ประพล ฐานะโชติพันธ์ TMAN สกัดยาชิงธงแบรนด์โลก - Forbes Thailand

ประพล ฐานะโชติพันธ์ TMAN สกัดยาชิงธงแบรนด์โลก

ก้าวต่อของนวัตกรรมสุขภาพสัญชาติไทยที่สามารถพัฒนายาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางคุณภาพมาตรฐานสากล พร้อมชูสรรพคุณสารสกัดธรรมชาติท้าชนเจ้าตลาดเดิม สร้างชื่อไอยราและ Propoliz เดินหน้าสานต่อความมุ่งมั่นแจ้งเกิดอินเตอร์แบรนด์


    ระยะเวลามากกว่า 5 ทศวรรษแห่งการสืบทอดปณิธานการผลิตยาให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่ดีมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพในราคายุติธรรม และต่อยอดสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแบบครบวงจร ด้วยความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้งอาณาจักรที่เริ่มต้นจากเด็กจัดยาหน้าร้านขายยาจีน ซึ่งสามารถใช้ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญ เบนเข็มเส้นทางเป็นยอดฝีมือสร้างยอดขายและขยายฐานลูกค้าจำนวนมาก พร้อมทั้งสั่งสมเงินทุนตั้งต้นเปิดกิจการตัวแทนจำหน่ายเวชภัณฑ์สำเร็จในปี 2515

    “คุณพ่อจบ ป.4 ทำงานเป็นเด็กจัดยาหน้าร้านยาจีนและได้รับโอกาสเป็นเซลส์ขายยาที่มีรายได้มากกว่า ด้วยทักษะการขายและอัธยาศัยที่ดี บวกกับสามารถดูดวงได้ ทำให้ลูกค้าติดและสร้างยอดขายจำนวนมาก จนกระทั่งมั่นใจในความพร้อมเริ่มต้นธุรกิจซื้อมาขายไป จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.วี.ฟาร์มาซูติคอล ในปี 2515 และเปิดโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัด ทรัสต์แมน ฟาร์มา ในปี 2518 ซึ่งขณะนั้นได้พบกับคุณแม่ที่เป็นบัณฑิตใหม่ไฟแรงจบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

    “โดยท่านมีปณิธานร่วมกันในการสร้างชื่อให้วงการยายอมรับการผลิตยาดีมีคุณภาพจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) หรือ TMAN เริ่มต้นเล่าถึงการบุกเบิกก่อตั้งธุรกิจรุ่นบิดามารดา ได้แก่ ธีรวัฒน์ ฐานะโชติพันธ์ และ คำนวณ คงศุภลักษณ์ ร่วมกันสร้างชื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับในคุณภาพ ด้วยความเพียรพยายามยกระดับโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน ที.แมน ฟาร์มา จังหวัดกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต Good Manufacturing Practice–Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (GMP PIC/s) ประเภทยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ โดยรวมยาแผนปัจจุบันของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 315 ตำรับ

    นอกจากนั้น บริษัทยังขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้โรงงานผลิตเฮเว่น เฮิร์บ จังหวัดปทุมธานี ในปี 2547 ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GMP (PIC/S) ประเภทยาแผนโบราณสำหรับมนุษย์/ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเป็นโรงงานแรกที่ได้มาตรฐาน GMP PIC/S ยาแผนโบราณ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวม 79 ตำรับ ทั้งยังก่อตั้งบริษัท ทีเอ็มทีโปรสปอร์ต จำกัด เพื่อขยายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเสริมศักยภาพการออกกำลังกายและกีฬาในปี 2563


    “เราใช้เวลาหลายสิบปีให้คนยอมรับในสินค้า ซึ่งคุณพ่อมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานทั้งโรงงานผลิตและยาคุณภาพเกิน 100% หรือมาตรฐานที่มีตัวยามากกว่าเกณฑ์กำหนด โดยหลังจากที.แมนสามารถสร้างชื่อยาแผนปัจจุบันได้ คุณแม่มีความสนใจส่วนตัวและความฝันเกี่ยวกับการพัฒนาสารสกัดสมุนไพร แต่เมืองไทยสมัยนั้นไม่มีตลาด เพราะยังใช้วิธีบดสมุนไพรใส่แคปซูล

    “ขณะที่เรามีฐานธุรกิจ ลูกค้า และทีมเซลส์แล้ว เราจึงเปลี่ยนจากโรงงานผลิตวัตถุดิบสารสกัดเป็นการผลิตจำหน่ายเองจนได้นวัตกรรมสมุนไพรตัวแรกเป็นยาน้ำแก้ไอไอยรา ซึ่งใช้คอนเซ็ปต์รสชาติดีและต้องรักษาอาการไอได้ตั้งแต่จิบแรก โดยมีงานวิจัยรองรับประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่เราเข้ามารับช่วงต่อและลงพื้นที่ทำตลาดอย่างหนักทั่วประเทศจนประสบความสำเร็จ”

    ซีอีโอวัย 42 ปี กล่าวถึงการปรับใช้ความรู้ปริญญาตรี เภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมสั่งสมประสบการณ์ทำงานผ่านการเรียนรู้ธุรกิจยาของครอบครัวในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดในประเทศของที.แมน ฟาร์มา เมื่อปี 2547 โดยรับหน้าที่ประสานงานด้านการผลิตในโรงงานและการขายของบริษัท รวมถึงการขึ้นทะเบียนยาในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดเพิ่มยอดขายของบริษัทให้มากขึ้น เช่น ฮ่องกง ภูฏาน ประเทศแถบแอฟริกาใต้ เป็นต้น


    “เมื่อก่อนโรงงานบางขุนเทียนเป็นบ้านและออฟฟิศเก่าของคุณแม่ ซึ่งเราเห็นภาพท่านทำงานมาตั้งแต่เด็กและมีโอกาสเข้าไปในไลน์ผลิต ช่วยจัดของ แพ็กยา สมัยชั้นประถมในช่วงปิดเทอม ทำให้เราซึมซับธุรกิจของครอบครัวและเลือกเรียนเภสัชศาสตร์ด้านเทคโนโลยีการผลิตตามรอยคุณแม่ โดยเริ่มทำงานข้างนอกกับโรงงานยาสัตว์ประมาณ 1 ปี และอีกปีกว่าเป็นเภสัชกรจ่ายยาที่ Boots และ Watsons ซึ่งช่วยให้เข้าใจมุมมองของคนจ่ายยาและความต้องการของผู้บริโภค

    “จนกระทั่งครอบครัวให้เข้ามาช่วยธุรกิจ โดยต้องทำงานร่วมกับฝ่ายผลิตและเซลส์ ทำให้เห็นความสำคัญการเรียนปริญญาโทเพิ่มด้านการตลาดและได้นำมาใช้ปรับโครงสร้างแยกทีมขายและทีมการตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์และพยายามหาโอกาสใหม่ในการขยายตลาดต่างประเทศ จากเดิมมีแค่ประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา”


รุกปั้นแบรนด์ไทยผงาดเวทีโลก

    แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก แต่ประพลสามารถแสดงฝีมือการวางแผนและบริหารงานคว้าโอกาสเร่งเครื่องการผลิตตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลและช่วยบรรเทาอาการทางช่องปากและลำคอแบรนด์ Propoliz ส่งผลให้รายได้ของบริษัทสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยจำนวน 1.98 พันล้านบาท และกำไรสุทธิมากกว่า 431 ล้านบาทในปี 2566

    “ด้วยจุดเด่นด้านรสชาติที่สามารถใช้ได้ทั้งบรรเทาอาการเจ็บคอและช่วยให้ชุ่มคอ ประสิทธิภาพการรักษา และมีงานวิจัยรองรับ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจและผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าเราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยกเครดิตให้ทีมผลิต ทีมตลาด และทีมงานทุกคนที่ร่วมกันช่วยให้เรายังสามารถรักษาแชมป์ได้ถึงปัจจุบัน”

    ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องทั้งแบรนด์ของบริษัทจำนวน 226 แบรนด์ และแบรนด์นำเข้าหรือจัดจำหน่ายแบรนด์ภายนอกอีก 17 แบรนด์ โดยรวมผลิตภัณฑ์กว่า 825 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) ณ วันที่ 31 มีนาคม ปี 2567 ได้แก่ ยาแผนปัจจุบัน เช่น Myda, IBUMAN ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น Propoliz, ยาแก้ไอไอยรา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง เช่น Vita-C, Nevtral Cream รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ เช่น แผ่นเจลลดไข้ Dr.Temp สเปรย์ปรับอากาศ โฟมล้างมือ

    นอกจากนั้น บริษัทยังมีเครือข่ายลูกค้าทั้งกลุ่มองค์กรและลูกค้าบุคคลครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทยรวมจำนวนกว่า 10,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิกเวชกรรมและคลินิกเสริมความงาม ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) และช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์ รวมถึงตลาดต่างประเทศผ่านผู้จัดจำหน่ายและกลุ่มลูกค้าองค์กรอื่นใน 22 ประเทศทั่วโลก เช่น กัมพูชา จีน เมียนมา มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น


    “การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นความตั้งใจของคุณพ่อเพื่อนำเงินลงทุนต่อยอดขยายอาณาจักรให้มากขึ้นและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการเป็นมหาชนทำให้เราได้รับการตรวจสอบ ช่วยปิดช่องว่างต่างๆ และเปิดโอกาสให้เราได้ check and balance โดยเราวางแผนระดมทุนขยายกำลังการผลิตรองรับการเติบในอนาคตทั้งแบรนด์ของเราและการรับจ้างผลิต รวมถึงเงินหมุนเวียนขยายทีมขาย และ R&D สินค้าหมวด healthcare เป็น new s-curve ของบริษัท”

    ประพลย้ำความมั่นใจความได้เปรียบในการแข่งขันจากความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ product champion ซึ่งสามารถพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์และต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทด้วยฝ่ายวิจัยพัฒนาภายในที่มีบุคลากรเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 110 คน และงานวิจัยที่กำลังศึกษา 35 โครงการ รวมถึงงานวิจัยที่สามารถจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จ 19-42 ผลิตภัณฑ์ต่อปีสำหรับปี 2563-2566

    ขณะเดียวกันยังร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานพันธมิตรระดับประเทศ เช่น สารสกัดจากธรรมชาติ Propolis ที่มีคุณสมบัติเสริมฤทธิ์และฆ่าเชื้อแบคทีเรียพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ Propoliz ได้ทั้งสเปรย์ เม็ดอม สารสกัดรางจืด Rangchuet AllerX มีคุณสมบัติแก้แพ้ ผื่นคัน สำหรับเด็ก

    แบรนด์ Nevtral สารสกัด CENTO-HAC complex พัฒนาเป็นครีมลดอาการบวมแดงซึ่งมีกลุ่มคลินิกเสริมความงามเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และสารสกัด Anthaplex จากข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบผงชงดื่มเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยคุณสมบัติช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงภาวะอัลไซเมอร์ได้

    ภายใต้หลักการบริหารสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่ได้รับการปลูกฝังปรัชญาการดำเนินงานจากครอบครัวซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืนขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการถ่ายทอดแนวคิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนทีมงานพัฒนาประสิทธิภาพรอบด้าน รวมถึงสื่อสารให้เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน

    “ปรัชญาธุรกิจที่ได้รับจากครอบครัว Collaboration for Innovation ทำให้บริษัทสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมีนัยสำคัญ และเราพยายามสร้าง innovation mindset ในองค์กร ไม่เฉพาะการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ แต่ยังสามารถพัฒนาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทุกแผนก และเน้นการสื่อสารสร้างความร่วมมือในองค์กรด้วยสไตล์ของเรา bottom up รับฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้ทีมงานนำเสนอไอเดียอย่างเต็มที่”



ภาพ: สรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'ณัฐพล ดุษฎีโหนด' ทายาทสายตรงสู่การปั้น FM ธุรกิจไก่แปรรูปพันล้านสู่สากล

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine