จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ปั้นหมู่บ้านท่องเที่ยวด้วย "ทุนทางสังคม" - Forbes Thailand

จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ปั้นหมู่บ้านท่องเที่ยวด้วย "ทุนทางสังคม"

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อาจทำให้หลายคนทดท้อ หมดกำลังใจ ทว่าอุปสรรคครั้งนั้นกลับทำให้นักธุรกิจหญิงได้มองเห็นชีวิตในอีกมุมที่ได้ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเพื่อสังคม และกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล


    เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานเพื่อสังคม โดยเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาหน่วยงานภาคสังคมในจังหวัดหนองคายหลายแห่ง ด้วยบุคลิกไม่ถือตัว เข้าถึงง่าย และชอบช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อองค์กรหรือหน่วยงานมีโครงการใหม่ๆ ก็จะเชิญให้เธอร่วมเป็นคณะกรรมการ บางครั้งลงชื่อไว้ก่อนแล้วแจ้งเจ้าตัวภายหลังก็มี

    งานหนึ่งที่ทำคือ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มชาวบ้านยกระดับงานฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าที่หนองคาย และศูนย์การค้าที่กรุงเทพฯ ระหว่างเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีหนองคาย (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด 

    ในปี 2560 ได้นำแนวคิดทุนทางสังคมมาพัฒนา “บ้านเดื่อ” หมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงให้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว คราวที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรภาคอีสานปลายปี 2561 จังหวัดหนองคายก็จัดให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมชมที่นี่


- ยกระดับงานฝีมือผ้าไทย -

    จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมืองหนองคาย เจ้าของโรงแรมวานา เวลเนส รีสอร์ท หนองคาย และร้านค้าซึ่งจำหน่ายงานผ้าไทย ศิลปะแขนงต่างๆ ภาพวาด จากศิลปินในท้องถิ่นชื่อร้าน “ณ ตลาดท่าเรือ ท่าเสด็จ” ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารตรวจคนเข้าเมืองเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้



    ปี 2557 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาได้นำผ้าไทยผ้าทอมือของชุมชนไปจำหน่ายตามแหล่งต่างๆ และมองเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนนั้นยังขาดการพัฒนา รูปแบบไม่ร่วมสมัย

    ความที่ชื่นชอบและหลงรักผ้าไทย จิรนันท์จึงช่วยชาวบ้านพัฒนารูปแบบการตัดเย็บให้ทันสมัย มีความเป็นสากล แนะนำด้านการออกแบบลวดลายผ้า การย้อมสีหรือใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงาน โดยเน้นอัตลักษณ์ของจังหวัดหนองคาย อนุรักษ์ลายผ้าโบราณ และร่วมกับศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หนองคาย รังสรรค์ผ้าลายนาคลวดลายต่างๆ

    “มีโอกาสไปช่วยชาวบ้านพัฒนาหลายหมู่บ้าน แต่มีผู้ผลิตทอผ้าส่งให้เราจากทั่วประเทศ คือไม่ได้ลงพื้นที่อย่างเดียว แต่คุยกับชาวบ้านที่ทอผ้ามาส่ง จะบอกว่าเทรนด์ตลาดเป็นแบบนี้ คือเราให้คำแนะนำแม้กระทั่งเรื่องสีสัน สั่งให้ทอสีหนึ่งบางครั้งจะได้อีกสี ดิฉัน supply ผ้าขายบนเครื่องบินของการบินไทย โชคดีที่คิงพาวเวอร์เข้าใจว่าการทอผ้า (อาจ) ไม่ได้สีอย่างที่คิดเสมอ

    สมมติเปลือกไม้ชนิดเดียวกันอายุต่างกันทำให้ได้เม็ดสีไม่เท่ากัน ที่มีคนบอกว่ามีผืนเดียวในโลกเป็นเรื่องจริง คือไม่สามารถทำซ้ำได้อีก อยากให้คนที่อุดหนุนนึกถึงภาพกี่ทอผ้าในชุมชน เขานั่งกินข้าวตรงนั้น ทุกข์สุขอยู่ตรงนั้น เป็นวิถีชีวิต เป็นความสวยงามที่ดิฉันหลงใหล ทำด้วยใจรัก จะเรียกว่าเป็นธุรกิจไม่ได้เลย แต่เป็นความสุขใจที่ได้มีโอกาสช่วยชาวบ้าน คิดว่าผ้าไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วย ตอนนี้มีทั้งผ้าฝ้ายและไหมเป็นสีธรรมชาติ หลังๆ เพิ่มเรื่องการแปรรูปให้ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน”



- ต่อจิ๊กซอว์ -

    ย้อนกลับไปคราวที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง นักธุรกิจหญิงเมืองหนองคายบอกว่า ธุรกิจของเธอประสบปัญหามากพอสมควร ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้มองเห็นชีวิตมุมใหม่ และมีความคิดที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านและคนยากจน

    เมื่อเป็นกรรมการก็มีโอกาสร่วมงานกับหน่วยงานพัฒนาชุมชน ไปดูกลุ่มทอผ้า จึงมองเห็นภาพชัดมากว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องไปด้วยกัน และอยากทำงานให้บรรลุผล 

    ตลอดเวลาที่จิรนันท์ลงพื้นที่และชุมชนได้สัมผัสถึงวิถีชีวิต มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงานของชุมชนและภาครัฐ เธอทุ่มเทเวลาให้กระทั่งครั้งหนึ่งสามีถึงกับเอ่ยปากเพราะไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เนื่องจากเป็นกรรมการหลายคณะ ต้องเข้าประชุมหลายหน่วยงาน ทำให้ทราบว่าหน่วยงานแต่ละแห่งมีภารกิจหรือมีศักยภาพที่จะทำเรื่องใดๆ หรือมีปัญหาด้านไหน เธอใช้คำว่า “เหมือนกับมีจิ๊กซอว์หลายชิ้น สามารถหยิบไปวางได้ รู้สึกอินมาก"


จิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล

    ความที่อยู่ในภาคธุรกิจจึงมองเห็นโอกาสและแนวทางแก้ปัญหา กระทั่งมาตกผลึกที่ “ทุนทางสังคม” หรือทุนที่ไม่ใช่เงิน ซึ่งทุกวันนี้เวลาได้รับเชิญไปบรรยายให้กับกรมการพัฒนาชุมชน สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ เธอก็จะเน้นย้ำประเด็นดังกล่าวควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

    นอกจากนี้ เธอยังมองเห็นถึงพลังของเครือข่าย ซึ่งเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที

    “เราเป็นนักธุรกิจถูกเชิญจากหน่วยงานให้ไปอยู่ในบอร์ดต่างๆ ทำให้เห็นภาพ การที่เราช่วยเขา เขาก็ช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้น ทุกอย่างคือ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า การที่ชาวบ้านหรือชุมชนจะสู้กับทุนขนาดใหญ่หรือธุรกิจที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก สิ่งเดียวที่จะสู้ได้คือ การรวมตัวของคนตัวเล็กๆ ทั้งหลาย หรือสร้างเป็นเครือข่ายเพื่อให้มีความเข้มแข็ง เกิดการบูรณาการ เวลาคนมาขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือดิฉันจะมองหาเครือข่าย และช่วยหาโอกาสให้เครือข่ายในคราวเดียวกัน”


- เริ่มจากทุนทางสังคม -

    “ชุมชนบ้านเดื่อ” ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ยังชีพด้วยการทำเกษตรและประมง โดยส่วนหนึ่งเลี้ยงปลานิลในกระชังริมน้ำโขงส่งขายให้กับนายทุน เมื่อมีการสร้างเขื่อนพวกเขาก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เมื่อประเทศต้นทางปล่อยน้ำทำให้น้ำขึ้น ปลาในกระชังก็ตาย หากเก็บกักน้ำ น้ำในแม่น้ำโขงลดลงปลาก็ตายอีกเช่นกัน 

    ชะตาชีวิตของคนเลี้ยงปลานิลหมุนเวียนอยู่อย่างนั้น จ่ายหนี้เก่าและรับพันธุ์ปลารุ่นใหม่มาเลี้ยง จิรนันท์ซึ่งขณะนั้นสวมหมวกเป็นกรรมการผู้จัดการ บจ. ประชารัฐฯ จึงชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมกันพัฒนาบ้านของตนเองเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเพื่อหารายได้เพิ่ม

    “เราจีบอยู่นานกว่าเขาจะยอมคุยด้วย เรียกประชุมชาวบ้านบอกจะทำเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ชาวบ้านบอกว่าไม่มีทุน ไม่มีเงิน ไม่มีสถานที่ให้เที่ยว เราบอกจะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ปลากระชังและทำโฮมสเตย์ด้วย ชาวบ้านถามว่าโฮมสเตย์คืออะไร ตอบไปว่าทำโรงแรมน้อยให้ต่างชาติมาพัก และทำกิจกรรมในหมู่บ้าน 



    เช่น ตอนเย็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตอนเช้าทำบุญใส่บาตร หลักๆ เราใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผ่านมาชาวบ้านเลี้ยงปลานิลและส่งให้นายทุนก็แบ่งปลาส่วนหนึ่งมาแปรรูป ทำเป็นปลาแดดเดียว เอาผักปลอดสารในชุมชนมาทำเป็นอาหาร ทำเครื่องดื่มจากผลมะเดื่อ ซ่อมเรือที่จอดทิ้งไว้ในหมู่บ้านเพื่อใช้พานักท่องเที่ยวชมภูมิทัศน์แม่น้ำโขง ไม่มีเสื้อชูชีพก็ขอจากท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด และพานักท่องเที่ยวชมแม่น้ำโขง ซึ่งมีวัดสร้างตั้งแต่สมัยล้านช้างจมอยู่ใต้น้ำ นำ “หมากเบ็ง” ซึ่งเป็นพุ่มใบตองไปลอยบูชา เอาวิถีชีวิตชุมชน ผูกข้อต่อแขน บายศรี ให้ผู้สูงอายุช่วยกันทำสาธิตการทอเสื่อ ทำสินค้าในชุมชน ฝึกให้นวดแผนไทย”

    ย้อนกลับมาเรื่อง “ทุน” ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ชาวบ้านกังวล เมื่อถูกชวนให้ริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ จิรนันท์บอกชาวบ้านว่า ขอคุยก่อน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมโดยเน้น “ทุนทางสังคม”

    “ดิฉันมองหาต้นทุนที่มีอยู่และเอามาทำไม่ได้ขอเงินใครเลย แค่มองว่าหน่วยงานนั้นมีภารกิจอะไร หน่วยงานนี้มีภารกิจใกล้เคียงกับความต้องการของพื้นที่ เรามีหน้าที่ชี้เป้าแล้ว matching ถ้าทั้งประเทศรวมกัน มองหาการ matching ความต้องการของพื้นที่และหน่วยงาน ประเทศจะพัฒนาไปได้มาก ต้องใช้งบฯ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

    ในกรณีนี้หัวใจของความสำเร็จคือ การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งจิรนันท์อธิบายให้ชุมชนทราบอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องมีความรับผิดรับชอบด้วย ในการทำงานต้องการความรัก ความสามัคคี และความเสียสละของคนในชุมชน


ภาพ: ร้าน ณ ตลาดท่าเรือ ท่าเสด็จ

อ่านเพิ่มเติม:

>> Perth Tolle กับการลงทุนแบบไม่เอาเผด็จการ

>> Karen Ceesay จาก Stranger Things เผย 5 เคล็ดลับความสำเร็จ


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine