่า สิ่งเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของการประหัตประหารกันในสังคม


ศรัทธาเหตุผล-ความดี


    อานันท์ย้ำว่า การจะมีศรัทธาพวกเขาจะต้องดูเราก่อนว่าเป็นคนอย่างไร ไว้ใจได้ไหมพอไว้ใจได้ก็ดูต่อไปว่าเชื่อใจได้ไหม นอนใจได้ไหม ถ้าบอกว่าเชื่อใจได้ ไว้ใจได้ นอนใจได้มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา “ศรัทธาไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน เกิดจากการสะสมความดีความเชื่อใจไว้ใจได้ ศรัทธานี้ถ้ายังมีอยู่เราไม่ต้องเกรงกลัวต่อคำครหานินทา” เขาหมายถึงคำกล่าวให้ร้ายต่างๆ ที่ทุกคนล้วนมีโอกาสสัมผัส

    “ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดเราทำอะไรให้พอดีอย่าสุดโต่ง ในความคิดบางอย่างบางคนอาจจะคิดว่าผมสุดโต่ง แต่ในใจผมไม่ใช่คนสุดโต่ง อยู่บนความจริง วันนี้อะไรแก้ได้ก็แก้ ถ้าไม่ได้พรุ่งนี้ค่อยทำต่อ” เขาอธิบายวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในเรื่องต่างๆ

    ก่อนจะย้ำว่า ชีวิตต้องอยู่กับความจริงและมักพูดในที่ต่างๆ เสมอว่า ถ้าเราอยู่กับความหลังที่เป็นประวัติศาสตร์มันก็แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือถ้ามองไปข้างหน้ามากเกินไปก็ยังเป็นเพียงความหวัง ดังนั้น สิ่งที่ทำให้สบายใจและทำได้ดีที่สุดคือ ทำในเรื่องปัจจุบัน เป็นความจริงที่จับต้องได้

    “คนเราถ้าพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ ผมว่านั่นประเสริฐที่สุด มันจะบังคับไปในตัวไม่ให้สุดโต่งไปทางหนึ่งทางใด ไม่ให้เพ้อฝัน” เขาพูดประโยคนี้พร้อมออกตัวว่า อันนี้เป็นปรัชญาหรือเปล่าไม่รู้ แต่มาจากหลักคิดง่ายๆ ด้วยการใช้ภาษาง่ายๆ ในการสื่อสาร

    เมื่อถามเรื่องชีวิตในปัจจุบันอานันท์บอกว่า “อายุอย่างผมตอนนี้ความสุขส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว ลูก หลาน เหลน” และอีกความสุขที่เขาบอกคือ “ผมมีงานทำอยู่เรื่อยๆ ยังทำงานช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” อานันท์ยังชอบดูกีฬาทุกประเภท ทั้งเทนนิส กอล์ฟ และกีฬาอื่นๆ ใช้เวลากับความบันเทิงด้านกีฬามากพอสมควร

    “กว่าจะนอนก็ตี 3 ตี 4 แล้วก็ตื่นสาย ตอนบ่ายถึงพบผู้คน มีทำงานทางโทรศัพท์บ้าง มีงานเขียนด้วยแต่ไม่มาก” เขาหมายถึงการเขียนคำไว้อาลัยงานศพ อวยพรวันเกิด พร้อมบอกว่า ทุกวันนี้ไม่มีอาชีพแล้ว มีแต่งานที่ชอบและเลือกที่จะทำต่อเนื่อง เช่น ช่วยงาน UNICEF (องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) โครงการช่วยเหลือเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เด็กที่ถูกไฟไหม้ และยังคงให้ความสนใจเรื่องการศึกษาและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง


ภาพ: ทีมงาน “นักสู้ อานันท์"




คลิกอ่านเพิ่มเติม: อนิพัทย์ ศรีรุ่งธรรม ออโรร่าปฏิวัติทองตู้แดงสู่ AURA


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine